กลยุทธ์การบริหารจัดการระบบทวิภาคี : กรณีเขาพระวิหาร


กลยุทธ์การบริหารจัดการแบบทวิภาคี http://km.obec.go.th/main/research/201304160203184762365.pdf

                                          กลยุทธ์การบริหารจัดการระบบทวิภาคี :  กรณีเขาพระวิหาร

                                                                                                                            ถวิล  อรัญเวศ

                                                                                                                   รอง ผอ.สพท.ชำนาญการพิเศษ

                                                                                                                       สพป.นครราชสีมา เขต 4

บทนำ

  ปัจจุบันคนไทยและกัมพูชากำลังให้ความสนใจกรณีเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นปราสาทที่มีคุณค่ามาก มีประติมากรรมการก่อสร้างที่ที่แปลกและมหัศจรรย์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทัชมาฮาลที่อินเดีย หรือสิ่งก่อสร้างที่ประเทศอิยิปต์ และอีกหลาย ๆ ประเทศ  เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะศาลโลกได้กำหนดให้มีการนั่งพิจารณาคำอธิบายชี้แจงทางวาจาเพิ่มเติม (Further Oral Explanations orOral Hearings) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์  ระหว่างวันที่ 15-19 เมษายน 2556

  เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลโลกวินิจฉัยว่าไทยต้องเคารพดินแดนของกัมพูชา ซึ่งดินแดนในพื้นที่ปราสาท และบริเวณใกล้เคียงถูกกำหนดโดยโดยแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000  ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศส สมัยปกครองกัมพูชา ในขณะที่ประเทศไทยก็ให้ยึดสันปันน้ำเป็นเส้นเขต หรือแผนที่ชุด L7017  คือแผนที่ประเทศไทย มาตราส่วน1 : 50,000 ซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยกรมแผนที่ทหารของฝ่ายไทย ซึ่งไทยและกัมพูชายังตกลงกันไม่ได้ว่าจะยึดอะไรเป็นทางออกสำหรับประเทศทั้งสองเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นเมืองพี่เมืองน้องก็ว่าได้

เขาพระวิหาร คืออะไร ? เป็นมาอย่างไร

    เขาพระวิหาร หรือ "ปราสาทเขาพระวิหาร" (Prasat Preah Vihear) ประเทศกัมพูชาเรียกว่า "เปรี๊ยะวิเฮียร์" เป็นปราสาทหินตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างบ้านสรายจร็อม อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ของประเทศกัมพูชา และบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้ๆ กับอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร

    เขาพระวิหาร เป็นสถานที่เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ของคนสมัยก่อน กษัตริย์ชัยวรมันที่ 2 ทรงกำหนดเขตบริเวณนี้และเรียกชื่อว่า "ภวาลัย" ภายหลังปรากฏชื่อในจารึกภาษาสันสกฤตว่า"ศรีศิขรีศวร" หมายถึง "ผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขาอันประเสริฐ" ตั้งอยู่บนยอดเขาในเทือกเขาพนมดงรัก ตามแนวเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา

 จากหลักฐานต่างๆ คาดว่า เขาพระวิหาร น่าจะมีการก่อสร้างในปี พ.ศ.1432-1443 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เพื่อใช้เป็นสถานที่สักการะตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ โดยสมมติให้เขาพระวิหารเปรียบเสมือน "เขาพระสุเมรุ" (ศูนย์กลางของจักรวาล) การก่อสร้างนั้นก็มีเหตุผลในการรวบรวมอำนาจและความเชื่อของคนในสมัยนั้นเข้าด้วยกัน เพราะในโบราณกาลแถบนั้นมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกัน พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จึงโปรดให้สร้างเขาพระวิหารขึ้น เพื่อเป็นจุดยึดเหนี่ยวและศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านซึ่งจะทำให้การปกครองกระทำได้โดยง่ายขึ้นถือเป็น

กุศโลบายอันสำคัญยิ่งประการหนึ่งของพระองค์

   ปราสาทเขาพระวิหาร หรือ "ปราสาทพระวิหาร" เป็นโบราณสถานที่มีความงดงาม

โดดเด่นอยู่เหนือเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นพรมแดน ระหว่างไทยกับกัมพูชามีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร  ปราสาทเขาพระวิหารเป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ "ศรีศิขเรศร" เป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก มีความยาว 800 เมตร ตามแนวเหนือใต้ ส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาวและบันไดสูงถึงยอดเขา จนถึงส่วนปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ที่ยอดเขาทางใต้สุดของปราสาท (สูง 120 เมตรจากปลายตอนเหนือสุดของปราสาท, 525 เมตรจากพื้นราบของกัมพูชา และ 657 เมตรจากระดับ) 

    ปราสาทเขาพระวิหารประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก ทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ ซึ่งเทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้น เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10

  ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นสถาปัตยกรรมอันมหัศจรรย์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพชนของ "ขะแมร์กัมพูชา" (ขอม) แต่โบราณ ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ซึ่งขะแมร์กัมพูชาก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่ 1" ถึง "สุริยวรมันที่ 1" เรื่อยมาจน "ชัยวรมันที่ 5-6" จนกระทั่งท้ายสุด "สุริยวรมันที่ 2" และ "ชัยวรมันที่ 7" จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (พุทธศตวรรษที่ 15 - 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย ประมาณ 300 ปี) ปราสาทที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในประเทศไทย เช่นนี้น่าจะเป็นปราสาทหินพิมายก็คงพอเทียบได้

    ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปุระ (ซุ้มประตู) คั่นอยู่ 5 ชั้น (โคปุระชั้นที่ 5 จึงเป็นส่วนที่ผู้เข้าชม
จะพบเป็นส่วนแรก) โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้าจะผ่านบันไดหลายขั้น

โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท
จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถแลเห็นโครงสร้างปราสาททั้งหมดจากมุมใดมุมหนึ่งได้

    เดิมทีเดียว ก่อนวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ในเขตการปกครองของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ(ค.ศ.1899, ร.ศ.-118) และเมื่อ พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เสด็จไปยังปราสาทแห่งนี้ และทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร" ซึ่งพระองค์ได้จารึก ร.ศ. และพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า 118 สรรพสิทธิ”  

    พ.ศ.  2450  จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ซึ่งปกครองกัมพูชาขณะนั้น อาศัยแสนยานุภาพทางทหารบีบให้รัฐบาลสยาม (ไทย) ยอมเขียนแผนที่กำหนดให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ในการทำสนธิสัญญาเพิ่มเติม รัฐบาลสยามก็ยอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นมาแต่โดยดีโดยมิได้ทักท้วง ซึ่งแต่เดิมถ้าแบ่งตามสันปันน้ำเทือกเขาพนมดงรัก เขาพระวิหารจะอยู่ในฝั่งไทยแต่พอแบ่งตามแผนที่ใหม่ตามฝรั่งเศสปี 1907 เขาพระวิหารจะอยู่ในฝั่งกัมพูชา อาจจะเป็นเพราะฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจอยู่ในขณะนั้น และคนไทยก็ยังสามารถเข้าไปยังปราสาทเขาพระวิหารได้โดยง่ายก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรมากมาย  ความเป็นจริงตามสนธิสัญญาเดิม พ.ศ.2447 หรือตามสภาพภูมิศาสตร์ กำหนดให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนของไทยอย่างชัดเจน

[ลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับปราสาทเขาพระวิหาร

   พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ค้นพบประสาทเขา
พระวิหาร และได้เสด็จไปยังปราสาทแห่งนี้ และทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร" ซึ่งพระองค์ได้จารึก ร.ศ. และพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า 118 สรรพสิทธิ” 

  พ.ศ.2447 สยาม (ไทย) และฝรั่งเศส จัดทำอนุสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างสยาม-อินโดจีน ซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่ที่ปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่ด้วย

   พ.ศ. 2447-2450 คณะกรรมการปักปันผสม สยาม-ฝรั่งเศส ชุดที่ 1 ทำการปักปันเขตแดนระหว่าง สยาม-ฝรั่งเศสตามอนุสัญญา พ.ศ.2447

  พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสจัดทำแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000  จำนวน 11 ระวางและจัดส่งให้กับสยามประเทศ (ประเทศไทย) แต่ก็ไม่ได้มีการรับรองจากคณะกรรมการปักปันผสม

  พ.ศ. 2473 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จเยือนปราสาทเขาพระวิหารโดยมีข้าหลวงฝรั่งเศสให้การต้อนรับ

  พ.ศ. 2496 กัมพูชา ได้รับเอกราชคืนจากประเทศฝรั่งเศส

  หลังจากกัมพูชาเป็นเอกราชแล้ว ไทยเป็นประเทศแรกที่ได้ให้การรับรอง จนมีการตั้ง
สำนักผู้แทนทางการทูตขึ้นที่กรุงพนมเปญ และสัมพันธภาพก็เจริญมาด้วยดีโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2501 เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำกรุงลอนดอน ซัมซารี ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหาร ลงในนิตยสาร "กัมพูชาวันนี้” (le Combodge d'aujourd'hui)  มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุบว่าไทยอ้างสิทธิเหนือวิหารนี้ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดเอาพระวิหาร อันเป็นการกระทำแบบฮิตเลอร์"  

 จากนั้นมาวิทยุและหนังสือพิมพ์ของกัมพูชาก็ได้พูดถึงเรื่องสิทธิเหนือปราสาท

เขาพระวิหารนี้อยู่เรื่อย ๆ จนเกิดกระแสการทวงเขาพระวิหารคืนจากไทย  แต่ยังไม่รุนแรงนัก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปล้นสะดมทางชายแดนไทย - กัมพูชาเสมอ ๆ ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผสมเพื่อดำเนินการตรวจสอบเส้นเขตแดน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์เริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว

  วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ประเทศจีนได้ประกาศรับรองกัมพูชา และพระบาทสมเด็จ
พระบรมนาถนโรดม สีหนุ
ได้เสด็จไปเยือนปักกิ่ง ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในช่วงระวังการแทรกซึมจากคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยจึงประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตท้องที่จังหวัดตราด,จันทบุรี,ปราจีนบุรี,สุรินทร์,บุรีรัมย์,ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดมจังหวัดอุบลราชธานี เหตุการณ์จึงตึงเครียดหนักขึ้น

  วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2501 มีการเจรจาเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นที่กรุงเทพ แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ วันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เดินขบวนประท้วงประเทศกัมพูชา และอ้างถึงกรรมสิทธิ์ของไทยเหนือเขาพระวิหาร นอกจากนี้ยังมีการโจมตีระหว่างสื่อไทยและกัมพูชากันอยู่เนื่อง ๆ จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 รัฐบาลกัมพูชาได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และความสัมพันธ์ก็เลวร้ายลงจนไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลโลก

  คดีนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2447 ถึง พ.ศ. 2451ประเทศฝรั่งเศสมีฐานะเป็นรัฐ
ผู้อารักขากัมพูชา ได้ทำสัญญากับประเทศไทยอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สัญญาซึ่งลงในวันที่ 13 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2447 มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักบันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น

  ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 ทางการไทยได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอาเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของประเทศไทย ไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยมิได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ (แผนที่นี้ต่อมาเรียกว่า "แผนที่ผนวก 1" (Annex Imap))

  แม้กระนั้น ทางไทยกลับไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง ท่านเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้

ำการทักท้วง

  ต่อมา มีการประชุมคณะกรรมการที่กรุงเทพ ฯ ในปี พ.ศ. 2452 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 นี้เป็นหลัก ก็ไม่มีผู้คัดค้าน

  ปี พ.ศ. 2468 มีการจัดทำสนธิสัญญาระหว่างไทย-ฝรั่งเศส โดยมีการอ้างอิงถึงเขตแดนดังกล่าว และในการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างไทย - ฝรั่งเศส ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อปี พ.ศ. 2490 รัฐบาลไทยไม่ได้ประท้วงประเด็นดังกล่าว
  ปี พ.ศ. 2473 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเขาพระวิหาร โดยมีผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสรับเสด็จในฐานะทรงเยือนจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา] แม้ในระหว่าง พ.ศ. 2477-2478 มีการสำรวจพบว่ามีความแตกต่างระหว่างเส้นพรมแดนในแผนที่และแนวสันปันน้ำจริง และได้มี
การทำแผนที่อื่น ๆ ซึ่งแสดงว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ในประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็ยังคงใช้และจัดพิมพ์แผนที่ที่แสดงว่าพระวิหารตั้งอยู่ในกัมพูชาต่อไป
   เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาว่า รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ยอมรับ (acquiese) ว่า ฝรั่งเศส มีอำนาจอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นเวลายาวนานถึง 50 ปีมาแล้ว ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักกฎหมายปิดปาก (estoppel)

  ปี พ.ศ. 2501 หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงเริ่มมีข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนรอยต่อระหว่างไทยกับกัมพูชา จนกระทั่ง เจ้านโรดมสีหนุ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ขณะนั้น นำเรื่องขึ้นเสนอสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2502 โดยใช้แผนที่ผนวก 1 เป็นหลักฐานสำคัญ ซึ่งแม้เส้นเขตแดนบนแผนที่จะไม่ได้ใช้สันปันน้ำเป็นเกณฑ์ แต่แผนที่ฉบับนี้ไม่เคยถูกคัดค้านจากรัฐบาลไทยมาก่อน

  ดังนั้นในวันที่ 15 มิถุนายนพ.ศ. 2505ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 นอกจากนั้นยังตัดสินด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ให้ประเทศไทยส่งคืนโบราณวัตถุที่นำออกมาจากปราสาทเขาพระวิหารตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้เข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าว
   ต่อมาอีกราวยี่สิบกว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต

  ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช นักกฎหมายชาวไทย ตั้งข้อสังเกตว่าการตัดสินคดีในศาลโลก ในคดีทำนองเดียวกันนี้ ทั้งก่อนหน้าและหลังคดีพระวิหาร มีเพียงคดีนี้เพียงคดีเดียวที่ผู้พิพากษาให้ความสำคัญกับแผนที่เหนือสนธิสัญญา ในคดีอื่นศาลจะให้น้ำหนักกับแผนที่ก็ต่อเมื่อเป็นแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญา หรือเป็นแผนที่ที่ทำโดยฝ่ายที่เสียสิทธิ์ จะไม่ให้ความสำคัญกับแผนที่ฝ่ายเดียว ซึ่งถือเป็นพยานบอกเล่า[

  30 มกราคม พ.ศ. 2549  กัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกซึ่งไม่ได้แจ้งให้ประเทศไทยทราบ และไทยไม่ได้ขึ้นร่วมเพราะกัมพูชาขอขึ้นฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตามไทยเราก็คงเป็นห่วงในเรื่องพื้นที่รอบประสาทที่กัมพูชาขอขึ้นเป็นมรดกโลก ซึ่งตั้งแต่ต้นนั้นรุกล้ำดินแดนไทยคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร  หากตกลงกันไม่ได้ก็จะไม่สามารถดูแลและพัฒนาพื้นที่ประสาทเขาพระวิหารได้ อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดกัมพูชาก็เสนอเฉพาะตัวปราสาท

    7 กรกฎาคม 2551 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา มีมติให้ปราสาทเขาพระวิหาร เฉพาะตัวปราสาท ที่ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ขึ้นเป็นมรดกโลก ไม่ร่วมชะง่อนเขาที่มีพื้นที่กว้างหน้าผาและถ้ำต่าง ๆ

    28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทเขาพระวิหารปี 2505 และขอให้ศาลโลกออกคำสั่งมาตรการชั่วคราว  18 กรกฎาคม 2554 ศาลโลกได้ออกคำสั่งมาตรการชั่วคราว 4 ประการ คือ

1.  ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว และงดเว้นการกระทำกิจกรรมที่ใช้อาวุธไปยังพื้นที่นั้น

2.  ไม่ให้ไทยขัดขวางการเข้าออกปราสาทเขาพระวิหารโดยเสรีของกัมพูชาหรือการส่งเครื่องอุปโภคบริโภคที่มิใช่ทหารของกัมพูชาที่อยู่ในปราสาทเขาพระวิหาร

3.  อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ที่ตั้งขึ้นโดยอาเซียนเข้าไปยังเขตปลอดทหารชั่วคราว

4.  ให้งดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ข้อพิพาทในศาลโลกทวีความร้ายแรงหรือแก้ปัญหาได้ยากขึ้น

คำประท้วงของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษาศาลโลก

วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย

นายถนัด  คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย

โดยมีคำประท้วงดังนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะอ้างถึงคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้นำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคำร้องเริ่มคดีฝ่ายเดียวของกัมพูชา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) ซึ่งศาลได้พิพากษา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร

 ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) และ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตาม

คำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ 94 ของกฎบัตร

  ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใด ๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา”

ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งข้อความข้างต้นให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านแจ้งข้อความในหนังสือฉบับนี้ให้สมาชิกทั้งปวงขององค์การนี้ทราบทั่วกันด้วย

ผู้พิพากษาที่ร่วมการพิจารณา

ผู้พิพากษามีทั้งหมด 15 ท่าน คะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ตัดสินว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ใน

อาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ตัดสินว่า ไทยต้องคืนวัตถุ

สิ่งประติมากรรม แผ่นศิลา ส่วนปรักหักพังของอนุสาวรีย์รูปหินทราย เครื่องปั้นดินเผาโบราณและปราสาทหรือบริเวณเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา]

1. โบดาน วินิอาร์สกิ (Bohdan Winiarski)  ชาวโปแลนด์ เป็นประธาน พิพากษาให้

เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา

  2. ริคาร์โด อาลฟาโร (Ricardo Alfaro)  ชาวปานามา เป็นรองประธาน พิพากษาให้
เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา

  3. ลูซิโอ มอเรโน กินตานา (Lucio Moreno Quintana)  ชาวอาร์เจนตินา พิพากษา
ให้เป็นของไทย

 4. เวลลิงตัน คู (Wellington Koo)  ชาวจีนไต้หวัน พิพากษาให้เป็นของไทย

 5.  เซอร์ เพอร์ซี สเปนเดอร์ (Sir Percy Spender)  ชาวออสเตรเลีย พิพากษาให้เป็นของไทย

 6.  จูลส์ บาเดอวังต์ (Jules Basdevant)  ชาวฝรั่งเศส พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา

 7.  อับดุล บาดาวี (Abdul Badawi)  ชาวอียิปต์ พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา

 8. เซอร์ เจรัลด์ ฟิตซ์มอริส (Sir Gerald Fitzmaurice)  ชาวอังกฤษ พิพากษาให้เป็น

ของกัมพูชา

 9. วลาดิเมียร์ คอเรดสกี (Vladimir Koretsky)  ชาวรัสเซีย  พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา

10. โคะทะโระ ทะนะกะ (Kotaro Tanaka)  ชาวญี่ปุ่น  พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา

11.  โจเซ่ บุสตามันเต อี ริเบโร (José Bustamante y Rivero)  ชาวเปรู พิพากษาให้เป็น

ของกัมพูชา

12.  เกตาโน มอเรลลี (Gaetano Morelli)   ชาวอิตาลี  พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา

13. สปีโรปูลอส (Jean Spiropoulos)   ชาวกรีก งดออกเสียง (ป่วย)

14. โรแบร์โต คอร์โดวา (Roberto Cordova)   ชาวเม็กซิโก งดออกเสียง (ป่วย)

15.  ฟิลิป เจสซัป (Philip Jessup)   ชาวอเมริกา (ทนายฝ่ายไทย)

  กานเย กวนเยต์ (Garnier-Coignet) : นายทะเบียนศาล

บทวิพากษ์

  เมื่อศาลโลกได้พิพากษาให้อธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ให้ไทยถอนทหาร ตำรวจออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียงปราสาทและคืนวัตถุโบราณที่อาจได้นำออกจากปราสาท ประเทศไทยเราแม้จะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาโดยเฉพาะ นายถนัด  คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ก็ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย ซึ่งประเด็นนี้หรือไม่ที่ทำให้กัมพูชา ได้ยื่นขอให้ศาลโลกได้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 หรือกัมพูชาต้องการให้ไทยเคารพดินแดนของกัมพูชาในพื้นที่ปราสาทและบริเวณใกล้เคียงถูกกำหนดโดยแผนที่ 1 : 200,000  ระวางดงรักและศาลโลกกำหนดให้มีการอธิบยทางวาจาเพิ่มเติมที่ศาลโลก กรุงเฮก  ประเทศเนเธอร์แลนด์ใน

ระหว่าง วันที่ 15-19 เมษายน 2556 โดยคาดว่าศาลโลกจะมีคำพิพากษาคดีปราสาทเขาพระวิหาร

ปลายปี 2556

   อย่างไรก็ตาม มีนักกฎหมายวิเคราะห์ไว้ว่า ศาลโลกอาจจะพิพากษาว่ากัมพูชาไม่มีสิทธิฟ้องศาลก็ได้ เพราะเรื่องจบไปแล้ว เหมือนจะมาอุทธรณ์คดี หรือศาลโลกจะพิพากษาโดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารสอดคล้องแนวทางของประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 โดยกำหนดขอบเขตประสาทคือทางทิศเหนือ ที่ระยะ 20 เมตร จากบันไดนาคไปทางทิศตะวันออกจนถึงบันไดหัก  และทิศตะวันตกที่ระยะ 100 เมตรจากแกนของตัวปราสาทไปทางทิศใต้จนจรดขอบหน้าผา รวมทั้งให้สร้างป้ายแสดงอาณาเขตและล้อมรั้ว

หมายเลขบันทึก: 533064เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2013 02:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2013 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พื้นที่ไม่พอ  สำหรับบทความนี้ ยังขาดเนื้ิอหาว่าด้วยกลยุทธ์บริหารจัดการและบทสรุป

อ่านบทความเต็มได้ครับตรงนี้

http://km.obec.go.th/main/research/201304160203184762365.pdf

http://km.obec.go.th/main/research/201304160203184762365.pdf


เนื้อที่ไม่เพียงพอสำหรับบทความนี่้ โปรดอ่านเต็มได้ตามลิงค์นี้ครับ

http://km.obec.go.th/main/research/201304160203184762365.pdf

http://km.obec.go.th/main/research/201304160203184762365.pdf


เนื้อที่ไม่พอสำหรับบทความนี้่ อ่านฉบับเต็มได้ตามลิงค์นี้ครับ

http://km.obec.go.th/main/research/201304160203184762365.pdf

http://km.obec.go.th/main/research/201304160203184762365.pdf


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท