Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ในช่วงเวลาที่เขตป้อมปราบฯ ยังไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยให้ลุงตู่ รัฐใดเป็นเจ้าของตัวบุคคลของลุงตู่ล่ะ ?


โดยสรุป ในระหว่างนายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายยังไม่รับรองสถานะคนสัญชาติไทยของนายชาญในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย รัฐไทยย่อมมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของนายชาญอยู่ดี เพราะเขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐไทย

กรณีศึกษา “ลุงตู่” หรือนายชาญ สุจินดา

: การกำหนดรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับรัฐไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151599452568834

-----------

ข้อเท็จจริง[1]

------------

ด้วยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรโครงการนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต ท่าพระจันทร์ และในหลักสูตรได้มีการเรียนการสอนวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย ซึ่งเป็นวิชาที่มุ่งหวังให้นักศึกษาที่จบการศึกษาออกไปได้มีความตระหนักในการนำความรู้ทางกฎหมายไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม โดยได้มอบหมายให้นักศึกษาจัดทำโครงงานกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริการสังคม

นักศึกษาจำนวน ๔ ท่าน อันประกอบด้วย (๑) นางสาวสายชล สิมะกุลธร (๒) นางสาวลัดดาวรรณ โชติมุณี (๓) นางสาวเทพสุดา เกียรติสุขสถิตย์ และ (๔) นางสาวปัญจพร จิระประเสริฐสุข ซึ่งเป็น นักศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงทะเบียนเรียนวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมายในภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๕  โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล ทำหน้าที่อาจารย์ผู้สอน และคณะนักศึกษาทั้งสี่คนข้างต้นได้เลือกทำโครงงานกฎหมายเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายชาญ สุจินดา ซึ่งเป็นคนเร่ร่อนที่อาศัยในชุมชนนางเลิ้ง  บุคคลดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสวัสดิการจากรัฐแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน

โดยการสอบปากคำพยานบุคคลหลายปาก รวมตลอดถึงพยานเอกสารเท่าที่มี นางสาวสายชลและคณะจึงสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายชาญ สุจินดา หรือที่คนในชุมชนนางเลิ้งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ลุงตู่” ดังต่อไปนี้

“ลุงตู่” หรือนายชาญ สุจินดา เล่าว่า เขาเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ ตั้งแต่จำความได้เขาก็อาศัยอยู่ที่ตรอกสะพานยาว ตลาดนางเลิ้งมาตลอด นายชาญไม่ทราบว่า ตนเองเกิดที่ไหนแน่ นายชาญไม่ทราบว่า ตนมีเอกสารการเกิดใดๆ หรือไม่ แต่นายสว่าง สังข์ทองพี่ชายร่วมมารดาคาดว่า นายชาญเกิดกับหมอตำแยที่บ้านในซอยตรอกสะพานยาว ตลาดนางเลิ้ง บ้านเลขที่ ๘๐ ตรอกตลาดนางเลิ้ง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.[2] เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลก[3]  นางผิวมารดาจึงไม่อาจไปคลอดนายชาญที่โรงพยาบาลศิริราช นายสว่างจำได้ว่า ในช่วงเวลานั้น  นางผิวมารดาเคยพาลูกๆ อันได้แก่เขาเองและนายชาญ มาหลบระเบิดที่วัดแคนางเลิ้ง และอพยพไปอาศัยยายอยู่ที่หัวตะเข้

นอกจากนั้น หลังจากนายชาญเกิดได้ไม่ถึงปี ก็เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดพระนคร (กทม.ใน พ.ศ.๒๔๘๕) จะเห็นว่า นายชาญเกิดและเติบโตในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในความวุ่นวาย จึงมีความเป็นไปได้ว่า บิดาและมารดาจะไม่ได้ไปดำเนินการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรให้แก่นายชาญ เขาจึงไม่น่าจะมีหนังสือรับรองการเกิดและสูติบัตรแต่อย่างใด

นายสว่าง เล่าอีกว่า บ้านเลขที่ ๘๐ ตรอกตลาดนางเลิ้ง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. เป็นบ้านที่อาศัยอยู่และเสียชีวิตของนางผิว กิจเกษม ซึ่งเป็นมารดาของนายสว่างและนายชาญ ต่อมา บ้านนี้และบ้านอื่นในซอยนี้ทั้งหมดถูกไฟไหม้ไปราวปี พ.ศ.๒๕๑๖ และปัจจุบัน กลายเป็นตึกแถวสมัยใหม่

สำหรับนางผิว กิจเกษม ซึ่งเป็นมารดาของนายสว่างและนายชาญนั้น  เธอเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖[4] นายสว่าง สังข์ทองเล่าว่า นางผิวมีมารดาอาศัยอยู่ที่หัวตะเข้[5] ในสมัยนั้น นายสว่างจำได้ว่า มารดาของนางผิวหรือยายของนายสว่างและนายชาญพายเรือมาเยี่ยมนางผิวและหลานๆ ถึงบ้านที่ในซอยตรอกสะพานยาว ตลาดนางเลิ้งเสมอ นายสว่างเล่าว่า นางผิวมารดาเป็นคนสวยมาก เธอประกอบอาชีพขายกล้วยปิ้งมันปิ้ง อยู่ทางเข้าหน้าตลาดนางเลิ้ง เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ในขณะที่มีอายุ ๔๔ ปี  ด้วยโรควัณโรค นายชาญมีอายุ ๕ ปี ในขณะที่นางผิวมารดาเสียชีวิต ส่วนนายสว่างมีอายุ ๑๔ ปี

ส่วนนายป่วน สุจินดา ซึ่งเป็นสามีคนที่สองของนางผิวและบิดาของนายชาญนั้น  เคยประกอบอาชีพเป็นภารโรงโรงเรียนวัดสระบัว เขตปทุมวัน กทม. และต่อมา เมื่อนางผิวเสียชีวิต นายป่วนก็มีภริยาใหม่ซึ่งมีชื่อว่า “นางผิน สุจินดา”  และบุคคลทั้งสองได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่ซอยสุขุมวิท ๘๑  (ซอยศิริพจน์)  และนายป่วนเปลี่ยนอาชีพเป็นคนขายปลา นายป่วนน่าจะเสียชีวิตระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๕ – ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายชาญน่าจะถูกจำคุกอยู่

นายชาญมีพี่ร่วมบิดาและมารดาอีก ๒ คน กล่าวคือ เป็นพี่ชายพี่สาวที่เกิดจากนายป่วน สุจินดา และนางผิว โดยมีนายชาญเป็นน้องชายคนสุดท้อง อันได้แก่  (๑) นายสัญญา กิจเกษม (น้อย) และ (๒) นางสละ เรืองลาภ บุคคลทั้งสองนี้น่าจะเสียชีวิตแล้ว

นายชาญมีน้องร่วมบิดาอีก ๒ คน กล่าวคือ เป็นน้องที่เกิดจากนายป่วน สุจินดา และนางผิน โดยมีนายชาญเป็นพี่ชายคนโตร่วมบิดา อันได้แก่ (๑) นายจู๋ สุจินดา และ (๒) นายขาว สุจินดา บุคคลทั้งสองนี้น่าจะเสียชีวิตแล้วเช่นกัน

เมื่อนางผิวเสียชีวิตลงใน พ.ศ.๒๔๘๙ บุคคลที่รับเลี้ยงดูทั้งนายสว่างและนายชาญ ก็คือ นางเยื้อน หรือบุญมา โชติกมล ซึ่งเป็นน้องสาวของนางผิว จึงมีศักดิ์เป็นน้าของบุคคลทั้งสอง  ดังนั้น นายสว่างและนายชาญในวัยเยาว์จึงอาศัยอยู่กับครอบครัวนางเยื้อนที่บ้านในซอยตรอกสะพานยาว ตลาดนางเลิ้ง ถนนพะเนียง ใกล้วัดโสมนัส  นางเยื้อนได้กับสมรสกับนายสุทัศน์ โชติกมล 

ทั้งนางเยื้อนและนายสุทัศน์มีบุตรด้วยกัน ๗ คน ได้แก่ (๑) พระสุทิน โชติกมล  เสียชีวิตแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ (๒) นางยุพิน ทองใหญ่ เสียชีวิตแล้ว (๓) นายสุเทพ โชติกมล เสียชีวิตแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ (๔) นางยุพา ปัจจุบัน อาศัยอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา (๕) นายสุวัฒน์ โชติกมล  ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ อำเภอบึงกุ่ม กทม. (๖) นายบุญเทิน โชติกมล  ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และ (๗) นางสุนทรี โชติกมล ปัจจุบัน อาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  นอกจากนั้น นายสุทัศน์ โชติกมล ยังได้มีภรรยาอีกคน กล่าวคือ นางจรวย  โชติกมล ซึ่งมีบุตรด้วยกัน ๖ คน ได้แก่ (๑) นางหมู เคยทำงานอยู่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (๒) นางสุธีรา สามกษัตริย์ ยังไม่พบตัว  (๓) นายวันชัย โชติกมล ยังไม่พบตัว  (๔) นายพงศธร โชติกมล ยังไม่พบตัว  (๕) นายกรณ์จักร โชติกมล เสียชีวิตแล้ว และ (๖) นายโสภณ โชติกมล ปัจจุบัน อาศัยอยู่ที่แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กทม.  ทั้งนางเยื้อน นางจรวย และนายสุทัศน์ ตลอดจนบุตรทุกคน ได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยและถือบัตรประจำประชาชน  ทั้งนางเยื้อนและนายสุทัศน์เสียชีวิตแล้ว




สำหรับประวัติการศึกษาของนายชาญนั้น เขาเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนวัดผาสุการาม ตำบลหนองข้างคอก อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เมื่อมีอายุประมาณ ๑๐-๑๒ ปี  โดยใช้ชื่อว่า “ศิริ วิยะรันด์” เพราะในขณะนั้น เขาอยู่ในความอุปการะของญาติที่มีชื่อว่า “นายวาย วิยะรันด์”  เขามีคุณครูประจำชั้นที่มีชื่อว่า “คุณครูพยอม” แต่ก็เรียนไม่จบ และหนีเรียนกลับมาอยู่ที่นางเลิ้ง เขามาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในเรือนจำลาดยาว กทม.

นายชาญ สุจินดาได้ถูกควบคุมตัวและจำคุกบ่อยครั้งตั้งแต่วัยเยาว์ และช่วงแรกๆ ที่ออกจากเรือนจำก็จะมาอยู่กับครอบครัวนางเยื้อนตลอด  จนภายหลังราว พ.ศ.๒๕๑๖ เกิดไฟไหม้ตลาดนางเลิ้ง ทำให้บ้านที่อาศัยอยู่เดิมกับนางเยื้อนบ้านในซอยตรอกสะพานยาว ตลาดนางเลิ้ง ได้ไหม้ไปหมด ทรัพย์สินทุกอย่างในบ้านได้สูญหายไปกับกองเพลิง ภายหลังไฟไหม้ ครอบครัวนางเยื้อนได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านซึ่งถัดจากบ้านเดิมไปประมาณ ๒๐ เมตร นายชาญ สุจินดาก็ยังตามมาอาศัยอยู่ห้องเล็กๆ ตรงข้ามบ้านหลังนี้  หลังจากนั้น นายชาญ สุจินดาได้ถูกจำคุกอีกหลายครั้ง และต่อมาบ้านหลังนี้ก็ได้ถูกขายไป  เมื่อนายชาญออกจากเรือนจำครั้งล่าสุดก็ได้มาอาศัยวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) รวมเวลาที่นายชาญถูกจำคุกทั้งหมดน่าจะเกิน ๓๐ ปี

ในปัจจุบัน ลุงตู่หรือนายชาญอาศัยอยู่ใต้ต้นโพธิ์ในวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง)  และประกอบอาชีพ เป็นคนเก็บขยะให้ชุมชนมีรายได้จากชุมชน ๑,๐๐๐ ต่อเดือน

เนื่องจากนายชาญเป็นคนสูงอายุที่ประสบกับปัญหาสุขภาพหลายครั้ง และเพื่อให้ได้ใช้บริการตรวจสุขภาพ นางสุวัน แววพลอยงามในฐานะประธานชุมชนนางเลิ้ง ได้เคยพานายชาญไปขอทำบัตรประชาชนหลายครั้งตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ เพื่อให้ได้รับสิทธิตามที่คนสัญชาติไทยพึงได้รับ แต่ถูกปฏิเสธจากสำนักงานเขตหลายครั้ง โดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลเครือญาติไม่เพียงพอ

เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ สำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายได้บันทึกรายการสถานะบุคคลของนายชาญ สุจินดาในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในสถานะ "บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน" โดยยอมรับให้มีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐  และในวันเดียวกัน สำนักทะเบียนนี้ยังได้ออกบัตรประจำตัวตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้นายชาญถือเอาไว้เพื่อแสดงตน ซึ่งบัตรนี้มีชื่อว่า “บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ขอให้สังเกตว่า ทะเบียนประวัติดังกล่าวก็ยอมรับว่า นายชาญเกิดใน พ.ศ.๒๔๘๔ จากนางผิวและนายป่วน ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย แต่ไม่ระบุสถานที่เกิด

นางสาวสายชลและคณะได้ทำหน้าที่สืบค้นข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น จนสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวได้ดังกล่าวแล้ว และบรรลุที่จะตามตัวพยานบุคคลหลายคนที่รู้ที่มาของนายชาญจนได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นมาของนายชาญ  ทั้งนี้ พยานบุคคลที่สำคัญให้ปากคำเกี่ยวกับความเป็นมาของนายชาญหรือ “ลุงตู่” ต่อนางสาวสายชลและคณะ มีอยู่ ๖ คน กล่าวคือ (๑) นายสว่าง สังข์ทอง หรือ “ลุงแกละ” ซึ่งเป็นพี่ชายร่วมมารดากับนายชาญ และรู้จักนายชาญ มาตั้งแต่เกิด (๒) นางเล็ก แซ่ตั้ง ซึ่งป็นภริยาของนายปลอด กิจเกษมเป็นบุตรบุญธรรมของนางผิวและนายแสวง สังข์ทอง สามีคนแรกและเป็นบิดาของนายสว่าง นางเล็กรู้จักนายชาญ มาเป็นเวลาประมาณ ๕๕ ปี (๓) นายโสภณ โชติกมล ซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากภรรยาคนที่ ๒ ของนายสุทัศน์ โชติกมล  ซึ่งเป็นสามีของนางเยื้อน โชติกมล น้าสาวของนายสว่างและนายชาญ ซึ่งนางเยื้อนเลี้ยงดูบุคคลทั้งสองมาตั้งแต่นางผิวมารดาเสียชีวิตใน พ.ศ.๒๔๘๙  (๔) นายสุระพงษ์  โชติกมล ซึ่งเป็นหลานนางเยื้อน โชติกมล (๕) นายประเมิน เกาสละ  หรือ “ลุงน้อย”  ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านและเพื่อนเล่นสมัยเด็กของนายชาญ และรู้จักนายชาญมาเป็นเวลาประมาณ ๖๗ ปี และ (๖) พันเอกล้วน จันทร์เผ่าแสง ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านและเพื่อนเล่นสมัยเด็กที่รู้จักนายชาญ มาเป็นเวลาประมาณ ๖๗ ปีเช่นกัน เพราะรู้จักกันมาตั้งแต่จำความได้

ในส่วนการออกแบบกระบวนการร้องขอพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย อันหมายถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อร้องขอเพิ่มชื่อของนายชาญในทะเบียนคนอยู่ถาวรตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทยนั้น นางสาวสายชลและคณะได้ร้องขอการสนับสนุนทางวิชาการจาก “โครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิของบุคคล กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”  ซึ่งในขั้นตอนนี้ จึงมีนักกฎหมายจากโครงการนี้เข้ามาร่วมงานกับนางสาวสายชลและคณะอีก ๓ ท่าน กล่าวคือ (๑) นางสาวศิวนุช สร้อยทอง (๒) นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ และ (๓) นางสาวปรางค์สิรินทร์ เอนกสุวรรณกุล ทั้งนี้ ภายใต้ความดูแลของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ผู้รับผิดชอบการเรียนการสอนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

ในฐานะที่ท่านอาสาทำงานค้นคว้าข้อมูลเพื่อสนับสนุนคณะทำงานของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อ “ลุงตู่” หรือนายชาญ สุจินดา จงตอบคำถามดังต่อไปนี้

--------

คำถาม

-------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ในระหว่างนายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายยังไม่รับรองสถานะคนสัญชาติไทยของนายชาญในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย รัฐไทยย่อมมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของนายชาญหรือไม่  เพราะเหตุใด[6]

--------

คำตอบ

-------

  ประเด็นของเรื่อง เป็นคำถามเพื่อให้กำหนดตัวรัฐเจ้าของตัวบุคคลของมนุษย์/บุคคลธรรมดา ซึ่ง ก็คือ เป็นเรื่องของการพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลตามกฎหมายเอกชน เราจึงต้องมาพิจารณาว่า รัฐอธิปไตยใดที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับบุคคลธรรมดาตามข้อเท็จจริงอันเป็นโจทย์ อันทำให้มีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของบุคคลธรรมดาดังกล่าว

  โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ข้อเท็จจริงที่ทำให้รัฐอธิปไตยหนึ่งมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล” ของบุคคลธรรมดาคนใด ย่อมเกิดจากสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลธรรมดานั้นใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ความเป็นคนที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐนั้น และ (๒) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐนั้น และ (๓) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐนั้น

  เมื่อเราพิจารณาข้อเท็จจริงของลุงตู่หรือนายชาญ สุจินดาตามข้อเท็จจริงที่ให้มา

ในประการแรก เมื่อเราพบว่า  นายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายยังไม่รับรองสถานะคนสัญชาติไทยของนายชาญในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย รัฐไทยจึงยังไม่มีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของนายชาญ อันเนื่องมาจากการที่นายชาญมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย

ในประการที่สอง เมื่อเราพบว่า นายชาญยังมีชื่ออยู่เพียงในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในสถานะ "บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน" หรือ “ท.ร.๓๘ ก”  ซึ่งมาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ บัญญัติว่า “ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นอยู่และมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้น” ดังนั้น เมื่อนายชาญมีชื่อในทะเบียนประวัติ มิใช่ทะเบียนบ้าน เขาจึงยังไม่มีสถานะเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐไทย จึงยังกล่าวมิได้ว่า รัฐไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายชาญเพราะด้วยเหตุผลนี้

ในประการที่สาม เมื่อเราพบว่า นายชาญอาศัยอยู่ที่วัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง)  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. เราจึงฟังได้ว่า นายชาญมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐไทย ทั้งนี้ เพราะ แม้มาตรา ๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๖๘ จะบัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ” แต่มาตรา ๓๙ แห่งประมวลกฎหมายนี้ก็ยังบัญญัติต่อไปว่า “ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา” และมาตรา ๓๙ แห่งประมวลกฎหมายนี้ก็ยังบัญญัติต่อไปว่า “บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง หรือเป็นผู้ครองชีพในการเดินทางไปมาปราศจากหลักแหล่งที่ทำการงาน  พบตัวในถิ่นไหนให้ถือว่า  ถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น”  เมื่อเราย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของนายชาญ จะเห็นว่า เมื่อเขาไม่มีบ้านให้อาศัยอยู่ เขาย่อมไม่มี สถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ  แต่เราพบข้อเท็จจริงว่า เขาอาศัยอยู่ในวัดแคนางเลิ้ง โดยทั่วไป มักจะนอนใต้ต้นโพธิ์หน้าโบสถ์ จึงกล่าวได้ว่า เขาถือเอาวัดแคนางเลิ้งเป็น “ถิ่นที่อยู่ปกติ ”  ซึ่งอาจจะเป็นมุมใดมุมหนึ่งของวัดดังกล่าว กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา ๓๙ มากกว่าที่จะเป็นกรณีตามมาตรา ๔๐ นายชาญน่าจะมิใช่ “ผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง” หรือ “เป็นผู้ครองชีพในการเดินทางไปมาปราศจากหลักแหล่งที่ทำการงาน” เขาอาศัยอยู่เป็นปกติเป็นหลักแหล่งในชุมชนนางเลิ้ง ดังนั้น เมื่อวัดแคนางเลิ้งและชุมชนนางเลิ้งตั้งอยู่ในประเทศไทย รัฐไทยจึงเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายชาญ เพราะเขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐไทย

โดยสรุป ในระหว่างนายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายยังไม่รับรองสถานะคนสัญชาติไทยของนายชาญในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย รัฐไทยย่อมมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของนายชาญอยู่ดี เพราะเขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐไทย



[1] เป็นข้อเท็จจริงจากเรื่องจริง ซึ่งเจ้าของเรื่องได้ร้องทุกข์มายัง “บางกอกคลินิก” ซึ่งเป็นห้องทดลองทางสังคมที่สร้างขึ้นภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย”  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เจ้าของปัญหาตามเรื่องจริงได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจนกลับคืนสู่สถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทยตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๖

[2] ซึ่งในอดีต ก็คือ “อำเภอนป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร”

[3]ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกทางชายฝั่งทะเลของไทย ที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ และบางปู จังหวัดสมุทรปราการ กองทัพไทยได้ปะทะกับกองทัพญี่ปุ่นในหลายพื้นที่ จนในที่สุด รัฐบาลไทย จึงยุติการสู้รบ ด้วยเห็นว่า ไม่มีกำลังพอ ที่จะต้านทานกองทัพญี่ปุ่นได้ จึงได้ทำความตกลงกับญี่ปุ่น ให้กองทัพญี่ปุ่นเดินผ่านประเทศไทยได้ โดยญี่ปุ่นรับรองว่า จะเคารพเอกราชอธิปไตยของประเทศไทย ในระหว่างนี้ กองทัพญี่ปุ่นเริ่มมีชัยในการรบหลายแห่ง ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นบังคับรัฐบาลไทยเพื่อให้ยอมรับลงนามในกติกาสัญญาทางการทหารร่วมกัน หลังจากทำสัญญาเป็นไมตรีกันแล้ว อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้ส่งกำลังรุกรานไทยในช่วงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึงวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ประเทศไทยได้ถูกโจมตีทางอากาศ ๓๐ ครั้ง และทางบก ๓๖ ครั้ง และในคืนวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ อังกฤษได้ส่งเครื่องบิน มาทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ อย่างหนัก ต่อมา ในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนาม เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

http://www.navy.mi.th/newwww/document/history/royalnavy/chap๕๐๖.htm

[4] ดังปรากฏตามมรณะบัตรเลขที่ ๑๐/๒๔๘ ออกโดยเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายเพื่อจดทะเบียนการตายของนางผิว กิจเกษมเอง

[5] ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเขตลาดกระบัง กทม. ในปัจจุบัน

[6] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต วิทยาเขตท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษาที่ ๒๕๕๕ 


หมายเลขบันทึก: 533065เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2013 03:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2013 03:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท