M สไตล์บ้านๆ
ว่าที่ร้อยตรี นพรัตน์ เอ็ม ไชยชนะ

ความสำคัญของการกัลปนาวัดในลุ่มทะเลสาบสงขลา : กรณีศึกษาแผนที่กัลนาวัดพะโคะ


ณ วันที่ 6 เมษายน ที่สำนักศิลปากรที่ 13 จากการมาเฝ้าเวร ณ สำนักงาน เลยได้โอกาส หยิบ Thesis ของตัวเองมาดู แล้วเลยเอาเกร็ดความรู้ๆ น้อยๆ ในเนื้อเรื่องมาให้ฟัง เกี่ยวกับการกัลปนาวัดในจังวหัดสงขลา 

  “เรื่องการกัลปนาวัด ไม่ใช่เป็นเรื่องของการยกที่ดิน สวนไร่นา ให้กับพระศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องที่ทำให้เห็นถึงการเป็นศูนย์กลางของการปกครอง ผู้นำทางวัฒนธรรม และการขยายตัวของชุมชน”

    (ศรีสุพร ปิยรัตนวงศ์, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556)

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการศึกษาการกัลปนาวัดในบทความชิ้นนี้ สำหรับการกัลปนาในภาคใต้มีขึ้นทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการพระราชทานที่กัลปนาและถวายผู้คนชายหญิงเพื่อปรนิบัติศาสนาทั้ง 2 ผู้คนที่พระราชทานเพื่อปรนนิบัติพระพุทธศานา เรียกว่า ข้าพระ โยมสงฆ์หรือข้าพระ คนทาน หรือข้าโปรด คนทานส่วนศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า ข้าพระ นารายณ์ ข้าพระ อิศวร หรือพร้าพระ เทวรูป คนเหล่านี้มีสิทธิพเศษเหนือกว่าบุคคลธรรมดาหลายประการ เช่น ได้รับตราภูมิคุ้มห้ามไม่ถูกเกณฑ์เดือน เกณฑ์ส่วย เกณฑ์ศึก เกณฑ์เข้ารับราชการ ไม่ให้เจ้าเมืองและกรรมการบังคับกระทงความทั้งแพ่งและอาญาแก่บุคคลเหล่านี้ (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ 2529,115-118) สำหรับดินแดนลุ่มทะเลสาบสงขลาในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีความเจริญทางด้านพระพุทธศาสนาดังได้กล่าวมาแล้ว ได้พบหลักฐานว่ามีการพระราชทานพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาวัดต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกที่มีวัดพะโคะเป็นศูนย์กลางการปกครอง โดยแผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะ เป็นเอกสารซึ่งในปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร นักวิชาการและผู้สนใจเรียกชื่อแผนที่ฉบับนี้แตกต่างกันหลายชื่อ สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (2523,51) กล่าวถึงชื่อของแผนที่ฉบับนี้ว่า

“บริเวณทะเสสาบสงขลาฝั่งตะวันออก นอกจากเอกสารเรื่องการพระราชทานที่กัลปนาในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วยังพบแผนที่ตำราภาพแสดงเขตแดนการปกครองของสงฆ์ในสมัยนั้น”

  เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติได้เขียนคำอธิบายประหน้าแผนที่กัลปนาวัดพะโคะ โดยระบุชื่อแผนที่ฉบับนี้ว่าแผนที่เมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ. 977 (พ.ศ. 2158) ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วชื่อของแผนที่ฉบับนี้ควรจะเรียกว่าแผนที่เมืองพัทลุงมากกว่าที่จะเรียกว่าแผนที่เมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากแผนที่ฉบับนี้มีเจตนาในการเขียนเพื่อบอกเขตหัวเมืองพัทลุงฝ่ายตะวันออก พร้อมกับบอกชื่อวัดที่ขึ้นกับวัดพะโคะคณะลังกาชาติสมัยพระครูธรรมทิวากรวรมุนีสัทธรรมาทิพ และอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชนะแขกขบถเมืองสงขลาในปี พ.ศ. 2223 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ชาญณรงค์ เที่ยงธรรม 2544,12) สำหรับการพระราชทานที่กัลปนาวัดพะโคะ ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา พบว่ามีอย่างน้อย 6 ครั้ง ดังนี้

1.  การพระราชทานที่กัลปนาในสมัยพระยาธรรมรังคัลเป็นเจ้าเมืองพัทลุง (เชื่อว่า พ.ศ. 2057)

2.  การพระราชทานที่กัลปนาในสมัยพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091 – 2111)

3.  การพระราชทานที่กัลปนาในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งพระราชทานถายต่อพระครูเทพราชเมาลีศรีปรมาจารย์ราชประชาหัวเมืองพระโคะคณะลังกาชาติ

4.  การพระราชทานที่กัลปนาในสมัยสมเด็จพระราชมุนี (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี)

5.  การพระราชทานที่กัลปนาในสมัยพระครูธรรมทิวากรมุนีศรีลัทธรรมาทิพ หัวเมืองพัทลุง (เขาบรรพต)

6.  การพระราชทานที่กัลปนาในสมัยสมเด็จพระเพทราชา พ.ศ. 2242 ซึ่งการพระราชทานครั้งนี้กล่าวถึงการกัลปนาวัดเขียนบางแก้วคณะป่าแก้ว ทางด้านฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา แต่ก็มีการพาดพิงถึงวัดในเขตกัลปนาวัดพะโคะด้วย (สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ 2529,115-118)

  สำหรับการพระราชทานพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา ข้าพระ โยมสงฆ์ วัตถุสิ่งของอื่นๆ และที่ภูมิทานไร่นา และวัดต่างๆ จำนวนมาก บริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้ทำให้สถาบันทางพระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมและการถ่วงดุลอำนาจในท้องถิ่น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.  การจรรโลงพระพุทธศาสนา การพระราชทานพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาแก่วัดต่างๆ เป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เห็นได้จากพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาทรงให้การอุปถัมป์พระครูอินทโมฬี เจ้าคณะป่าแก้ว ในการบูรณะซ่อมแซมวัดวาอาราม โดยได้พระราชทานข้าพระ โยมสงฆ์ และสำเภา 3 ลำ บรรทุกอิฐปูนลงรักปิดทองจากรุงศรีอยุธยามาบูรณะวัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง (หอสมุดแห่งชาติ 2513,9 - 12)และยังมีการถวายข้าพระ โยมสงฆ์ ไว้สำหรับบำรุงรักษาวัดวาอารามอีกจำนวนมาก เช่น วัดเขียนบางแก้ว มีข้าพระ 14 หัวงาน วัดพระงามสทังใหญ่ มีข้าพระ 24 หัวงาน วัดสทังน้อย มีข้าพระ 12 หัวงาน วัดต้นตัน มีข้าพระ 5 หัวงาน วัดปากบางแก้ว มีข้าพระ 5 หัวงาน วัดแหลม มีข้าพระ 12 หัวงาน (คลิ้ง ตัญจนะ 2513, 9 – 12) นอกจากนี้ยังมีการพระราชทานเลณฑุบาตรแก่วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และวัดพะโคะ จำนวนมาก ดังเห็นได้ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา พ.ศ. 2242 ได้พระราชทานพื้นที่เลณฑุบาตแก่วัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง แต่สำหรับวัดพะโคะมีภูมิฐานเลณบาตรกว้างขวางมาก ทิศเหนือจดแหลมตะลุมพุก (พงศาวดารเมืองพัทลุงระบุว่า จดเขาพังไกรและควนชลิก ในเขตเมืองนครศรีธรรมราช) ทิศใต้จดหัวเขาแดง เมืองสงขลา ทิศตะวันออกจดอ่านไทย และทิศตะวันตกจดทะเลสาบ (ชัย สัจจาพันธุ์ (2525,11)

จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ว่าพื้นที่กัลปนาวัดมีกว้างขวางมากครอบคลุมพื้นที่ทางด้านฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลาทั้งหมด และบางส่วนของอำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่และอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช พั้นที่เหล่านี้มีวัดจัดเก็บผลประโยชน์นำมาบำรุงพระพุทธศาสนาใช้เป็นค่าอิฐปูน สร้างหรือบูรณะพระพุทธรูป เจดีย์ กุฎิ วิหาร และค่าธูปเทียนบูชาตามวัดต่างๆ (คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒธรรมและโบราณคดี 2510,34) พระพุทธศาสนาในบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาจึงได้รับการทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองตลอดสมัยอยุธยา

2.  การขยายตัวของชุมชน จากการพระราชทนที่กัลปนาขาพระ โยมสงฆ์ และพื้นที่แก่คณะสงฆ์กาชาติ วัดพะโคะ หัวเมืองพัทลุงในขณะนั้น ทำให้ข้าพระ โยมสงฆ์ได้ทำเรือกสวนไร่นาบนที่ดินกัลปนา เพื่อนำผลผลิตมาบำรุงวัด จึงทำให้เกิดชุมชนกระจายไปตามพื้นที่กัลปนาอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นชุมชนใหญ่ ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของคณะสงฆ์ เช่น ชุมชนโบราณสีหยัง ชุมชนปะโอ เป็นต้น ในแต่ละชุมชนก็มีวัดบริวารหรือวัดที่ขึ้นกับคณะกาชาติเป็นศูนย์กลางของชุมชน เช่น ชุมชนบ้านชะแมมีวัดชะแม ชุมชนบ้านโรงมีวัดโรงเป็นศูนย์กลางของชุมชน ชุมชนเจดีย์งามมึวัดเจดีย์งามเป็นศูนย์กลาง เป็นต้น (ชัยวุฒิ พิยะกูล 2546,56) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการขยายชุมชนควบคู่กับการสร้างหรือการบำรุงรักษาวัดให้เป็นแหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจและสังคมร่วมกันของชุมชน

3.  การถ่วงดุลอำนาจ เมื่อคณะสงฆ์กาชาติ (วัดพะโคะ) มีอำนาจในการควบคุมกำลังคนและที่ดินในรูปของกรมวัด มีขุน หมื่น สมุหบาญชี ข้าพระ โยมสงฆ์ อยู่ภายใต้การปกครองจึงทำให้สถาบันสงฆ์มีอำนาจสิทธิ์ขาดไม่ขึ้นกับเจ้าเมืองและกรมการเมือง ผลประโยชน์ที่มีอยู่ในการควบคุมของกรมวัดมีจำนวนมาก จนบางครั้งทำให้เกิดความขัดแย้งกับเจ้าเมืองและกรมการเมือง เพราะทำให้เจ้าเมืองและกรมการเมืองขาดผลประโยชน์จากที่ดินและส่วยสาอากรข้าคน จึงทำให้พบบ่อยครั้งว่าเมื่อใดที่บ้านเมืองไม่สงบ เจ้าเมืองและกรมการเมืองมักจะนำคนของวัดหรือพวกข้าพระ โยมสงฆ์ ไปใช้ประโยชน์ทางราชการและประโยชน์ส่วนตัว ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างวัดหรือคณะสงฆ์กับเจ้าเมืองหรือกรมการเมืองอยู่เสมอ ทางคณะสงฆ์จังมึกทำเรื่องฟ้องเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบและทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ห้ามปรามเจ้าเมืองหรือกรมการเมือง ให้คืนคนของวัดให้คงตามบัญชีเดิมที่ทรงพระบรมราชูทิศไว้ บางครั้งทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ทำพระตำราใหม่หาดของเดิมชำรุดหรือสูญหาย การที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาในบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา จึงเป็นพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ที่จะเพิ่มอำนาจบทบาทให้กับสถาบันสงฆ์มากขึ้น เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจและป้องกันเจ้าเมืองและกรรมการเมืองมีอำนาจมากเกินไป โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาเป็นดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากรุงศรีอยุธยา จึงยากต่อการควบคุม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เป็นดินแดนที่ติดต่อกับหัวเมืองมลายูที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุนี้จจึงเป็นไปได้ที่การกัลปนาวัดเป็นส่วนหนึ่งของการสกัดกั้นอิทธิพลศาสนาอิสลาม

4.  ผู้นำทางวัฒนธรรม นอกจากการเป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์บริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาแล้ว คณะกาชาติหัวเมืองพัทลุงยังเป็นผู้นำทางด้านวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์และข้าพระ โยมสงฆ์ ดังที่ สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (2523,44) ได้กล่าวถึงบทบาทของพระครูเจ้าคณะสงฆ์ไว้ว่า

“ให้พระครูเจ้าคณะช่วยงานพระราชพิธีตรุษสารท งานลากพระถวายพระราชกุศล และมีหน้าที่ในการอบรมสั่งสอน ขุน หมื่น สมุหบาญชี ข้าพระ โยมสงฆ์ ทั้งหลายไม่ให้ประพฤติชั่ว”

นากจากนี้การพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาทำให้มีการสืบทอดประเพณีกัลปนาที่บูรพกษัตตราธิราชได้พระราชทานไว้ในยามที่เกิดศึกษาสงครามหรือวัดวาอารามถูกทำลายหรือชำรุดทรุดโทรม ขาดการบำรุงรักษา เป็นเหตุปัจจัยให้เอกสารหรือพระเพลาตำรากัลปนาสูญหาย จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะสงฆ์ที่จะเป็นผู้นำในการเรียกร้องสิทธิให้มีการพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาอุทิศที่ดิน ข้าพระ โยมสงฆ์ หรือการจัดทำเพลาพระตำราขึ้นใหม่ เพื่อทำหน้าที่รวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายให้มาตั้งรวมกันเป็นชุมชนในพื้นที่ภูมิทานหรือพื้นที่กัลปนาบนพื้นฐานความเชื่อความศรัทธาอันเดียวกัน คือ การยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาที่มุ่งให้ทุกคนทำความดีละเว้นจากการทำชั่ว่และทำจิตใจให้บริสุทธิ์


คำสำคัญ (Tags): #วัดพะโคะ#กัลปนา
หมายเลขบันทึก: 532297เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2013 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2013 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท