DPP Thailand : ช่วยทีมท่าศาลาทำ OGTT


ทีมทำงานกันอย่างเป็นระบบ แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบในแต่ละจุด ทีมงานของ รพ.สต. ก็ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง

วันที่ 30-31 มีนาคม 2556 ทีม DPP ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช นัดประชาชนกลุ่มที่สงสัยว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานมาคัดกรองด้วย OGTT โดยเมื่อวันที่ 30 ทำที่ รพ.ท่าศาลา และวันที่ 31 ทำที่ รพ.สต.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีคุณเตือนใจ  บูรพาศิริวัฒน์ เป็นแม่งานหลัก ส่วนนาฎ ภญ.นุชนาฎ ตัสโต ทีมหลักอีกคนติดการอบรมผู้บริหารอยู่ที่พังงา

ดิฉันได้ทราบจากอาจารย์ ดร.อรทัย นนทเภท ว่าในวันที่ 30 มีผู้ที่ได้รับการเชิญชวนมาทำ OGTT ประมาณ 60 กว่าคน

เช้าวันที่ 31 ดิฉันนัดให้อาจารย์อรทัยมารับดิฉันไปด้วยตอนประมาณ 06.00 น. เมื่อไปถึง รพ.สต.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา พบว่ามีชาวบ้านมารับการประเมินความเสี่ยงฯ กันจำนวนมาก 

เมื่อชาวบ้านมารายงานตัวจะมีจุดกรอกประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ให้หลอดใส่เลือดที่เขียนชื่อ-นามสกุล พร้อมเขียนว่าเป็นหลอดที่ 1 และ 2 ชาวบ้านเอากระดาษข้อมูลพร้อมหลอดเลือดไปยังจุดเจาะเลือด 



ชาวบ้านมารายงานตัวและรับการประเมินความเสี่ยงฯ กันตั้งแต่เช้าตรู่


ตอนแรกๆ ดิฉันไปช่วยคนน้ำตาลกลูโคส เหมือนที่นาฎเคยทำ น้องเจ้าหน้าที่ที่ประจำจุดนี้มีประสบการณ์อยู่แล้ว เตรียมมะนาวมาพร้อม ไม่ได้ซื้อมา แต่แวะเก็บจากบ้านของชาวบ้าน (เจอว่าบ้านไหนมีมะนาวก็แวะเก็บสะสมไว้)

ผู้เจาะเลือดลงเวลาการเจาะเลือด แล้วให้ชาวบ้านไปดื่มกลูโคส นั่งรอเวลา 2 ชม. ทีมเจาะเลือดมีกันอยู่ 4 คน ดิฉันดูแล้วมั่นใจว่าตนเองยังทำได้ จึงย้ายตัวเองไปช่วยเจาะเลือด ไม่ได้เจาะเลือดมาประมาณ 15 ปีแล้ว แต่ก็ยังทำได้ดี ชาวบ้านชมว่า “มือเบา” คนไหนที่ดูว่าท่าจะเจาะได้ยากก็ยกให้อาจารย์อรทัยหรือคุณเตือนใจช่วยเจาะแทน



อาจารย์ ดร.อรทัย นนทเภท และคุณเตือนใจ บูรพาศิริวัฒน์ ทำหน้าที่เจาะเลือด


ทีมงานไม่ได้เตรียมกิจกรรม เช่น การเปิดเทปหรือ VDO ให้ชาวบ้านฟังหรือดู แต่ทุกคนก็ร่วมมือนั่งรอเวลาตามจุดต่างๆ ในบริเวณ รพ.สต. ที่มีพื้นที่กว้างขวาง




หลังดื่มกลูโคส 75 กรัม ชาวบ้านนั่งรอเวลาเจาะเลือดในชั่วโมงที่ 2


เมื่อใกล้ครบเวลา 2 ชม. เจ้าหน้าที่เรียกชาวบ้านมาเข้าคิวรอตามเวลา คนเจาะเลือดเช็คเวลาซ้ำอีกครั้งให้ถูกต้อง หลังเจาะเลือดครั้งที่ 2 เสร็จ ก็ให้ชาวบ้านเอาแบบฟอร์มข้อมูลของตนเองไปส่งยังจุดที่รวบรวม พร้อมรับนม 1 กล่อง (แทนข้าว) เจ้าหน้าที่จะเช็คหลอดเลือดตามบัญชีรายชื่อของชาวบ้านที่มารับการคัดกรอง ก่อนนำส่งห้องปฏิบัติการ

ดิฉันประทับใจการทำงานของทีมท่าศาลามาก ทีมทำงานกันอย่างเป็นระบบ แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบในแต่ละจุด ทีมงานของ รพ.สต. ก็ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง ทุกคนใช้เวลาในวันหยุดของตนเองออกจากบ้านมาตั้งแต่ยังไม่ถึง 06.00 น. ทีม DPP Thailand ทำงานกันด้วยความเสียสละ ด้วยความรับผิดชอบ ด้วยใจ ยังไม่รู้เลยว่าจะมีค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาหรือเปล่า

เราเจาะเลือดชาวบ้านคนสุดท้ายเมื่อเวลา 10.00 น. เดิมรู้จากนาฎว่าคุณเตือนใจจะพาลูกไปเที่ยวเพราะช่วงนี้ปิดเทอม คุณเตือนใจบอกว่าได้ไปแล้วแต่กลับมาเพราะอยากจะทำงานให้เสร็จ ช่วงต่อไปมีทั้งวันเชงเม้งและวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะไม่สะดวกที่จะมาคัดกรอง

วันนี้ทีมท่าศาลานัดชาวบ้านไว้ประมาณ 200 กว่าคน มาจริงประมาณ 131 คน เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่เป็นเบาหวานเสียบ้าง อยู่เจาะเลือดไม่ครบบ้าง ลดไปอีกประมาณ 10 คน

ต้องขอบคุณ นพ.กิตติ รัตนสมบัติ ผอ.รพ.ท่าศาลา ที่เอื้อเฟื้อทั้งคน ข้าวของเครื่องใช้ และรถตู้ของโรงพยาบาลในการขนคนขนของ

การลงพื้นที่ของดิฉันครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ site visit ด้วย

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 531775เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2013 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2013 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณความรู้ดีๆ ที่ได้จากอาจารย์นะครับ

ที่มสมุทรสาครขาดคนเจาะเลือดดด... อาจารย์มาช่วยหน่อยนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท