สุนัขหลงอยู่บนทางด่วนสายชีวิต


“พวกเราเหมือนสุนัขหลงอยู่บนทางด่วน จะวิ่งไปข้างหน้า จะถอยหลังก็ไม่รู้ว่าทางออกที่ใช่มันคืออะไร อยู่ทางไหน ถ้าตัดสินใจวิ่งข้ามถนนก็เสี่ยงที่จะโดนรถทับตาย”

อีกเรื่องใหญ่ของแรงงาน

คือลูกหลานเรียนจบหมกอยู่บ้าน

คอมพิวเตอร์ขนมซองฟ้องประจาน

ถึงผลงานบ่มเพาะลูกด้วยเงิน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2556 ผมได้ร่วมเสวนาเรื่อง "สถานการณ์เศรษฐกิจและสิทธิแรงงานเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน" จัดโดยมูลนิธิศุภนิมิตร ที่โรงแรมอวยชัยแกรนด์ หลังสวน ได้ฟังเรื่องที่น่าตกใจจากนักวิชาการของสำนักงานจัดหางานจังหวัดชุมพร คือ เยาวชนลูกหลานของเราวันนี้เรียนจบแล้วไม่ยอมออกมาทำงาน

ผมนำข้อความข้างต้นขึ้นโพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว www.facebook.com/aisunep มีผู้สนใจติดตามตั้งคำถามอยากให้อธิบายสภาวะที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน ครับ...ก็ไม่ขัดศรัทธาว่าเลยก็แล้วกัน

ถ้ามองเรื่องนี้ในระดับปรากฎการณ์เชื่อว่าหลายครอบครัวคงจะประสบปัญหาคล้ายๆ กัน นั่นคือลูกหลานที่เราอุตส่าห์เลี้ยงดู ฟูมฟัก ทะนุถนอม ไปรับ-ไปส่งเช้าเย็นให้ได้เรียนหนังสือในเมือง ต่อด้วยเรียนพิเศษ กวดวิชาสารพัดที่เขาว่ากันว่าสอนดี เสาร์-อาทิตย์ถ้ายังมีเวลาเหลืออยู่ก็เคี่ยวเข็ญจัดการให้ได้ไปเรียนดนตรี ศิลปะ ว่ายน้ำ ฯลฯ จะได้ไม่อายเพื่อนผู้ปกครองด้วยกันที่เขาส่งเสียเลี้ยงลูกแบบ อุ้ม” ชูให้อยู่เหนือเพื่อนๆ วัยเดียวกัน

ช่วงวิกฤตที่ต้องเคี่ยวเข็ญกัน อุ้ม” อย่างถึงที่สุดคงจะเป็นช่วงที่เด็กๆ ต้องเปลี่ยนชั้นเรียนจากระดับอนุบาลไปประถม จากประถมไปมัธยมต้น มัธยมปลาย จนได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยอย่างที่ลูกใฝ่ฝัน แต่ว่าไปแล้วน่าจะเป็นการสนองความฝันของพ่อแม่ ผู้ปกครองมากกว่า

ทัศนะของการเลี้ยงลูกหลานแบบเน้นการต่อสู้-แข่งขัน-เอาชนะ ทำให้ต้องบังคับบ้าง ล่อหลอกบ้างให้ลูกทำตามความคิดของตนเองด้วยการสัญญาว่า ไปเรียนพิเศษกลับมาแล้วจะให้เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ออนไลน์ ให้ดูทีวี ให้กินไก่เคเอฟซี น้ำอัดลม ไอศครีม ขนมซอง ฯลฯ เรื่องการทำงานพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นทักษะชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ปกติสุขในครอบครัวเป็นเรื่องรองลงไป พ่อแม่ยอมเหนื่อย ยอมจ่ายเงินจนถึงขั้นเป็นหนี้สินก็เพราะความรักลูก ไม่อยากให้ลูกเติบโตขึ้นมาด้วยความลำบากยากแค้นเหมือนตัวเองสมัยยังเป็นเด็ก

ตอนที่เราเป็นเด็กการเดินไปโรงเรียนซึ่งอยู่ห่างจากบ้านในสวนไป 4-5 กิโลเมตร ต้องเดินไปกลับวันละ 9-10 กิโลเมตร เป็นเรื่องปกติทำได้สบายมาก ย้อนกลับไปทบทวนความทรงจำกันแล้วดูว่าจะเป็นช่วงชีวิตที่มีความสนุกมาก ได้เดินหยอกล้อดูโน่น ดูนี่ไปกับกลุ่มเพื่อนๆ ของกินประเภทผลหมาก รากไม้ กล้วย อ้อย ฯลฯ ก็มีให้เก็บกินตลอดทาง

แต่วันนี้ ลูกหลานของเราแม้แต่จะให้เดินไปโรงเรียนที่อยู่ห่างจากบ้านสัก 500 เมตร ถ้าไม่สตาร์ทรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งให้ถึงที่ก็ต้องมีปัญหาตามมาแน่ กลัวลูกจะเถลไถลข้างทางเดี๋ยวไปไม่ทันโรงเรียน กลัวจะหนีโรงเรียนไปเที่ยวกับเพื่อน กลัวสารพัดกลัวจึงต้อง อุ้ม” ใส่รถไปส่งให้ถึงที่

เด็กๆ สมัยนี้ถูกปลูกฝังความคิดให้ไม่ต้องรับผิดชอบการงานพื้นฐานของครอบครัว ขอให้เรียนอย่างเดียวลูกจะเอาอะไรคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องขวนขวายหามาให้ โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นจึงต้องตอบสนองด้วยของเล่นที่ใหญ่ตามวัย โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ไอแพด ไอโฟน มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ

ผ่านการเคี่ยวเข็ญมาทีละช่วง ทีละจังหวะ เด็กบางคนก็สามารถเรียนจนจบปริญญาตรีที่พ่อแม่มุ่งหวัง แต่ส่วนใหญ่ 8 ใน 10 คนไปไม่ถึง ชีวิตถึงคราวหักเหจากปัญหาการเรียน ผิดใจกับเพื่อน อกหักจากแฟน ฯลฯ เยาวชนเหล่านี้ขาดทักษะชีวิตแม้เพียงเรื่องง่ายๆ เช่น สวดมนต์ไหว้พระเพื่อหาทางออกให้กับตัวเองเวลามีปัญหารบกวนจิตใจ เขาจึงต้องออกไปหาทางออกนอกบ้านไปเที่ยวเตร่ กินเหล้า เมายา พลาดพลั้งขึ้นมาปัญหายาเสพติด ท้องไม่พร้อม ก็ตามมาเป็นวิกฤตใหญ่สร้างความขื่นขมระทมใจทุกข์กันไปทั้งบ้าน

พวกที่เรียนจบแล้วถ้าอยู่ในสาขาอาชีพที่พอจะหางานทำได้ไม่ยาก ก็พอจะมีแรงดึงดูดจากสังคมให้ลุกขึ้นแต่งตัวออกไปทำการงาน ชอบหรือไม่ชอบนั้นอีกเรื่องหนึ่งถ้าปรับตัวได้ก็ดีไป แต่ถ้าปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ ที่ทำงานไม่ได้ ก็พร้อมจะลาออกด้วยเหตุผลโน่น-นั่น-นี่ ไม่เป็นไรยังมีพ่อแม่ที่พร้อมจะเลี้ยงเราเหมือนเดิม

ถ้าโชคร้ายหางานทำไม่ได้ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจน...เซ็ง ไม่อยากออกไปเผชิญหน้ากับใครต่อใครให้เข้ามาถามซ้ำซากว่า เรียนอะไร จบอะไรมา ได้งานทำหรือยัง ทำงานที่ไหน เงินเดือนเท่าไหร่ ฯลฯ แต่ละวันของชีวิตจึงวนเวียนอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ขนมซอง...ที่แสนจะคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นที่พึ่งทางใจคิดอะไรไม่ออกก็เริ่มวันใหม่ด้วยการเพ่งหาเอาจากหน้าจอ ขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง ยื่นคำขาดเอาจากพ่อแม่ ไม่ต้องมายุ่งกับหนู ไม่ต้องมาสั่งให้หนูทำอะไร หนูโตแล้วเลือกเองได้ ไม่ต้องมาเลือกให้หนู... คนเป็นพ่อเป็นแม่จะทำอะไรได้นอกจากแอบไปร้องไห้น้ำตาซึม เครียดขึ้นมาก็ขึ้นเสียงดังทะเลาะกันไป สร้างเหตุต่อเนื่องตามมาให้เครียดหนักขึ้นไปกว่าเดิม

ปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่งเคยเปรียบเทียบชีวิตของเกษตรกรที่ต้องวิ่งตามการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวสมัยใหม่ว่า พวกเราเหมือนสุนัขหลงอยู่บนทางด่วน จะวิ่งไปข้างหน้า จะถอยหลังก็ไม่รู้ว่าทางออกที่ใช่มันคืออะไร อยู่ทางไหน ถ้าตัดสินใจวิ่งข้ามถนนก็เสี่ยงที่จะโดนรถทับตาย”

อ่านแล้วก็สะท้อนใจนึกถึงเด็กๆ สมัยนี้ที่ผู้ปกครองแข่งกันแบบเอาเป็นเอาตาย อุ้ม” กันขึ้นไปปล่อยให้เป็น “สุนัขหลงอยู่บนทางด่วนสายชีวิต”


คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา#สุนัข
หมายเลขบันทึก: 531498เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2013 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2013 08:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อยากต่อยอดนะคะว่า ใครเป็นพ่อแม่ให้ทำใจและวางอุเบกขา

หมั่นสวดมนต์ภาวนา ให้ลูกเห็น..ลูกอยากทำงานอะไร แบบไหน

พาไปฝึก ณ ที่นั้นๆ สักวันหนึ่งคนที่ชอบหมกอยู่แต่ในห้องจะรู้เองว่า

เขาต้องออกไปหางานทำ มิฉะนั้น พ่อแม่จะไม่มีเงินให้เขาใช้


อากาศก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆ คงต้องลดไม่ให้เกิดสุนัขบ้าเพิ่มมากขึ้นด้วยคะ ข้อเขียนโดนใจคะ

เป็นปัญหาที่น่าคิดมากเลยครับ ผมเองให้ลูกเรียนโน่นเรียนนี่ในช่วงปิดเทอมเหมือนกันครับ แต่จะให้เขาเรียนในสิ่งที่เขาอยากไปเรียนเองเท่านั้นครับ

ชีวิตก็เป็นเช่นนี้เอง ดึงมากก็ไม่ได้ผ่อนมากก็ไม่ได้ เทคนิคการเลี้ยงลูกก็ไม่มีสูตรสำเร็จครับ

ผมว่าการให้เรียนพิเศษพวกศิลปะ หรือวิชาการ นั้นก็มีประโยชน์อยู่ที่การนำไปใช้ครับ แต่ให้เรียนอย่างเดียวไม่พอ พ่อแม่ ต้องให้เรียนรุ้การเข้าสังคม การทำงาน รับผิดชอบ โดยเราเป็นคนนำน้องๆลูกหลานนี่ล่ะครับ ไปที่ทำงานบ้าง

    ให้เขารู้ว่าบางครั้งการทำงานก็ไม่ตรงกับวิชาความรู้ที่เราเรียนมาหรอก....

'สุนัขบนทางด่วน' เคยเห็นประโยคนี้นะคะ คุณไอศูรย์ให้ภาพลบเพียงด้านเดียว อ่านแล้วรู้สึกห่อเหี่ยว แต่สะใจมาก บางทีการกระทุ้งแรงๆ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เห็นด้วยมากถึงมากที่สุด.

เห็นด้วยครับ...ผมทำงานในหมู่บ้าน..หลายครอบครัวพ่อแม่แยกทางกัน...หรือไปทำงานถาวรที่ต่างจังหวัดและประเทศ...ลูกอยู่กับตายาย...การเลี้ยงดูแบบโอบอุ้ม และเงินพบเจอมากครับ...แต่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องพยายามช่วยเด็กครับ...เช่น การแนะนำ การให้กำลังใจ การใช้สื่อเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์  และกลุ่มเพื่อนก็สำคัญ....ผมคิดอยู่ว่า...เราหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ไม่ได้แน่นอน แต่พยายาม...และพลิกสถานการณ์ ในมุมลบ ย่อมมีมุมบวกเกิดขึ้นเสมอครับ

ทาทางจะจริง  เสียดายผมเพิ่งออกมาจากหลังสวน อดพบกันเลย 

วันที่ 5-7 เมษายน จะไปใหม่ จะได้พบกันไหมครับ...

ถ้าเราหยุดคิดและตั้งสติให้ดีๆ เราก็จะมีแนวทางของตัวเอง ซึ่งลูกจะเป็นยังไงมีแนวยังไงก็อยู่ที่เรานี่เองค่ะ ถ้าพ่อแม่หลงทางก็ยากที่ลูกจะไม่หลงทางไปด้วยนะคะ เราคงต้องช่วยกันเตือนพ่อแม่ที่ยังมีเวลาดูแลลูกค่ะ เอาตัวอย่างดีๆไว้เป็นตัวตั้ง ต้องช่วยกันบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องตามกระแสสังคม ลูกก็ได้ดีมีสุขได้ค่ะ

สาเหตุหลักน่าจะอยู่ที่ประเทศไทยจัดการศึกษาผิดครับ   วิธีที่ใช้กันอยู่มันผิดยุค ผิดสมัย   ไม่สร้างคนที่มีแรงบันดาลใจในชีวิต 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท