เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้...ผู้ใหญ่ยังหลงทาง


ผอ.โรงเรียนหลายท่านปรึกษา
ศน.หลายเขตพื้นที่สอบถาม
ครูและพ่อแม่ต่างเป็นกังวล...มืดมนกับปัญหา
เด็กๆ ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อีกมากมายนัก

ทางออกจากความเศร้าหมองดังกล่าวมีอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่าท่านจะเลือกหรือไม่
แม้หลายท่านที่เกี่ยวข้องจะเห็นตรงกันก็ตาม
เรื่องของเรื่องยังคงกีดขวางด้วยอุปสรรคอันใด
เราลองมาทบทวนกันดู...

เบื้องต้นขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำแผนงานโครงการฯ ดังนี้

1.หลักการ
หลักการในการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ “แบบครบวงจร”
1.1 จัดทำโครงการป้องกันปัญหา
1.1.1 จัดการเรียนการสอนระดับอนุบาลให้ถูกต้อง เพื่อเตรียมทักษะภาษาก่อน ป.๑ เท่าที่จำเป็น ไม่ทำเกินหน้าที่ (โดยทั่วไปครูอนุบาลมักทำเกินหน้าที่ เป็นการทำลายศักยภาพของเด็ก และไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ) ให้ขึ้นชั้น ป.๑ อย่างมีความพร้อมที่เรียนอ่านออกเขียนได้
1.1.2 จัดการเรียนการสอนระดับ ป.๑ ให้ถูกต้อง เพื่อสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐาน ไม่ให้มีปัญหาเมื่อขึ้นชั้น ป.๒ (โดยทั่วไปครู ป.๑ มักฝึกทักษะเด็กไม่สมบูรณ์เพียงพอ และฝึกผิดวิถีการฝึกทักษะภาษาไทย ทำให้ขึ้น ป.๒ ไปด้วยความไม่พร้อมต่อการอ่านเขียน)
1.2 จัดทำโครงการแก้ปัญหาเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในชั้น ป.๒ ขึ้นไป ถึงชั้นสูงสุดของโรงเรียน ด้วยการจัดให้มี “ครูอาสา” สอนแก้ปัญหา เป็นวาระเฉพาะกิจวันละไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง ประมาณ ๔ เดือน หรือไม่น้อยกว่า ๙๐ ชั่วโมง

2.การจัดอบรม
การจัดอบรมผู้เกี่ยวข้อง ให้ สพป. หรือ สพม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
2.1 จัดอบรม ผอ.โรงเรียน ๑ วัน เพื่อเรียนรู้สาเหตุแห่งปัญหา การป้องกันปัญหา และการแก้ปัญหาแบบครบวงจร
2.2 จัดอบรมครูอนุบาล ๑ หรือ ๒ วัน เพื่อเรียนรู้การเตรียมทักษะภาษาระดับอนุบาลให้ถูกต้อง (หลักสูตร ๑ วันสำหรับเรียนรู้แนวทางและวิธีการ, หลักสูตร ๒ วันสำหรับเรียนรู้แนวทาง วิธีการ และปฏิบัติการ)
2.3 จัดอบรมครู ป.๑ และครูอาสา ๒ วัน เพื่อเรียนรู้สาเหตุแห่งปัญหา แนวทางการแก้ปัญหา การเขียนชาร์ตการสอน วิธีสอนป้องกันปัญหาและสอนแก้ปัญหา

3.การติดตามกำกับและนิเทศ
การติดตามกำกับให้ผู้ปฏิบัติแต่ละส่วนกระทำการอย่างแม่นตรงต่อเป้าหมาย เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกันกับการนิเทศชี้แจง ช่วยให้คำแนะนำในการแก้ปัญหา และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ หน่วยงานบังคับบัญชาและรวมทั้งโรงเรียนเองก็จะต้องจัดให้มี “ทีมนิเทศ” ที่มีประสิทธิภาพ
...
หลายแห่งยังไม่สามารถดำเนินการให้แม่นตรงต่อปัญหาอย่างเป็นระบบ
เพราะเหตุอันใด ตัวละครแต่ละหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างรู้อยู่แก่ใจ
หยุดหลงทางเสียทีเถิด...
หยุดเบี่ยงเบนเงินงบประมาณที่ สพฐ.จัดสรรเพื่อการพัฒนาบุคลากรปีการศึกษาละไม่น้อยกว่าเขตพื้นที่ละ ๓,๐๐๐,๐๐๐ (สามล้าน) บาทอย่างบิดเบี้ยวและเลื่อนลอย

ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ ในเมื่อหัวใจสำคัญของปัญหา (เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้) ยังไม่ได้รับการปลดเปลื้องให้หมดสิ้นไป ต่อให้มุ่งพัฒนาสาระวิชาอื่นๆ ดีพร้อมอย่างไร เด็กๆ ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็ไม่อาจรับรู้ และสื่อสารอะไรกับสาระวิชานั้นๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ ค่าเฉลี่ยของการวัดประเมินเอ็นทีจึงยังต่ำและโอเน็ตจึงยังตกอยู่ทั้งประเทศ ดังที่เห็นๆ กันอยู่นั่นเอง

------------------------
หากต้องการปรึกษา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากครูกานท์ (ผศ.ศิกานท์ ปทุมสูติ) โทร. 081-9956016 หรืออีเมล [email protected]

...

เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว




หมายเลขบันทึก: 530957เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2013 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2013 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปวงปัญหาแทรกซ้อน ที่เขตและโรงเรียนเป็นผู้สั่งสมอีกก็คือ

(๑) ใช้ครูทำงานธุรการต่างๆ มากเกินกว่าเวลาที่จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

(๒) นโยบายฝาก กิจกรรม และมหกรรมต่างๆ ที่เบียดบังเวลาเรียนของนักเรียนมีมากเกินจำเป็น


(๓) โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่จัดจำนวนเด็กแต่ละห้องเรียนมากเกินกว่าจะรักษา คุณภาพได้ คือราว ๓๐-๔๕ คน ซึ่งถ้าจะให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพแท้จริงแล้ว จะต้องไม่เกินห้องเรียนละ ๒๕ คน

(๔) นอกจากที่กล่าวแล้ว อุปสรรคใหญ่หลวงอีกประการหนึ่งก็คือ การทำงานแบบขาดจิตวิญญาณและสำนึกรับผิดชอบของ ผอ.และครูอีกจำนวนหนึ่ง เรื่องนี้มักเกิดจาก ผอ.โรงเรียนเป็นผู้สั่งสมโรคหย่อนสภาพเสียเองก่อน จากนั้นเชื้อโรคความย่อหย่อนอ่อนแอจึงจะค่อยลามไปที่ครูบางคน และบางคน นานวันเข้าเมื่อเปลี่ยน ผอ. แม้ ผอ. คนใหม่จะมีไฟมีพลังสร้างเสริมคุณภาพอย่างไร โรคร้ายที่เกาะกินวิญญาณครูบางคน บางส่วน ก็ยากที่จะเยียวยา หมดสภาพ รอวันเกษียณอย่างน่าเศร้าและเวทนายิ่งนัก ... ข้อนี้ ครูดีทุกคนจะต้องไม่พลอยติดเชื้อโรคร้ายไปด้วยนะครับ และต้องไม่ตกหลุมพรางของความน้อยใจ หรือท้อแท้ ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะไม่เหลือความหวังอันใดอีกเลย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท