ทางสายกลางของศาสนาพุทธที่ “ไม่ใช่” (ตอนที่ ๒)


ทางสายกลางของศาสนาพุทธที่ “ไม่ใช่” (ตอนที่ ๒) 

ทางสายกลางมีหลายระดับ กลางต่ำ กลางกลาง กลางสูง

ส่วนท่านพุทธทาสภิกขุ (พระไทยเราเอง) ท่านสอนทางสายกลางระดับสูงสุด ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะเป็นทางสายกลางที่แท้จริงของศาสนาพุทธ โดยท่านสอนว่า ก่อนพุทธกาลมันมีเส้นทางสุดโต่งอยู่สองเส้นคือโต่งซ้าย กับโต่งขวา เส้นโต่งซ้ายคือเส้น อัตตา (แปลว่า มีตัวตน ที่พวกฮินดูก่อนพุทธกาลเชื่อ และพวกพุทธนิกาย “ธรรมะกลาย “ ก็กำลังหวนถอยกลับไปเดินตามต้อยๆอยู่ในวันนี้) อีกเส้นคือเส้นโต่งขวาคือเส้น นิรัตตา (แปลว่า ไม่มีตัวตน ก็มีลัทธินี้มากหลายพอควร รวมไปถึงพวกกรีกโบราณโน่น) 

เส้นโต่งซ้ายว่ามีตัว (Self) โต่งขวาว่าไม่มีตัว (No Self) แต่โต่งกลางที่พพจ.ทรงนิยมนี้ว่า “ไม่ใช่ตัว” (Not Self) 

เมื่อพพจ.ตรัสรู้ (เพราะไม่ยอมใจอ่อนไปกินมธุปายาสมากเกินกว่าหนึ่งมื้อ) จึงได้มาบอกชี้ทางเลือกที่สาม คือทางสายกลาง คือ เส้นอนัตตา นี้แล

นักเทศน์ไทยจำนวนมาก ทั้งพระและคฤหัสน์ ทั้งแก่และอ่อน รวมทั้งพระดังชาวศรีลังกาบางท่าน สอนกันแบบไม่ระวัง ไปหาว่าศาสนาพุทธสอนว่า “ไม่มีตัวตน” คงเพราะไปแปลคำว่า อนัตตา แบบผิดๆ ว่า ไม่มีตัว 

แต่ผมได้เสนอมาแต่พศ. ๒๕๓๓ เป็นบทความภาษาอังกฤศในกลุ่มสนทนา usenet soc.religion.eastern ว่า ควรแปลอนัตตาว่า “ไม่ใช่ตัว” ซึ่งความหมายมันต่างกับ “ไม่มีตัว” แบบฟ้ากะเหว 

แล้วพอคิดได้ดังนั้น ผมก็ไปสืบค้นคำสอนเก่าๆ ของท่านพุทธทาส ...พบว่า ท่านใช้คำว่า “ไม่ใช่ตัว” ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่เคยมีการใช้ศัพท์ว่า “ไม่มีตัว” เลยสักครา ซึ่งยิ่งทำให้ผมมีตัวตนมากขึ้นด้วยอุปทานว่า “เราคงมาถูกทางแล้ว” 

ผมเห็นว่า ถ้าแปลว่า “ไม่มีตัว” ก็กลายเป็นลัทธิ นิรัตตา ที่มีมาก่อนศาสนาพุทธ แล้วจะต้องมีพพจ.มาตรัสรู้แย้งให้เปลืองข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาไปทำหอกโมกขศักดิ์อันใด 

นี่แหละทางสายกลางที่แท้จริงแห่งหลักศาสนาพุทธ พึงเข้าใจกันให้ดีเถิดสหายเอ๋ย ส่วนรายละเอียดของการ “ไม่ใช่ตัว” นั้น ค่อยว่ากันอีกที 

...คนถางทาง (๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖)

หมายเลขบันทึก: 530826เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2013 07:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2013 07:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อืมม.... ลึกซึ้งครับ ทำให้นึกถึงตำนานของพระฮุ่ยเหนิง (อีกแล้ว) แสดงว่าอาจารย์บอกว่าพระเสนชู่ถูกสิครับ (ยังมีกระจกให้คอยปัดให้ใสสะอาด) ส่วนพระฮุ่ยเหนิง (ไม่มีกระจก) เป็นกลุ่มนิรัตตา

ปล. ผมรู้จักพระฮุ่ยเหนิงก็จากหนังสือของท่านพุทธทาสนี่ละครับ

ท่านฮุยหนิง (หรือเว่ยหล่าง)  ท่านอธิบาย โพธิ  ด้วยการยืนนิ่ง ไ่ม่พูดไม่จาอะไรไม่ใช่ดอกหรือครับ หนังสือเล่มนี้ของท่านพุทธทาส ผมก็อ่าน นานมาหลายสิบปีแล้วครับ ชื่อ สูตรของเว่ยหล่าง ใช่ไหมครับ

ผมหมายถึงตอนที่เขาจะเลือกผู้รับตำแหน่งพระสังฆราชคนต่อไปครับ แล้วพระเสนชู่เขียนกลอนว่า

身是菩提樹, The body is a Bodhi tree,
心如明鏡臺。 The mind a standing mirror bright.
時時勤拂拭, At all times polish it diligently,
勿使惹塵埃。 And let no dust alight.

ส่วนท่านฮุยหนิง (ที่ยังไม่บวชและเขียนหนังสือไม่ได้) วานเขาเขียนว่า

菩提本無樹, Bodhi is fundamentally without any tree;
明鏡亦非臺。 The bright mirror is also not a stand.
本來無一物, Fundamentally there is not a single thing —
何處惹塵埃。 Where could any dust be attracted?

ปล. ผมคัดมาจาก Wikipedia ครับ

ถ้าหาจากสูตรของเว่ยหลางมีคำแปลภาษาไทยแล้วครับ

เสนชู่ (ชินเชา) เขียนว่า

กายของเราคือต้นโพธิ์ 
ใจของเราคือกระจกเงาใส
เราเช็ดมันโดยระมัดระวัง ทุกชั่วโมง
และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ
ส่วนฮุ่ยหนิง (เว่ยหลาง) เขียนว่า

ไม่มีต้นโพธิ์
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว
ฝุ่นจะลงจับอะไร?

อืมม...​จริงๆ คนหนึ่งคือ Self ส่วนอีกคนคือ No Self แต่ Not Self ไม่มีจริงๆ ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท