การจัดการความรู้สู่ผู้นำองค์กรนิสิต (ปฐมนิเทศผู้นำค่าย)


เมื่อลงมือทำสิ่งใดอย่างเต็มกำลังแล้ว ความสำเร็จหรือความล้มเหลวไม่ใช่ปลายทางอันยิ่งใหญ่เสียทั้งหมด เพียงแต่อยากให้วิเคราะห์ว่าอะไรคือต้นสายปลายเหตุของความสำเร็จและความล้มเหลว เพราะนั่นคือ “ชุดความรู้” ของการทำค่าย และที่สุดของการทำค่ายก็คือ การได้ “เรียนรู้” ...

เมื่อวันที่  28 กุมภาพันธ์ 2556  ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องแนวคิด “การจัดกิจกรรมนิสิตกับการเรียนรู้กับชุมชน”  ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้ชื่ออันเป็นทางการว่า “การจัดการความรู้สู่ผู้นำองค์กรนิสิต”





ปฐมนิเทศ :  หนุนเสริมกำลังใจและติดอาวุธทางปัญญา


โครงการดังกล่าวนี้  ในอดีตผมเรียกเชิงวาทกรรมว่า “ค่ายภาคฤดูร้อน”  เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อม (ปฐมนิเทศ)  ให้กับผู้นำค่าย  ทั้งในมิติของขวัญกำลังใจและการติดอาวุธทางปัญญาให้กับนิสิต  เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชน  ผ่านวิธีการถ่ายทอดและบอกเล่าหลากรูปแบบ  ทั้งจากผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่นิสิต เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสบอกเล่าประสบการณ์สู่กันฟัง  และนั่นก็รวมถึงการเรียนรู้ผ่านสื่อหรือนวัตกรรมอื่นๆ

ปีนี้เท่าที่ได้รับรู้ข้อมูลมาดูเหมือนจะประสบปัญหาเรื่องงบประมาณอยู่ค่อนข้างมาก  จึงไม่สามารถนำพานิสิตไปปฐมนิเทศและแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกสถานที่ได้  รูปแบบการของการฝึกปฏิบัติการทางภาคสนามจึงหดหายไปโดยปริยาย 

ข้อจำกัดด้านงบประมาณไม่เพียงกระทบต่อการฝึกปฏิบัติการภาคสนามเท่านั้น  แต่ส่งผลกระทบต่อการจัดแจงเรื่องเอกสารอ่านประกอบไปในตัว  โดยส่วนตัวผมมองว่ากิจกรรมเช่นนี้คือ “ภารกิจ”  อันสำคัญ  เป็นกระบวนการ “ต้นน้ำ”  ที่มหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้  เพราะการไปค่ายของนิสิต  ไม่เพียงแค่ไปเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตัวเองเท่านั้น หากแต่แบกความเป็นมหาวิทยาลัยลงไปสู่ชุมชนอย่างเต็มบ่า 




การจัดเวทีปฐมนิเทศที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกันเช่นนี้  จึงนับเป็นกระบวนการแห่งการ “หนุนเสริม” อันยิ่งใหญ่  เพราะเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ ปลุกเร้าให้เห็นคุณค่าของการดำรงชีวิตผ่านการทำงานร่วมกันโดยมีชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ (สถานีชีวิต)  

  • ย้ำเน้นสถานะของการเป็นนิสิต สะกิดเตือนในอัตลักษณ์ของนิสิต (ผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)  รวมถึงการพยายามส่งมอบหลักคิดอันสำคัญๆ ในการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน  เพื่อให้นิสิตสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและสิทธิผลของการ “เรียนรู้คู่บริการ” 

นอกจากนี้ ผมยังมองว่าเวทีดังกล่าว ยังเป็นโอกาสอันดีของการช่วยให้ผู้บริหารได้พบปะกับผู้นำค่าย  ส่งมอบนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมอีกรอบ พร้อมๆ กับการช่วยให้บรรดาผู้นำค่ายได้โสเหล่ถึงการขับเคลื่อนค่ายของตัวเองให้เพื่อนต่างชมรมได้ฟังและรับรู้ไปในตัว --





เปิดเวที : ละลายพฤติกรรมและสะท้อนภาพรวมของค่ายแต่ละค่าย



ก่อนถึงห้วงเวลาที่ผมต้องทำหน้าที่วิทยากร  น้องๆ เจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานได้รับบทบาทกิจกรรมละลายพฤติกรรมแบบง่ายๆ เน้นการทักทาย ถามทักถึงสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบของแต่ละคน  เรียกเสียงฮา เสียงหัวเราะได้ลงตัว  ซึ่งดำเนินการโดยคุณณัฐภูมินทร์ ภูครองผาและคุณรุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง  ถัดจากนั้นก็ถึงคราวของการสะท้อนภาพรวมของแต่ละค่ายผ่านมุมมองของเจ้าหน้าที่  (สุริยะ สอนสุระ)

การสะท้อนข้อมูลแต่ละค่ายนั้น  มีความน่าสนใจอยู่มาก  เพราะช่วยให้แต่ละค่ายได้มองจุดเด่นจุดด้อยของกันและกันผ่านมุมมองของคนนอก  (เจ้าหน้าที่)  ยึดโยงถึงการให้คำแนะนำเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับหลักการเขียนโครงการในแต่ละโครงการไปในตัวแบบเนียนๆ  โดยเฉพาะในเรื่องของการตั้งชื่อโครงการ หลักการเหตุผล  วัตถุประสงค์ หรือแม้แต่กระบวนการ หรือวิธีของการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย –

ผมว่าวิธีการเช่นนี้  จะช่วยให้นิสิตชาวค่ายได้มองเห็นภาพร่างทางความคิดของกันและกัน หรือเห็นภาพเชิงอัตลักษณ์ของค่ายแต่ละค่ายไปพร้อมๆ กับมองหยั่งลึกลงในค่ายของตัวเอง  ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับเขาแหละว่าจะนำข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สะท้อนไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร 

ส่วนเจ้าหน้าที่นั้นถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว  ข้อมูลที่สังเคราะห์ออกมานั้น มีสถานะเป็นสารสนเทศและจดหมายเหตุชาวค่ายไปโดยปริยายแล้วก็ว่าได้  เพราะทำให้รู้เลยว่าปีนั้นๆ มีค่ายอะไรบ้าง ใครจัดค่ายบ้าง ค่ายและค่ายทำอะไรกันบ้าง ทำค่ายกันที่ไหน  ฯลฯ






โสเหล่ : บอกเล่า ชวนถามทักตัวตนของแต่ละค่าย



ผมมีเวลาเพียง 1 ชั่วโมงในการพบปะพูดคุยกับผู้นำค่าย  กระบวนการบางอย่างที่ตระเตรียมมาถูกถอดทิ้งไป  จึงเน้นการเล่าเรื่อง ชวนคิดตาม หรือแม้แต่การถามทักให้แต่ละค่ายได้ตอบคำถาม หรือแม้แต่บอกเล่าเรื่องราวตัวเองให้ค่ายอื่นๆ ได้รับรู้




ผมชวนคิดชวนคุยในหลายประเด็น อาทิ

·  ถามทักถึงการได้มาซึ่งค่ายว่าก่อเกิดขึ้นอย่างไร  มีกระบวนการสำรวจค่ายอย่างไร  กิจกรรม/โจทย์ของค่าย เป็นความต้องการของนิสิตหรือชาวบ้าน  หรือมีกระบวนการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (โดยเฉพาะชุมชน) มากน้อยแค่ไหน  เสมือนการสอดแทรกหลักคิดของกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning Process) ไปแบบเนียนๆ

·  การปลุกเร้าให้นิสิตเห็นคุณค่าของงานค่ายที่เป็นเสมือนงานบริการวิชาการเหมือนที่อาจารย์ในแต่ละหลักสูตร (1 หลักสูตร 1 ชุมชน) ได้จัดขึ้นตามนโยบายเชิงรุกของมหาวิทยาลัย  เพียงแต่เน้นย้ำแนวคิดว่างานค่ายนั้น ต้องเป็นงานบูรณาการด้วยหลักคิด “เรียนรู้คู่บริการ” (Service Learning)  ไม่ใช่เน้นการ “ถ่ายทอด”  องค์ความรู้ โดยไม่สนใจทุนทางสังคม (Social Capital) ของชุมชนนั้นๆ

·  ปลุกเร้าให้นิสิตเชื่อมั่นว่างานค่ายเป็นกระบวนการเรียนรู้บนฐานคิดหลายอย่าง เช่น  การเรียนรู้ผ่านกลไกกิจกรรม/โครงการ (Project-based Learning)  มุ่งการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (learning by doing) 

·  ปลุกเร้าให้นิสิตเชื่อมั่นว่างานค่ายเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน  (Community basedเสมือนห้องเรียนอีกห้องหนึ่งของนิสิต ซึ่งนิสิตจะต้องไม่แยกส่วนการเรียนรู้  อันหมายถึงคิดคำนึงถึงคลังปัญญาของชุมชน (บวร : บ้าน วัด ส่วนราชการ)

·  กระตุ้นให้นิสิตเห็นความสำคัญของการจัดค่ายด้วยแนวคิดของการจัดการความรู้อย่างเป็นระยะๆ เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้(Knowledge sharing) ร่วมกันระหว่างนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชุมชน ทั้งในมิติของบริบทชุมชนและการงานหลักที่เกี่ยวโยงกับค่ายของแต่ละค่าย  รวมถึงการกระตุ้นให้นิสิตนำหลักของการบริหารจัดการในระบบ PDCA ไปใช้ในค่ายให้เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ผมยังไม่ละวางที่จะฝากแนวคิดแก่นิสิตชาวค่ายว่าการทำค่ายของคนหนุ่มสาวนั้น  ต้องไม่ลืมที่จะหันกลับมาทบทวนตัวเองว่า  เมื่อทำค่ายแล้ว เกิดการเติบโตใดๆ ในตัวตนของนิสิต  รวมถึงการหวนคิดถึงเรื่องราวหลากเรื่องในบ้านเกิดของตนเอง  เพื่อทบทวนถึงประเด็นของจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด (เยาวชนจิตอาสา)  หรือคุณค่าของตัวเอง (Self awareness) ไปพร้อมๆ กัน





สรุป :  สำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ที่สุดแล้วก็คือการเรียนรู้


ในท้ายที่สุด ผมฝากให้นิสิตได้เชื่อมั่นในวาทกรรมที่ผมพร่ำพูดมายาวนานว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้...ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้..เว้นแต่เราไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้” 

และขอให้เชื่อเสมอว่า  เมื่อลงมือทำสิ่งใดอย่างเต็มกำลังแล้ว  ความสำเร็จหรือความล้มเหลวไม่ใช่ปลายทางอันยิ่งใหญ่เสียทั้งหมด  เพียงแต่อยากให้วิเคราะห์ว่าอะไรคือต้นสายปลายเหตุของความสำเร็จและความล้มเหลว  เพราะนั่นคือ “ชุดความรู้”  ของการทำค่าย  และที่สุดของการทำค่ายก็คือ การได้ “เรียนรู้” ...
ซึ่งวันนี้ชาวค่ายก็กำลังเรียนรู้ถึงหลักคิดอันสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ---

ครับ,นี่คือเรื่องราวเล็กในเวทีดังกล่าว เป็นการปลุกเร้าหนุนเสริมก่อนการเดินทางไปออกค่าย  และนี่คือกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาผู้นำค่าย เพื่อให้ผู้นำค่ายเกิดแรงบันดาลใจและมีหลักคิดในการประยุกต์ใช้กับงานค่าย  หรือแม้แต่การนำองค์ความรู้จากเวทีนี้ไปถ่ายทอดต่อมวลสมาชิกของตนเองตามหลักคิด "สอนงาน สร้างทีม"  ที่ผมบุกเบิกและทิ้งเป็นวาทกรรมในสายธารการพัฒนานิสิตเมื่อหลายปีก่อน




หมายเหตุ

ค่ายในสังกัดองค์การนิสิต

·  ค่ายเยาวชนรุ่นใหม่ หัวใจคุณธรรม รุ่นที่ 2 วันที 8-10 มีนาคม 2556 ณ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย2 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น  (ชมรมเทิดคุณธรรม)

·  ค่ายอาสาสร้างสนามเด็กเล่น วันที่ 5-7 มีนาคม 2556 ณ โรงเรียนชุมชนกุดโดดวิทยาคม อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ค่ายนี้จะมีการสร้างสนามเด็กเล่น (สภานิสิต)

·  ค่ายความรู้นี้พี่ให้น้อง ครั้งที่ 11 วันที่ 6-8 มีนาคม 2556 ณ โรงเรียนบ้านแสนสุข ตำบลนาสีนวล อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม (ชมรมรุ่นสัมพันธ์)

·  ค่ายนอกหน้าต่างสานสายใยแห่งฝัน ปันสายใยแห่งรัก ถักทอแรงใจสร้างอาคารเรียนให้น้อง ครั้งที่ 10 วันที่ 6-16 มีนาคม 2556 ณ โรงเรียนบ้านโคก สหกรณ์เทพรักษา ตำบลหนองกุงธนสาร อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น  (ชมรมนอกหน้าต่าง)

·  ค่ายเฮ็ดไป่งตุ้มป่า ตอน คนสร้างป่าพาสร้างโป่ง วันที่ 6-10 มีนาคม 2556 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ตำบลสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย (ชมรมสานฝันคนสร้างป่า)

·  พัฒนาจิต วันที่ 5-8 มีนาคม 2556 ณ วัดป่าโพธิญาณ ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี  (ชมรมพุทธศาสน์)

·  ค่ายสานชุมชน คนรักสุขภาพ วันที่ 4-6 มีนาคม 2556 ณ บ้านหนองจิก ตำบลนาห่อม อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี (ชมรมยุวทูตนมแม่)

·  ค่ายทอฝันสานสัมพันธ์เพื่อน้อง ครั้งที่ 11 วันที่ 4-10 มีนาคม 2556 ณ โรงเรียนบ้านหนแงแฮหนองเหล็ก ตำบลหนองเหล็ก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม (ชมรมทอฝัน)

·  ค่าย 28 ปี อาสาพัฒนา ห้องน้ำเพื่อน้อง วันที่ 6-18 มีนาคม 2556 ณ โรงเรียนบ้านเหล่าหุ่ง ตำบลเหล่าไฮ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (ชมรมอาสาพัฒนา)

·  ค่ายศึกษาวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้าน วันที่ 4-6 มีนาคม 2556 ณ บ้านหนอกจิก ตำบลห่อม อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี (ชมรมมรดกอีสานใต้)

·  ค่ายสานสัมพันธ์พี่น้องคาทอลิกกับชุมชน  (ชมรมนิสิตคาทอลิก)

·  ค่ายสร้างกุศล คนหอใน มมส วันที่ 5-6 มีนาคม 2556 ณ วัดป่าภูผาแดง ตำบลหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี (ชมรมสานสายใยร่วมชายคา)


ค่ายในสังกัดสโมสรนิสิต

·  ค่ายชมรมถนนผู้สร้าง สายที่ 9 วันที่ 6-15 มีนาคม 2556 ณ โรงเรียนบ้านหนองไผ่ ตำบลเสาเหล้า อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์  (ชมรมถนนผู้สร้าง สังกัดสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์)

·  ค่ายครูอาสาสู่ชนบท ครั้งที่ 11 วันที่ 11-17 มีนาคม 2556 ณ โรงเรียนบ้านสังข์ ตำบลบึงนคร อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด (ชมรมครูอาสา สังกัดสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์)

·  ค่ายครูบ้านนอกอาสาพัฒนาโรงเรียน ครั้งที่ 11 วันที่ 9-13 มีนาคม 2556 ณ โรงเรียนบ้านท่าเยี่ยมโนนคอม ตำบลธาตุ อำเภอวานรนิวาศ จังหวัดสกลนคร (ชมรมครูบ้านนอก สังกัดสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์)


หมายเลขบันทึก: 521832เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2013 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ทำงานหนัก อย่าลืมพักบ้างเน้อ คุณแผ่นดิน ;)...

เป็นงานที่น่าปลื้มใจนะคะ

ทุกชอตคือนาทีที่ยิ่งใหญ่แห่งการเรียนรู้ค่ะ

คิดถึงตอนเป็นนิสิตค่ะ (มันนานมากกกก แล้ว) 555

มีความสุขกับวันหยุดสุดสัปดาห์นะคะ


ขอบคุณคะ ได้แนวคิดทั้งการพัฒนาตนเองและให้คำแนะนำนักศึกษาในการทำค่าย

เคยไปเข้าค่ายหมอชนบทครั้งหนึ่ง น่าเสียดายที่เมื่อกลับเข้ามาในสังคมเมืองโรงเรียนแพทย์ 

เราก็รีบตัดสินใจทั้งที่ยังมองภาพไม่ชัด..แต่ก็ไม่เป็นไรคะ
เพราะได้ 'ชุดความรู้' หนึ่ง ที่ช่วยให้เราทำอะไรเป็นประโยชน์มากขึ้นในอนาคต

"เมื่อลงมือทำสิ่งใดอย่างเต็มกำลังแล้ว  ความสำเร็จหรือความล้มเหลวไม่ใช่ปลายทางอันยิ่งใหญ่เสียทั้งหมด  เพียงแต่อยากให้วิเคราะห์ว่าอะไรคือต้นสายปลายเหตุของความสำเร็จและความล้มเหลว"

ยังยอดเยี่ยม เปี่ยมคุณภาพเช่นเคยนะคะ

ผมได้อะไรดีๆ จากบันทึกนี้ครับ...ขอบคุณครับ

ทำงานมากจริงๆ

ชอบการถอดบทเรียนจากการทำกิจกรรมกับนิสิตครับ

ขอให้มีความสุขกับการทำงานครับ

เข้ามาบ้านนี้แล้วมีเรื่องไปบอกต่อชุมชนเสมอ นำสิ่งดีดีสู่ชีวิต

เป็นมหาลัยที่เด่นทั้งเรื่อง เรียน และปฏิบัติจริง ๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท