การสอนโดยสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม



การสอนโดยสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม


เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


           

                สัปดาห์นี้นับว่าเป็นสัปดาห์ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เพราะหลังจากที่ผู้คนต่างชื่นชมและให้ความสำคัญกับวันแห่งความรักในคริสตศาสนาแล้ว  ในฐานะของพุทธศาสนิกชน  เราเองก็ควรย้อนกลับมาพิจารณาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์นี้ด้วย นั่นก็คือ “วันมาฆบูชา” หรือการบูชาในเดือน ๓

                          เมื่อหลายพันปีก่อน สมเด็จพระบรมศาสนา ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระขีณาสพกว่า ๑,๒๕๐ รูป ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ โดยได้ทรงแสดงหัวใจของพระพุทธศาสนาอันเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้กล่าวไว้ ซึ่งในค่ำคืนนั้น พระตถาคตเจ้า ได้กล่าวถึงหัวใจพุทธศาสนาไว้ว่า  


สพฺพปาปสฺส อกรณํ, กุสลสฺสูปสมฺปทา. สจิตฺตปริโยทปนํ, เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.

                 

                    แปลความได้ว่า  การไม่ทำความชั่ว  ทั้งปวง ๑, การบำเพ็ญแต่ความดี ๑, การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑  นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


                    การทำจิตของตนให้ผ่องใสนั้น เริ่มต้น  ง่าย ๆ  จากการสร้างความเห็นที่ถูกต้องหรือที่เรียกกันว่า  สัมมาทิฏฐิ  หรือความเห็นชอบ  คำถามคือ เห็นชอบอย่างไร และควรจะไม่เห็นชอบในสิ่งใด  สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้ทรงอรรถาธิบายไว้โดยสรุปได้ว่า  ความเห็นชอบ คือ การขจัดความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิ ๓ ประการ  ให้สิ้น  ก็แล้วมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ ประการที่ว่ามีอะไรบ้าง ?


                    ตอบได้ว่า  มิจฉาทิฏฐิ ๓ คือ  เห็นว่าการกระทำไม่ก่อให้เกิดบุญหรือก่อให้เกิดบาป ๑ (อกิริยทิฏฐิ)  เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีสาเหตุ ๑ (อเหตุกทิฏฐิ) และเห็นว่า  ไม่มีสิ่งที่เป็นคติธรรมต่าง ๆ ๑ (นัตถิกทิฏฐิ)  ความเห็นทั้ง ๓ ยังให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ และทำให้จิตใจตกไปสู่อบาย 


                     ผู้อ่านที่เป็นครู  หากพบว่านักเรียนของเรากระทำสิ่งต่าง ๆ โดยมิได้คิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้น  จะยังผลให้เกิดบุญหรือบาปอะไร แต่ทำไปตามแต่ใจของตนจะปรารถนา เช่น เราสามารถที่จะ  พูดผิด คิดร้าย หรือกระทำผิดในการศึกษาเล่าเรียนได้  เช่นนี้ ย่อมถือว่าเกิดความเห็นผิดเป็นประการแรก  หากผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียน ไม่เชื่อในหลักเหตุผล เห็นว่า การเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ เป็นผลมาโชคอำนวยอวยเคราะห์ไปตามกาลเวลา เช่น เห็นว่า ที่ตนไม่ประสบความสำเร็จใน  การเรียนเป็นเพราะเคราะห์กรรมบันดาล เป็นโชคเคราะห์ที่พัดพาตามโอกาส  ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับตนเองนั้น นี่ก็ถือว่าเป็นความเห็นผิดในประการที่สอง และประการสุดท้าย หากนักเรียนเห็นว่า  เราไม่จำเป็นจะต้องเคารพเชื่อฟังบิดามารดา ครูอาจารย์  และเห็นว่าหลักธรรมะต่าง ๆ เป็นเพียงลมปาก โป้ปดมดเท็จ หาสาระประโยชน์อะไรมิได้ เช่นนี้ จึงเรียกว่าความเห็นผิดเป็นประการที่สาม และครบองค์ ๓ ของมิจฉาทิฏฐิ ธรรมดาแล้วผู้เห็นเช่นว่านี้  ท่านว่าย่อมจมดิ่งสู่อบายภูมิ  และหากมีความเห็นที่ยึดแน่น  หรือยิ่งมีอุปาทานที่ทำให้เชื่ออย่างแรงกล้าด้วยแล้ว  ก็ยากนักที่จะเข้าถึงความเข้าใจชีวิตและโลกได้  เพราะชนเช่นนี้ ย่อมไม่เชื่อในผลกรรมและ  คติธรรมใด ๆ ซึ่งส่งผลให้ในที่สุดแล้ว เขาย่อมติดอยู่ในบ่วงแห่งทุกข์ และยากนักที่จะนำตนไปสู่อริยภูมิได้ 


                      ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนพอสมควร หากเราสามารถสอนภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาความรู้ใด ๆ จะเป็นหลักภาษาไทย วรรณคดีและวรรณกรรม หรือหลักการใช้ภาษา หากครูภาษาไทยสามารถที่จะสร้างความเห็นชอบ  คือ  เรียนแล้ว สามารถพูดคุยสนทนากับนักเรียน เพื่อคลายมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ ประการ ซึ่งหมายถึง สอนแล้ว นักเรียนเข้าใจและเห็นถึงผลของการกระทำ ที่ก่อให้เกิดบุญและบาป ความดีหรือความชั่ว เช่น ถ้าใช้ภาษาอย่างนี้ จะก่อให้เกิดผลเช่นใด จะใช้ภาษาอย่างไรให้เกิด  สิ่งที่ดีงาม  หรือสอนแล้ว นักเรียนสามารถวิเคราะห์สาเหตุ หรือความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ว่าเพราะเหตุใด จึงใช้คำหรือประโยคเช่นนี้  เพราะเหตุใดตัวละครจึงกลายมามีลักษณะอย่างนี้  หรือได้รับผลอย่างนั้น  ฯลฯ  หรือสอนแล้ว นักเรียนเกิดความเข้าใจในคติธรรม แนวทาง  ความเป็นไปของโลก วินิจฉัยได้ว่า อะไรคือความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  อะไรคือความดีงามและอะไรคือความจริงแท้  การสอนเช่นนี้ คือ  การสอนภาษาไทยให้คลายมิจฉาทิฏฐิ นำไปสู่ความเห็นชอบ เห็นถูกต้อง ของทั้งเนื้อหาภาษาไทยที่สอนอยู่ และชีวิตที่ได้เรียนรู้ตลอด  ทุกวัน  เพราะกระทำดั่งนี้  ที่กล่าวถึงการสอนโดยสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม จึงจะกลายเป็นจริงขึ้นมาได้


                       อย่างไรก็ตาม จะต้องพึงระวังว่า การสอนให้นักเรียนตระหนักในบุญบาปและ  คติธรรมต่าง ๆ นั้น จะต้องไม่กระทำด้วยการยัดเยียดหรือโน้มน้าวให้เชื่อ แต่ควรเน้นให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นและสะท้อนความคิดของตนเอง คือ ไดมีโอกาสใคร่ครวญว่าเหตุใดสิ่งนี้ จึงถูก จึงผิด หรือไม่ถูก ไม่ผิด โดยครูคอยแต่เป็นผู้กำกับและกระตุ้นให้นักเรียนใช้ความคิด ทดลองป้อนคำถามหรือประเด็นสะท้อนความคิดต่าง ๆ ที่อาจจะเป็นไปได้ เพื่อให้นักเรียนกลับไปไตร่ตรอง  ต่อยอดความคิดของพวกเขา นี่จึงเป็นลักษณะของการสอนที่มิได้มุ่งเน้นให้เกิดความเชื่อจาก  การฟัง  แต่ตรงกันข้าม  กลับมุ่งเน้นให้นักเรียนนำหลักไปสู่การปฏิบัติและรู้จักที่จะคิดใคร่ครวญด้วยตนเองมากกว่า 

                                          ________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 520467เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2013 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2013 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท