เรียนรู้สร้างสรรค์..ในบ้านพอเพียง (๒)


     เขียนบันทึกนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อต้นปีการศึกษา ๒๕๕๕ ..เรียนรู้สร้างสรรค์ ในบ้านพอเพียง โดยดำเนินการใน ๒ รูปแบบ อย่างแรกต้องการให้เป็นนวัตกรรมที่ทำแล้วน่าจะเกิดผลดี (Best Practice) กับเด็กระดับปฐมวัย     โดยจัดประสบการณ์ใหม่ๆให้เกิดความน่าสนใจ

     อีกรูปแบบหนึ่ง ทำเป็นโครงการใหญ่ บูรณาการแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนทั้งหมดให้เข้ากับการเรียนการสอน ๘ สาระวิชา ขณะเดียวกันก็จัดการความรู้ สร้างเป็นองค์ความรู้และถอดบทเรียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงสู่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

     การจัดระบบแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว นับวันยิ่งชัดเจนขึ้น ทั้งการปลูกผัก การเลี้ยงปลา การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ โรงเห็ดนางฟ้า สวนสมุนไพร และการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ แต่ก่อนหน้านั้น ได้นำเสนอกระบวนการพัฒนางานไปยังมูลนิธิตาเฮอร์สยามวาลา เพื่อขอทุนสนับสนุนงาน/โครงการ

     จำได้ว่าส่งไปหลายเดือนแล้ว จนเกือบลืม คิดอยู่เหมือนกันว่าสู้อุตส่าห์พิถีพิถันในการเขียนโครงการ มีภาพประกอบครบครัน ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการของมูลนิธิ ที่เขาอยากเห็นงานในลักษณะ สื่อ แบบเรียน - นวัตกรรม หรือ แหล่งเรียนรู้ ที่บูรณาการสู่การเรียนรู้ได้ ตลอดจนชิ้นงานสามารถพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตของนักเรียน

     วันนี้ มูลนิธิตาเฮอร์สยามวาลา แจ้งหนังสือมาที่โรงเรียน อนุมัติโครงการเรียนรู้สร้างสรรค์ ในบ้านพอเพียง ให้โรงเรียนเปิดบัญชีธนาคาร.. เพื่อจะได้โอนเงินทุนการศึกษามาสนับสนุนโครงการ แต่ให้ดำเนินงานปีการศึกษา ๒๕๕๖(เริ่มพฤษภาคม ๒๕๕๖) เนื่องจากมูลนิธิ ไม่มีการอนุมัติเงินทุนดังกล่าวในปีการศึกษา๒๕๕๕ และขอให้โรงเรียนส่งแผนงานด้วย จากนั้นคณะกรรมการมูลนิธิจะมาตรวจเยี่ยม หากโครงการยั่งยืน ต่อยอด และเข้าตากรรมการ อาจมีการสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องต่อไป

     ผมเคยเขียนสื่อ นวัตกรรมเล็กๆ นำเสนอโครงร่าง ให้มูลนิธินี้มาแล้ว ๒ ครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ครั้งนี้เชื่อมั่นแล้วว่า คณะกรรมการหรือนักวิชาการของมูลนิธิเขาจริงจัง ชัดเจน และช่วยเหลือจริง ถ้าตั้งใจ จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้คณะครูที่สนใจ ปีต่อไปลองศึกษารายละเอียดดู

     ขณะที่ผมเขียนบันทึกอยู่นี้ ผมนำหนังสือแจ้งอนุมัติโครงการให้คนที่บ้านดู เธออ่านจบก็เริ่มวิจารณ์ทันที

....."พ่อนี่ เขียนเก่งนะ"

....."เขียนไม่เก่งหรอก  ทำเก่งกว่า.....เคยได้ยินไหมล่ะ  ...พอเพียงไม่มีขาย ถ้าอยากได้..ต้องทำเอง"












www.bannongphue.com

หมายเลขบันทึก: 519729เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2013 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

  ...ชอบการเรียน ดังภาพนี้ จังเลยค่ะ  ... ท่าน ผอ. ชยัต์  ....  เป็นการเีรียนจาก ... "การลงมือทำ"  จริงๆ  นะคะท่าน  "Learning  by doing"  และ เป็นการเรียนจากการปฏิบัติ (Practice) .... พอเพียง และ เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงๆๆ นะคะ  ... ขอบคุณมากค่ะท่าน  .... ฝากความคิดถึง  ถึงเด็กๆๆ ด้วย นะคะ 


            


คิดถึงพี่หมอเปิ้นทุกครั้ง ที่เห็นเด็กนักเรียนอ่านหนังสือที่พี่หมอส่งมาให้ครับ

  • "พอเพียง" หนทางที่เราจะอยู่รอดได้จริง แถมสุขใจ..
  • ขอบคุณเรื่องราวดีๆนี้ครับ

ขอบคุณครับ ท่านธนิตย์ สุวรรณเจริญ

ชอบบรรยากาศที่ได้เห็นในภาพมากเลยค่ะ นักเรียนก็ดูมีความสุข สนุกกับการเรียน เชื่อว่าองค์กรที่เอื้อเฟื้อทั้งหลายต้องอยากสนับสนุนแน่นอนเลยค่ะ ชื่นชมอาจารย์มากๆค่ะ

ขอบคุณ คุณโอ๋ มากครับ

ที่ทำให้ผมชื่นใจในวันหยุดที่เหนื่อยจัง


 

    • เห็นภาพเด็กๆ ทำให้นึกถึงคติพจน์ ตอนเรียนเกษตรครับ
    • เราเรียนรู้ด้วยงานการฝึกหัด (Doing to Learn)
    • เราปฏิบัติเพื่อหวังทางศึกษา (Earning to Live)

โรงเรียนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ มักจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างสมดุล ทั้งในด้านวิชาการ วิชาชีพและวิชาชีวิต อันจะช่วยส่งผลให้บรรลุเป้าหมายหลัก คือผู้เรียนคุณลักษณะที่พึงประสงค์

ขอบคุณครับ สามสัก

๒ ประโยค เด็ด กำลังตามหาอยู่เลย พบแล้วดีใจจัง

ขอบคุณท่านอาจารย์สันติสุขมากครับ


ชื่นชม ++++ ยินดี ในความสำเร็จจ้ะ

อยากได้ต้องทำเอง สุดยอดเลยค่ะ ภาพเด็ก ๆ ลุยโคลนนี่น่ารักนะคะ อยากให้เด็กไทยสัมผัสโคลนแบบนี้บ้างจังเลยค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท