ไตรสิกขาในโอวาทปาติโมกข์


ในโอวาทปาติโมกข์ (ปาฏิโมกข์ก็เขียน) เป็นการสรุปสาระ แนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดสุงสุดในพุทธศาสนาคือนิพพาน ธรรมสำคัญหมวดหนึ่งที่ปรากฏในโอวาทปาติโมกข์ คือ ไตรสิกขา

ไตรสิกขานี้ บางครั้งพระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นคำสอนในภาคปฏิบัติ แบบที่เข้าใจง่าย และชาวพุทธมักนำมาอ้างกันบ่อยๆ ดังปรากฏเป็นส่วนสำคัญอยู่ในหลักโอวาทปาติโมกข์ (คำสอนที่เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธเจ้า) มี ๓ ข้อ คือ

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง

๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม

๓. สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับขยาย หน้า ๕๕๕

(ขอรับหนังสือหรือ CD เสียงอ่าน ได้ฟรีที่ห้องสมุดวัดญาณเวศกวันถ.พุทธมลฑลสาย ๔ จ. นครปฐม )

แต่ละบาทของพระคาถานั้นเทียบได้ว่า การไม่ทำความชั่วทั้งปวงคือ ศีล หรือศีลสิกขา การบำเพ็ญความดี หรือ บำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมคือ สมาธิ หรือ จิตตสิกขา และ การทำจิตของตนให้ผ่องใส คือ ปัญญา หรือ ปัญญาสิกขา

เหตุที่ แต่ละบาทแห่งพระคาถาจึงจัดได้ว่าเป็นศีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา นั้น พอจะเรียบเรียงได้ว่า

การไม่ทำชั่วทั้งปวง

จัดเป็นศีลสิกขา ด้วยเป็นการฝึกศึกษาด้านความประพฤติ ระเบียบวินัย ให้สุจริต

การบำเพ็ญความดีหรือกุศลให้ถึงพร้อม

จัดเป็นจิตตสิกขา เนื่องจากจิตตสิกขา เป็นการปรับปรุงจิตให้มีคุณภาพและสมรรถภาพสูง ซึ่งเอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีงาม และเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพัฒนาปัญญา ดังนั้นการจิตตสิกขา หรือ อธิจิตตสิกขา จึงครอบคลุมถึง วิธีการและเครื่องช่วยต่างๆที่จะช่วยชักจูงจิตใจให้สงบ ให้จิตใจมั่นคงในคุณธรรม ให้มีวิริยะในการสร้างความดีงามให้ยิ่งขึ้นไป

และหากมองให้กว้างออกไป ก็ครอบคลุมไปถึง

1 การจัดสรร สัปปายะ (สิ่งที่สบาย เหมาะกัน เกื้อกูลกัน เพื่อหนุนการเจริญภาวนา ช่วยให้สมาธิมั่น ไม่เสื่อมถอย)

2 กิจกรรม หรือ วิธีการต่างๆที่ปลุกเร้าคุณธรรม ส่งเสริมกำลังใจในการกระทำความดี มีเมตตา กรุณา

การมีเมตตานี้ ชาวพุทธมักเข้าใจผิด โดยเข้าใจว่าเป็นการแผ่เมตตาหลังสวดมนต์เท่านั้น ทั้งที่ในความจริงแล้ว การมีเมตตา

ก็หาใช่การคิดหรือพูดว่า จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด เท่านั้นไม่ ผู้ปรารถนาจะมีเมตตา ต้องอบรมใจอย่างจริงจัง ต้องคิดจนใจอ่อนละมุนด้วยเมตตา

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก รสแห่งความเมตตา ชุ่มเย็นยิ่งนัก ธรรมสภา หน้า ๘๓

ชาวพุทธทุกคนควรมีการฝึกเพื่อให้จิตประกอบด้วยเมตตา และแสดงออกทางกาย วาจา อย่างแท้จริง ในการฝึกให้มีเมตตาประกอบกับจิตเช่น ด้วยการคิดถึงใจตนในคราวที่มีทุกข์ ก็จะเข้าใจว่าผู้อื่นทุกข์อย่างไร, การคิดว่าทุกคนก็มีความทุกข์ ตั้งใจจะมองให้เห็นทุกข์ของผู้อื่น, ดับความโกรธของตนด้วยเมตตา กระทั่ง การสอนตนเองเมื่อยังมีเมตตาไม่พอ เป็นต้น

เมื่อมีเมตตา ก็แสดงออกด้วยการกระทำทางกาย วาจา เช่น ทำทาน มีขันติ มีวาจาที่อ่อนหวาน ช่วยเหลือการงานของผู้อื่น เป็นต้น

3การฝึกจิตให้เข้มแข็ง มั่นคง มีสมรรถภาพสูง เช่น การฝึกสมาธิ

4การจัดระบบกัลยาณมิตร

เช่น เมื่อมีการฝึกจิต ครั้นเมื่อจิตมั่นคง ก็ไม่มีอาการผันผวนไปตามอารมณ์ แต่ละคนจึงเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของกันและกัน ช่วยให้เกิดบรรยากาศในการพัฒนา เมื่อมีเมตตา แต่ละคนก็ไม่มีความตระหนี่ธรรม พร้อมที่จะเป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน

การทำจิตของตนให้ผ่องใส

จัดเป็นอธิปัญญาสิกขา เนื่องจากการที่จิตจะผ่องใสได้ ก็ด้วยการ เห็น ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ไม่เอนเอียงไปตามใจปรารถนาจนอยากให้สิ่งต่างๆเป็นไปตามนั้น อันขัดกับความเป็นจริงในปัจจุบัน อันจะนำความทุกข์มาให้

ดังนั้น การทำจิตให้ผ่องใส จึงครอบคลุมถึงวิธีการฝึกกระบวนการคิดที่อาศัยกัลยาณมิตร (โดยเฉพาะบิดามารดา ครู) มาช่วยถ่ายทอด สุตะ (ความรู้แบบเล่าเรียน สดับรับฟัง แต่ในปัจจุบันน่าจะรวมการอ่านเอาไว้ด้วย) และ ช่วยถ่ายทอดความจัดเจนในศิลปวิทยาต่างๆ เริ่มตั้งแต่วิชาชีพ อันเป็นเรื่องระดับศีล เป็นต้นไป ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยศรัทธาเป็นตัวนำ เช่น ศรัทธาในครูท่านนี้ จึงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพโดยสุจริตตามที่มีท่านเป็นแบบอย่าง ศรัทธาในพระพุทธเจ้า จึงตั้งใจฝึกตนตามคำสอน เป็นต้น

เพื่อชีวิตที่ดีงาม อันนำไปสู่การพัฒนา สู่ปัญญาที่ยิ่งๆขึ้นไป

หมายเลขบันทึก: 518914เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ช่วงนี้ขออนุญาตโพสต์อย่างเดียวก่อนนะคะ

ขอตัวไปเตรียมตัวสอบบาลีค่ะ

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ  การไม่ทำความชั่วทั้งปวง

๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา  การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม

๓. สจิตฺตปริโยทปนํ  การทำจิตของตนให้ผ่องใส”

 เอตํ พุทฺธานสาสนํ.   เอตัง พุทธานะสาสะนัง  ......:):)     

การที่เราจะ .เห็น. ตามความเป็นจริง  ผมยังสงสัย........ มากๆ???

 “เห็น” ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ไม่เอนเอียงไปตามใจปรารถนาจนอยากให้สิ่งต่างๆเป็นไปตามนั้น อันขัดกับความเป็นจริงในปัจจุบัน อันจะนำความทุกข์มาให้

เช่น เรา .เห็น. และก็รู้ว่า ความเป็น "จริง" ก็คือเรื่องนั้น....  แต่ความเป็น .จริง. นั้น ตามความเห็นของเรานั้นมันผิด หลักธรรม ความอยากที่จะไปแก้ไขให้ความเป็น .จริง. ในปัจจุบัน นั้นให้ถูกต้อง ทำให้เกิดทุกข์นั้นก็จริง  แต่เราจะเพียงแค่ .เห็น. แล้ว .เห็น. เฉยๆ ไม่ทำอะไร จะได้ไม่ทุกข์.......   (งง ไหมครับพี่ 555  แต่ตอนนี้ผม งง เอง 555)


เขียนเอง ตอบเอง.......  คิดเอง ถามเอง ตอบเอง ก็งงอีกเอง.......

.เห็น. ตามความจริงในปัจจุบันแล้ว  ถ้าเราไปก่อ .เหตุ. เพื่อแก้สิ่งที่ "เห็น" ต้องถามว่าทำไปทำไม?...... แล้วต้องตามดูต่อว่า แล้วเรารู้สึกอย่างไร?    ........................   เวลาเขียนมันก็ได้นะครับ.....  เอาเข้าจริง....โน้นเลย.....ทำเสร็จถึงคิดได้.....555 (พอดีกว่า เดี๋ยว 101 ว่าเรา บ้า.....555)

สวัสดีค่ะ อ. วิชญธรรม

สำหรับเรื่องความเป็นจริงเป็นอย่างหนึ่งแต่เห็นเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันขออนุญาตแยกเป็น 2 ประเด็นนะคะ

1 เห็นผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เห็นว่าการแอบรักคู่ของคนอื่น ก็คิดว่าตนมีความรู้สึกดีๆอยู่ในใจ แค่มีเขาอยู่ในความฝัน คงไม่ผิดอะไร เพราะไม่ได้คิดจะให้เขารู้ความในใจ ไม่ได้คิดแยกชิงเขามาจากครอบครัว แต่ที่จริงคือ แม้เราไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่ก็เบียดเบียนตนเอง อีกทั้งตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องแสวงหาเพื่อให้ได้ตามต้องการ แม้เมื่อได้ตามความต้องการแล้วก็ยังคิดปรุงให้เลิศขึ้น ให้มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น เมื่อมีเขาอยู่ในจินตนาการ ก็ปรุงแต่งไปวันๆ ปรุงวันหนึ่งก็เก็บเป็นสัญญาไว้วันหนึ่ง วันต่อๆไป ก็นำที่เก็บตามลำดับไว้มาปรุงต่อ จนเมื่อโลกในความฝันห่างจากโลกในความจริงมากก็จะทนไม่ได้ ในที่สุด ก็จะอัดอั้นอยู่ในใจ จนอาจระเบิดออกมาด้วยความทุกข์

2 เห็นตามความเป็นจริงในปัจจุบัน แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ความเสื่อม (หรือ ก็คือผิดในสายตาของชาวโลก) จึงอยากจะแก้ไข เช่นปัญหาภาวะโลกร้อน แต่เรื่องนี้เกินกำลังที่เราจะทำได้ตามลำพังจึงทำเท่าที่ทำได้ ไม่สันโดษในเหตุ คือ ทำไม่หยุด แต่สันโดษในผล(สันโดษในระดับต้นคือพอใจในสิ่งที่มี ผลที่เป็นตามเหตุที่ทำ แต่ในระดับสูง คือ ระดับเต็มความประสงค์นั้นก็คือการไม่หวังผล เพราะเมื่อไม่ประสงค์ ก็เต็มความประสงค์ทันที)เมื่อสันโดษในผล ก็คืออุเบกขา เนื่องจากอุเบกขานั้น คือทำเต็มความสามารถเพื่อให้เป็นไปตามธรรม แต่ถ้าไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ก็วางใจเป็นกลาง แม้จะยังมีการกระทำต่อไป

ดังนั้นจึงไม่ทุกข์ค่ะ

ขอบพระคุณที่มาเยี่ยม และฝากความเห็นไว้นะคะ


เจริญพรคุณโยมณัฐรดา

มาแจ้งข่าวดีให้คุณโยมณัฐรดาทราบว่าที่เคยขออนุญาตไว้ว่าจะนำภาพวาดไปประกอบหนังสือเรียน ตอนนี้ทำเสร็จแล้ว คนช่วยทำบอกว่าเข้ากับเนื้อหาได้ดีมาก เลยนำตัวอย่างมาฝากด้วย

ขอบคุณและอนุโมทนาที่ทำสื่อดีๆเผยแพร่เป็นวิทยาทาน


                                         

นมัสการพระคุณเจ้า

ขอบพระคุณสำหรับข่าวที่ชวนปีติ

และ

ขอแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าด้วยเจ้าค่ะ

 


 

ธรรมรักษานะคะ..ขอบคุณที่ช่วยกันเผยแพร่พุทธธรรม นำจิตให้ผ่องแผ้วค่ะ..

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท