เป็นคำถามที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะคนเป็นครู “ทักษะครูในศตวรรษที่ 21 ควรเป็นอย่างไร” เราคิดแต่จะพัฒนาศิษย์ให้มีความสามารถ หรือมีทักษะสอดคล้องกับการใช้ชีวิตในยุคศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไรนั้น คงไม่เพียงพอ เราคิดแต่จะเปลี่ยนแปลงผู้อื่น โดยที่เราไม่ได้ขยับอะไรเลยนั้น คงหวังยาก
ตามข่าวเมื่องานวันเด็กที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ได้จัดกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาล ด้วยการจัดจุดทดสอบทักษะเด็กไทย ว่ามีความพร้อมสู่ยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 แล้วหรือไม่ โดยให้เด็กๆอายุ 7-12 ปี ออกแบบ ถ้ามีเงิน 100 บาท จะซื้ออะไรเป็นของขวัญวันเกิดให้แม่ พบว่าเด็กส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 50 ไม่สามารถคิดบริหารจัดการเงินจำนวนนี้ได้
ผลการประเมินโรงเรียน โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสองรอบที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญ กล่าวคือนักเรียนเราด้อยเรื่องการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และใช้วิจารณญาณ อีกทั้งผลการสอบในระดับนานาชาติหรือ PISA ซึ่งเราอยู่เกือบรั้งท้าย ก็เน้นวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ เหล่านี้คงพอชัดเจนว่าเด็กๆบ้านเรา สำหรับเรื่องคิดแล้ว น่าจะมีปัญหาจริงๆ
ปัญหาคงไม่ใช่เพิ่งเกิดหรือเพิ่งมี ไม่อย่างนั้นหลักสูตรก่อนหน้า คงไม่เน้นให้เด็กๆคิดเป็น ทำเป็น หรือแก้ปัญหาเป็นเหมือนกันดอก แต่จนแล้วจนรอด ไม่รู้ผ่านมากี่หลักสูตร เราก็ยังต้องถกถึงเรื่องนี้กันอยู่ พร้อมกับเด็กที่คิดไม่เป็นเมื่อหลายปีก่อน ก็โตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดไม่ได้ในวันนี้แล้ว และเด็กๆในวันนี้กำลังจะเติบใหญ่อีกเป็นวัฏจักร ประชาชนหรือกลุ่มคนที่คิดน้อยจะสะสมพอกพูน โดยเฉพาะหากเราไม่ตระหนัก หรือลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง พวกเราหรือสังคมคงต้องบ่นซ้ำซากเรื่องเดิมๆนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สาเหตุที่ลูกหลานเราคิดน้อย คิดไม่เก่ง คงมีนานัปการ แต่ถ้าเชื่อว่า “เด็กๆบริสุทธิ์เสมอ ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่จะแต่งแต้มให้เป็นอย่างไร” ก็น่าเชื่อว่า “สาเหตุหลักคือผู้ใหญ่ที่คิดไม่ได้นั้นแหละสร้างพวกเขาขึ้นมา” จากอะไร สื่อเทคโนโลยี สื่อโทรทัศน์ สภาพสังคมที่ดูไร้สาระขึ้นทุกวัน มีแต่ตลกโปกฮา เล่นมุข พูดจาสองแง่สามง่าม ทะลึ่งตึงตัง มึงมาพาโวย เรื่องเพศ หนังละครก็มีแต่ชิงรักหักสวาท ข่าวสารข้อมูลจากสำนักต่างๆจริงน้อยลง แค่เลือกนำเสนอเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง ฯลฯ อะไรอีกมากมาย แต่ถ้าขมวดให้เป็นเรื่องเดียวกัน ที่กล่าวๆมาล้วนมาจากผู้ใหญ่ที่ไม่รับผิดชอบ ผู้ใหญ่ที่คิดน้อยทั้งหลาย ใช่หรือไม่?
ถ้ามองให้ลึกยิ่งขึ้น ผู้ใหญ่สองกลุ่มต้องรับผิดชอบโดยตรง หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยต่อเรื่องนี้ หนึ่งคือพ่อแม่ผู้ปกครอง สองคือคุณครูที่โรงเรียน พ่อแม่สร้างหรือส่งผลอย่างไร คงไม่ต้องบรรยาย เพราะเด็กๆรับมาแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดีเอ็นเอหรือสภาพแวดล้อม สำหรับครูผู้มีหน้าที่อบรมบ่มเพาะลูกศิษย์ คงปฏิเสธยากด้วยหน้าที่ เป็นความคาดหวังของทุกคนในสังคม ภาระครูจึงใหญ่หลวงนัก ในการสร้างเด็กๆให้เท่าทัน ยิ่งในสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่มักเฉไปในเชิงลบ ประกอบกับหลายครอบครัว แม้แต่ตัวพ่อแม่เองก็อาจไม่ช่วยหรือเอื้ออะไรนักด้วย
อุปสรรคใหญ่เรื่องนี้ของครูเป็นเรื่องวัฒนธรรม วัฒนธรรมไทยที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยอาวุโสคิดมาก อาจดูก้าวร้าว ไม่เห็นหัว หรือมองข้ามผู้อาวุโสกว่าไป เด็กจึงไม่ควรเถียงผู้ใหญ่ ผู้น้อยไม่ควรเถียงผู้บังคับบัญชา ครูคือบุคคลหนึ่งในวัฒนธรรมหรือสังคมไทย จึงถูกปลูกฝังมาในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน อีกประเด็นครูเป็นผู้น้อย การแสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมา แม้จะเชื่อว่าเป็นประโยชน์ อย่างไรเสียก็ควรยับยั้งชั่งใจ แล้วเหล่านี้จะนำไปสู่ความกล้าคิดกล้าทำของครูได้อย่างไร?
เมื่อครูถูกหล่อหลอมมาด้วยวัฒนธรรมอย่างนี้ การถ่ายทอดความรู้สู่ศิษย์จึงมักมีกำแพงกั้น ด้วยหัวใจของผู้สยบยอมด้วยคติ “นิ่งเสียตำลึงทอง” หรือ “จะแกว่งเท้าหาเสี้ยนทำไม”แล้วอย่างนี้ปีหนึ่งๆ เราจะได้เด็กๆที่กล้าคิดกล้าทำจากโรงเรียนสักกี่คน โปรดลองตรอง
ในใจครูจึงต้องหลุดจากบ่วงนี้ให้ได้ก่อน ถ้าเห็นและเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อลูกศิษย์เราจริง หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อลูกศิษย์เราแน่ ไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลถี่ถ้วนแล้ว ครูต้องติดยึดกับประโยชน์ตัวเองให้น้อยที่สุด ตัวเองจะเสียหรือได้อะไรต้องคิดเป็นเรื่องท้าย ต้องกล้านำเสนอสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่า สร้างสรรค์การศึกษา หรือก่อพัฒนาการให้ศิษย์เราอย่างแท้จริง หากเป็นดังนี้ได้ การจัดการศึกษาโดยเฉพาะที่โรงเรียน จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปครั้งสำคัญ เพราะทิศทางต่างๆจะมุ่งไปสู่ลูกศิษย์ตาดำๆของเราอย่างเบี้ยวบิดน้อยกว่านี้แน่
เมื่อบ่วงนี้ถูกทำลายลงแล้วในใจ “ตัวอย่างที่ดี ดีกว่าคำพร่ำสอนเป็นไหนๆ” จะเกิดขึ้นทันที ครูอาจไม่ต้องเอื้อนเอ่ยอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะเด็กๆจะสังเกตเห็นจนได้ว่า “กล้าคิดกล้าทำ หรือคิดได้ทำเป็นนั้น เป็นเช่นไร” แต่ใช่ว่าเรื่องนี้จะเปลี่ยนแปลงกันได้ง่ายๆ ดังพลิกฝ่ามือ ด้วยสังคมและวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ครอบครูเราไว้เนิ่นนานแล้ว อีกมุมหนึ่งที่กล่าวมาจึงมักใช้เตือนสติตัวเอง ซึ่งพยายามหนีเงื้อมมือทะมึนนี้อยู่เช่นกัน
พูดก็พูดเถอะ ตัวเองไม่เห็นด้วยบ่อยๆ ที่เอะอะอะไรก็คุณภาพครูไว้ก่อน อาจเพราะครูเรามักเลือกจะเงียบ คิดมากประเดี๋ยวจะเจ็บตัวเปล่า ทำให้ทุกครั้งที่ใครก็ตามค้นหาสาเหตุ จึงมักเล็งมาที่ครู เพราะแน่ใจได้เลยว่าเสียงโต้ตอบจะไม่มีแม้จะเข้าใจอย่างยิ่งว่าครูที่ไม่มีคุณภาพก็คงมีบ้าง แต่ถ้าพิจารณาเป็นร้อยละ หาค่าเฉลี่ย แล้วลองนำไปเทียบกับอาชีพอื่นๆ ตัวเลขอาจไม่ต่างกันก็ได้
สาระหรือเหตุหลักที่เกิดน่าจะไม่ใช่คุณภาพครู ครูไม่รู้เนื้อหาวิชา ครูไม่รู้วิธีจัดการเรียนการสอนที่ดี ไม่น่าใช่ประเด็นเร่งรีบ สื่อที่ดี ห้องเรียนที่พร้อม เวลาที่ให้ครูคิดทำในเรื่องการจัดการเรียนการสอนในห้องต่างหาก ที่น่าจะสำคัญและควรเร่งแก้ไขกว่า
เรื่องราวของคุณครูในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้รู้ สังคม หรือภาครัฐเอง ควรร่วมกันเข้ามาพิจารณาทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงน่าจะเป็นเรื่องนี้ ครูต้องกล้าคิดขึ้นครับ
อาจารย์ค่ะเห็นด้วย อะไรไม่ดีก็มาลงที่"คุณภาพครู" แต่เนื้อในลึกๆที่ครูเงียบมาตลอดคือ การไม่มีเวลากับการจัดการเรียนรู้ให้เด็กอย่างเต็มที่เพราะ ภาระหน้าที่ใน 1 วัน ของการเป็นครูช่างมหาศาลจริงๆ ...สำคัญที่สุด สื่อการเรียนรู้ในห้องเรียน และแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนไม่พร้อมสำหรับเด็กในศตวรรษที่21 ค่ะ " ไม่พร้อมจริงๆ" ...ขนาดว่าแจกอุปกรณ์มาให้แต่ขาดงบประมาณในการติดตั้ง ..ครูนั่งมองทุกวันค่ะ ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่..ใกล้จะสอบปลายภาคเข้ามาแล้ว อิอิ...
อ่านบันทึกของ "คุณครูธนิตย์ สุวรรณเจริญ" หลังจากที่ไม่ได้อ่านมานาน พบว่า แทบทุกประโยคในบันทึกนี้ ตรงใจยายไอดินมากค่ะ
ยายไอดินเป็นอาจารย์ที่ไม่ค่อยพูดในที่ประชุมคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย แต่เมื่อถึงคราที่พิจารณาว่า ไม่พูดไม่ได้แล้วเพราะเห็นว่าเป็นปัญหาต่อการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาแต่ไม่มีใครพูดถึง ดังที่คุณครูธนิตย์บอกว่า "...ถ้าเห็นและเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อลูกศิษย์เราจริง...ไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลถี่ถ้วนแล้ว ครูต้องติดยึดกับประโยชน์ตัวเองให้น้อยที่สุด ตัวเองจะเสียหรือได้อะไรต้องคิดเป็นเรื่องท้าย ต้องกล้านำเสนอสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่า สร้างสรรค์การศึกษา หรือก่อพัฒนาการให้ศิษย์เราอย่างแท้จริง..." ก็พูดออกไป ซึ่งในที่ประชุมจะเงียบกริบ พอเลิกประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ได้รับเลือกในฐานะตัวแทนคณาจารย์ก็ยกนิ้วให้บอกว่า กล้าจริงๆ และสิ่งที่พูดก็เป็นจริงและเป็นประโยชน์ แต่หลังจากนั้น จากที่เคยเป็นอาจารย์ที่ไม่ได้ผุดได้เกิด ก็กลับหนักขึ้นไปอีก คือ ถูกกระทำต่างต่างนานา อย่างที่กล่าวกันว่า "ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แต่คนพูดความจริง ตาย" นั่นแหละค่ะ แต่ยายไอดินก็ไม่เคยเสียใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป และยอมรับในผลกระทบที่ได้รับ
ผมมองว่า ถึงเวลาแล้ว ที่สถาบันผลิตครู ต้องเน้นย้ำและฝึกทักษะ ให้นิสิตนักศึกษาวิชาชีพครู ได้เข้าใจและมีทักษะในกระบวนการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ทุกวันนี้ เราขาดเรื่องนี้มาก แล้วเด็กจะเหลืออะไร
.... เป็นบทความที่กระตุ้น "ต่อมคิด .... กระซากความเป็นภาวะผู้นำที่ดีมากๆๆนะคะ ..... ผู้นำทางการคิด (คุณครู) .... ทั้งหลายต้อง .... ยึดหลักการ กฏ ระเบียบ กฏิตกา ... ความจริง .... ที่ถูกต้องและควรทำ ... ถึงควรจะเป็นภาวะผู้นำที่แท้งจริง .... แม้จะไม่เป็นผู้นำที่เป็นทางการก็ตาม ... "โดยยึดลูกศิษย์และเป็นหลักการเป็นหลัก" (กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ & ทำจริงๆ) นะคะ
.... ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ...
(ภาพจากInternet)
* ดีใจ..ปลื้มใจ...กับแนวคิดดีๆของครูเพื่อศิษย์เช่นนี้เป็นอย่างยิ่งค่ะ..
ชื่นชมแนวความคิดของคุณครู และเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ.....ปัจจัย ...กระบวนการ...ก่อเกิดผลผลิต...ไม่ใช่แค่ปัจจัยในโรงเรียนการสอนของครู เพราะประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กในแต่ละวันเริ่มตั้งแต่ตื่นนอน .......ยาววว..........ไปจนกว่าจะได้นอนอีกในวันนั้น เวลาที่อยู่ในโรงเรียน เป็น 1 ใน 3 ของเวลาในแต่ละวัน แต่หลายๆคนไม่ค่อยสนใจ เวลา 2 ใน 3 ในแต่ละวันของเด็กว่าเขาได้เรียนรู้อะไร จากสื่อ ในรูปแบบไหน คิดอย่างไร เกิดการตอบสนองแบบไหน เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน การดูแลของผู้ปกครองก็ต่างกัน สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่....ก่อเกิดผลผลิตด้วยเช่นกัน.... ครูคือผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็ก...พ่อแม่...ครอบครัว....สังคม...สื่อต่างๆ ....ต่างก็เป็นครูเช่นกัน.... ขอบคุณสำหรับข้อความกระตุ้นความคิดนะคะ...คุณครูจะพยายายามกล้าคิดให้มากขึ้นค่ะ ....^ ^
พี่ไม่ได้เข้า G2K และ ไม่ได้เปิด mail นานมาก (เป็นความตั้งใจที่จะทำงานให้เสร็จ 1 จบ-Job) แล้วค่อยแวะไปทำอย่างอื่น หวังว่าอาจารย์ดูหนังแล้วจะชอบเหมือนพี่ เอาไว้เจอหนังชอบๆ แล้วจะส่งมาให้อีกค่ะ
อ่านบันทึกนี้แล้วพี่ถูกใจมาก พี่กำลังคิดว่าถ้าจะชี้ "คุณภาพครู" เราก็ต้องชี้ไปทุกอาชีพกระมัง
เรา (หมายถึงทุกคนในสังคม) ต้องเลิกโทษคนโน้นคนนี้ !!! ในทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องการศึกษาค่ะ
พี่คิดอย่างนี้ค่ะ เพียงแต่เรารู็้้ว่าอะไรคือปัญหา แล้วเริ่มที่ตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองเกี่ยวข้อง ทำได้แค่ไหนก็ต้องพอใจ และทำใจว่ามันได้แค่นั้น พอเริ่มแบบนี้ไปสักพัก เราก็จะเรียนรู้ที่จะเลือกผู้แทนที่คิดเป็น และเรียกร้องให้ผู้แทนีิดและทำเพื่อส่วนรวม
ในเรื่องการศึกษา ถ้าจะเริ่มชี้นิ้วไปที่พ่อแม่ มันก็ถูก ถ้าพ่อแม่รู้ว่าจะต้องเลี้ยงลูกอย่างไร ให้คิดเป็น พ่อแม่ต้อง 1) คิดเป็นเสียก่อน และ 2) ต้องรู้ว่าตัวเองจะเลี้ยงลูกแบบไหนเพื่อให้ลูกโตไปคิดเป็น พอไม่มีข้อ 1 ก็ไม่มีข้อ 2 นี่ไงคะที่ไปสู่ประเด็นถัดไป คือ ใครล่ะที่มีหน้าที่ทำให้พ่อแม่คิดเป็น และ ใครล่ะทำให้พ่อแม่รู้ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร
ชี้ไปชี้มา มันก็จะกลับมาหาตัวเอง
ทุึกวันนี้ แค่เห็นพ่อแม่สมัยใหม่ ใช้ ไอแพด เลี้ยงลูก นี่พี่ก็ถอนใจแล้วละ เด็กรุ่นหลานพี่เห็นท่าจะพูดคุยกับเพื่อนมนุษย์กันไม่เป็น ได้แต่คุยกับเครื่องคอมพิวเตอร์
พี่มีประเด็นที่อยากจะลงมือเขียนบันทึก เป็นตอนยาวๆ เพื่อชักชวนให้ชาว G2K "คิดดี แล้วเริ่มที่ตัวเอง" อย่างพี่เริ่มจาก "ข้ามทางม้าลาย" อย่างเคร่งครัด และ "ปฏิบัติตามกฎจราจร" อย่างเคร่งครัด ทำมันไปอย่างไม่ลดละ ได้เห็นอะไรเยอะแยะไปหมด และพบว่ารากเหง้าหนึ่งของปัญหาหา คือ เรายังขาดวินัยในตัวเอง ที่เชื่อมโยงไปถึง "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ต้องหาเวลาให้ได้ค่ะ
พี่ขอส่งกำลังใจมาให้อาจารย์ และครอบครัวนะคะ ต้องไปทำงานแ้ล้วค่ะ
ไม่ได้ตอบบันทึกพี่นาน แต่เข้าใจว่าพี่ครูคงมีความสุขกับการเขียนบันทึกและการสอนนะครับ
ดีครับ คิดนอกกรอบ แต่ทำในกฏ(ของธรรมชาติ)