ข้อมูลและความสำเร็จของเพื่อนช่วยเพื่อน


การเตรียมและการให้ข้อมูลของทั้งสองฝ่าย มีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน

กิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน เรื่องการดูแลเท้า" ระหว่างทีม รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม และทีม รพ.เทพธารินทร์ เมื่อวันที่ ๗-๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว บรรลุเป้าหมายทั้งของ "ผู้ขอเรียนรู้" และ "ผู้แบ่งปัน" เกิดความรู้สึกดีๆ ต่อกันมากมาย

ดิฉันได้ทบทวนกิจกรรมทั้งหมดในช่วงเวลาประมาณ ๑ วันครึ่ง พบว่าการจัดให้ทีมผู้ขอเรียนรู้เป็น "ทีมเยือน" และทีมผู้แบ่งปันเป็น "ทีมเหย้า" ก็มีข้อดีเหมือนกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ขอเรียนรู้เพิ่งเริ่มต้นทำงานในเรื่องดังกล่าว จะได้เห็นสภาพจริงของทีมที่เขาทำได้ดีอยู่แล้ว  

 

จากการที่ได้ทำหน้าที่ "คุณอำนวย" ของกิจกรรมในครั้งนี้ ดิฉันมีความเห็นว่าการเตรียมและการให้ข้อมูลของทั้งสองฝ่าย มีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน 

ฝ่ายผู้ขอเรียนรู้ควรเตรียมและให้ข้อมูล ดังต่อไปนี้

๑. เป้าหมายของการขอเรียนรู้ในครั้งนี้ ภาพรวมการทำงานของตนในเรื่องที่ต้องการขอเรียนรู้ (บริบทเป็นอย่างไร มีวิธีการทำงานอย่างไร ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ต้องการพัฒนาเรื่องใด ฯลฯ) อาจให้หัวหน้าทีมเป็นผู้นำเสนอ จะมีภาพประกอบโดยใช้ PowerPoint หรือ VDO ด้วยก็ได้

๒. แจกแจงเรื่องที่ต้องการขอเรียนรู้ให้เป็นประเด็นย่อยๆ ที่ชัดเจน เช่น ในเรื่องการดูแลเท้า ต้องการขอเรียนรู้เรื่องวิธีการป้องกันการเกิดแผล การดูแลรักษาแผล การเลือกรองเท้า เป็นต้น

๓. ให้ผู้รับผิดชอบในแต่ละงาน เล่าว่าในเรื่องที่ขอเรียนรู้นั้น  ตนเองมีวิธีการทำงานอย่างไร เล่าให้เห็นบริบทหรือสภาพแวดล้อม บอกความรู้ความเชื่อของตนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ปัญหา/ข้อจำกัด ผลลัพธ์ที่ได้

๔. ส่งข้อมูลข้างต้น ให้ทีมผู้แบ่งปันล่วงหน้า 

๕. ระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซักถามในสิ่งที่ยังไม่ชัดเจน หรือต้องการรู้เพิ่มเติม

ฝ่ายผู้แบ่งปันต้องเตรียมตัวและให้ข้อมูลต่อไปนี้

๑. ศึกษาข้อมูลความต้องการของผู้ขอเรียนรู้  ถ้าไม่ชัดเจนต้องซักถามและขอข้อมูลเพิ่มเติม

๒. ให้ข้อมูลภาพรวมการทำงานของทีมตน รายละเอียดเหมือนทีมผู้ขอเรียนรู้

๓. ให้ผู้รับผิดชอบในแต่ละงาน เล่าการทำงานของตนในประเด็นที่ผู้ขอเรียนรู้ต้องการให้ชัดๆ เล่าการทำงานที่เป็นอยู่จริงๆ ให้เห็นการกระทำ ความรู้ความเชื่อที่อยู่ในการกระทำนั้น เล่าแบบที่คนฟังนึกเห็นภาพได้ ถ้ามีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ก็นำมาแสดงและสาธิตการใช้ให้เห็นจริง พึงระลึกไว้เสมอว่ากิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนเน้นการเรียนรู้ "ความรู้ปฏิบัติ" ไม่ใช่ความรู้เชิงทฤษฎี

๔. เพิ่มเติมประเด็นที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทีมผู้ขอเรียนรู้ (ถ้ามี) 

ภก.เอนก ทนงหาญ ซึ่งทำหน้าที่เป็น "คุณลิขิต" ในกิจกรรมครั้งนี้ บันทึกความรู้ได้มากน้อยเพียงใด และนำความรู้ใดไปใช้ได้บ้างนั้น ต้องคอยติดตามจากบล็อกของทีมธาตุพนมที่ http://dmthatpanom.gotoknow.org

เรื่องของข้อมูลเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีอีกหลายส่วนที่ประกอบกันเป็นกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน ข้อเสนอข้างต้นได้จากประสบการณ์การเป็น "คุณอำนวย" เพียงครั้งเดียว สมาชิกท่านใดมีประสบการณ์ในกิจกรรมนี้ โปรดให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้วยนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 5165เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2005 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นพ. วรวิทย์ กิตติภูมิ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท