GotoKnow

มองย้อนหลัง 1 ปี CEO จังหวัดชุมพร (2)

ไอศูรย์
เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2548 11:51 น. ()
แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2555 13:52 น. ()
ข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ยากเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ เป็นเรื่องที่ดีที่คณะผู้บริหารจังหวัดชุมพรจะได้มองย้อนหลังปีต่อปี เพื่อพัฒนาให้เกิดประสิทธิผลต่อจังหวัดชุมพรในภาพรวมต่อไป

มองย้อนหลัง 1 ปี CEO จังหวัดชุมพร (2)

          จากกรอบแนวคิดข้างต้นเมื่อมองย้อนหลัง 1 ปีของการบริหารแบบ CEO จังหวัดชุมพร ผมมีความเห็นและขอสรุปเป็นประเด็นสำคัญที่ประเมินว่าจะต้องได้รับการแก้ไข ดังนี้

          1.กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ (Formulating Strategy) ในระยะแรกแม้ว่าจะมีความไม่ชัดเจนเรื่อง ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ในลักษณะ Baseline Data แต่ก็สามารถชี้ทิศทางที่สำคัญของจังหวัด / กลุ่มจังหวัดได้ดีพอสมควร ประเด็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ 3 ประเด็น คือ ศูนย์กลางการคมนาคมเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเล, ศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรครบวงจร และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ สะท้อนลักษณะเด่นของกลุ่มจังหวัดได้ชัดเจน ไม่ผิดทิศทาง

          อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของการพัฒนายุทธศาสตร์ในระยะต่อไป จากการศึกษาของคณะนักศึกษาหลักสูตรการบริหารเศรษฐกิจสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 2 (ปศส.2) สถาบันพระปกเกล้า (2546-2547) พบว่า ควรให้ความสำคัญกับประเด็นสำคัญที่ขาดหายไป (Missing Links) ได้แก่ ศูนย์กลางการประมงที่ยั่งยืน, ยุทธศาสตร์การมุ่งสร้างสังคมเข้มแข็งผ่านกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับรากหญ้า และยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและบทบาทของสถาบันการศึกษา

          2.การบริหารยุทธศาสตร์ในระดับจังหวัด มีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อใช้ในการปรับปรุงแนวทางการบริหาร ดังนี้
 
          2.1 ความเร่งด่วนในการจัดทำและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ปี 2547 ทำให้มีข้อบกพร่องในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

          - การมีส่วนร่วมของชุมชน กล่าวได้ว่า แผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดชุมพรไม่ได้นำกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ขั้นตอนการวางแผนและการกำหนดแผนงานโครงการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณที่เป็นทรัพยากรของระบบจังหวัด เป็นการทำงานโดยนักวางแผนเท่านั้น (Planning from the Planners)

          - ความไม่เข้มแข็งและขาดรูปแบบที่เหมาะสมในการบริหารยุทธศาสตร์, ภาวะผู้นำ และวัฒนธรรมอำนาจ โดยมีเงื่อนไขการทำงานภายใต้สภาวะความเร่งด่วนในขั้นตอนต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กพร., กระทรวงมหาดไทย, สำนักงบประมาณ ฯลฯ ทำให้ผู้บริหารระดับนโยบาย (Policy) เข้ามาทำหน้าที่ชี้นำในระดับปฏิบัติการ (Operating) ทำให้มีการตัดสินใจที่รวดเร็ว เด็ดขาด ปราศจากข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นปกติของวัฒนธรรมราชการ แต่ก็มีข้อบกพร่องในขั้นตอนที่สำคัญ อาทิ การสรรหาทางเลือกที่แตกต่างในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัด เพื่อให้ระดับนโยบายได้ตัดสินใจตามหลักเกณฑ์จัดระดับความสำคัญที่เป็นมาตรฐาน, ความไม่ชัดเจนในเหตุผลของการอนุมัติแผนงานโครงการ ทำให้ในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมองเห็นไม่ชัดเจนว่า แผนงานโครงการที่ได้รับการอนุมัติจะสามารถสร้างความสำเร็จในเชิงยุทธศาสตร์จนบรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดได้จริงหรือไม่ ฯลฯ
 
          2.2 ความบกพร่องในด้านการนำการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ไปสู่หัวหน้าส่วนราชการ ระดับจังหวัดและภาคส่วนต่าง ๆ
 
          ในระยะแรกกล่าวได้ว่า ทุกภาคส่วนมีความกระตือรือร้นที่จะรับรู้และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารแบบบูรณาการ แต่โดยเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ความยากและซับซ้อนในเชิงเทคนิคของกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์, กระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ชัดเจนเพียงพอ, ความหวั่นไหวกับหลักเกณฑ์การประเมินผลที่มาควบคู่กับการบริหารยุทธศาสตร์ ซึ่งได้รับการบอกกล่าวว่าจะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนที่กระทบกับสถานภาพของข้าราชการ, การจัดการประชุมที่มีรูปแบบของการบรรยายวิชาการมากกว่าที่จะเน้นหนักการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าประชุม ฯลฯ
 
          ทั้งหมดนี้ ปรากฎเห็นได้ชัดในการประชุมคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ กบจ. ซึ่งแต่เดิมมีหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดและกรรมการต่าง ๆ เข้าประชุมร่วมกันอย่างเต็มที่พร้อมคณะที่ต้องการให้มารับฟังเรียนรู้ ต้องใช้ห้องประชุมขนาดใหญ่ (เกาะเสม็ด) ก็ไม่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้เพียงพอ แต่ในระยะหลัง ผู้เข้าประชุมมากันน้อยและที่มาส่วนใหญ่เป็นผู้แทน ใช้ห้องประชุมขนาดเล็กของจังหวัดก็เพียงพอ อีกทั้งบรรยากาศในที่ประชุมก็มักจะสงวนคำพูด ไม่แสดงความคิดเห็น ยกเว้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตน กล่าวได้ว่า การประชุม กบจ. ซึ่งควรจะเป็นการประชุมของ “นักยุทธศาสตร์” ชั้นเยี่ยมของจังหวัดชุมพร วันนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่อยากจะหลีกเลี่ยงของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
 
บทส่งท้าย
 
          อย่างไรก็ตาม แนวทางการบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบบูรณาการของจังหวัด / กลุ่มจังหวัด มีความสำคัญที่จะต้องผลักดันแก้ไขให้บรรลุถึงความสำเร็จ และเป็นที่มาของเรื่องที่ดีหลายประการ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการมองปัญหาและตัดสินใจเลือกแนวทางแก้ไขในระดับพื้นที่ (AREA-BASE APPROACH) ข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ยากเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ เป็นเรื่องที่ดีที่คณะผู้บริหารจังหวัดชุมพรจะได้มองย้อนหลังปีต่อปี เพื่อพัฒนาให้เกิดประสิทธิผลต่อจังหวัดชุมพรในภาพรวมต่อไป

นายไอศูรย์  ภาษยะวรรณ์
เลขาธิการหอการค้าจังหวัดชุมพร
กรรมการเลขานุการ
คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย
 
(บทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนโดยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันใด ๆ ที่ผู้เขียนปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized 

ความเห็น

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

เป็นข้อคิดเห็นที่สร้างสรรค์และชัดเจนดีมากครับ

วิจารณ์

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

  เห็นด้วยครับ กับประเด็นของประเด็นที่ขาดหายไป (Missing Links) ซึ่งประกอบไปด้วย ศูนย์กลางการประมงที่ยั่งยืน, ยุทธศาสตร์การมุ่งสร้างสังคมเข้มแข็งผ่านกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับรากหญ้า และยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและบทบาทของสถาบันการศึกษา  แต่เรียนถามพี่ว่าจะทำอย่างไรดีครับเพื่อผลักอันให้เกิดการจัดทำ missing links  ประเด็นต่างๆ  เหล่านี้


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย