“การจัดการความรู้” เปิดมิติใหม่ในการบริหารระบบจังหวัดชุมพรได้จริงหรือ ?


ด้วยความเชื่อที่ว่า ก่อนจะทำงานใหญ่จะต้องมองให้รอบคอบทั้งในด้านบวกและด้านลบเพื่อประเมินให้เห็นข้อเท็จจริงมากที่สุด ผมจึงขอตั้งคำถามกันแรง ๆ อย่างนี้ตั้งแต่ยกที่ 1 ของการจัดการความรู้

“การจัดการความรู้” เปิดมิติใหม่ในการบริหารระบบจังหวัดชุมพรได้จริงหรือ ?

          เมื่อวันพุธที่ 4 พฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายทางวิชาการที่ดีมาก ๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ได้ดั้นด้นเดินทางไปฟังที่ไหนไกล หรือต้องเสียเงินค่าเข้าฟังแพง ๆ เป็นพันเป็นหมื่นแบบที่หลาย ๆ สำนักเขาชอบจัดกัน แต่การบรรยายครั้งนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพรของเรานี่เองในชื่อเรื่อง “การจัดการความรู้” (Knowledge Management : KM) โดยท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ พิเชฐ อุดมรัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์

          เหตุที่ประเมินว่า นี่คือการบรรยายทางวิชาการที่ดีมาก ๆ เป็นเพราะว่า มีองค์ประกอบ 3-4 ประการที่มาพร้อมกันครบถ้วนในวาระเดียวกัน ได้แก่ หัวข้อการบรรยายเรื่อง KM เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารองค์กรที่ใหม่ น่าสนใจและท้าทายมาก, ผู้บรรยายที่รอบรู้และมีประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ท่านเป็นครูผู้รักในการสอน-การบรรยาย สอนแบบอุทิศตนโน้มน้าวเชื่อมโยง ถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนอย่างเต็มที่กว่า 6 ชั่วโมงของการบรรยายทางวิชาการ เรียกว่า ถ้าไม่เก่งจริง ดึงสมาธิของผู้เรียนเอาไว้ไม่อยู่แน่นอนครับ (6 ชั่วโมง นี่ท่านยืนบรรยาย และเดินไปเดินมาเป็นส่วนใหญ่นะครับ)

          เรื่องที่น่าเสียดายมาก ๆ ก็คือ ผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประสานงาน CEO จากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุม เพราะเรื่องของ KM ถูกกำหนดขึ้นมาเป็น KPI ตัวหนึ่ง ปรากฏอยู่ในคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2548 ในมิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร เป็นตัวชี้วัดที่ 25 กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการวัดผลระดับความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาระบบบริหารความรู้ภายในองค์กร ท่านผู้ประสานงาน CEO เหล่านี้เมื่อเรียนรู้ไปแล้วก็จะต้องรับไปถ่ายทอดให้กับองค์กรของตนเองได้เรียนรู้อีกต่อหนึ่ง ตรงนี้แหละครับที่เป็นเรื่องยาก เพราะความลึกซึ้งของกระบวนการ (Process) จัดการความรู้ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ในการบริหารจัดการองค์กรภาครัฐ การผลักดันให้เกิด “ชุมชนนักปฏิบัติ” (Community of Practice : CoP) ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากถึงมากที่สุด เพราะเป็นองค์ประกอบที่จะชี้ชัดถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของกระบวนการ KM ในหน่วยงาน ภารกิจนี้ต้องการภาวะผู้นำจากหัวหน้าหน่วยงานที่มีความเข้าใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ปฏิบัติ ถึงแม้ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นลูกน้องอยู่ในระดับซีต่ำกว่าเรามากมายเพียงใด แต่กระบวนการ KM ยึดมั่นในหลักการที่ว่า “ความรู้อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ” การชี้นำจึงไม่ใช่เรื่องของการใช้อำนาจสั่งการ แต่จะต้องทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ให้ความช่วยเหลือ “คุณเอื้อ” ทำงานบริหารความรู้ได้อย่างสะดวกราบรื่นร่วมกับ “คุณกิจ” เรียกได้ว่าในบางจังหวะผู้นำก็จะต้องยึดหลัก “ไม่รู้-ไม่ชี้” แต่ต้องรับฟัง “คุณกิจ” ถ่ายทอดความรู้ในตัวตนออกมาอย่างอ่อนโยน เป็นมิตรและจริงใจ ผู้นำประเภท “ไม่รู้-ชอบชี้” เสี่ยงมากครับต่อการทำลายกระบวนการ KM ไม่ให้ได้ผุดได้เกิดในองค์กร
 
          แต่ก็ยังไม่สายเกินไปนะครับ เพราะว่าในวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2548 ทางจังหวัดจะจัดให้มีการทำ Work Shop ทางด้าน KM โดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์กรหลักในการเผยแพร่กระบวนการ KM ให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปี สคส.จะยกทีมมาฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับหน่วยงานราชการในจังหวัดชุมพร ท่านที่มีความประสงค์จะเข้าร่วม Work Shop ในครั้งนี้ น่าจะรีบติดต่อไปที่สำนักงานจังหวัดฯ ก่อนนะครับ เพื่อเขาจะได้เตรียมการในเรื่องต่าง ๆ และเพื่อเป็นการฝึกซ้อมทำความเข้าใจ เรื่องของ KM และ CoP ก่อนลงสนามจริงผมขอแนะนำให้เข้าไปศึกษาที่เว็บไซท์ของ สคส. ที่ www.kmi.or.th ซึ่งมีสาระความรู้เกี่ยวกับ KM อย่างมากมาย ที่ผมถูกใจมากและเข้าไปร่วมแจมเรียบร้อยแล้วก็คือ เขามี Web Blog ถ่ายทอดความรู้พร้อมเปิดช่องทางให้ผู้อ่านเข้าไป Comment ถามคำถาม แสดงความคิดเห็นกับผู้บริหารและวิทยากรทางด้าน KM ของ สคส. ผมเข้าไปติดตามอ่านบทความของท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มาอย่างต่อเนื่อง และถามคำถามท่านไป ท่านก็ให้ความกรุณาตอบผ่านทาง Web Blog ของท่านมาในวันรุ่งขึ้น ผมถามอะไร-ท่านตอบอะไร ไม่บอกตรงนี้หรอกครับ อยากรู้ต้องไปติดตามอ่านเอาเองสนุกกว่ากันเยอะ
 
          ส่วนท่านที่เข้าฟังการบรรยายของ ศ.นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์ ก็น่าจะติดตามผลงานการจัดการ KM ของคณะแพทย์ศาสตร์ มอ. ซึ่งท่านอาจารย์มีบทบาทเป็นอย่างมาก จะได้เรียนรู้ของจริงจากการแลกเปลี่ยนความรู้ในกลุ่ม CoP กันอย่างชัดเจน เข้าไปติดตามได้ที่ www.medinfo.psu.ac.th/km/km.htm ผมก็เข้าไปส่ง E-mail พร้อมบทความดี ๆ ที่ผมเจอจากเว็บไซท์ Strategy+Business ให้ท่านอาจารย์เรียบร้อยแล้วครับ
 
          กลับมาที่เรื่องของเราต่อ ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า “การจัดการความรู้” เปิดมิติใหม่ในการบริหารระบบจังหวัดชุมพรได้จริงหรือ ? คำตอบที่ผมคิดอยู่ในใจมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่จะเป็นตัวผลักดันหรือฉุดรั้งกระบวนการจัดการความรู้ที่ได้เริ่มก่อตัวขึ้นจากเหตุการณ์ที่ได้กล่าวถึงในเบื้องต้น จากการศึกษางานเขียนของท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผมจึงขอสรุปประเด็นที่มองเห็นว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ ในระบบจังหวัดของเรา ตั้งเป็นคำถาม 2 ข้อ หยิบยกขึ้นมาบนเวที KM ท้าทายนักจัดการความรู้ทุก ๆ ระดับของ จ.ชุมพร ดังนี้ครับ
 
1) เรามองเห็น “หลุมพราง” หรือไม่ว่า KM ไม่ใช่เป้าหมายในตัวเอง ?

         ถ้าอย่างนั้น KM คืออะไร ? คำตอบก็คือ KM เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ผลักดันให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา 3 ประการ คือ พัฒนาคน, พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร ให้ก้าวเข้าสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organisation : LO)
 
          “เมื่อไรก็ตามที่มีการเข้าใจผิด ถือเอาการจัดการความรู้เป็นเป้าหมาย ความผิดพลาดก็เริ่มเดินเข้ามา อันตรายที่จะเกิดตามมาคือการจัดการความรู้เทียม หรือ ปลอม เป็นการดำเนินการเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีการจัดการความรู้
 
          การตกหลุมพรางแบบนี้มีที่มาครับ โดยเฉพาะที่พบกันบ่อยที่สุดในวงราชการ คือ ทำเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ กพร. หรือหน่วยงานบังคับบัญชา หน่วยงานต้นสังกัด นั่นคือ ทำเพื่อให้ได้ชื่อว่าทำ
 
          เรื่องของการตกหลุมพราง หรือการสร้างแรงจูงใจเทียม อาจารย์หมอวิจารณ์ พานิชท่านมีวิธีการป้องกันครับ เรียกว่า “ยุทธศาสตร์หัวปลา” เป็นอย่างไรนั้นไปฟังท่านอธิบายด้วยตัวเองดีกว่า ในวันที่ 16 พ.ค. นี้
 
2) จ.ชุมพร มี “แชมป์เปี้ยน” (Champion) มาจัดการเรื่อง KM หรือไม่ ?

           คำว่า “แชมป์เปี้ยน” ในความหมายของการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) หมายถึงบุคคลที่มีความเชื่อในเรื่องนั้น และลงมือปฏิบัติ ต่อสู้ ฟันฝ่า แบบกัดไม่ปล่อยจนบรรลุความสำเร็จในที่สุด
 
          ถ้า จ.ชุมพร มี “แชมป์เปี้ยน” มาจัดการเรื่องนี้ก็น่าจะเข้าข่ายสภาวะที่นำไปสู่ความสำเร็จในลักษณะที่ อาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช เขียนไว้ว่า “นี่คือสภาพที่จัดได้ว่า “โชคดีที่สุด” สำหรับวงการจัดการความรู้ เพราะเมื่อผู้บริหารสูงสุดเป็นแชมเปี้ยน (ผู้เห็นคุณค่า และดำเนินการผลักดันฟันฝ่า) เรื่องที่ว่ายากทั้งหลายก็ง่ายขึ้นมาก แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ผู้บริหารหมายเลข 1 อาจมี “แรงจูงใจเทียม” ก็ได้
 
          ด้วยความเชื่อที่ว่า ก่อนจะทำงานใหญ่จะต้องมองให้รอบคอบทั้งในด้านบวกและด้านลบเพื่อประเมินให้เห็นข้อเท็จจริงมากที่สุด ผมจึงขอตั้งคำถามกันแรง ๆ อย่างนี้ตั้งแต่ยกที่ 1 ของการจัดการความรู้ เพราะมองว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะมาเสียพลังกาย พลังใจ เสียเวลาต่อการตอบสนอง “แรงจูงใจเทียม” แล้วสร้าง “มายาภาพ” ของความสำเร็จในเชิงตัวเลขรายงาน แต่อ่อนด้อยคุณภาพขึ้นมาหลอกหน่วยงาน หลอกสังคม ซ้ำร้ายที่สุดก็คือ หลอกตัวเอง การหลงทางวนไปเวียนมาในระบบบริหารสูงสุดของจังหวัดชุมพร จะส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการทำให้ทุกภาคส่วนในระบบจังหวัดของเราสับสน ลดศรัทธาและความฮึกเหิม จนนำไปสู่วงจรแห่งความล้มเหลวทางการบริหารได้ในที่สุด
 
          อย่างไรก็ตามถ้ามองกันในแง่ดี  อาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช ท่านเสนอไว้เป็นแง่คิดดังนี้ครับ “แรงจูงใจเทียมอาจไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าองค์กรนั้นสิ้นหวังในเรื่องการจัดการความรู้    ถ้าเรามองในเชิงรุก-เชิงบวก เราก็สามารถเปลี่ยนแรงจูงใจเทียมให้กลายเป็นแรงจูงใจแท้ได้    แต่จะต้องมี “แชมเปี้ยน” มาทำหน้าที่นั้น

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 513เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2005 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คำตอบ

ข้อ 1. เป็นสิ่งที่ทีมงานเข้าใจอย่างชัดเจนครับและสิ่งที่ทีมงานตอกย้ำตนเองตลอดเวลาในการทำงาน

ข้อ 2. ทีมงานที่ทำมั่นใจว่า ทีมเรากำลังขับเคลื่อนกระบวนการดำเนินการ KMของข้าราชการมากกว่า 130 หน่วยงานอย่างเต็มที่  แต่คงไม่ง่ายนัก แต่ทุกคนกำลังพยายามเต็มกำลังครับ

  ยังไงแวะเยี่ยมกันบ้างนะครับที่

       http://gotoknow.org/chumphon-km-memory

                                                    ขอบคุณครับ

                                                 พรสกล ณ ศรีโต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท