เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง


อย่ามัวเตรียมงานจนหมดแรง วันจริงจะไม่แจ่มใส

พญ.อารยา ทองผิว มีวัยที่อาวุโสแล้ว (แต่ยังไม่แก่)  ท่านเป็นคนที่สนุกสนาน ทำงานรวดเร็วเสมอ ดิฉันอยากได้รายละเอียดของการเตรียมจัดค่ายเบาหวาน เพื่อให้สมาชิกได้เรียนรู้ด้วย ระหว่างที่ท่านมานั่งรอเข้าประชุมเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ ท่านได้เขียนเรื่องเล่านี้ให้จนเสร็จเรียบร้อย

แม้จะใช้เวลาในค่ายเบาหวานเพียงไม่กี่วัน แต่การที่จะให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีนั้น ต้องใช้เวลาในการเตรียมการหลายเรื่อง ต้องใช้คนหลายคน ต้องมีการจัดการหลายๆ อย่าง ดังเช่นกรณีของโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล

วัลลา ตันตโยทัย ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๘

"WELL BEGUN IS HALF DONE เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง "

คำกล่าวนี้เป็นความจริง ใช้ได้ทุกเรื่อง รวมถึงการเตรียมค่ายเบาหวานด้วย ท่านสมาชิกที่ยังไม่เคยจัดค่ายมาเริ่มต้นศึกษาวิธีจัดค่ายก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีได้ขั้นหนึ่งแล้วค่ะ
ขั้นตอนการวางแผนงานทุกชนิด ต้องเตรียมคน เครื่องมือ สถานที่ จัดระบบงาน เรามาเรียงลำดับได้ดังนี้ค่ะ
๑. คน       - ต้องแบ่งว่าเป็นผู้ที่จะไปค่ายกับเรา หรือลูกค้า
                - คนที่จะเป็นผู้จัดงาน คือเจ้าหน้าที่
              เรื่องผู้ที่จะไปค่ายกับเรานั้น ให้เริ่มแบบ ลูกทุ่ง คือ จะไปไหนเราก็ชวนคนรู้จัก รู้ใจ ไปด้วยกันก่อน แบบนี้จะเสี่ยงน้อยหน่อย เพราะคนที่เรารู้จักมาก่อน น่าจะอะลุ่มอล่วยกับเรา ถ้าเราทำผิดบ้างถูกบ้าง หรือมิฉะนั้นถ้าไม่ถูกใจเขาจะบอกเรา อาจมีบางคนที่ผิดใจจนโกรธไปเลย เรื่องนี้เราต้องมาพิจารณาในขั้นตอนประเมินผล ซึ่งไม่ใช่ขั้นตอนการเตรียม
(สงสัย ! เรื่องนี้จะยาวซะแล้ว ถ้ากั๊กไว้อย่างนี้ มีหวัง ดร.วัลลา ต้องตามต้นฉบับอีก เสี่ยงน่าดู ไหนไหนก็ไหนไหน แล้วนี่นะ)
              สำหรับคนรู้ใจ จะไม่ยาก เพราะเราทราบว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หรือเขาทราบว่าเราทำอะไรได้บ้าง คงจะกล้อมแกล้ม
              ถ้าจะจัดแบบวางแผนให้สุขุมลุ่มลึก ซึ่งได้มาจากการลองผิดลองถูก เราจะต้องเริ่มที่การสอบถามความต้องการของลูกค้าว่าเขาชอบไปที่ไหน จะไปได้นานเท่าไร ศึกษากลุ่มลูกค้าว่ามีข้อจำกัดอะไร เช่น ต้องใช้ Wheelchair เรารับงานได้ไหม ลูกค้าที่เพิ่งป่วยหนัก เราคงต้องชะลอไว้คราวต่อๆ ไป
              เมื่อจัดกลุ่มความต้องการแล้ว เราจึงมาดูความสามารถของเราว่าจะไปไกลแค่ไหน จะเดินทางด้วยวิธีใด เช่นไปพร้อมกัน ใช้รถโดยสารคันใหญ่ หรือจะลงเรือ ขึ้นรถไฟ ไปเรือบิน ทีมงานต้องปรึกษากัน เป็นขั้นแรก
              ทั้งนี้เราจะจัดแบบลูกทุ่ง ผสมกับการวางแผน ก็ไม่ผิดกติกาอันใด
              เมื่อได้จำนวนคนและทราบว่าจะไปที่ใด นานเท่าใด ไปอย่างไร เราต้องเตรียมคนของเรา คือทีมงาน
              ทีมงานที่ดี ต้องมีแพทย์ ใช้ได้หลายประการ คือเป็นวิทยากรก็ได้  เป็นแพทย์ผู้ดูแลรักษา เป็นหัวหน้าทีม เป็นผู้ให้ความบันเทิงเช่น จัดเกมส์ต่างๆ ร้องเพลง ลีลาศ จัดอาหาร ปรุงอาหาร ยกกระเป๋าก็ได้ -all in one- แบบนี้ให้ผูกไมตรีไว้ดีๆ ของมีค่าแบบนี้ ต้องอนุรักษ์ไว้นะคะ
              พยาบาล ต้องมีแน่ ถ้าเป็นผู้ผ่านการฝึกเป็นวิทยากรเบาหวานมาแล้วจะสมบูรณ์แบบมากๆ ยิ่งถ้าเป็นสมาชิกตลอดชีพของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานด้วยยิ่งดี เพราะเธอจะถูกอบรม บ่มเพาะ ให้เป็นที่ปรึกษาทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ฉีดยาได้ ให้ยาเป็น คำนวณอาหารได้ ส่วนจะมีความสามารถพิเศษทางด้านสันทนาการ การใช้กล้องถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ตัดต่อวีดีทัศน์ และมีความอึด อดนอน อดข้าว อดทน ยิ่งดีมากๆ ถ้าหาไม่ได้ลองมองไปในกระจก น่าจะพบคนหนึ่งแย้ว อิ! อิ!
              นักกำหนดอาหาร ตัวจริง เสียงจริงจะดีมาก ถ้ามีความสามารถหลายด้านอย่างแพทย์-พยาบาลคนข้างบนโน่น ก็ดีหลายๆ เด้อ แต่ถ้าไม่มีตัวจริง ต้องใช้ตัวปลอมจากวิทยากรเบาหวานมาช่วยทำหน้าที่ไปพลางๆ (เห็นมั้ย วิทยากรเบาหวานทำได้หลายหน้าที่ท่านเคยฝึกอบรมแล้วหรือยัง ถ้ายัง ติดต่อที่สมาคม 0-2240-2728 ได้ หลักสูตรของเราเต็มเร็วอย่างกับโรงเรียนกวดวิชาดังๆ เลยนะตัวเอง)
              ถ้ามีเภสัชกร นักกายภาพบำบัด ทีมสหวิชาชีพที่ใช้อยู่ไปโรงพยาบาล หรือในศูนย์ชุมชน ใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย ถ้ามีคุณครู หรือเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการที่มีความสนใจ ชวนไปเลยค่ะขอให้มีใจเสียอย่าง เดี๋ยวเขาช่วยเราเอง เพราะงานมีมาก
              สำหรับพระภิกษุนั้น ขอทั้งบารมีท่านในการประชาสัมพันธ์ค่ายเบาหวานของเราได้ ไม่บาปนะค่ะ เพราะเป็นการสนับสนุนให้มีร่างกายดี จะได้มีแรงทำงาน หาปัจจัยมาถวายวัด จรรโลงพระศาสนาสืบต่อไปได้ตลอดกาลนาน (สาธุ !)
              เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลหรือชุมชน ญาติผู้ป่วย รวมทั้งผู้แทนจากบริษัทจำหน่ายยา เขามักจะช่วยเหลือเรา ในด้านประชาสัมพันธ์หรือสนับสนุน ในด้านที่เขาถนัด ต้องมองๆ เองบ้าง บอกหมดเดี๋ยวจะง่ายไป
              ในช่วงการพบปะเตรียมงานครั้งแรก จะเหนื่อยหน่อย เหนื่อยใจมากกว่า เพราะกังวลว่าจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าพยายามเต็มที่แล้วถึงจะมีข้อผิดพลาดบ้างก็นำมาเป็นบทเรียน
              สิ่งสำคัญ อย่ามัวเตรียมงานจนหมดแรง วันจริงจะไม่แจ่มใส
              วิธีที่ดีที่สุด มองหาว่าสิ่งใดจะเป็นจุดผิดพลาดได้ แล้วป้องกันไว้ก่อน ต้องเตรียมงานนานหน่อย อยู่สุกเอาเผากินเป็นอันขาด จะหมดสนุกตรงนี้แหละ

๒. เตรียมเครื่องมือ ขึ้นอยู่กับแผนงานว่าจะสอนอะไรในรอบแรก อย่าโลภมาก สอนหลายอย่างในครั้งเดียว จะฝันสลาย จับประเด็นง่ายก่อน ถ้าผลลัพธ์ออกมาดี ลูกค้าและทีมงานจะรู้สึกสบายใจ หายห่วง แล้วเขาจะมาเข้าค่ายอีกในลำดับต่อๆ ไป
              ในภาพรวม เราต้องมีอุปกรณ์การสอน audio-visual จะมีกิจกรรมอะไร ต้องแยกว่าใช้เครื่องมืออะไร ถ้าเครื่องมืออย่างเดียวใช้ได้หลายๆ กิจกรรม ให้เลือกชิ้นนั้น เวลาขนของจะได้ไม่เหนื่อยมาก ถ้าใช้สมองมากๆ จะเหนื่อยน้อย ฉะนั้นช่วงเตรียมงานเหนื่อยมาก ดีกว่าเหนื่อยวันจริง
              พยายามนึกภาพว่าลูกค้าต้องการอะไร ในวันงานมาถึงปุ๊บเขาจะต้องสะดวก สบาย ปลอดภัย อย่าลืมว่าส่วนใหญ่เป็นคนไข้ ต้องมียา มีอุปกรณ์ที่ใช้ประจำ
              อุปกรณ์สื่อสาร สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะช่วงเตรียมงาน ช่วงเดินทาง ช่วงจัดงาน ถ้าใช้อุปกรณ์จะผ่อนแรงได้มาก ท่านคงไม่อยากวิ่งไปวิ่งมาชุลมุน โน่นก็หาย นี่ก็ลืมเอามา นึกภาพออกไหมคะ เสียบุคลิกอีกต่างหาก เผลอๆ จะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันอีก นี่เป็นเรื่องจริงค่ะ พยายามหลีกเลี่ยงให้ได้
              ถ้าจะต้องทำเอกสารแจกจ่าย พยายามให้เสร็จก่อนหลายๆ วันเพราะเป็นของแห้ง ทำก่อนได้ ในวันจริงเราจะมีของสด เช่น อาจต้องเตรียมอาหารบางมื้อให้ลูกค้า และเจ้าหน้าที่ในวันไปค่าย เรื่องอาหารนี้เป็นกิจกรรมหลัก มากไปก็ไม่ดี เพราะน้ำตาลเพิ่ม แต่ถ้าไม่พอเพียงจะถูกบ่น
             ต้องมีระบบเตือนผู้ป่วยให้นำอุปกรณ์ส่วนตัวไปด้วย บางท่านต้องการ wheelchair ให้แจ้งล่วงหน้า
 ควรมีรถพยาบาลฉุกเฉินไปด้วย เราไม่สามารถคาดการณ์ว่าจะมีเหตุไม่พึงประสงค์ เตรียมไว้ไม่ได้ใช้ ดีกว่าต้องการใช้แล้วไม่ได้เตรียม
             แต่มิใช่จะขนของเป็นคนบ้าหอบฟาง ต้องใช้สมองตรองดูความเหมาะสม ตรงนี้ต้องใช้ความสามารถพิจารณาสถานการณ์เองบ้าง จะบอกทุกอย่างไม่ได้ เพราะบริบทไม่เหมือนกัน (แหะ! แหะ! บริบท ก็แปลว่าเรื่องของใครก็ของคนนั้น สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน)

๓. สถานที่ หมายถึง ค่ายที่เราจะไป ต้องกำหนดลงไปว่าที่ใดเหมาะสม จะไปใกล้-ไกลแค่ไหน รอบแรกอย่าเพิ่งไปไกล อาจจะจัด Day Camp ไม่ต้องค้าง ไปเช้า-เย็นกลับก่อนได้
               ทีมงาน ต้อง ไปดูสถานที่ด้วยตนเอง อย่าเชื่อตาม Brochure ค่ะ เพราะภาพถ่ายเลิศสะแมนแตน ไปจริงๆ เล็กนิดเดียว เก่าและอุปกรณ์ชำรุดอีกต่างหาก
              ต้องดูสถานที่ที่จะบรรยาย เข้ากลุ่ม ทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม เดินง่าย ไม่ต้องใช้ลิฟต์ได้ยิ่งดี
 ต้องสอบถามเจ้าของสถานที่ เราอาจมีสิ่งของขาดเหลือบ้าง มีอุปกรณ์ audio-visual ไหม มีอุปกรณ์สันทนาการอะไรอยู่บ้าง เราจะได้ขนของน้อยที่สุด
              อย่าห่วงเรื่องราคา ของถูกๆ อาจดูแพงกว่าของราคาสูงแต่มีอุปกรณ์เสริม รวมแล้วจะคุ้มค่ากว่ากัน
              ดูห้องครัวของสถานที่นั้น การจัดอาหารจะอนุโลมให้เราอย่างไรบ้าง ถ้าเราจะต้องตักอาหารเป็นตัวอย่างให้ลูกค้า จะทำได้หรือไม่ ถ้ามีแต่ขนมหวาน หรืออาหารแป้ง นม เนย เค้ก ล้วนๆ เราจะขอปรับเป็นอย่างไร
              เราต้องจัดกลุ่มลูกค้าที่ต้องการอยู่ใกล้ๆ กัน เพราะเป็นญาติกันต้องดูความเป็นไปได้
              ถ้ามีคนรู้จักกับเจ้าของสถานที่ จะดีกว่าไปที่ๆ เราไม่มีผู้อ้างอิง ข้อนี้จะเกี่ยวกับการวางมัดจำ การจ่ายเงินค่าบริการหลังการจัดงาน ต้องเตรียมให้พร้อม
              อย่าตระหนกตกใจ คิดเสียว่าฝึกทำทัวร์ ถ้าเกษียณแล้วไปจัดทัวร์ได้ เป็นอาชีพเสริม ในมุมกลับบุคลากรท่านใดที่เคยจัด meeting ให้เพื่อนในรุ่นของท่าน จะมีความสามารถพิเศษในเรื่องนี้ และลูกค้าหรือคนไข้บางท่านอาจจะเป็นเจ้าของสถานที่ด้วยซ้ำ โปรดระวังต้องจ่ายค่าสถานที่เขาอย่างยุติธรรม อย่าเห็นแก่ได้เล็กๆ น้อยๆ มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อข้อครหา ว่าเราซื้อแกมขอนะคะ เพราะเราต้องมีจริยธรรมด้วย

๔. ระบบงาน ข้อนี้ควรมองภาพใหญ่ เริ่มต้นต้องตั้งเป้าหมายให้ได้ก่อนว่า ไปค่ายครั้งนี้เรามีเป้าหมายอะไร ประสงค์อะไร ต้องตั้งเกณฑ์ไว้มิฉะนั้นเวลาประเมินผลงาน เราจะไม่ได้เรื่องจริง กลายเป็นค่ายเฮ-ฮาไปวันๆ เสียเวลา เสียเงินทอง และแรงงานมากค่ะ ฉะนั้นเมื่อทำแล้วต้องประสงค์ผลลัพธ์ชัดเจน
               ตัวอย่าง   ครั้งแรก    น่าจะเป็นเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรม เจตคติในการคุมเบาหวาน
                              ครั้งต่อไป ลงรายละเอียดเรื่องอาหาร การใช้ยาเม็ด การใช้ยาฉีด การดูแลป้องกันโรคแทรกซ้อน
                              ครั้งต่อไป Self monitoring การคุมอาหาร การฉีดยาให้เหมาะกับระดับน้ำตาลที่เจาะเลือดมาได้
              นี่คือตัวอย่าง ไม่ต้องทำตามถ้ายังไม่พร้อมค่ะ
              จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะเป็นตัวกำหนดกิจกรรม อุปกรณ์ และบุคลากรที่ใช้ด้วย
              เมื่อเตรียมเป้าหมายแล้ว แต่ละกิจกรรมต้องมีการวัดผลด้วยว่าทีมงานจะวัดผลอะไรจากการเข้าค่าย
              ผลลัพธ์ที่ต้องการ จะเป็น ผลลัพธ์ในด้านโครงสร้างคือ จำนวนผู้เข้าค่าย และการใช้สิ่งของให้คุ้มค่า ผลลัพธ์ด้านกิจกรรมที่ทำ วัดว่าผู้เข้าค่ายร่วมมือ ทำได้-ทำไม่ได้ สุดท้ายต้องวัดผลลัพธ์การดูแลรักษา เช่นระดับน้ำตาล ระดับ HbA1C การคุมน้ำหนัก
              ผลลัพธ์ที่สำคัญ อย่าลืมคิดต้นทุนที่ใช้ไปด้วยว่าเป็นเท่าไร ไม่ได้คิดหากำไรก็จริง แต่ต้องนำมาวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายให้คุ้มกับผลลัพธ์ที่ได้ด้วย
              ส่วนความพึงพอใจจากลูกค้านั้นเป็นเพียงส่วนประกอบ ไม่ใช่ผลลัพธ์หลัก
              กลับจากค่ายต้องสรุปผลงานว่ามีอุปสรรค ข้อขัดขวาง สิ่งที่ต้องปรับปรุง แล้วจึงนำมาวิเคราะห์การจัดงานรอบต่อไป

              การเตรียมงานเช่นนี้ จะทำให้ผลงานของท่านปรากฏผลในทางที่ดี ท่านจะลำบากในช่วงเตรียมงานดีกว่าลำบากในการรอรับความผิดพลาดค่ะ

ผู้เล่าเรื่อง พญ.อารยา ทองผิว ศูนย์เบาหวาน โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล กรุงเทพฯ โทร. ๐-๒๒๗๙-๗๐๐๐ ต่อ ๑๒๑๔

คำสำคัญ (Tags): #ค่ายเบาหวาน
หมายเลขบันทึก: 501เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2005 06:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นายรุ่งศักดิ์ ศิรินิยมชัย วิทยากรเบาหวาน

ขอขอบคุณท่านอาจารย์ พญ.อารยา มากครับที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีประโยชน์มากครับ เพราะผมจะนำประสบการณ์ของอาจารย์มาใช้ในการจัดค่ายเบาหวานในปีนี้ที่ผม ได้มีส่วนร่วมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท