เจอรันด์ (gerund) ในภาษาสันสกฤต


ความยาก = ยาก

ได้อ่านกริยาเจอรันด์ในภาษาละตินแล้วก็แปลกใจ เพราะเจอรันด์ในภาษาละตินนั้นมีหลากหลายแบบ ขณะที่ในภาษาสันสกฤต หรือภาษาอังกฤษนั้นมีเพียงแบบเดียว แถมยังแตกต่างกันมากมาย จึงค้นคว้าเพื่อนำมาเล่าท่านที่สนใจเรื่องลึกๆ แบบนี้


เจอรันด์คืออะไร?

ตำราไวยากรณ์ไม่ค่อยบอกโดยละเอียดนัก ว่าเจอรันด์คืออะไร มักจะเน้นวิธีสร้างเจอรันด์มากกว่า คงเพราะเกรงจะสับสน จะว่าไปแล้ว การอ้างชื่อต่างๆ ก็ไม่สู้จำเป็น ถ้าเราอ่านได้ เขียนเป็น มันจะชื่ออะไรก็ไม่สำคัญ จริงไหมครับ อีกอย่างหนึ่ง ยิ่งมีชื่อเรียกมาก มีประวัติมาก ผู้เริ่มต้นก็มักจะสับสน

หากจะขอด่วนๆ สั้นๆ ในตอนนี้ ว่าเจอรันด์คืออะไร ก็คงบอกว่าเป็น “อาการนาม” ชนิดหนึ่ง อาการนามคือคำนาม ที่มีความหมายว่าแสดงอาการ เช่น การเดิน การเขียน การเรียน คำเหล่านี้ “สร้างมาจากกริยา” เดิน เขียน เรียนแต่โดยสภาพแล้วเป็นคำนาม ไม่ได้นำมาใช้เป็นกริยาของประโยค (ทว่าในการแปลความหมาย อาการนามเหล่านี้อาจช่วยบอกอาการได้ หรือทำหน้าที่เสมือนเป็นกริยาได้ด้วย)


เจอรันด์ในภาษาอังกฤษ

เจอรันด์ (gerund) เป็นกริยาชนิดหนึ่งในภาษาตระกูลอินเดีย-ยุโรป และที่เราคุ้นเคยก็น่าจะเป็นเจอรันด์ในภาษาอังกฤษซึ่งมีค่าจริงๆ เป็นคำนาม ไม่ได้เป็นกริยา แต่สร้างรูปขึ้นจากกริยา แล้วเติม-ing (แปลภาษาไทยก็ใส่คำว่า การ- เข้าไป) เช่น

  • For humans, eating is an activity of daily living.
  • สำหรับมนุษย์ การกิน เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน.
  • Learning is an easy process for some.
  • การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ง่ายสำหรับบางคน
  • I like swimming.
  • ฉันชอบการว่ายน้ำ (ฉันชอบว่ายน้ำ)

เจอรันด์จึงไม่ต่างกับคำนามอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นประธาน เป็นกรรม หรือเป็นส่วนขยายนามก็ได้

ในภาษาอังกฤษนั้นมีเจอรันด์เพียงแบบเดียว คือ แบบที่เติม-ing นี้แหละ เมื่อเป็นประธาน เป็นกรรมรอง กรรมตรงอะไรก็รูปเดิม ไม่ต้องเติม s เป็นพหูพจน์อีกต่างหาก (ภายหลังเจอรันด์เริ่มกลายเป็นนามปกติ แล้วมีเอกพจน์ พหูพจน์ได้ ก็มีนะ)

*ด้วยเหตุนี้เอง นักเรียนจึงมักจะสับสน เพราะมีกริยาอีกพวกหนึ่งในภาษาอังกฤษที่เติม –ing เรียกว่า present participle เป็นกริยาย่อยทำหน้าที่เป็นตัวแสดงอาการได้*


เจอรันด์ในภาษาละติน

เนื่องจากเจอรันด์นั้นมีค่าเป็นคำนาม และคำนามในภาษาละตินจะต้องแจกรูปตามหน้าที่ เจอรันด์ในภาษาละตินจึงสามารถแจกรูปได้ (ปกติจะมีนาม 6 แบบ(การก) แต่เจอรันด์แจกรูปได้ 4 แบบ และนับเป็นเอกพจน์ เพศกลางเท่านั้น เช่น จากธาตุ amo แปลว่า รัก(ลงปัจจัย -and- ก่อน แล้วแจกเหมือนนามเพศกลาง)*

  • สัมพันธการก   amandī  (am and ī)  ของการรัก**
  • สัมประทานการก   amandō  (am and ō)  เพื่อการรัก
  • กรรมการก   amandum  (am and um)  ซึ่งการรัก
  • อปาทานการก  amandō  (am and ō)  โดยการรัก
  • *ภาษาละตินยังมีอาการนามอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า supine
  • ** นี่เป็นตัวอย่างการแจกรูป คำแปลจึงดูแปลกๆ


เจอรันด์ในภาษาสันสกฤต

อ๊ะ ภาษาสันสกฤตก็มีเจอรันด์

ความจริงนี่เป็นศัพท์ที่นักไวยากรณ์ฝรั่งเรียก และอาจจะไม่ตรงนัก เนื่องจากภาษาสันสกฤตนั้นมีความแตกต่างพอสมควร ระหว่างไวยากรณ์สมัยพระเวท และสมัยแบบแผน โดยเฉพาะรูปและโครงสร้างของกริยา

เจอรันด์ในภาษาสันสกฤต คือ ธาตุที่เติมปัจจัย ตฺวา tvā́ (มีเสียงเน้น) เช่น ศฺรุ > ศฺรุตฺวา, กฺฤ > กฺฤตฺวา ดูง่ายๆ แท้

(นักไวยากรณ์อินเดียไม่เรียกว่าเจอรันด์ แต่เรียกว่า กฺฤตฺ (krit) คือธาตุที่เติมปัจจัยโน้นปัจจัยนี้ แล้วนำมาใช้คล้ายกริยา)

เจอรันด์เช่นนี้ ถือว่าไม่มีประธาน แต่อาจมีกรรมอยู่ข้างหน้า, แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ที่เป็นประธานของเจอรันด์เหล่านี้ก็คือประธานของกริยาหลักนั่นเอง

รูป ตฺวา นี้ สันนิษฐานว่า น่าจะมาจาก ตุ แล้วทำเป็นการกที่ 3 (ลงปัจจัย อา, tu + ā = tvā)  (แปลว่าด้วย พร้อมกับ) ขณะที่กริยาลงปัจจัยตุมฺ tum ก็คืออาการนามในกรรมการก (tu+m) (ตรงกับภาษาอังกฤษ infinitive) นั่นเอง

ดังนั้น กฺฤตฺวา จึงน่าจะแปลว่า พร้อมด้วยการกระทำ, ศฺรุตฺวา พร้อมด้วยการฟัง  ตัวอย่างเช่น

  • ศฺรุตฺไว'ว จาภฺรุวนฺ. (śrutvā eva ca abhruvan) และได้ยินแล้ว, พวกเขาได้กล่าว (เมื่อได้ยินแล้ว พวกเขาก็กล่าว)

หากเราแปล ศฺรุตฺวา เป็นกรฺณการก ก็คงจะได้ว่า พร้อมด้วยการฟัง พวกเขาได้กล่าวแล้ว.. ประโยคเช่นนี้มักแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบนี้ Hearing that, they said. หรือ Having heard that, they said.

แต่การใช้ในภาษาสันสกฤตแบบแผน คำแบบนี้ไม่มีการผันรูป กลายเป็นศัพท์ำไม่แจกรูป มีลักษณะเอกเทศไป เราจึงไม่เห็นลักษณะของความเป็นอาการนาม (gerund) ตามชื่อที่เรียกกัน

*ลักษณะดังกล่าวนี้ จึงทำให้นักเรียนสับสน เช่นเดียวกับเจอรันด์ในภาษาอังกฤษ ที่มีรูปพ้องกับ present participle นั่นเอง


ปัจจัย ตฺวา และ ย 

  แม้กริยาเหล่านี้จะมีรูปหลักคือ ลงปัจจัย ตวา แต่ในทางปฏิบัติแบ่งเป็น 2 พวก คือ

  • พวกที่เติม ตฺวา เมื่อสร้างจากธาตุเดี่ยว เช่น นตฺวา (√ นมฺ+ตฺวา) ชิตฺวา (√ ชิ+ตฺวา), คตฺวา (√ คมฺ+ตฺวา)
  • พวกที่เติม (เมื่อธาตุมีอุปสรรคข้างหน้า)เช่น อาคมฺย (อา√ คมฺ+ย), อวโลกฺย (อว√ โลกฺ+ย)
  • (ในภาษาพระเวท ยังมีรูปอื่น คือ ตฺวี และ ตฺวาย (ใช้ ตฺวา และ ย คู่กัน)

* อนึ่งในภาษาสันสกฤตยังมีกริยาพิเศษ ลงปัจจัย ตวฺย ก็คงจะมาจาก ตุ+ย (tu-ya) แล้วยืดเสียง ตุ เป็น ตวฺ (tu=tav) เป็นแน่

เนื่องจากเจอรันด์ในภาษาสันสกฤตแบบแผนถือเป็นรูปไม่แจก (อวยยศัพท์) บางครั้งภาษาอังกฤษจึงเรียก indeclinable participle เพราะมีลักษณะอย่าง participle มากกว่า และไม่มีการแจกรูป นอกจากนี้ก็ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า absolutive เนื่องจากมีลักษณะเป็นเอกเทศ ไม่ผันรูปตามนามใดๆ

 

สรุป

แม้ในภาษาสันสกฤตจะมีคำที่เรียกว่าเจอรันด์ (gerund) แต่มีค่าจริงๆ เป็นกริยาย่อย (participle)มากกว่าจะเป็นอาการนาม แต่ก็ไม่ได้เรียกว่า participle เพราะจะไปซ้ำซ้อนกับกริยาอื่นที่มีอยู่ (present participle, past participle) นักไวยากรณ์บางท่านจึงเรียกว่า absolutive หรือ indeclinable participle เพื่อป้องกันความสับสน (แต่ตำราส่วนใหญ่ก็เรียกว่า gerund)

อนึ่ง กริยา หรือลักษณะทางไวยากรณ์อื่นๆ ในภาษาสันสกฤตนั้น ส่วนใหญ่ไม่สามารถเทียบเคียงกับชื่อในภาษาอังกฤษได้ ผู้ที่ศึกษาต้องทำความเข้าใจแต่ละเรื่องแล้วแยกแยะให้ได้ มิฉะนั้นจะสับสน ทั้งนี้ นักไวยากรณ์สันสกฤตชาวตะวันตกมักจะตั้งชื่อทางไวยากรณ์เทียบเคียงกับภาษากรีกและละติน หากเราเรียนลึกถึงรายละเอียดมากขึ้น ก็จะเข้าใจ และสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในแต่ละภาษาได้ง่ายขึ้น.

 

หมายเลขบันทึก: 515673เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2013 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2013 07:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

Thank you.

This is very helpful for me in my Pali learning.

ลืมคำว่า เจอรันด์ ไปนานแล้วค่ะ พอมาได้เห็นบันทึกของอาจารย์ก็เลยกดอ่านทันทีค่ะ ได้รับความรู้ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับ, ดีใจจัง นึกว่าบันทึกนี้จะไม่มีคนอ่านซะแล้ว 

มาอ่านรับความรู้ค่ะ อาจารย์อธิบายดีจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท