การบรรยาย การเรียนรู้ การอบรม และการเป็นผู้ฟัง


... คำถามที่ตามมาก็คือ ...แล้วเราจะต้องทำอย่างไร คนจึงจะ “นิ่ง” พอที่จะ “ฟังได้อย่างลึกซึ้ง” ...จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้พวกเขา “คิดได้อย่างเป็นระบบ (Systems Thinking)” หรือจะต้องทำอย่างไรให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจมากพอที่จะไป “ทำ” จริง...

        ในการ บรรยาย เรื่อง KM  แต่ละครั้ง  ผมมักจะสร้างบรรยากาศการ เรียนรู้  ด้วยการ  ยั่วยุให้ผู้ฟัง ตั้งคำถาม อยู่เสมอ  เมื่อวานนี้ในการอบรมที่สำนักงานภาคของกรมสรรพากรก็เช่นกัน  ถึงแม้ว่าจะมีคำถามไม่มากนัก  แต่คำถามหลักคำถามหนึ่งที่ทำให้ผมต้องกลับมาครุ่นคิดต่อก็คือ...

        ...การที่เราเดิน KM ตาม Model ปลาทู โดยที่จู่ๆ ก็ Assume เอาเองว่าคนในหน่วยงานจะเข้ามาอ่านสิ่งดีๆ ที่อยู่ใน หางปลาหรือ Knowledge  Assets ที่จัดเตรียมไว้ให้นี้ ...นี่อาจจะเป็นการตั้งสมมติฐานที่ผิด เพราะถึงแม้การแพร่กระจายความรู้  (Knowledge Dissemination) ผ่านระบบหรือเทคโนโลยี จะเป็นเรื่องที่ใช้ค่อนข้างได้ผลสำหรับคนในสังคมตะวันตก

        แต่นี่เรากำลังพูดถึงบริบทของสังคมไทย เรากำลังพูดถึงวัฒนธรรมการทำงานของส่วนราชการ ผมเชื่อว่าผู้ที่ทำงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการแสวงหาความรู้หรอก  คนมักจะใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดต่อสื่อสาร เพื่อการพูดคุย หรือเพื่อการบันเทิง (Entertainment) เป็นส่วนใหญ่

        อุปนิสัยในเรื่องการใฝ่รู้ ใฝ่พัฒนา ยังไม่ได้ซึมเข้าไปในสายเลือดคนส่วนใหญ่ ...ในการสัมมนาหลายครั้ง ผมพบว่าผู้ฟังที่นั่งอยู่นั้นไม่ต้องการจะเรียนรู้ ไม่ได้ตั้งใจมา หากแต่ว่า จำใจ มาเพราะว่าเป็นคำสั่งหรือว่าเป็นเงื่อนไขของหน่วยงาน การบรรยายของผมหลายครั้งจำเป็นต้องใช้พลังค่อนข้างมาก  เพื่อทำให้ KM เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่เข้าไปอยู่ในใจ เป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับชีวิตของพวกเขา

        โจทย์ใหญ่ที่อยู่ในใจผมเสมอมา ก็คือว่า... ทำอย่างไรคนจึงจะใฝ่รู้  ใฝ่พัฒนา?”  และคำตอบที่ผุดขึ้นมาทันทีทันใด  ก็คือ...จะต้องทำให้เขาเกิด ปัญญา...แต่คำพูดที่ว่า ทำให้เขาเกิดปัญญานั้น อาจจะไม่ ถูกต้อง เท่าใดนัก เพราะตามหลักแล้ว  ปัญญาเป็นเรื่องที่ต้องมาจากภายในตัวพวกเขา  ซึ่งในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้ชี้ช่องทางแห่งปัญญาไว้  3  ทางด้วยกัน  คือ

        1. ปัญญาที่มาจากการฟัง  (สุตตมยปัญญา)

        2. ปัญญาที่มาจากการคิด  (จินตมยปัญญา)  และ

        3. ปัญญาที่มาจากการปฏิบัติ  (ภาวนามยปัญญา)

        คำถามที่ตามมาก็คือ ...แล้วเราจะต้องทำอย่างไร คนจึงจะ นิ่ง พอที่จะ ฟังได้อย่างลึกซึ้ง  ...จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้พวกเขา  คิดได้อย่างเป็นระบบ (Systems Thinking)”  หรือจะต้องทำอย่างไรให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจมากพอที่จะไป ทำ จริง ซึ่งสิ่งที่จะตามมาก็คือการเรียนรู้ที่ แจ่มชัด กว่าการรับรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้อื่น...

        ยิ่งบรรยาย ก็ยิ่งเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ ท้าทาย ครับ... อุปสรรค มีอยู่บ้าง ก็ตรงที่ต้องพยายาม ปรับใจ รวบรวม ตั้งสติ ให้ดีๆ เวลาที่รับไปบรรยาย อย่าหมดกำลังใจง่ายๆ เพราะในหลายๆ ที่ คนที่นั่ง อบรม กันอยู่นั้น ที่ต้องการเรียนรู้จริงๆ  มีไม่ถึงครึ่งหรอกครับ !!

หมายเลขบันทึก: 51256เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2006 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • ขอบคุณมากครับ  แม้ว่ายังไม่เคยฟังการบรรยายโดยตรงจากอาจารย์เลย  แต่จากการที่ผมติดตามอ่านบันทึกของอาจารย์มาพอสมควร ก็ พยายามจะทำให้ เกิดปัญญาแก่ตน
  • ...ในการสัมมนาหลายครั้ง  ผมพบว่าผู้ฟังที่นั่งอยู่นั้นไม่ต้องการจะเรียนรู้ ไม่ได้ตั้งใจมา หากแต่ว่า จำใจ มาเพราะว่าเป็นคำสั่งหรือว่าเป็นเงื่อนไขของหน่วยงาน
  • แล้วจะแก้ไขอย่างไร ? เป็นสิ่งท้าทายจริง ๆ ครับ

   เป็นความจริงครับ ..

" ในหลายๆ ที่ คนที่นั่ง “อบรม” กันอยู่นั้น ที่ต้องการเรียนรู้จริงๆ  มีไม่ถึงครึ่ง" .. ที่จริงยังเป็นไปได้นะครับที่ อาจมี ไม่ถึงครึ่ง ของ ครึ่ง ด้วยซ้ำไป แต่ผมว่า พอใจเท่าที่ได้ น่าจะดีที่สุดครับ เหมือนสอนนักศึกษายุคปัจจุบัน รุ่นหนึ่งที่เข้ามา หวังแล้วทำให้เรารู้สึกสมหวังได้จริงๆ สัก 3-4 คนก็เป็นสุขได้แล้วครับ

    ด้วยเหตุที่ไม่อยากผิดหวังมากนัก ผมจึงมักใช้เวลาส่วนแรกค่อนข้างมากในการทำ workshop แต่ละครั้ง เราเรียกขั้นนี้ว่า " การสร้างให้เกิดความมุ่งมั่น ด้วยศรัทธา " ครับ ทำดีๆบางทีก็สามารถ ชักนำให้กลุ่มที่ไม่ได้ ตั้งใจมา กลายพันธุ์ได้เหมือนกันครับ

เรียน ท่าน อ.ประพนธ์

     เห็นด้วยค่ะ ที่อาจารย์บอกว่าคนทำงานส่วนใหญ่มักใช้ Internet เพื่อการสื่อสาร เพื่อใช้พูดคุย และเพื่อการบันเทิง ยังไม่ได้ใช้เพื่อการแสวงหาความรู้สักเท่าไร

     อีกประเด็นหนึ่งค่ะ ยังมีบางคนใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์องค์กร (ดิฉันเพิ่งได้รับผลกระทบในส่วนนี้หลังจากได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนร่วมงานเมื่อสัก 2 ชั่วโมงที่ผ่านมา) ทำให้ค่อนข้างอึดอัดใจ และเกิดความขัดแย้งในใจอยู่มาก

     หลายคนที่ผ่านการอบรมจากท่านอาจารย์แม้จะเข้าฟังเพราะต้องการเรียนรู้จริง ๆ แต่เขาฟังแล้วยังเข้าใจในบางเรื่องไม่ลึกซึ้งดีพอ...ก็ก่อให้เกิดการปฏิบัติที่น่าอึดอัดสำหรับเราในฐานะเจ้าหน้าที่ได้เหมือนกันค่ะ

     ขั้นต่อไปคงอยู่ที่ "การใช้ปัญญา" ของเรา ที่จะฉุดดึงแนวคิดให้ "คนข้างบน" เขาเข้าใจในวัฒนธรรมของ ลปรร. ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร

 

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ     การทำให้คนใฝ่รู้ยากมากๆค่ะ     อาจจะทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัวน่าจะดีขึ้นนะคะ

เรียน อาจารย์ประพนธ์ที่เคารพ

   หนูว่าอาจารย์ยังดีกว่าครูโรงเรียนหนูนะคะ อาจารย์ได้พูดกับผู้ใหญ่ ซึ่ง มี"วุฒิภาวะ" สูงกว่าเด็กแน่นอน  หนูรู้สึก ทึ่ง ทุกครั้งที่มีวิทยากรเก่ง ๆ มาพูดที่โรงเรียน แล้วทุกครั้งครูทุกคนที่โรงเรียนบ่อไร่วิทยาคมก็ตั้งใจฟัง ขวนขวายทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจยิ่ง  แต่เมื่อไปสอนหรือทำกิจกรรมที่คล้ายกันกับเด็กซึ่งอยู่ในวัยมัธยมฯ  บรรยากาศมันกลับแตกต่าง กันมาก เด็กเค้าไม่ได้สนใจในส่งที่เราอยากทำให้เขา  เขาก็สนใจในส่งที่เค้าอยากทำ โทรศัพท์ เพลง ดารา ฯลฯ  เฉกเช่นเดียวกัน เมื่ออาจารย์ไปบรรยายก็คงมีคนที่สนใจในเรื่องที่เราพูดอยู่บ้างและก็คงมีคนที่ไม่สนใจอยู่บ้าง   ทั้งนี้หนูว่ามันก็เกี่ยวข้องกับ "วุฒิภาวะ" ค่ะ

 

ขอบคุณอาจารย์มณีรัตน์ที่ช่วย promote หนังสือ "วุฒิภาวะ" ...เพราะเห็นใช้คำนี้หลายครั้ง ...จุดใหญ่อยู่ที่ว่าเราจะพัฒนา "วุฒิภาวะ" นี้ได้อย่างไร?

                 ครั้งหนึ่งได้ไปฝึกอบรมเกี่ยวกับการฝึกอุปนิสัยตัวเองหลังจากนั้นได้นำไปใช้รู้สึกว่าได้ผล     โดยทุกครั้งที่ไปอบรมต้องไปด้วยการพร้อมที่จะรับรู้ ฟังให้เป็น สิ่งที่จะขาดไม่ได้หลังการอบรมคือต้องในไปปฏิบัติ มิฉะนั้นเวลาที่เสียในระหว่างการอบรมจะไม่ได้อะไรเลย   แต่สิ่งที่ควรระวังคือผู้จัดหลักสูตรอย่าอัดเนื้อหาให้มากเกินไปมิฉะนั้นหลังการอบรมจะไม่ได้อะไรเหมือนวิ่งผ่านหลักสูตรนำไปใช้ไม่ได้เลย 

               

เห็นด้วยมากๆค่ะ อ. เขียนบันทึกจากมุมมองผู้ปฏิบัตจริง และมองปัญหาได้ลึกซึ้ง ได้อ่าน  ขอสมัครเป็นผู้ติดตาม blog อีกหนึ่งค่ะ

เรื่องผู้ฟังจำใจ มาเพราะว่าเป็นคำสั่ง หรือว่าเป็นเงื่อนไขของหน่วยงาน นี่น่าเหนื่อยใจพอๆกับเรื่องบุคลากรชั้นผู้ใหญ่ที่ บอกว่า "ไม่ว่างค่ะ/ครับ ติดภารกิจ" 

แต่จากการอ่านบันทึกและข้อคิดเห็นของหลายๆท่านแล้วก็ แอบดีใจว่า เอ๊ะจริงๆอย่างน้อยเราก็รู้ว่า ผู้ฟังของเราเป็นยังไง คือรู้ว่าเค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไัร (know your audience)

บางทีเราอาจจะไม่สามารถแก้ตรงจุดที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะทำให้เค้าอยากมาโดยสมัครใจ และ มีฉันทะในการเรียนรู้ ในการฟังบรรยายของเรา  แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เมื่อเค้าเข้ามาในห้องแล้ว ทำอย่างไรถึงสามารถเรียกความสนใจของผู้ฟังที่จำใจมา ให้อยู่กับเราได้ตลอดทั้งชม.มากกว่า

เราจะปรับการนำเสนอของเราอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการดึงดูดความสนใจช่วง 5 นาทีแรก (ช่วง Hook)

จากประสบการณ์การเป็นผู้ฟังนั้น ี่หนูเห็นว่าประโยคแรกๆนั้นสำคัญมาก ในการชักจูงผู้ฟังให้ติดตามฟังต่อด้วยความ"อยาก" ของเค้าเอง

อีกประการหนึ่งคือ รูปแบบของการนำเสนอ หนูชอบวิธี Scenario Building มากแต่ใช้ไดดี้แค่กลุ่มที่ไม่ใหญ่มากนัก

ถ้าไม่สามารถจัดเป็นลักษณะอื่นได้ นอกจากการบรรยายก็ต้องทำ slide ให้น่าสนใจจริงๆ

(มี blog ที่หนูชอบอ่าน ชื่อ Presentation Zen และ Presentation Tips)

หนูคิดว่าผู้บรรยายมีหน้าที่สร้างบรรยากาศ และ สิ่งแวดล้อมให้ผู้ฟังเกิดปัญญา

เมื่อเรารู้ว่าผู้ฟังเราชอบอะไร มีวุฒิภาวะแค่ไหนก็ปรับการนำเสนอเรา ให้ตรงกับความต้องการของเค้า ชอบบันเทิงก็จัดให้บันเทิง         ชอบเรื่องของชาวบ้าน ก็เอาเรื่องของชาวบ้านมาเล่าให้ฟัง (เช่น ตัวอย่างคนที่เค้ารู้จักที่ใช้ KM ในชีวิตจริง หรือ ประวัติ role model ในวงการ)

ในหลายๆครั้งสิ่งที่ทำให้เกิดความสนใจคือ คำถาม ไม่ใช่คำตอบ คือคำพูดที่ทำให้เกิดข้อสงสัย ไม่ใช่ความรู้ที่ป้อนให้จำหรือพยายามทำความเข้าใจ (ถ้าเราไม่มี KM แล้วจะเป็นอย่างไร?) 

เห็นด้วยอย่างมากกับ คุณ charatsri เรื่อง  อย่าอัดเนื้อหาให้แน่น (เคยฟังมาว่าคนเราสามารถรับรู้ เข้าใจ และจดจำ concept ได้ 7 concept ใน 1 ชม. เท่านั้น แต่วันนี้หา reference ยังไม่เจอค่ะ)

ก่อนไปขอให้กำลังใจ อ. ในการจัดการกับความท้าทายนี้ต่อไปนะคะ

 

 

อรุณสวัสดิ์ค่ะอาจารย์

  • ครูอ้อยก็หนักใจในการปฏิบัติงานในหน่วยย่อยๆก็ตาม  เพราะภาระความจำยอมเราทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่กันอย่างล้นมือค่ะ
  • ครูอ้อยเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  ก็พยายามยั่วยุให้ครูในกลุ่มสาระฯเกิดปัญญาและสามารถจัดทำตามหน้าที่ของคุณกิจให้ได้ 
  • อ่านบันทึกของอาจารย์ทีไรก็เกิดพลังทุกที  อยากจะทำ
  • แต่เป็นเพราะปัญหามามากกว่าพลังใจค่ะอาจารย์

ขอบคุณค่ะ

      ดิฉันวาสนาดีเคยได้ฟังอาจารย์บรรยาย 3-4 ครั้งกลับไม่เคยคิดว่าอาจารย์จะมีปัญหาเรื่องผู้ฟัง...ดิฉันเคยเห็นแต่ห้องที่อาจารย์บรรยายไม่มีเก้าอี้นั่งฟังเพราะคนล้นห้อง...ต้องยืนเบียดกัน...ยิ่งถ้ามีการบรรยายมากกว่า 1 ห้องให้เลือกฟัง   ห้องที่อาจารย์บรรยายแทบแตก(ทุกครั้งที่ดิฉันพบ)...ไปนั่งฟังห้องอื่นก็ไม่มัน..เห็นตัวเป็นๆมันกว่า....

     ดิฉันว่าอาจารย์ใส่ใจผู้ฟังมาก(ไป)...นับเป็นวาสนาขององค์กรที่ได้อาจารย์มาบรรยาย   แต่คนในองค์กรเท่าที่ดิฉันเคยสัมผัส....บางครั้งผู้น้อยก็คิดว่า...เอาอะไรมาให้ทำอีกแล้ว...ไม่อยากรู้..เอามาทีไรก็มีแต่สั่งให้ลูกน้องทำ...พอถึงเวลาจะเอาผลงานก็มาถามหา...ไม่เคยมาดูเลยว่าลูกน้องจะอยู่..จะทำกันยังไง...มันก็น่าเบื่อหน่ายยยย...   (ซึ่งไม่เกี่ยวกับอาจารย์เลย)

     หรือหัวหน้ามาฟัง...Getแล้ว...แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง...พอเดาได้ว่าถ้ากลับไปแล้วเอาไปบอกลูกน้อง...มันต้องว่ามาอีกแล้ว..เจ้าproject...เอาอะไรมาให้รู้..ให้ทำอีกล่ะ..ลูกน้องไม่เอากะเรา  รอ early retired ท่าเดียว...เฮ้อ!...

     เมื่อเร็วๆนี้ฉันเคยเห็นบางคนตั้งความคาดหวังในการอบรมว่า...มาพักผ่อน...เบื่อผู้ร่วมงานก็มีค่ะ

    หรือบางครั้งดิฉันว่าเขาอาจไม่สนุกเพราะดูแล้วทำลำบาก...ทำคนเดียวไม่ได้(ไม่รู้จะแลกกับใคร)...ทำกับเพื่อนไม่ได้(ความคิดมันคล้ายเรา)...ทำกับคนถิ่นอื่น(เขาจะเอากะเราไหม?..)...(สารพัด....)

    บางครั้งองค์รต่างๆเน้น process เกินไป (เช่นบังคับว่าต้องมีตัวชี้วัดเรื่องการจัดการความรู้ในหน่วยงาน).....ทำไมล่ะคะ...ถ้าให้เขาเดินทางจากเมือง ก.ไปเอาอาหารจากเมือง ข....ต้องบังคับให้เขานั่งรถได้อย่างเดียวหรือ ...แล้วถ้าน้ำท่วมเมืองอย่างที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานนี้ล่ะคะ...อดตายกันพอดี

...เขาคงไม่เข้าใจแก่นแท้ว่า KM เป็นเพียงอาวุธ...

    ก็เขาอิ่มแล้ว...ไม่เห็นต้องจับปลาเลย...

    เฮ้อ!..ความต่างของคน (เป็นเรื่องปกติค่ะ..นิ้วมือเรายังไม่เท่ากันเลย...นิ้วโป้งแคะหูไม่ได้ดีเท่านิ้วก้อยด้วยซ้ำ...ต้องเลือกใช้นิ้วให้ถูกงานเอาก็แล้วกัน...)

      ขอบคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสออกความคิดเห็นค่ะ...ถ้าได้ไปฟังอาจารย์บรรยายที่ไหน...จะตั้งใจฟังเหมือนเดิมค่ะ........

ขอบคุณ คุณกฤษณา มากครับ ...Comment ได้สะใจจริงๆ ขอเอาไปใช้อ้างอิงบ้างนะครับ เช่น ประโยคที่ว่า "....เอาอะไรมาให้ทำอีกแล้ว...ไม่อยากรู้..เอามาทีไรก็มีแต่สั่งให้ลูกน้องทำ...พอถึงเวลาจะเอาผลงานก็มาถามหา...ไม่เคยมาดูเลยว่าลูกน้องจะอยู่..จะทำกันยังไง...มันก็น่าเบื่อหน่ายยยย..."

หรือตอนที่พูดว่า ...... "บางครั้งองค์รต่างๆเน้น process เกินไป (เช่น บังคับว่าต้องมีตัวชี้วัดเรื่องการจัดการความรู้ในหน่วยงาน).....ทำไมล่ะคะ...ถ้าให้เขาเดินทางจากเมือง ก.ไปเอาอาหารจากเมือง ข....ต้องบังคับให้เขานั่งรถได้อย่างเดียวหรือ ...แล้วถ้าน้ำท่วมเมืองอย่างที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานนี้ล่ะคะ...อดตายกันพอดี ...เขาคงไม่เข้าใจแก่นแท้ว่า KM เป็นเพียงอาวุธ...."

ขอบคุณครับ

เรียน  อ.ดร.ประพนธ์ ..ค่ะ

         ดีใจจังที่อาจารย์ชอบ...ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะถ้าอาจารย์จะเอาไปใช้...ถือว่าเป็นเกียรติเลยละค่ะ

...... มันเป็นอย่างที่กล่าว...แล้วก็ยิ่งกว่าที่กล่าวอีกค่ะ

      เมื่อเร็วๆนี้...มีข้อสงสัยจากผู้ปฏิบัติถามผู้บริหารเกี่ยวกับKMใน board...ดิฉันก็เฝ้าดูว่าเมื่อไหร่ท่านจะตอบ...ปาไปตั้งหลายวัน.....

......ถ้าดิฉันเป็นผู้ปฏิบัติคนนั้น...คงหายอยากไปแล้ว....

       แล้วคำตอบที่ได้อ่าน...ก็ประมาณลอกๆตำรามา...แบบนี้ใครๆก็ตอบได้...น่าเสียดายโอกาสค่ะ

(ปล. ต้องขอประทานโทษที่มาคุยด้วยช้า..เนื่องจากจำไม่ได้ว่าคุยไว้ตรงไหนบ้าง...ตอนนี้เอาBeyond KMไว้ในplanet ตัวเองแล้วค่ะ..จะได้ติดตามใกล้ชิด..เพราะเป็นแฟนพันธุ์แท้อาจารย์)

    

                                 ขอบพระคุณอีกครั้งที่ให้เกียรติค่ะ

                                                ด้วยความเคารพยิ่ง..

อาจารย์ครับ ผมมีอาชีพเป็นวิทยากรด้านการขายการตลาดให้หน่วยงานเอกชน จัดอบรมให้ทีมงานในบริษัท และนอกบริษัทมามากครับ ปัญหาที่อาจารย์พูดถึงเป็นไปตามนั้นจริงๆ หากถามว่ามีวิธีแก้ไขหรือไม่ คำตอบคือ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนฟังทั้ง 100%สนใจฟังอย่างแท้จริง เพราะความต้องการของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ผมเคยบรรยายเรื่องเทคนิคการขายแบบมืออาชีพ มีนักขายมาจากหลายบริษัทเข้าฟังร้อยกว่าคน อาจารย์เชื่อหรือไม่ว่า ทุกคนนิ่งฟัง และให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมประกอบอย่างเต็มใจ สาเหตุมาจาก เป็นวิชา และเป็นสิ่งที่เขาต้องการนำไปใช้ได้จริงๆ อีกประการหนึ่ง ผมเองผู้บรรยายเป็นคนที่มีผลงานการขายติดอันดับของประเทศ มียอดขายนับเป็นร้อยล้านต่อเดือน ผมว่าสิ่งนี้ต่างหากที่เป็นจุดดึงให้เขาสนใจเรา และฟังอย่างตั้งใจตลอด 6 ช.ม.ผมเห็นวิทยากรหลายท่านที่ผมเคยไปฟังโดยเฉพาะวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง พัฒนาบุคคลิก พัฒนาจิต เหล่านี้ ตัววิทยากรเองยังไม่เคยทดลองทำ หรือทำยังไม่ได้ เอาแต่ตำรามาบอก ผู้ฟังเองผมว่าหลายคนเขามีความเข้าใจ และมองออกว่าผู้บรรยายเป็นเช่นไร จึงทำให้ความสนใจลดลงอย่างมาก ผมเคยไปบรรยายเรื่อง การสร้างความสุขในการทำงาน ให้กับโรงงานประกอบรถยนต์แห่งหนึ่งซึ่งคนฟังคือคนงานที่มีความรู้ตั้งแต่ ป.ว.ส.ถึง ป.โท ฟังผมว่า 70% ให้ความสนใจดี จะมีบ้าง 30% มี่ไม่สนใจจริงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้คือ หลังจากผ่านไปสัก 2-3 เดือนมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนที่ฟังอย่างตั้งใจนำไปทดลองใช้แล้วได้ผล 30% ทีไม่ฟังเอาเป็นตัวอย่างทำให้เกิดการปฏิบัติย่างดีมากขึ้น องค์กรนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงพอสมควร ยินดีที่มีโอกาสได้รับเกียรติเขียนบทความนี้เสนอท่านอาจารย์ หากข้อคิดของผมมีประโยชน์อยู่บ้าง และหากอาจารย์ต้องการให้ผมได้รับใช้ กรุณาบอกผมๆยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับท่านในการเผยแพร่ความรู้แก่มวลชนในทุกกรณี โดยไม่สนใจเรื่งอรายได้ และผลตอบแทนครับ โทร.081-8311530 ด้วยความยินดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท