เยาวชนจิตอาสา : เมื่อวอลเลย์บอลแหวกขนบออกสู่การ "เรียนรู้คู่บริการ"


กระบวนการเติมพลังทางปัญญาให้กับพวกเขา ด้วยการฝึกปรือให้นักกีฬาเรียนรู้ชุมชนร่วมกัน ฝึกประสานงานชุมชน ฝึกการออกแบบ วางแผนกิจกรรม ฝึกการแบ่งงาน มอบหมายงาน ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกการสื่อสาร (สอน) นักเรียนในเรื่องที่เกี่ยวกับ “วอลเลย์บอล” เรียกได้ว่างัดเอาประสบการณ์ตรง (ปัญญาปฏิบัติ) ของแต่ละคนออกมาใช้ให้เป็นอาวุธก็ว่าได้

ผมชอบการทำงาน "นอกกรอบ"  ไปพร้อมๆ กับการ “อิงระบบ”

โครงการคลินิกกีฬาวอลเลย์บอล ของชมรมวอลเลย์บอล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่จัดขึ้นภายใต้นโยบายเชิงรุก “1 ชมรม 1 ชุมชน”  เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เข้าข่ายในสิ่งที่ผมกล่าวถึง




โดยปกติชมรมสังกัดด้านกีฬาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มักไม่ค่อยได้จัดกิจกรรมในทำนองการบริการวิชาการแก่สังคม ( เรียนรู้คู่บริการ)  เท่าใดนัก   เนื่องเพราะส่วนใหญ่  ติดอยู่ในกรอบภาระหน้าที่ของการฝึกซ้อม  เก็บตัว  ประลองทีม  เพื่อก้าวสู่การชิงชัยในสนามแข่งขันตามโปรแกรม หรือมหกรรมต่างๆ

ด้วยเหตุนี้งบประมาณจากเงินค่าบำรุงกิจกรรมนิสิตและกีฬาที่ถูกผ่องถ่ายไปยังชมรมด้านกีฬา  จึงมักถูกนำไปใช้ในกระบวนการที่ผมกล่าวอ้างถึงข้างต้นแทบทั้งสิ้น

แต่สำหรับ “คลินิกกีฬาวอลเลย์บอล”  นั้นต้องถือว่าแหวก “ขนบนิยม” หรือกรอบกติกาการทำกิจกรรมไปอย่างน่าชื่นชม  ด้วยการพักและวางโปรแกรมดังกล่าวลงชั่วขณะ  เพื่อเบนเป้าหมายจากสนามแข่งขันไปสู่สนามแห่งการ “เรียนรู้คู่บริการ”  ณ โรงเรียนบ้านขีศรีสง่าโนนเสียว  อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม







กิจกรรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมในเชิงบูรณาการ  กล่าวคือ  นำความเป็นค่ายอาสาพัฒนาเข้ามาใช้ในคลินิก  เช่น  การปรับปรุงสนามวอลเลย์บอล  มอบอุปกรณ์กีฬา  อุปกรณ์การเรียน  การทำความสะอาดห้องสุขา  ปัดกวาด เก็บขยะ  นันทนาการ  รวมถึงการฝึกสอนทักษะการเล่นวอลเลย์บอล   และตบท้ายด้วยการแข่งขันเชื่อมความสัมพันธ์


นอกจากนั้น  นิสิตในชมรมวอลเลย์บอล ยังได้ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนไปในตัว  ด้วยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชุมชน  ศึกษาข้อมูลทั่วไปของชุมชน  ตลอดจนการช่วยกันเขียน “เรื่องเล่าเร้าพลัง”  (Storytelling) เพื่อสะท้อนผลการเรียนรู้กลับสู่มหาวิทยาลัยทุกคนเลยก็ว่าได้




ครับ- ผมชื่นชมการทำงานในลักษณะเช่นนี้มาก  แทนที่จะดุ่มเดินแบกเอา “ความรู้” ของความเป็น “นักกีฬา” ไปถ่ายทอดโดยตรง    แต่กลับเสริมเติมแต่งกิจกรรมให้หลากหลายขึ้นกว่าเดิม  เรียกว่าก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างให้ได้มากที่สุดก็ว่าได้   ถึงแม้ความรู้ที่นำไปถ่ายทอด  จะเป็นห้วงระยะสั้น  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับ “นักเรียน” ได้อย่างมากโข    ทั้งในเรื่องกีฬา การสร้างจิตสำนึกต่อโรงเรียน ชุมชน การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  หรือแม้แต่การถามทักถึง “อนาคต” ของนักเรียนเอง


กระบวนการเช่นนี้   ผมถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน  หรือแม้แต่การแนะแนวการศึกษาในอีกรูปแบบหนึ่ง   หากเอาจริงเอาจังก็สามารถนำไปพัฒนาเด็กๆ ในชุมชนได้อย่างไม่ต้องกังขา  ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียน หมู่บ้าน อบต. จะเห็นความสำคัญ  และลุกมาขับเคลื่อนร่วมกับมหาวิทยาลัย หรือภาคส่วนอื่นๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่องแค่ไหน  เพราะบางเรื่อง . ก็ไม่จำเป็นต้องฝังตัวรอรับสถานเดียว





ไม่แต่เฉพาะมิติการบริการวิชาการแก่สังคมเท่านั้นที่ผมชื่นชอบ  แต่ผมชื่นชอบวิธีคิดของการใช้ “ค่าย” ครั้งนี้เป็นกระบวนการและกลไกในการหลอมรวมพฤติกรรมแห่งความเป็น “ทีม” ให้กับ “ทีมวอลเลย์บอล”  เพราะแทนที่จะจัดกิจกรรมปลูกสร้างความสัมพันธ์ในทีมแบบตรงไปตรงมา  ผ่านขนบนิยมเดิมๆ ด้วยการอบรม สั่งสอน ถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ เหมือนที่คุ้นเคย  แต่กลับพลิกการเรียนรู้ไปอีกมิติหนึ่งอย่างเหลือเชื่อ


  


ผมเชื่อว่ากิจกรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นในค่ายคลินิกครั้งนี้ จะช่วยให้สมาชิกชมรม “รักและเป็นหนึ่งเดียว” กันมากขึ้น  หยาดเหงื่อแรงกายที่ไหลรวมลงในเนื้องานของแต่ละคน  จะกลายเป็นเสมือนการไหลรวมของสายธารความผูกพันเพื่อสร้างความเป็นทีม หรือ “ครอบครัววอลเลย์บอล”  ได้ลงตัวและสนิทแน่นในที่สุด.  ซึ่งสิ่งเหล่านี้  จะก่อเกิดเป็นประโยชน์ต่อการกระโจนกลับสู่สนามแข่งขันอย่างไม่ผิดเพี้ยน


เช่นเดียวกับกระบวนการเติมพลังทางปัญญาให้กับพวกเขา  ด้วยการฝึกปรือให้นักกีฬาเรียนรู้ชุมชนร่วมกัน   ฝึกประสานงานชุมชน  ฝึกการออกแบบ วางแผนกิจกรรม  ฝึกการแบ่งงาน มอบหมายงาน  ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ฝึกการสื่อสาร (สอน) นักเรียนในเรื่องที่เกี่ยวกับ “วอลเลย์บอล”  เรียกได้ว่างัดเอาประสบการณ์ตรง (ปัญญาปฏิบัติ) ของแต่ละคนออกมาใช้ให้เป็นอาวุธก็ว่าได้




ครับ-กิจกรรมบูรณาการหลากหลายเช่นนี้ สะท้อนถึงแนวทางการพยายามสร้างทักษะชีวิต   หรือกระบวนการเรียนรู้ (ทักษะการเรียนรู้) ให้แก่นิสิตที่น่าสนใจ  เพราะนิสิตไม่เพียงได้เรียนรู้ตัวเอง   เรียนรู้เพื่อนและทีมเท่านั้น   หากแต่ยังได้เรียนรู้ชุมชนไปพร้อมๆ กับการได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน  ซึ่งเป็นการทำในสิ่งที่ตนเองถนัดอย่างไม่ขัดเขิน

ทั้งปวงนั้น  ต้องปรบมือให้กับ โค้ช โดยเฉพาะเจ้านุ้ย (จันเพ็ญ ศรีดาว) ที่กล้าหาญพอที่จะพานิสิตฉีกกระบวนการ “สร้างทีม”  ในสนามแข่งขันไปสู่การ “บริการสังคม”  เสริมคุณค่าในตัวนิสิตผ่านการเรียนรู้ร่วมกันและแบ่งปันสู่สังคมร่วมกัน  แถมยังปิดท้ายด้วยการกระตุ้นให้แต่ละคนถอดบทเรียนการเรียนรู้ออกมาเป็น “เรื่องเล่า”  และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการตรวจทาน    เพื่อพิมพ์เผยแพร่เป็นจดหมายเหตุชีวิตของนักกีฬาและมหาวิทยาลัยในวาระ  การ “เป็นที่พึงของสังคมและชุมชน” 


 


ผมว่านี่คือ “โมเดล” ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ร่วมกัน 

ครับ-หลายอย่างไม่จำเป็นต้องติดยึดในกรอบเสมอไป  หลุดออกมาบ้างก็ดี เผื่อบางทีจะได้เห็นมุมที่กว้าง และแหลมคมขึ้นกว่าเดิม  และมุมเหล่านั้น ก็ก่อเกิดเป็นคุณค่า  ทั้งต่อตัวเรา – งาน –องค์กร หรือแม้แต่สังคม

ลองดูครับ ผมว่าไม่เสียหลาย 



หมายเหตุ
1.ภาพโดย จันเพ็ญ ศรีดาว และทีมงาน
2.จัดขึ้นเมื่อวันที่ วันที่ 1 กันยายน 2555 

หมายเลขบันทึก: 512410เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เป็นรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจและเหมาะกับวัยและพลังมากครับอาจารย์

ขอบคุณพี่นัสมากค่ะ...นุ้ยเองก็ได้แบบอย่างมาจากไอดอลคือพี่นัสนั่นเอง.....ขอยืมกระบวนการมาใช้กับเด็กๆ...ได้ผลดีมากๆค่ะ หลังจากวันนั้น ความเป็นทีมของเราก็เหนียวแน่นมากยิ่งขึ้นค่ะ. 

ขอบคุณมากค่ะ

งานนี้เด็กได้รับประสบการณ์จากการลงมือทำเองอย่างชัดแจ๋ว    ปัญหาอุปสรรค  การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อมาโดยไม่ได้รับเชิญ....แต่พวกเขาก็ดำเนินงานผ่านไปด้วยความเรียบร้อบ  เห็นได้อย่างชัดเจนสิ่งหนึ่งก็คือ  "ความอดทนอดกลั้นในการทำหน้าที่ให้เสร็จสิ้นในวันนั้น"

กรอบ.....บางครั้งคือสิ่งที่ใจเราสร้างขึ้นมาครอบตัวเราเอง

ขอบคุณมากค่ะ

  • วอลเลย์บอลแหวกขนบ  ขึ้นหัวเรื่องก็น่าสนใจเลยค่ะ
  • บูรณาการค่ายอาสาพัฒนา กับการสอนวอลเลย์บอล  
  • เก็บประวัติของชุมชน และเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง
  • เป็น " วอลเลย์บอล โมเดล" นะคะ

สุดยอดมาก ทำงานอย่างต่อเนื่องเลยนะครับ

ยอดเยี่ยม   ค่ะ อาจารย์  มอบดอกไม้ให้กำลังใค่ะ

สวัสดครับ คุณทิมดาบ

เห้นด้วยนะครับว่างานทำนองนี้เหมาะกับวัยของคนหนุ่มสาว ได้ใช้ทั้งกำลังกาย. กำลังใจ หรือแม็แต่กำลังสมอง

ผสมผสานกับความสรวลเสเฮฮา ก็พลอยให้การเรียนรู้สนุกไปด้วย

ขอบคุณครับนุ้ย. 

อย่างน้อยเราทุกคนก็ล้วนบุกเบิกกระบวนการเรียนรู้แบบนี้มาพร้อมกัน. ถ้าไม่มีทีมงานที่เปิดใจ. ก็ยากยิ่งต่อการพิสูจน์ถึงกระบวนการที่สร้างม

ยิ่งวันนี้มีการนำไปใช้ต่อ. ยิ่งถือว่าสำเร็จ และมคุณค่า 

สำหรับนุ้ย. ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของน้องๆ ในทีมเหมือนกัน...นั่งในใจพวกเขา. แล้วล่ะ

สวัสดีครับ คุณปุญญิศา แสนบุ่งค้อ

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ

สวัสดีครับ คุณปริม pirimarj...

อันที่จริง ในบางขณะ "กรอบ" ก็เป็นเหมือนกฎกติกาที่ช่วยให้เราปลอดภัย  แต่บางเรื่องก็อาจต้องบูรณาการนอกกรอบกันบ้าง แต่จุดหมายไม่เปลี่ยนแปลง  วิธีการต่างหากที่อาจดูผิดแผกไปเท่านั้นเอง กระมังครับ

สวัสดีครับ อ.KRUDALA

ผมเองก็ได้แต่หวังว่าการขยับตัวของชมรมวอลเลย์บอลเช่นนี้ จะสะกิดให้ชมรมสังกัดด้านกีฬาอื่นๆ  ได้ลองก้าวออกมาทำกิจกรรมในทำนองนี้ให้มากขึ้น  เพราะบางทีสมาชิกก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะนักกีฬา  แต่ละชมรมก็มีสมาชิกหลากหลาย มันช่วยหนุนเสริมกันได้  และการทำงานค่ายแบบบูรณาการ  ถึงจะไม่ลึกในแต่ละเรื่อง แต่ก็ช่วยให้เรียนรู้ได้หลากหลาย (ได้อย่างเสียอย่าง)

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

...การหยุดนิ่งไม่ทำงาน  มัเหมือนคนที่สมองเสื่อมแล้วครับ  การงาน ทำไปบ่นไป ก็ดีกว่าไม่คิด ไม่ทำ หรือคิดแล้วไม่ทำ ครับ...55

ครับ ครูทิพย์

ยังไง ก็ขอให้กำลังใจกับครูทิพย์ด้วยเช่นกันนะครับ  ขอให้เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์
ทั้งต่อตนเอง-สังคม นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท