นวนิยายอิงประวัติศาสตร์จีนในประเทศไทย : จากพงศาวดารสู่ยุทธจักรนิยาย (5 -2)


ลักษณะและวิธีการแปล

ในการแปลเรื่องจีนหลังปี พ.ศ.2464 ส่วนใหญ่ก็จะยังคงยึดขนบนิยมในการแปลและเรียบเรียงเหมือนกับยุคที่ผ่านๆ มา  และน่าสังเกตว่ามีไม่น้อยที่ทำงานแข่งกับเวลา คือให้ทันหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ออกจำหน่าย  ดังนั้นผลงานแปลและเรียบเรียงจำนวนมากขาดความประณีต  เป็นการเรียบเรียงเพื่อให้ผู้อ่าน “อ่านเอาเรื่อง” มากกว่าที่จะเป็นการ “อ่านเอารส”  ผู้แปลส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีชื่อเสียง  บางนามปากกาแปลได้สักเรื่องสองเรื่องก็เลิกกันไป

นักแปลและเรียบเรียงนิยายจีนในยุคนี้เท่าที่สามารถรวบรวมได้มีดังนี้

1.หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์มีนักแปลประจำคือพ.ต.ต.พระวิบุลจีนพากย์ (จือ  สุวงศ์) เมื่อพระวิบุลจีนพากย์ไปประจำอยู่ที่บางกอกการเมืองก็ได้ฮ่วนเหลียงโชปราการมาทำหน้าที่แทน

2.หนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์เรื่องแรกที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ผู้เรียบเรียงใช้นามปากกาว่า “ผดุง” ซึ่งก็คือนายเซียวฮุดเส็งสีบุญเรืองนั่นเองส่วนเรื่องที่ตีพิมพ์ต่อๆมาแม้จะไม่มีการระบุชื่อแต่เข้าใจว่าคงจะเป็นฝีมือของนายเซียวฮุดเส็งสีบุญเรือง

3.หนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองเป็นหนังสือพิมพ์ที่นักแปลเรื่องจีนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันแปลหลายคนด้วยกันเท่าที่สามารถรวบรวมได้ได้แก่พระวิบุลจีนพากย์เกาทัณฑ์ทองกุหลาบสีน้ำเงินภู่กันทองมลิเลื้อยเกษราจันทร์แจ่มอิ่มอารมณ์ไชยธัชและ  จันทราทิตย์

4.หนังสือพิมพ์หลักเมืองมีต. บุ้นตงหรือต.บุญเทียมซึ่งเป็นเจ้าของทำหน้าที่เป็นผู้แปล-เรียบเรียงเองเป็นประจำนอกนั้นก็มีผู้ใช้นามปากกา “จีนสยาม” ซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นนายต. บุญเทียมเองเช่นกัน

5. หนังสือพิมพ์ข่าวด่วนเท่าที่สำรวจได้ก็มีจันทร์แรมไตรศร

6. หนังสือพิมพ์สมัยราษฎร์  มี “สามแสน”

7.หนังสือพิมพ์ 10 ธันวาและข่าวเร็ว 10 ธันวาผนวกมีธนูเหล็กดอกส้มป่าและสารถี (กิจสาราภรณ์)

8.หนังสือพิมพ์ไทยใหม่  มีตั้วซินแซทองขาวจันทราคุปต์

9.หนังสือพิมพ์วันอาทิตย์มีธนูเหล็กจาก 10 ธันวาและแสงอาทิตย์

10.หนังสือพิมพ์รวมข่าวก็มีตะเกียบงาและเกียวซึงตี่

11.หนังสือพิมพ์สากลธุระการก็มีจีนใหม่กับเณรแก้วผลัดเปลี่ยนกัน

12.หนังสือพิมพ์กรรมกรก็มีกิมแช  ลัดดาดงและดอกแก้ว

13.หนังสือพิมพ์ไทยแท้มีตะเกียบงา (จาก 10 ธันวา) และกิมตก

14.หนังสือพิมพ์ไทยน้อยก็มีมือกายสิทธิ์

15.หนังสือพิมพ์สยามรัตน์ก็มีช.โรจนวิภาค

16.หนังสือพิมพ์รักษ์สยามก็มีดอกระกำและบุษบงก์

ส่วนในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆก็มีนักแปล-เรียบเรียงอีกหลายต่อหลายคนซึ่งส่วนใหญ่แล้วสันนิษฐานว่าเป็นนามปากกาที่ใช้สำหรับการแปล-เรียบเรียงหรือแต่งให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเป็นการเฉพาะและไม่สามารถสืบค้นนามจริงได้ 

แม้จะดูเหมือนว่ามีนักแปล-เรียบเรียงหรือนักเขียนเรื่องจีนในยุคนี้เป็นจำนวนมากแต่ก็น่าสังเกตว่าการตั้งนามปากกานั้นจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมากชวนให้เข้าใจว่าเป็นไปได้ที่นักเขียนบางคนใช้นามปากกาหลายนามปากกาเพื่อเขียนให้หนังสือพิมพ์คนละฉบับกันอย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนเท่านั้น  ทั้งนี้ผู้ศึกษาไม่สามารถที่จะสืบเสาะข้อมูลในส่วนนี้ได้เนื่องไม่มีแหล่งข้อมูลที่จะเสาะแสวงหาได้ 

ในยุคนี้อาจจะมีนักเขียนนักแปลเรื่องจีนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  แต่วิธีการแปล-การเรียบเรียงนั้นก็หาได้แตกต่างกันไปสักกี่มากน้อยไม่คือส่วนใหญ่คงยึดเอารูปแบบและวิธีการในการเรียบเรียงโดยใช้สำนวนภาษาแบบหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ทั้งสิ้นดังที่ “เณรแก้ว” ได้เขียนไว้ในคำนำของเรื่อง “เล่าบุนเหลียง” ในหนังสือพิมพ์สากลธุระการตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าไม่ออกตัวว่าข้าพเจ้าไม่เคยเขียนเพราะข้าพเจ้าเขียนมานานแล้วและแม้การเขียนเรื่องจีนสมัยใหม่จะดำเนินไปโดยวิธีใดก็ช่างแต่ข้าพเจ้าก็ยังถือหลักแห่งการเขียนเรื่องจีนแบบโบราณอยู่เสมอทั้งนี้เพราะข้าพเจ้ามิใช่ศิษย์หลู่ครูนั่นเอง”[i]

ความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับขนบการแปลและเรียบเรียงเรื่องจีนเกิดขึ้นเมื่อเมื่อนายเซียวฮุดเส็งสีบุญเรืองเริ่มแปลนิยายจีนเรื่องแรก (เรื่อง “ต้ายเหลืองเอียซู”) ลงพิมพ์ในจีนโนสยามวารศัพท์ในปีพ.ศ.2464เขาก็เริ่มแหวกแนว “แบบครู” โดยใช้วิธีการเรียบเรียงแบบ “นวนิยาย” คือมีการแบ่งบทแบ่งตอนอย่างเห็นได้ชัดเจนใช้เครื่องหมายคำพูดในบทเจรจาของตัวละครตามแบบนวนิยายที่เป็นเช่นนี้เพราะนายเซียวฮุดเส็งเห็นว่าเรื่องจีนที่แปลและเรียบเรียงกันอยู่ในขณะนั้นหรือแม้แต่เรื่องสามก๊กก็ตามล้วนแล้วแต่เป็นนวนิยายหรือเรื่องอ่านเล่นทั้งสิ้นหาได้เป็นพงศาวดารไม่ดังที่เขาได้เขียนไว้ในคอลัมน์ “ยำใหญ่” วิพากษ์วิจารณ์การแปลเรื่องจีนในเมืองไทยในจีนโนสยามวารศัพท์ฉบับประจำวันที่1พฤษภาคมพ.ศ. 2465ว่าข้าพเจ้าเคยพูดมาแต่ไรว่าเรื่องจีนที่มีผู้แปลและพิมพ์ขายในตลาดนั้นล้วนเป็นเรื่องอ่านเล่นทำนองเดียวกับเรื่องโนเวลของฝรั่งแต่เรื่องอ่านเล่นของจีนโดยมากมักเกี่ยวกับราชการจึงทำให้ผู้แปลเข้าใจไปเป็นพงศาวดารของประเทศ[ii]

เรื่องจีนที่จีนโนสยามวารศัพท์จึงมีรูปแบบการเรียบเรียงและสำนวนภาษาที่แตกต่างไปจากเรื่องจีนในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆอันแสดงในเห็นถึงพัฒนาการของการแปลวรรณกรรมจีนที่เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบของนวนิยายอย่างเห็นได้ชัดอย่างน้อย3ประการคือ

1.การเปิดเรื่องขนบในการเรียบเรียงจีนที่ยึดถือมาตั้งแต่ในยุคการแปลสามก๊กมักจะใช้วิธีการเปิดเรื่องโดยการบรรยายความในพงศาวดารนับตั้งแต่ยุคที่มีความสงบสุขจนกระทั่งถึงสมัยที่เกิดเหตุการณ์สับสนวุ่นวายบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะที่กษัตริย์ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมขุนนางข้าราชการกังฉินมีอำนาจขุนนางตงฉินถูกกลั่นแกล้งเข้าทำนอง “เดิมแผ่นดินเมืองจีนทั้งปวงนั้นเป็นสุขมาช้านานแล้วก็เป็นศึกครั้นศึกสงบแล้วก็เป็นสุข …”[iii] ในเรื่องสามก๊กโดยที่ในหลายๆเรื่องนั้นเนื้อความในตอนเปิดเรื่องนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหรือถ้าจะเกี่ยวข้องบ้างก็ไม่ชัดเจนนัก

ขนบการเปิดเรื่องเช่นนี้เรื่องจีนในจีนโนสยามวารศัพท์บางเรื่องผู้เรียบเรียงก็เล่าความไว้ในคำนำหาได้นำเป็นตอนเปิดเรื่องไม่บางเรื่องก็เปิดเรื่องโดยเพียงแต่สรุปให้เห็นสั้นๆว่าเรื่องนั้นเกิดขึ้นในยุคใดเท่านั้นเองแล้วจึงเป็นตอนเปิดเรื่องจริงๆดังเช่นในเรื่อง “ปวยเล่งต่วน” ก็ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในพงศาวดารไว้ในคำนำแล้วสรุปว่า

อนึ่งลำดับวงศ์กระษัตร์ที่ข้าพเจ้าผู้แปลกล่าวมาข้างบนนี้  หาได้ปรากฏในเรื่องป่วยเล่งต่วนไม่แต่ทำไมต้องนำมากล่าวก็เพราะจะได้ทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ง่ายข้าพเจ้าจึงได้คัดเอาจากพงศาวดารโดยตรงซึ่งมิใช่เกร็ดหรือสมมุติให้พอกลมกลืนอย่างเรื่องทั้งหลายไม่…”[iv]

เมื่อเปิดเรื่องจึงเริ่มต้นเปิดฉากแรกของเรื่องดังในเรื่อง “ปวยเล่งต่วน”ว่า

เมืองไซอี๋หรือฮวนอันอยู่ตะวันตกของประเทศจีนในเวลานั้นก็คือพวกที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในแถบธิเบตและซินเกียงทุกวันนี้  ในขณะนั้นมีชายคนหนึ่งซึ่งเปนชาวพื้นเมืองชื่อกี้ลี้เฮาะได้รับยศเปนขุนนางของลี้เต็กเฮ้ง ซึ่งมีตำแหน่งยศเปนจิ้น อ๋อง… ”[v]

หรือในเรื่อง “ต้ายเหลืองเอียซู” ซึ่งมีการแบ่งบทตามแบบนวนิยายอย่างชัดเจนและเปิดเรื่องว่า

บทที่1

ความเปนไปในปฐมวัย

เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้  ได้ปฏิสนธิขึ้นในรัชกาลพระเจ้าซี้จงฮ่องเต้กษัตริย์องค์ที่12แห่งราชวงศ์ต้ายเหม็ง  หรือที่เรียกกันว่าพระเจ้าเกียเจงในเรื่องไต้อั้งเผ่านั้นก่อนที่จะเล่าเรื่องให้ท่านฟังต้องขอกล่าวถึงต้นลำดับวงศ์ของบุคคลผู้หนึ่ง  ซึ่งภายหลังได้ทำการใหญ่ได้ลุล่วงสำเร็จอย่างมหัศจรรย์

จำเดิมที่อำเภอเซงอันจังหวัดกวางเปงฮู้ในมณฑลจิลี่นั้นมีบุรุษคนหนึ่งชื่อเลงเคียมเปนคนอย่างดีที่เรียกว่าอยู่ในศีลในธรรม  แต่เชี่ยวชาญในทางวิชาอาคมยิ่งนักเคยมีนามอุโฆษในต้นแผ่นดินต้ายเหม็งมาครั้งหนึ่งเลงเคียมมีบุตรชายสืบตระกูลคนเดียวชื่อเลงเคียมเหลียนเปนผู้ชำนาญในทางวิชาแพทย์ท่านผู้นี้มีบุตรชื่อเลงซึซวดเข้าสอบไล่วิชาหนังสือได้ยศชั้นจินสือแล้วรับราชการในตำแหน่งไท้เซียงจี๊เลงซึซวดมีบุตรชายหญิงสองคนด้วยกันบุตรชายชื่อเลงสงสอบไล่วิชาหนังสือได้ยศชั้นกือหยิน  แล้วไรับราชการในมณฑลชานตุง

เลงสงมีบุตรชายคนเดียวเหมือนกันชื่อเลงอูเปงซึ่งต่อไปได้เปนนายโรงเอกตัวสำคัญของเรื่องนี้  เลงอูเปงเปนคนรูโฉมสง่างามยิ่งนัก  ดุจหยกอันมีน้ำบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน[vi]

2.การจบเรื่องเมื่อเนื้อความของเรื่องจบลงด้วยความสุขสมหวังของตัวเอกแล้วตามขนบเดิมของการแปลก็มักจะนิยมบรรยายถึงสรุปถึงความสงบสุขของบ้านเมืองว่าบ้านเมืองได้กลับเข้าสู่ภาวะที่สงบสุขไม่มีศัตรูมารุกรานขุนนางกังฉินถูกล้มล้างอำนาจขุนนางตงฉินมีอำนาจปกครองแผ่นดินก่อให้เกิดความสงบสุขกษัตริย์ก็ตั้งอยู่ในธรรมประเทศก็ บริบูรณ์พูนสุขฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลราษฎรต่างทำมาหากินตามภูมิลำเนาได้รับความร่มเย็นปราศจากศัตรูเสี้ยนหนามแผ่นดิน…”ในขณะที่เรื่องจีนในจีนโนสยามวารศัพท์มิได้นำเนื้อความเช่นนี้มากล่าวปิดเรื่องเลยแต่จะจบในลักษณะของนวนิยายที่เมื่อเรื่องคลี่คลายไปจนถึงจุดสุดท้ายก็จะจบเรื่องโดยไม่เน้นกล่าวถึงความสงบสุขของบ้านเมืองตามขนบนิยมที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม

3. การใช้สำนวนภาษานักแปลเรียบเรียงส่วนใหญ่ในยุคนี้นิยมเรียบเรียงภาษาตามแบบ“ครู”  คือเจ้าพระยาพระคลัง(หน) จากเรื่องสามก๊กแต่สำนวนที่ใช้นั้นไม่ดีถึงขนาดสามก๊กและพยายามที่จะใช้วิธีเรียบเรียงแบบ “พงศาวดาร” ไม่มีการแยกส่วนที่เป็นบทบรรยายและสนทนาให้เห็นอย่างชัดเจนคงเรียบเรียงติดต่อกันเป็นดังสามก๊กแต่เรื่องจีนในจีนโนสยามวารศัพท์นั้นสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้แปลมีความพยายามที่จะเรียบเรียงให้อยู่ในรูปแบบของนวนิยายมากกว่าพงศาวดารเช่นในเรื่อง “โป๊ยใต้เฮียบ” ว่า

เมื่อท่านไทไถ่ให้เอากงจื๊อนั้นไปทิ้งท่านก็ต้องเอาไปทิ้งตามคำสั่งนั้นหรืออนิจจาจะเอาแอบซ่อนซุกเสียที่บ้านก็คงได้เกิดมาเป็นคนกับเขาทั้งทีช่างแบกเอาโง่ไว้เต็มราโทนีฮกได้ฟังนางอึงสีพูดจาถูกต้องมิรู้ที่จะโต้เถียงประการใดต้องจำใจนิ่งอยู่[vii]

หรือในเรื่อง “ต้ายเหลืองเอียซู” ผู้แปลก็พยายามที่จะเรียบเรียงโดยการแบ่งออกเป็นบทมีชื่อบทและในบทสนทนานั้นก็ให้เครื่องหมายอัญประกาศหรือเครื่องหมายคำพูดคร่อมข้อความที่เป็นบทพูดของตัวละครจะแตกต่างไปจากนวนิยายสมัยใหม่ก็ตรงที่ยังคงเรียบเรียงให้เนื้อความติดต่อกันโดยมิได้มีการใช้ย่อหน้าเมื่อถึงคำพูดของตัวละครเช่น

วันหนึ่งเลงอูเปงนั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องสมุดเห็นลกฮงเดินเข้ามายืนอยู่ข้างๆสักครู่ลกฮงย่อตัวลงแล้วพูดว่าบ่าวแก่คิดว่าเห็นจะต้องเลือกหาใครสักคนเพื่อแทนท่านซินแซอองเฮียนสุดขะขอรับ” “นี่ลุงหมายความว่าจะหาครูมาสอนฉันดังนั้นหรือเลงอูเปงยิ้มพลางเมื่อหันมาทางลกฮงแล้วพูดต่อไม่ต้องหรอกครูของฉันมีอยู่ในเล่มสมุดมากพอแล้ว” “ถ้าอย่างงั้นก็ดีละขอรับแต่บ่าวยังมีเรื่องจะต้องขอหาฤาอีกข้อหนึ่งขอรับลกฮงพูดโดยเสียงอ่อนหวาน[viii]

สำหรับวิธีการในการแปลและเรียบเรียงเรื่องจีนในยุคนี้เมื่อพิจารณาจากหลักฐานและพินิจพิเคราะห์เนื้อเรื่องในหลายๆเรื่องแล้ว  อาจกล่าวได้ว่ามี3วิธีคือ

1. แปลเอาเนื้อความโดยละเอียดจากต้นฉบับภาษาจีนแล้วจึงเรียบเรียงใหม่ให้สละสลวยและใช้สำนวนแบบ“สามก๊ก” ซึ่งในการแปลแบบนี้ผู้แปลจะต้องมีความรู้ดีทั้งภาษาจีนเรื่องจีนของนายเซียวฮุดเส็ง หรือ “ผดุง” ที่แปลลงจีนโนสยามวารศัพท์ส่วนใหญ่น่าจะใช้วิธีนี้ทั้งนี้เพราะตัวนายเซียวฮุดเส็งเองเป็นคนจีนที่มีความรู้ภาษาไทยเป็นอย่างดีแต่ก็เน้นที่จะรักษารูปแบบการประพันธ์ตามต้นฉบับเดิมไว้นอกจากนั้นเรื่องจีนของหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ในยุคต้น ๆ ที่แปลโดยพระวิบุลจีนพากย์ก็อาจจัดเข้าลักษณะนี้ได้

2.แปลสรุปใจความแล้วผู้เรียบเรียงเอามาขยายความต่อลักษณะการแปลเช่นนี้ยศวัชรเสถียรได้อธิบายไว้ว่า

แปลจากต้นฉบับภาษาจีนจริงๆอย่างสมัยเริ่มแรกซึ่งในการนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับคนเป็นล่ามแปลจากภาษาจีนเป็นข้อความย่อๆชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงให้นักประพันธ์ต่อเติมเสริมแต่งให้เป็นเนื้อความโดยละเอียดในภาษาไทยตกมาถึงตอนนี้ผู้เป็นล่ามเป็นคนจีนที่รู้หนังสือจีนดีและภาษาไทยพอสมควรแปลแล้วเขียนเป็นไทยพอได้เรื่องราวย่อๆข้อความสำคัญส่วนพลความนั้นทางฝ่ายนักประพันธ์จัดการเอง[ix]

การแปลแบบนี้นิยมใช้กันมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสามารถที่จะคงเค้าความตามต้นฉบับเดิมไว้ได้ประการหนึ่ง ผู้เรียบเรียงสามารถที่จะเพิ่มเติมสอดแทรกและเรียบเรียงสำนวนโวหารให้เป็นตาม“แบบครู” ได้ไม่ยากนักอีกประการหนึ่ง อีกทั้งสามารถที่จะเรียบเรียงต้นฉบับได้ทันตามเวลาที่กำหนดในการออกจำหน่ายของหนังสือพิมพ์อีกด้วย

3.การปลอมเรื่องจีนเป็นการแต่งเรื่องขึ้นมาเองโดยอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ในการเรียงเรื่องจีนทำมาแล้วหลายเรื่องหรือนำเอาเรื่องจีนที่เคยตีพิมพ์แล้วหลายๆเรื่องมาเป็นแบบอย่างและหรือตัดต่อให้เกิดเป็นเรื่องใหม่การปลอมเรื่องจีนนั้นเกิดขึ้นในช่วงหลังๆทั้งนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุสำคัญคือได้มีการแข่งขันกันมากจนทำให้ขาดแคลนต้นฉบับที่จะนำมาแปลจะเห็นได้จากการที่บางเรื่องแปลยังไม่ทันจบแต่ก็ต้องหยุดไปด้วยเหตุผลว่าต้นฉบับภาษาจีนยังตกมาไม่ถึง...”  การกระทำของนักประพันธ์ในกลุ่มนี้เป็นเพียงการพยายามฉกฉวยโอกาสที่เรื่องจีนได้รับความนิยมสูงก่อให้เกิดผลประโยชน์ส่วนตนการแปลแปลและเรียบเรียงก็ขาดการประณีตการปลอมแปลงก็มีเพิ่มขึ้นตามลำดับสภาพการณ์เช่นนี้ยศวัชรเสถียรได้บันทึกไว้ว่า

นักประพันธ์พวกนี้แต่ละคนเคยอ่านนิยายจีนจนมีความจัดเจนในเรื่องนิยายจีนแล้วทั้งนั้นแต่ค่าที่ไม่มีต้นฉบับเดิมแต่งไปนานเข้าเผลอเอาตัวละครที่มีอันเป็นตายไปแล้วโผล่กลับมาแสดงวุ่นวายอีกก็มีบางคนกลางคืนร่ำสุราหนักเกินไปหน่อยรุ่งขึ้นยังไม่สร่างโงหัวขึ้นมานั่งเขียนไม่ได้แต่ความจำเป็นต้องมีต้นฉบับของตนให้ช่างเรียงพิมพ์ให้ทันกำหนดหนังสือออกจะรอให้หายเมาลุกมานั่งเขียนไม่ได้พอถึงเวลาที่หนังสือพิมพ์เขาเรียกว่าเส้นตาย(Dead Line) เขาก็พยุงสังขารมุดเข้าไปนอนอยู่ใต้เคสตัวพิมพ์ของช่างเรียงที่เรียงพิมพ์เรื่องของเขาเป็นประจำแล้วบอกคำบอกให้ช่างเรียงเรียงไปด้วยไม่ต้องเขียนอย่างนี้ก็มี[x]

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือเรื่อง “เปงซิงเปงตง” ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือพอถึงตอนท้ายๆ ก็กลายเป็นโฆษณายาบำรุงกำลังกับไก่ตราพระยานาคของห้างเพ็ญภาค

ลักษณะการแปลเรื่องจีนในยุคนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน  โดยส่วนใหญ่จะยึดแบบการแปลและเรียบเรียงเรื่องสามก๊กของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เป็นหลัก  แม้นายเซียวฮุดเส็ง  สีบุญเรืองจะพยายามแสดงให้เห็นว่าเรื่องจีนเหล่านี้เป็นนวนิยายและทดลองแปลและเรียบเรียงในรูปแบบของนวนิยาย  แต่ก็คงจะไม่มีผู้นิยมมากนักและไม่มีผู้แปลคนใดยึดถือเป็นแบบอย่าง  ส่วนในด้านของการใช้สำนวนภาษานั้นก็เห็นได้ชัดเจนว่ายึดสำนวนภาษาของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เป็นต้นแบบแต่ไม่ประณีตพอ  สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดของการแปลและเรียบเรียงในยุคนี้ก็คือตัวผู้แปลและผู้เรียบเรียงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนเดียวกันหรือระบุไว้เพียงคนเดียวในขณะเดียวกันจุดมุ่งหมายของการแปลที่มุ่งประโยชน์ด้านการค้าได้ทำให้ผลงานนักแปลบางคนทำงานอย่างเร่งรีบขาดความประณีตและมีจำนวนไม่น้อยที่แต่งขึ้นเองในลักษณะของการปลอมให้เป็นเรื่องจีน 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคนี้จึงอาจเปลี่ยนไปใน2ทิศทางคือด้านหนึ่งทำให้วิวัฒนาการวรรณกรรมจีนในเมืองไทยได้ก้าวหน้าขึ้น  แต่ในอีกด้านหนึ่งการที่มีการนำเอาเรื่องจีนมาแปลโดยมิได้มีการคัดเลือกหรือการปลอมเรื่องจีนโดยฉวยโอกาสที่คนอ่านหนังสือพิมพ์กำลังนิยม  ก็เป็นผลให้การแปลเรื่องประเภทอิงพงศาวดารจีนเสื่อมความนิยมลงอย่างเห็นได้ชัดดังจะเห็นได้จากการตีพิมพ์เรื่องจีนของหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ไม่สามารถลงพิมพ์ได้จนจบเรื่องตลอดจนการเลิกลงพิมพ์เรื่องจีนและการของหนังสือพิมพ์บางฉบับ 

จุดประสงค์การแปล

จุดประสงค์ในการแปลเรื่องจีนในยุคนี้ไม่แตกต่างไปจากช่วง2411–2464มากนัก  คือล้วนมีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก  เพราะถือว่าเรื่องจีนเหล่านี้เป็นเรื่องอ่านเล่นเพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน  ดังเช่นคำแถลงของหนังสือพิมพ์สากลธุระการว่า

สากลธุระการแผนกเรื่องอ่านเล่นหนึงใจเสียงของเราได้จบลง  แม้หนึงใจเสียงจะเปนเรื่องสนุกสนานก็จริง  แต่ทว่าสภาพของสากลธุระการเจริญขึ้นเปนลำดับจนผิดคาด  จึงเห็นว่าควรจะหาเรื่องที่สนุกจับใจมาลงต่อไป  เพื่อเปนการตอบแทนความเอื้อเฟื้อของท่านสมาชิกทั้งหลายผู้ใจอารีต่อสากลธุระการ[xi]

หรือในคำนำเรื่องโง่วเฮียบตึ้งก็เน้นว่าเรื่องนี้ประกอบด้วยลักษณะที่จะนำท่านให้สนุกบรรเทิงใจพร้อมทุกประการ  มีรัก, มีโศก, มีกล้าหาญ, ซื่อสัตย์กตัญญู, มีเมตตากรุณา, และมีความเหี้ยมโหดอย่างร้ายกาจ…”[xii]

นอกจากนี้แล้ว  ผู้แปลบางท่านก็ยังคงมีความเห็นว่า  การแปลเรื่องจีนเหล่านี้นอกจากจะให้ประโยชน์ในด้านความบันเทิงแก่ผู้อ่านแล้ว  ก็น่าที่จะมีประโยชน์ในลักษณะที่ให้ความรู้แก่ผู้อ่านด้วย  ดังที่ “ผดุง” กล่าวไว้ในคำนำของเรื่องเตียเหลืองอ้ายซูว่า

เรื่องนี้ดีอยู่หน่อยที่เมื่ออ้างถึงภูมิประเทศก็ดี  หรือขนบธรรมเนียมแลเหตุการณ์ในราชการครั้งนั้นก็ดี  ล้วนแต่เปนความจริงพอจะทำให้ผู้อ่านได้ความรู้บ้างเปนหนังสือที่แสดงภาพของคนสมัยนั้นได้อย่างดี  ทั้งได้สำแดงวิชากวีอยู่ด้วยเปนอันมาก[xiii]

ลักษณะเนื้อหา

เนื้อหาของเรื่องจีนที่แปลในยุคนี้ส่วนใหญ่แล้วก็ยังคงเป็นเนื้อหาของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เช่นเดิม  แต่ก็เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าเหตุการณ์ในเรื่องจะไม่ค่อยคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากนัก  และหลายเรื่องก็จะมีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นความคลี่คลายไปสู่งานประพันธ์อีกลักษณะหนึ่งของจีนคือนิยายกำลังภายใน

ลักษณะเนื้อหาของเรื่องจีนที่แปลในยุคนี้อาจแบ่งกล่าวได้เป็น3ประเภทคือ

1.นวนิยายอิงพงศาวดารหรือที่บางครั้งผู้แปลในยุคนี้มักเรียกว่าเกร็ดพงศาวดารหรือกิ่งพงศาวดารเป็นลักษณะเนื้อหาของเรื่องจีนส่วนใหญ่ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ยุคนี้จะมีลักษณะร่วมที่สำคัญเป็นดังนี้

ในด้านของโครงเรื่อง(plot) โครงเรื่องของเรื่องจีนยุคนี้ส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นถึงปัญหาหรือข้อขัดแย้ง (Conflict) ด้านเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวละครที่เป็นฝ่ายดี(ตงฉิน) กับฝ่ายชั่ว(กังฉิน) ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชนชาติหรือชนเผ่าจนกลายเป็นสงครามโครงเรื่องที่เป็นข้อขัดแย้งที่นิยมแต่งกันมากก็คือเมื่อกษัตริย์อ่อนแอขาดความเด็ดเดี่ยวไร้ความสามารถขุนนางกังฉินจะมีอำนาจทางการปกครองอาศัยอำนาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจึงมีตัวละครฝ่ายดีซึ่งอาจจะเป็นทายาทของพวกตงฉินเป็นผู้คลี่คลายสถานการณ์ปราบปรามพวกกังฉินจนสำเร็จหรืออาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างจีนกับชนเผ่าที่อยู่ใกล้เคียงโดยที่ชนเผ่าเหล่านั้นฉวยโอกาสในขณะที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวายยกกองทัพเข้ารุกรานโดยมีขุนนางกังฉินของราชสำนักจีนเองเป็นไส้ศึกซึ่งตัวละครเอกของเรื่องจะเป็นผู้ปราบปรามได้สำเร็จนอกจากนั้นก็จะมีโครงเรื่องย่อยเกี่ยวกับความรักการพลัดพรากจากกันของตัวละครซึ่งเป็นแบบของนวนิยายหาใช่บันทึกทางประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารไม่ลักษณะของโครงเรื่องก็เป็นไปตามขนบของนวนิยายคือมีการเปิดเรื่องเพื่อชี้ให้เห็นถึงเวลาหรือสมัยที่เรื่องเกิดแล้วแสดงให้เห็นปัญหาที่ค่อยทวีความซับซ้อนคลี่คลายขยายตัวไปจนกระทั่งถึงจุดไคลแมกซ์(Climax)ของเรื่องจึงจบเรื่องจะมีโครงเรื่องย่อยสอดแทรกอยู่โดยตลอดและแสดงให้เห็นถึงความคลี่คลายของโครงเรื่องเหล่านั้นอย่างชัดเจนทางด้านเนื้อเรื่องนั้นถึงแม้จะเป็นเรื่องที่อิงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็ตามแต่ยากยิ่งที่จะเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องจริงตามประวัติศาสตร์เนื้อเรื่องมักเป็นเรื่องราวที่เหนือวิสัย(Fantasy) ประเภทอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์การเหาะเหินเดินอากาศมีตัวละครที่เหนือมนุษย์อย่างพวกเซียนผู้วิเศษสัตว์ประหลาดตลอดจนความสามารถเหนือมนุษย์ของตัวเอกลักษณะวิสัยรูปร่างพฤติกรรมของตัวละครก็มีการบรรยายอย่างละเอียดชัดเจนการสร้างบรรยากาศฉากสถานที่ที่เกิดเรื่องที่ไม่อาจยืนยันถึงความมีอยู่จริงได้ 

นอกจากนี้เรื่องจีนเหล่านี้ก็จะมีลักษณะร่วมและสูตรสำเร็จทั้งในด้านโครงเรื่องรูปแบบการแต่งเนื้อเรื่องโดยโครงเรื่องและเนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะอ้างอิงเอาเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์มาเป็นพื้นฐานในการดำเนินเรื่องในแต่ละเรื่องจะเปิดเรื่องในลักษณะเดียวกันคือการระบุถึงช่วงระยะเวลาที่เกิดขึ้นในสมัยของกษัตริย์องค์ใดแห่งราชวงศ์อะไรเหมือนกันหมดเช่นการเปิดเรื่องของ “โง่วเฮียบตึ้ง” ในหนังสือพิมพ์ไทยแท้ว่า  “…ดำเนินความตามพงศาวดารประเทศจีนเมื่อพระเจ้าซุ่นตี้ได้ขึ้นครองราชสมบัติเปนประถมกษัตริย์ของแผ่นดินไต้เซ็งแล้วก็มีราชานุภาพปกแผ่ทั่วประเทศตงกุ๊กหัวเมืองใหญ่น้อยต่างมีความยำเกรงหาอาจแข็งเมืองไว้ดังเมื่อหลี่ซ้วงตั้งตัวเปนใหญ่นั้นไม่…”[xiv]หรือการเปิดเรื่องของ "ซิดเฮียบโงวหงี"  ในหนังสือพิมพ์สยามสาสน์ว่า  ในแผ่นดินซ้องพระเจ้าซ้องไทโจ๊ฮ่องเต้ได้เปนปฐมกษัตริย์สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องลงมาจนถึงพระเจ้าซ้องจินจงฮ่องเต้  พระเจ้าซ้องจินจงฮ่องเต้นี้พระองค์มีพระสนมเอกอยู่สององค์คือนางหลีฮุยหนึ่งและนางเล่าฮุยหนึ่ง[xv]

หลังจากนั้นจึงเริ่มเปิดประเด็นปัญหาขัดแย้งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในเรื่องขึ้นมาเช่นในเรื่อง “ตันเทียนเต็ก” ว่า 

อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าซ้องหลีจงฮ่องเต้ทรงดำหริในพระทัยว่าตั้งแต่ได้ครองบ้านเมืองมาร่วมสามปีเศษแล้วยังมิได้จัดแจงเลือกหาบุคคลที่มีความรู้เข้าไว้ในราชการถ้าแลปล่อยปละละเลยต่อไปแม้ขุนนางรุ่นเก่าล้มหายตายลงก็จะทำให้กิจราชการยุ่งยากขึ้นควรจะนำความเรื่องนี้ไปหารือขุนนางผู้ใหญ่ดู[xvi]

หรือในบางเรื่องก็จะกล่าวถึงกษัตริย์ประเภทหูเบาหลงเชื่อขุนนางกังฉิน ลุ่มหลงสตรีเพศ ไร้คุณธรรม ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว ดังในเรื่อง “ทิกุงไต้ง่วนส่วย” ว่า  พระเจ้าซ้องยิ่งจง เปนกษัตริย์ที่ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม น้ำพระทัยโลเล หลงเชื่อถ้อยคำของขุนนางกังฉินประจบสอพลอ[xvii]

หลังจากนั้นประเด็นความขัดแย้งซึ่งมักจะเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายดีหรือฝ่ายตงฉินกับขุนนางกังฉินและศัตรูผู้รุกรานโดยระยะแรกๆของเรื่องฝ่ายดีจะ

หมายเลขบันทึก: 512403เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท