สู่ความเป็นผู้นำ: ก้าวแรกด้วยการพัฒนาทักษะการพูด


ผู้นำคือผู้ที่รู้ใจคนฟัง และพูดให้เข้าถึงหัวใจของพวกเขา

           สู่ความเป็นผู้นำ: ก้าวแรกด้วยการพัฒนาทักษะการพูด



                                                                                                         เฉลิมลาภ  ทองอาจ
                                                       โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ฝ่ายมัธยม
                                                                      คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




                 เมื่อยุคแห่งการแข่งขันทั้งในด้านวัตถุและจิตวิญญาณมาบรรจบกัน  เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การศึกษาของเรามีเป้าหมายเพื่อสร้างคนที่มีความเป็นผู้นำสูง  ที่สำคัญ คำว่าผู้นำในที่นี้ มิได้หมายถึงผู้นำที่ถือ  “อำนาจ” ความรู้ ทรัพย์สิน  สิ่งมีค่าหรือมีความน่ากลัวอื่นใด  แต่ผู้นำที่ควรจะเกิดขึ้นสำหรับศตวรรษใหม่ คือ ผู้นำความคิด หรือผู้นำด้านปัญญาให้แก่คนหมู่มาก  ซึ่งขณะนี้ได้สูญเสียความเป็นมนุษย์ของตนเองไปทีละน้อย 


                 ผู้นำความคิดข้างต้น  มิได้มีหน้าที่เพียงแต่คิดวิเคราะห์ปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งที่อยู่ในจิตนาการของตนเองให้เกิดขึ้นเท่านั้น  แต่จะต้องเป็นผู้ที่สามารถ  “นำเสนอ” ความคิดหรือประเด็นเหล่านั้นไปสู่สาธารณชนได้อีกด้วย  ผู้นำจึงมิได้มีหน้าที่เพียงแต่คิด แต่จะต้องสื่อสารความคิดของตนด้วยการพูด  ให้กระจ่างแจ้งและสร้างศรัทธาในหมู่ผู้ฟัง จึงจะถือว่าได้แสดงบทบาทของความเป็นผู้นำได้อย่างภาคภูมิ 


                  การเรียนการสอนภาษาไทยมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างผู้นำ  เพราะการฝึกหัดด้านการพูดเป็นมาตรฐานการเรียนรู้มาตรฐานหนึ่งของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  แต่จุดอ่อนอย่างหนึ่งที่พบในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พุทธศักราช  ๒๕๕๑  ก็คือ การกำหนดไว้เพียงแต่เฉพาะสาระการเรียนรู้เกี่ยวกับการพูดสื่อสาร  การพูดรายงาน การพูดในโอกาสต่างๆ  ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือ สาระการเรียนรู้เกี่ยวกับ “ชนิดและประเภทของการพูด”  น่าสนใจว่า  หลักสูตรแกนกลางฯ กลับมิได้กล่าวถึงสาระการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องจิตวิทยาของผู้ฟัง (Psychology of  audiences)  ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากต่อนักเรียนที่จะต้องเป็นผู้ฝึกหัดปฏิบัติการพูด  เมื่อองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้ฟังหายไปจากสาระการเรียนรู้  ครูภาษาไทยจึงทราบแต่เพียงว่า  ในระดับชั้นต่างๆ  ผู้เรียนจะต้องพูดประเภทใดหรือหัวข้อใด แต่ครูจะยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า การพูดประเภทนั้นจะประสบผลสำเร็จต่อผู้ฟังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่อย่างไร   เพราะผู้เรียนตั้งต้นการฝึกพูดจากการพิจารณาแต่เฉพาะหัวข้อและเนื้อหาบทพูดเท่านั้น โดยมิได้คำนึงว่า ผู้ฟังจะเป็นใครหรือมีความต้องการอย่างไรบ้าง  ดังนั้น การสร้างความเป็นผู้นำจากการพัฒนาทักษะการพูด ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ไม่ทราบแม้แต่น้อยว่าเขาจะต้องนำใคร และจะสร้างความศรัทธาจากผู้ที่ฟัง (หรืออาจไม่ฟัง)  เหล่านั้นได้อย่างไร


                   ครูภาษาไทยมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการแสดงบทบาทของผู้นำในด้านการพูดและการสื่อสาร  ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เรียนที่กำลังพัฒนาทักษะการพูดเกิดความเข้าใจว่า ที่จริงแล้ว ผู้ฟังแต่ละคนมีการตอบสนองหรือมีปฏิกิริยาต่อการฟังผู้อื่นพูดแตกต่างกัน  บางคนอาจมาฟังเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาสนใจ/สงสัย  หรือบางคนอาจถูกบังคับให้มาฟังโดยไม่เต็มใจ ความจริงเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า  ผู้ฟังแต่ละคนย่อมสามารถแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อการฟังได้แตกต่างกัน  และผู้ฟังก็จะใช้การเลือกว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจฟังก็ได้  ด้วยเหตุนี้ ในการพูดต่อที่ประชุมชนหรือในที่สาธารณะ  ผู้พูดที่จะประสบความสำเร็จจึงต้องมีหน้าที่ที่จะทำให้ผู้ฟังเลือกที่จะตั้งใจฟังการพูดของตนเอง  ซึ่งกลวิธีพื้นฐานที่จะทำให้ผู้ฟังเลือกที่จะตั้งใจฟังมากกว่าปฏิบัติสิ่งอื่นๆ ก็คือ  ผู้พูดจะต้องนำเสนอสาระหรือเนื้อหาการพูดที่ตรงกับความต้องการและ  ความสนใจของผู้ฟัง ณ ขณะนั้น  เพราะในมิติของการสื่อสาร  ผู้ฟังจะตอบสนองหรือมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่ฟัง มิใช่เป็นเพราะสิ่งที่ฟังนั้นมีเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร  แต่จะตอบสนองไปตามความคิดเห็นหรือความเป็นตนเองมากกว่า  ผู้ฟังจึงอยากจะฟังในสิ่งที่ตนเองต้องการฟังและปฏิเสธหรือต่อต้านสิ่งที่ตนเองไม่พึงปรารถนา ด้วยเหตุนี้   นักพูดที่ดีซึ่งจะเป็นผู้นำที่กุมใจคนหมู่มาก จึงจะไม่ตั้งคำถามว่าเรื่องที่ “เรา”  จะพูดคืออะไร  แต่จะตั้งคำถามใหม่ว่า  ผู้ฟังหรือ “เขา”  อยากจะฟังเรื่องอะไรมากกว่า  นี่นับว่าเป็นคำถามแรกของการเตรียมตัวพูดในชั้นเรียนภาษาไทยที่ครูภาษาไทยส่วนหนึ่งอาจจะมิได้คำนึงถึง   


                  จิตวิทยาผู้ฟังให้ความรู้แก่ครูภาษาไทยเพิ่มเติมอีกว่า ผู้เรียนในฐานะนักฝึกปฎิบัติการพูด จะต้องมีความเข้าใจด้วยว่า  ผู้ฟังโดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะอิงหรือยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (egocentric) กล่าวคือ ผู้ฟังจะเลือกสนใจและตั้งใจฟังแต่เฉพาะสาร (messages) ที่มีผลกระทบต่อค่านิยม  ความเชื่อหรือความเป็นอยู่ของตนเองเป็นหลัก  คำถามที่สำคัญสำหรับนักเรียนในฐานะนักพูดฝึกหัดคือ  จะหยิบยกเรื่องการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของผู้ฟังดังกล่าวนี้มาใช้ในการฝึกปฏิบัติการพูดอย่างไร 


                    คำว่าการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ฟังแต่ละคนมีประสบการณ์เดิมหรือความรู้อะไรบางอย่างเป็น “ทุน” สำหรับการฟังมาแต่เดิมอยู่แล้ว  ซึ่งอาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม  กุญแจสำคัญสำหรับผู้เรียนในฐานะผู้ฝึกพูดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพูดประการแรก คือ  นักเรียนจะต้องศึกษาในเบื้องต้นว่า ผู้ฟังหรือกลุ่มเป้าหมายโดยส่วนใหญ่ในการพูดครั้งนั้นมีความรู้ ค่านิยม  ความเชื่อหรือประสบการณ์เดิมอย่างไรบ้าง  เพราะในที่สุดแล้ว สารหรือเนื้อหาการพูดที่นักเรียนส่งไปก็ย่อมจะถูกตัดสินหรือตีความไปตามพื้นฐานที่แตกต่างกันเหล่านั้น  การศึกษาผู้ฟัง (audiences research) จึงจะเป็นสิ่งที่ขาดไปเสียไม่ได้ในชั้นเรียนปฏิบัติการพูดของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ครูภาษาไทยเองจึงมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องขยายศาสตร์ของการศึกษาวิจัยผู้ฟังให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เพื่อให้พ้นไปจากการมุ่งเน้นแต่เฉพาะการวิจัย “หัวข้อ” ที่จะพูดเท่านั้น


                     ประการต่อมา นักเรียนควรมีโอกาสที่จะนำข้อมูลที่ศึกษามาได้มาปรับสาระหรือเนื้อหาที่จะพูด เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับผู้ฟัง กล่าวคือ จะจัดการเนื้อหาหรือสาระที่จะพูดอย่างไร เพื่อให้ผู้ฟังเห็นว่า สิ่งที่พูดนั้นมีผลกระทบหรือมีความสำคัญต่อชีวิตของเขาโดยตรง และหากไม่ปฏิบัติตามจะเกิดผลเสียอย่างไร  กล่าวโดยสรุปคือ  นักเรียนในฐานะนักพูดฝึกหัดจะต้องเข้าใจว่า  ผู้ฟังจะเข้าใจสารที่ส่งมาตามประสบการณ์ของตนเอง กล่าวคือ  ผู้พูดคนเดียวกัน  ส่งสารเดียวกัน  แต่ผู้ฟังต่างกันก็ย่อมตีความสารนั้นได้ต่างกัน  หน้าที่สำคัญของนักเรียนคือ จะต้องค้นหาให้ได้ว่าประสบการณ์ที่ผู้ฟังมีอยู่แล้วคืออะไร ซึ่งเมื่อใดที่พิจารณาเรื่องประสบการณ์ดังที่ว่ามา  ปัจจัยอื่นๆ  ก็จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมในทันที ทั้งในเรื่องของเพศ  อายุ  ระดับความรู้ ภูมิหลังด้านสังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น  ดังนั้นจำเป็นจะต้องย้ำอีกครั้งว่า กิจกรรมการเรียนรู้อย่างแรกของชั้นเรียนการพูดในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มิใช่การวิเคราะห์หรือกำหนดหัวข้อตามประเภทของการพูด แต่จะต้องเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจผู้ฟังของตนเอง เช่น  กิจกรรมการสนทนา การสอบถาม  การสัมภาษณ์ เป็นต้น  จากนั้นจึงจะให้ผู้เรียนนำข้อมูลที่ได้ไปเลือกหรือกำหนดเนื้อหาของการพูดเป็นลำดับต่อไป


                   ผู้ที่จะก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้นำในศตวรรษใหม่ หรือเป็นผู้นำของคนรุ่นใหม่  ควรที่จะได้รับการฝึกหัดการพูดในชั้นเรียนภาษาไทยด้วยการพูดในสิ่งที่ผู้ฟังต้องการจะฟัง อย่างไรก็ตาม ครูภาษาไทยควรที่จะย้ำเตือนด้วยว่า  ผู้นำที่แท้จริงนั้น ย่อมพูดในสิ่งที่ผู้ฟังอาจจะไม่อยากฟังด้วย  ทั้งนี้ หากเห็นว่าสิ่งที่พูดเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง และการไม่พูดเท่ากับเป็นการทำให้ผู้ฟังต้องรับผลร้ายหรือเกิดความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่ง  ในท้ายที่สุดนี้  บทสรุปของการสอนพูดในชั้นเรียนภาษาไทยจึงย้อนกลับมาที่หลักการง่ายๆ ว่า  “จงพูดในสิ่งที่เขากำลังคิด  มิใช่พูดแต่เฉพาะสิ่งที่เราคิดเท่านั้น”


_______________________________________

     

   

หมายเลขบันทึก: 512249เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท