ความรับผิดชอบของสกอ. ต่อสังคมในการจัดระดับมหาวิทยาลัย


ท่าทีของ สกอ. ที่มีคุณค่าที่สุดต่อสังคมไทยในเรื่องการจัดอันดับ/ระดับ มหาวิทยาลัยไทย คือ (1) ความรับผิดชอบด้านความแม่นยำ (2) ความรับผิดชอบต่อ ผลกระทบต่อการพัฒนาระบบอุดมศึกษาไทย ซึ่งผมยังยืนยันความเห็นว่าถ้าจะให้เกิดผลกระทบไปในทางที่ดีต้องแยกกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 3-4 กลุ่ม

          ผมเคยบันทึกเรื่องการจัดระดับมหาวิทยาลัยไว้แล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่  5 ก.ย. 49   และ   วันที่  8 ก.ย. 49  

          เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 49   ศ.นพ.วิรุฬห์   เหล่าภัทรเกษม   คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข.   เล่าให้ผมฟังว่าประกาศผลการจัดระดับมหาวิทยาลัยมีผลต่อการเข้าชมเว็บไซต์ของคณะแพทยศาสตร์ มข. มาก   คือเพิ่มขึ้นนับสิบเท่าจากของเดิม   เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ มข.  ได้รับ ranking สูงมาก  คือ  ถ้านับเฉพาะคณะแพทยศาสตร์   ผลการจัดอันดับโดยถือผลงานด้านวิจัยเป็นหลัก   อันดับ 1   จุฬา,   อันดับ 2   รามา,   อันดับ 3   ศิริราช,   อันดับ 4   มช.,   อันดับ 5   มข.

          ถ้านับผลการจัดอันดับคณะแพทยศาสตร์ โดยถือผลงานด้านการเรียนการสอนเป็นหลัก   อันดับ 1   รามา,   อันดับ 2   ศิริราช,   อันดับ 3   มข.,   อันดับ 4   มช.,   อันดับ 5   จุฬา

          จึงเท่ากับว่าประกาศนี้ ส่งผลต่อชื่อเสียงของคณะแพทยศาสตร์ มข. มาก   ทำให้นักเรียนที่จะสมัครเข้าศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

          ทำให้เห็นชัดเจนว่า   รายงานจัดระดับมหาวิทยาลัยนี้มีผลต่อ consumer ด้านอุดมศึกษาเป็นอย่างมาก   ซึ่งเท่ากับเป็นการให้สารสนเทศต่อ consumer หรือผู้รับบริการ  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชมเชยมาก

          แต่การรับคำชมเชยนี้จะต้องมากับความรับผิดชอบต่อความแม่นยำของรายงาน   สกอ. จะต้องแสดงความรับผิดชอบที่สูงกว่ารายงานแรกที่ออกไปแล้ว

          เพราะมีคนออกมาชี้ว่า มีข้อมูลที่ "ผิดแน่ๆ" อยู่หลายจุด


          และการกรอกข้อมูลโดยแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น   สกอ. ต้องรับผิดชอบไม่ให้มีการกรอกแบบ "โกง"   เช่น  แกล้งกรอกข้อมูลบางส่วนไม่ครบ เพื่อทำให้ดัชนีสูงขึ้น

          ศ.ดร.คุณหญิงสุชาดา   กีระนันทน์   อธิการบดีของจุฬาฯ   เล่าว่า  มีบางหน่วยงานที่ตั้งใหม่  มาเชิญอาจารย์ของจุฬาฯ  ไปรับผิดชอบดูแลหน่วยงาน   และเชิญอาจารย์เก่งๆ จากที่อื่นไปเป็นอาจารย์พิเศษ   ถึงเวลากรอกข้อมูลก็กรอกข้อมูลของอาจารย์ "ตัวยืม" เหล่านั้น   ทำให้ ranking สูงกว่าหน่วยงานของจุฬาฯ ผู้ให้ความช่วยเหลือเสียอีก

          สกอ. น่าจะได้รับ feedback ที่มีคุณค่าสำหรับการปรับปรุงประกาศจัดระดับมหาวิทยาลัย ปี 2549  version 2  ที่แม่นยำยิ่งขึ้น

          ผมมีความเห็นว่า   ท่าทีของ สกอ. ที่มีคุณค่าที่สุดต่อสังคมไทยในเรื่องการจัดอันดับ/ระดับ มหาวิทยาลัยไทย  คือ
          (1) ความรับผิดชอบด้านความแม่นยำ
          (2) ความรับผิดชอบต่อ ผลกระทบต่อการพัฒนาระบบอุดมศึกษาไทย ซึ่งผมยังยืนยันความเห็นว่าถ้าจะให้เกิดผลกระทบไปในทางที่ดี   ต้องแยกกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 3-4 กลุ่ม

 

วิจารณ์   พานิช
18 ก.ย. 49

หมายเลขบันทึก: 51168เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท