ปอยออกหว่า ณ เวียงหวาย


หากจะไม่มีหัวใจไว้เพื่อการแบ่งแยกและกีดกันแล้ว ก็จะเห็นได้โดยไม่ยากว่า รอยยิ้มและเสียงร้องไห้ของเด็กชาวไทใหญ่ ไม่ได้แตกต่างจากเด็กของเรา และยิ่งถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมาในฐานะ “ผู้ถูกกระทำ” จากประเทศเพื่อนบ้านของเรา และในฐานะของการเป็น “เด็กไร้สัญชาติ” ในบ้านเรา ด้วยหัวใจที่ไม่หยาบกระด้างจนเกินไป น้ำตาก็อาจรื้นขึ้นโดยง่าย


ปอยออกหว่า ณ เวียงหวาย

เกศินี จุฑาวิจิตร

 

  “โรงเรียนบ้านเวียงหวาย”  เป็นโรงเรียนเล็กๆ  ตั้งอยู่ที่อำเภอฝาง ต้นทางของดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่  

  หลายคนที่เคยไปเที่ยวสวนส้มที่ฝางหรือไปดอยอ่างขางจะรู้สึกถึง “พิษสง” ของทุกโค้งที่นั่น ...คำแนะนำที่พอจะมีและบอกต่อกัน ก็คือ หากรู้สึกวิงเวียน ก็พักสายตาเสียเถิด และถ้ามีที่ว่างมากพอ ก็อย่ารีรอที่จะนอนเหยียดยาวไปบนเบาะรถ ... โชคดีที่ฉันไม่รู้สึกอะไรทำนองนี้  เวลาเกือบสามชั่วโมงจากเชียงใหม่ถึงฝาง จึงถูกปล่อยให้เพลิดเพลินอยู่กับความทึบทะมึนของภูผาใหญ่น้อยและความเขียวขจีของพรรณไม้ที่หลากหลาย

  ณ มุมหนึ่งด้านติดรั้วโรงเรียน เพิงเล็กๆ 4-5 หลัง ที่เป็นเพียงแคร่ไม้ไผ่ มุงด้วยหลังคาจาก แค่พอกันแดดอ่อนๆ และฝนบางๆ นั้น ถูกจัดให้เป็นฐานการเรียนรู้ของเด็กๆ  พวกหนึ่งกำลังซ้อมรำนกรำโต ประกอบจังหวะ ดนตรีที่เร้าใจ  พวกที่เหลือนั่งกระจายกันเป็นกลุ่มๆ บนเพิงนั้น บ้างพี่ช่วยสอนน้อง และบ้างเพื่อนช่วยเพื่อน   พวกเขากำลังง่วนอยู่กับการเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้แห่ไปงานทอดกฐินที่จะมีขึ้นในตอนบ่าย  ทั้งยังเตรียมทำ  ต้นเทียนหรือโคมประดับเทียนสำหรับแห่ไปวัดในคืน “ปอยออกหว่า” ประเพณีที่ยังสืบทอดกันมาอย่างเหนียวแน่นของชาวไต หรือไทใหญ่...

  “ปอย” เป็นภาษาคำเมือง แปลว่า งานบุญ ส่วนคำว่า “ออกหว่า” เป็นภาษาไทใหญ่ หมายถึง ช่วงออกพรรษา  ดังนั้น “ปอยออกหว่า” จึงหมายถึง งานบุญที่จัดขึ้นในช่วงออกพรรษา  ด้วยชาวไทใหญ่เชื่อว่าในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาอยู่บนสรวงสวรรค์นั้น  เมื่อถึงเวลาออกจากพรรษา พระองค์ก็เสด็จลงมาโปรดสรรพสัตว์ในโลกมนุษย์รวมไปถึงสัตว์ในวรรณคดีโบราณ เช่น นกและสิงโต  ในคืนแรมหนึ่งค่ำ สัตว์เหล่านี้จึงออกมาฟ้อนรำ อันเปรียบได้กับการแสดงความคารวะและแสดงความเริงร่ายินดีที่พระพุทธองค์ได้ลงมาเทศนาโปรดสัตว์โลก

  เด็กๆ โรงเรียนบ้านเวียงหวาย เก่งนักเรื่องการรำนกรำโต

  เก่งอย่างเหลือเชื่อก็ตรงที่การฟ้อนของพวกเขาสามารถสร้างอาคารอเนกประสงค์ได้หนึ่งหลัง  เวลาเพียงหนึ่งปีเศษๆ กับเงินประมาณหนึ่งล้านกว่าๆ  ด้วยการเก็บหอมรอมริบเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับจากการแสดง ...เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของอัตลักษณ์นักเรียนที่นี่ และเป็นหลักฐานชี้ชัดการจัดการตนเอง

  ครูแดง ที่มีชื่อเต็มๆ ว่า กรวรรณ พนาวงค์  แม้จะเป็นครูตัวเล็กๆ แห่งบ้านเวียงหวาย แต่ก็นับได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนให้เด็กๆ และชุมชนได้เข้ามามีบทบาทในการสืบสานวัฒนธรรมของตนเอง  อุดมการณ์ของครูคือพลังภายใน  เธอคิดและลงมือทำมานานกว่ายี่สิบปี  ศูนย์เรียนรู้ทางวัฒนธรรม  ไทใหญ่ ไม่ได้มีไว้เพื่อการสืบสานและต่อยอดเท่านั้น แต่เพื่อเป็น “พื้นที่ทางเลือก” ให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชนที่สนใจทั่วไปอีกด้วย การเรียนการสอนของที่นี่ เลือกที่จะใช้วิธีบูรณาการท้องถิ่นศึกษาเข้ากับทุกสาระการเรียนรู้ อาจจะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ครูทุกคนก็พยายาม ภายใต้การสนับสนุนของผู้อำนวยการนิทัศน์  หิรัญสุข 

  วิชาท้องถิ่นศึกษาและโครงการของครูแดงที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. คือ วิชาทักษะชีวิตของเด็กนักเรียน 

  การรำ การฟ้อน การประดิษฐ์โคมประทีปและอื่นๆ  โดยนัยหนึ่ง หมายถึงการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมแห่งชาติพันธุ์  หากอีกนัยหนึ่งนั้นคือ “สื่อ” ที่ชักนำให้พวกเขาได้มาทำงานร่วมกัน   ถ้อยทีถ้อยอาศัย ถ้อยทีถ้อยเรียนรู้ ถูกบ้าง ผิดบ้าง ต่างประดิดประดอยแก้ไข  ไม่ใช้เวลาไปอย่างสิ้นเปลืองเหมือนกับเด็กในเมืองที่จมจ่อมอยู่แต่หน้าจอสี่เหลี่ยม  ในยามที่มือจับกระดาษพับหรือจับมีดเหลาไม้  ใจก็จดจ่อ นิ่งนานในสมาธิ ความสุขสะสมอยู่ลึกๆ ความละเมียดละไมและอ่อนโยนผุดพรายออกมากับสีหน้าและแววตา  การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ สามัคคีคือพลัง  “... หาไม่แล้วความเป็นไทใหญ่จะมีความหมายอันใดเล่า” เด็กคนหนึ่งบอกเราอย่างนั้น

  ในวันนั้นคณะของเราได้พบกับคุณจอห์นและคุณจอย สองสามีภรรยาชาวอังกฤษ ที่มาหลงเสน่ห์เมืองฝาง พวกเขาเคยมาสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กที่นี่เป็นเวลานับปี และได้กลับมาเยือนอีกครั้งด้วยความคิดถึงในความเรียบง่ายของวิถีชีวิตชาวไตและสีสันแห่งวัฒนธรรม  ศิษย์เก่าคนหนึ่งที่เริ่มโตเป็นสาว วิ่งเข้ามาหาคนทั้งคู่ด้วยความสนิทสนม คุ้นเคย แม้จะเขินอายด้วยภาษาปากที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ภาษากายและแววตาของเธอบ่งบอกในความรัก ... ฉันเฝ้ามองและแอบยิ้ม

  หากจะไม่มีหัวใจไว้เพื่อการแบ่งแยกและกีดกันแล้ว  ก็จะเห็นได้โดยไม่ยากว่า รอยยิ้มและเสียงร้องไห้ของเด็กชาวไทใหญ่ ไม่ได้แตกต่างจากเด็กของเรา และยิ่งถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมาในฐานะ “ผู้ถูกกระทำ” จากประเทศเพื่อนบ้านของเรา  และในฐานะของการเป็น “เด็กไร้สัญชาติ” ในบ้านเรา ด้วยหัวใจที่ไม่หยาบกระด้างจนเกินไป น้ำตาก็อาจรื้นขึ้นโดยง่าย 

  หลายคนอาจมองว่า การที่เด็กไร้สัญชาติเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่รัฐจัดให้โดยภาษีของคนไทย ก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว มุมมองนี้อาจแคบเกินไป เพราะการศึกษาในระบบไม่ใช่ “ความดี ความงาม ความสุข” เสมอไป 

  การสนับสนุนให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นทางเลือกของความสุข  จึงเป็นเรื่องของความดีและความงามที่ผู้ใหญ่ทุกคนพึงกระทำ

หมายเลขบันทึก: 509499เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2012 12:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อนุโมทนา สาธุค่ะ

เขียนได้ดีมากๆค่ะ ซาบซึ้ง กินใจนัก

อ่านแล้วอยากไปเที่ยวด้วยจัง

เมื่อไหรจะรวมเล่มออกมาให้อ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท