การขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษา: อีสานตอนบน_25_ตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินผลการขับเคลื่อน ณ โรงเรียนบ้านไร่พวยมิตรภาพที่ 18


วันที่ 16 พฤศจิกยน 2555 คณะกรรมการตรวจเยี่ยมประเมินความพร้อมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา อีสานตอนบน เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านไร่พวยมิตรภาพที่ 18 ผมเขียนบันทึกขั้นตอนกิจกรรมไว้ที่นี่ ครับ ครั้งนี้เป็นการไปเยี่ยมโรงเรียนบ้านไร่พวยฯ ครั้งที่ 2 จากที่ได้เดินทางมาเยี่ยมครั้งแรกในวันที่ 27 กันยายน ตามบันทึกที่นี่ ครับ 

หลังจากการตรวจเยี่ยมในภาคเช้า ภาคบ่ายเรานั่งอภิปรายสะท้อนผลการตรวจเยี่ยมให้ ผอ.ทรงยศ และคุณครูทุกคน (ขอขอบคุณ ท่านอาจารย์ละออ  ผาน้อย จากโรงเรียนสนามบิน ที่ท่านได้เขียนสรุปสิ่งที่เราได้สลับกันให้ข้อคิดเห็นที่จำเป็นในการปรับเพิ่ม พัฒนาเติมให้เต็มต่อไป.... ผมขออนุญาตคัดลอกมาไว้ให้อ่านกันตรงนี้ เผื่อว่าจะมีประโยชน์ครับ) ซึ่งได้บันทึกไว้ในสมุดเยี่ยมแล้ว ดังนี้ครับ 

วันนี้ข้าพเจ้าและคณะ ได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา พื้นที่อีสานตอนบน ตามกำหนดการตรวจเยี่ยม  และโรงเรียนสนามบิน ได้ติดตามช่วยเหลือ เพื่อเตรียมรับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

หลังจากกิจกรรมหน้าเสาธง เราเริ่มกิจกรรมในห้องประชุมเอนกประสงค์ของโรงเรียน ผมแนะนำคณะกรรมการตรวจเยี่ยมประเมินความพร้อมฯ  ได้แก่ 

 ผอ.ธนิตา กุลสุวรรณ จากโรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไร 

 รอง ผอ.ภิญโญ พงศ์พิมล จากโรงเรียนสนามบิน 

 อาจารย์ละออ ผาน้อย ครูจากโรงเรียนสนามบิน

 อาจารย์อภัยวัลย์ กึกก้อง ครูจากโรงเรียนสนามบิน 

นอกจากนี้ยังมีทีมขับเคลื่อนจากโรงเรียนสนามบิน และมี

 อาจารย์รัตน์ภัณฑชา อ่างยาน จากโรงเรียนบ้านดอนช้าง เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย 

และผมเองเป็นตัวแทนของทีมขับเคลื่อนฯ หลังจากที่อาจารย์เกียรติศักดิ์ นำเสนอภาพรวมและกล่าวถึงความคาดหวังของทางโรงเรียนแล้ว ผมชี้ประเด็นสำคัญ หรือคำสังคัญ ของเกณฑ์ก้าวหน้าสั้น ดังนี้ครับ 

เกณฑ์ก้าวหน้า มี 5 ระดับ คำสำคัญมีคือ 

  1. รู้และเข้าใจ 
  2. นำมาปฏิบัติกับตนเอง (หน้าที่ของตนเอง) 
  3. สามารถถ่ายทอดได้ 
  4. ขยายผล
  5. ระเบิดจากภายใน (เห็นคุณค่า)
โดยที่ 5 คำสำคัญนี้ จะเกิดขึ้นกับบุคคลหรือสิ่งต่อไปนี้ 
  1. ผู้บริหาร 
  2. ครู (โดยเฉพาะครูแกนนำ ที่ต้องทำให้ได้ถึงระดับ 5)
  3. นักเรียน (โดยเฉพาะนักเรียนแกนนำ ต้องทำให้ได้ถึงระดับ 5)
  4. คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน 
  5. สิ่งแวดล้อม ฐานการเรียนรู้ 
จากนั้นเราได้ดำเนินการตรวจเยี่ยมซักถามนักเรียนในแต่ละฐานการเรียนรู้ และมาสรุปอภิปรายผลกันในตอนบ่าย
ต่อไปนี้เป็นผลการประเมินของผมเอง ผิดถูกประการใด ขอท่านจงเปิดใจรับอ่านดูก่อนนะครับ

ตัวอักษรสีม่วง หมายถึง ผ่านแล้วหรือมีแล้ว
ตัวอักษรสีน้ำเงิน หมายถึง มีแล้วแต่ยังไม่ชัดเจนหรือจำนวนไม่พอ
ตัวอักษรสีเขียว หมายถึง ยังไม่ชัดเจนว่ามีหรือไม่ และ คุณภาพหรือปริมาณยังไม่เพียงพอ
ตัวอักษรสีโทนแดง หมายถึง ยังไม่เพียงพอต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน 

โรงเรียนบ้านไร่พวยมิตรที่ 18.pdf

ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาที่สำคัญมีดังนี้ครับ 

  1. ผู้บริหารควรลงกำกับติดตามแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูทุกคนอย่างละเอียด ตั้งแต่ รู้เข้าใจ นำไปปฏิบัติ ถ่ายทอด และขยายผล และประเมินผลลัพธ์ด้วยตนเอง โดยเน้นความสามัคคีและความเสมอภาค จัดแบ่งภาระงานรับผิดชอบอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  2. ครูแกนนำรู้และเข้าใจ นำไปปฏิบัติได้กับตนเองอย่างน่านับถือครับ แต่ปัญหาคือ การขยายผลของความสำเร็จไปสู่เพื่อนครูท่านอื่นๆ ทุกคนในโรงเรียน ผมเสนอว่า ผู้อำนวยการควรส่งเสริมและลงมากำกับติดตาม ให้ครดูทุกคนใช้ฐานการเรียนรู้ที่มีอยู่ บูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนของตนเอง ทำดังนั้นแล้ว ครูทุกคนจะมีสื่อการเรียนการสอนในรายวิชาของตน อีกทั้งทำให้เกิดความร่วมมือสามัคคี และลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนทั้งของครูเอง และของนักเรียน 
  3. ปัญหาของนักเรียนแกนนำคือ จำนวนนักเรียนที่รู้ เข้าใจ นำไปปฏิบัติ และสามารถถ่ายทอดได้ ยังมีจำนวนไม่มาก และนักเรียนแกนนำเอง ยังไม่สามารถเล่าเรื่องหรือนำเสนอ ให้ผู้ฟังได้อย่างเป็นเรื่องราว.... ผมแนะนำให้ดำเนินการดังนี้ครับ 
    • จัดให้นักเรียนแกนนำฝึกเขียนเรื่องเล่า และฝึกเล่าเรื่อง เกี่ยวกับการปฏิบัติและการเรียนรู้ของตนเองจากฐานการเรียนรู้ที่ตนเองรับผิดชอบ ครูอาจฝึกให้นักเรียนนำเสนอเป็นเรื่องราวโดยกำหนดแนวทางตัวอย่างให้ก่อนเบื้อต้น เช่น  
      • ฐานการเรียนรู้นี้คือฐานการเรียนรู้อะไร 
      • ทำไมถึงได้มีฐานการเรียนรู้นี้ ความเป็นมาอย่างไร 
      • ได้ปฏิบัติและเรียนรู้อะไรบ้างจากฐานการเรียนรู้ เช่น ถ้าได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติ ก็อธิบายขั้นตอนการทำ ประกอบเหตุผลที่จำเป็นในแต่ละขั้นตอน 
      • เมื่อทำแล้ว เรียนรู้แล้ว ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร เชื่อมโยงกับชีวิตอย่างไร 
      • เป็นต้น 
    • จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ฝึกนำเสนอเล่าเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น ในแต่ละครั้งที่โรงเรียนอื่นมาศึกษาดูงาน หรืออาจเชิญคณะกรรมการสถานศึกษา หรือ ผู้ปกครอง มาเยี่ยมชม โดยให้นักเรียนที่ปฏิบัติประจำฐานนั้นๆ ได้ฝึกนำเสนอ เล่าเรื่อง และตอบคำถามเกี่ยวกับฐานการเรียนรู้นั้นๆ 
    • จัดให้มีกิจกรรม "ถอดบทเรียน" ของนักเรียน โดยมีครูร่วมนั่งฟังและซักถามด้วย เพื่อยกระดับความเข้าใจ และฝึกตีความ เชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
  4. ฐานการเรียนรู้ที่โรงเรียนบ้านไร่พวยฯ มีนั้น ขอชื่นชมว่าดีมากครับ ครอบคลุมเชื่อมโยงสู่ชุมชน ในหลายๆ มิติ ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เช่น การมีฐานผักสวนครัว เพาะเห็ด เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงจิ๊งหรีด แล้วนำมาทำอาหารกลางวัน ถือเป็นการพึ่งตนเอง นอกจากนี้ยังการค้าขายผลิตเหล่านี้ หากจัดการเรียนการสอนให้บูรณาการกับฐานเหล่านี้ จะสามารถเชื่อมโยงสู่มิติเศรษฐกิจได้ไม่ยาก การนำเศษอาหารที่เหลือจากอาหารกลางวันมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ แล้วนำไปรดผักและใส่แปลงนาข้าว (ชาวบ้านมานำไปใช้ด้วย) และนำมาล้างห้องน้ำ ถือว่าเชื่อมโยงชีวิตสังคมและปลูกฝังให้มีอุปนิสัยพึ่งตนเองอย่างเป็นระบบ.....อย่างไรก็ตาม ฐานการเรียนรู้ที่มีอยู่ยังไม่สมบูรณ์นัก ในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้ 
    • ยังขาดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เช่น ยังไม่มีการจดบันทึกการเข้ามาเรียนรู้ของนักเรียน ควรมีสมุดคู่มือปฏิบัติงานในแต่ละฐาน เพื่อจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำมาข้อมูลปัญหาต่างๆ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ พัฒนา เติมเต็มยกระดับความรู้ด้านวิชาการของการเรียนรู้ต่อไป 
    • แต่ละฐานยังขาดข้อมูลพื้นฐานสำคัญของฐานการเรียนรู้ และองค์ความรู้ที่สำคัญๆ ซึ่งอาจแสดงไว้ในลักษณะของแผนป้าย หรือคู่มือ เป็นต้น ส่วนนี้สามารถช่วยเพิ่มโอกาสและบรรยากาศของการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้  เราอาจเรียกเทคนิคนี้ว่า "ครูที่พูดไม่ได้" 
    • ควรมีสถานที่ๆ นำเสนอผลงานการปฏิบัติ หรือผลการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะการคิด และทักษะการสะท้อนเพื่อยกระดับการเรียนรู้ต่อไป 

รายละเอียดได้เขียนไว้ในสมุดเยี่ยมแล้วครับ หวังว่าการเสนอสะท้อนตรงไปตรงมาแบบนี้ จะมีประโยชน์ และไม่มีโทษใดๆ นะครับ 

"เราอยู่ในเรือลำเดียวกันครับ"  ขอเป็นกำลังใจให้ท่าน ผอ.ทรงยศ ครูเกียรติศักดิ์ ครูวิไลรัตน์ และคุณครูทุกท่าน และนักเรียนทุกคนครับ 

ฤทธไกร 

หมายเลขบันทึก: 509090เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2012 01:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมสนใจเรื่องนี้มาก ขอคำปรึกษาทางเมล นะครับ

พักผ่อนหน่อยนะคะดูจากเวลาที่เขียน น่าจะเช้าตรู่ของต่างประเทศเก็บแรงไว้ขับเคลื่อนนะคะ

ยินดีมากครับท่าน ชยันต์ เพชรศรีจันทร์ แม้ไม่รู้มากนักก็พร้อมจะแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากท่านครับ

ขอบคุณอาจารย์อ๋อยครับ เช้าตรู่ของต่างประเทศ .....ฮา

  • ได้ความรู้ดีมากค่ะท่านอาจารย์ Ico48  
  • ขอจดจำไว้ เพื่อปรับปรุงตัวเองค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท