ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 35. เทคนิคดึงความสนใจ นศ. (15) ติวกลุ่มย่อย


การติวกลุ่มย่อย มีมิติของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสูง ซึ่งครูต้องฝึกทักษะนี้ ต้องให้ feedback ที่ชัดเจน แต่ระวังอย่าทำแรงจน นศ. พยายามต่อสู้ป้องกันตนเอง ต้องให้คำแนะนำ แต่อย่าให้ นศ. มุ่งแต่จะพึ่งครู ไม่เน้นพึ่งตนเอง คือครูต้องชัดเจนว่า มุ่งให้ นศ. เรียนอย่างอิสระ พึ่งตนเอง แต่ก็มีครูคอยแนะเมื่อต้องการ

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 35. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (15) ติวกลุ่มย่อย

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๓๕ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 15 : Small Group Tutorials  

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค   และบันทึกที่ ๓๕ นี้เป็น SET สุดท้ายในบทที่ ๑๓  ว่าด้วยการวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์

 

SET 15  Small Group Tutorials

จุดเน้น  :  ส่วนบุคล และความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :    การเขียน

ระยะเวลา  :  หนึ่ง หรือหลายคาบ

โอกาสเรียน online  :  ต่ำ

 

เป็นเครื่องมือฝึกการเขียน และทักษะชั้นสูง แก่ นศ.   โดยครูติวให้อย่างใกล้ชิด แบบการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยอังกฤษเก่าแก่   โดยการติวทำในกลุ่ม นศ. กลุ่มย่อย ๔ - ๖ คน   หลังจาก นศ. เขียนเรียงความ   ก็นำมาเข้ากลุ่มติว   โดยอ่านบทเรียงความของตน   ครูจะให้ นศ. หยุดเป็นระยะๆ เพื่อซักถาม    นศ. จะได้เรียนรู้ทั้งจากการติวของตน   และจากการฟังอาจรย์ติวเพื่อนในกลุ่ม 

นอกจากได้รับการติววิชาการแล้ว    นศ. จะได้ใกล้ชิดกับครู

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. ก่อนเปิดเทอมครูวางแผนการสอนแบบติวกลุ่มย่อยนี้    โดยกำหนดว่าจะติวบ่อยแค่ไหน   แต่ละครั้งใช้เวลานานเท่าไร   กลุ่มละกี่คน  รวมทั้งวางแผนกิจกรรมแต่ละครั้ง
  2. ภายในสัปดาห์แรกของเทอม กำหนด นศ. เข้ากลุ่ม   กำหนดวัน เวลา สถานที่ ของการติวกลุ่มแต่ละกลุ่ม
  3. กำหนดประเด็นให้เขียน  เตรียมเอกสารแจก  และข้อกำหนดให้ทำ
  4. ในวันติว จัดเก้าอี้เป็นวงกลม   และกำหนดว่าจะให้ใครอ่านในลำดับก่อน-หลัง    ระหว่างที่ นศ. อ่าน ครูขัดจังหวะเพื่อซักถาม หรือให้ข้อแนะนำเป็นระยะๆ    เมื่อจบ ให้ข้อสรุปบทเรียนรู้ และข้อเสนอแนะให้ปรับปรุง    โดยอาจเชื้อเชิญ นศ. คนอื่นๆ ให้ร่วมแสดงข้อคิดเห็นด้วย    

 

ตัวอย่าง

วิชาปรัชญาเบื้องต้น

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ ตัดสินใจใช้การติวกลุ่มย่อยเป็น feedback ให้แก่ นศ. ในช่วงที่ นศ. กำลังอยู่ระหว่างเขียนรายงานตอนใกล้จบเทอม   ครูจัดกลุ่ม นศ.  และกำหนดเวลาให้แต่ละกลุ่มได้รับการติวกลุ่มย่อย ๑ ชั่วโมง  ๒ - ๓ สัปดาห์ก่อนกำหนดส่งรายงาน   โดยใช้เวลาเรียนตามปกติ   โดย นศ. ได้รับคำถามล่วงหน้าว่า ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เห็นกับความจริง เป็นอย่างไร   และให้เลือกนักปรัชญาที่ศึกษาในภาคเรียนนั้นมา ๑ คน   แล้วเขียนเรียงความว่า นักปรัชญาท่านนั้นได้ศึกษาและมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร  

ระหว่างที่ นศ. แต่ละคนอ่านเรียงความของตน   ครูให้คำวิพากษ์ และคำแนะนำ    สิ่งที่ครูติวนอกจากประเด็นตามสาระแล้ว    ยังเน้นทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ    ซึ่ง นศ. ทุกคนในกลุ่มจะได้รับประโยชน์ 

นศ. ได้รับคำแนะนำให้ปรับปรุงเรียงความหลังชั่วโมงติว   และส่งครูทั้งร่างแรก และรายงานสุดท้าย 

 

การปรับใช้กับการเรียน online

เทคนิคนี้มีคุณค่าตรงที่ ครูกับนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันเดี๋ยวนั้น   ดังนั้น หากจะใช้ในการเรียน online ก็ต้องใช้เครื่องมือที่ให้ปฏิสัมพันธ์ตรงตัว  เช่น teleconference  และ chat ที่สามารถเขียนโต้ตอบกันได้ด้วย   

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·      แทนที่จะใช้กับเรียงความ   อาจใช้การติวกับ โครงงาน  การเรียนด้วยตนเอง  การวิจัย  และการอ่านโดยมีครูเป็นพี่เลี้ยง

·      อาจให้ นศ. ช่วย feedback แก่เพื่อนในกลุ่ม   โดยมีการฝึกวิธี feedback อย่างสร้างสรรค์

·      อาจใช้ TA ช่วยลดภาระของครู        

 

คำแนะนำ

ความท้าทายคือ ความพอดี    ต้องไม่ติวแบบเลยเถิด ช่วยอุ้ม นศ. จน นศ. ขาดโอกาสดิ้นรนช่วยเหลือตนเอง 

การติวกลุ่มย่อย มีมิติของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสูง   ซึ่งครูต้องฝึกทักษะนี้    ต้องให้ feedback ที่ชัดเจน แต่ระวังอย่าทำแรงจน นศ. พยายามต่อสู้ป้องกันตนเอง   ต้องให้คำแนะนำ แต่อย่าให้ นศ. มุ่งแต่จะพึ่งครู ไม่เน้นพึ่งตนเอง    คือครูต้องชัดเจนว่า มุ่งให้ นศ. เรียนอย่างอิสระ พึ่งตนเอง    แต่ก็มีครูคอยแนะเมื่อต้องการ 

ต้องระวังอย่าให้ นศ. บางคนที่พูดมาก ชักจูงกลุ่มไปในเรื่องนอกเรื่อง    เวลามีน้อย ต้องพุ่งอยู่ที่ประเด็นหลัก   นศ. พึงได้เรียนรู้วิธีใช้เวลาที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นศ. หรือครูบางคนอาจไม่ชอบเทคนิคนี้   แต่ชอบปฏิสัมพันธ์ที่มีระยะห่างมากกว่าการติวกลุ่มย่อย   

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Lowman J. (1995). Mastering the techniques of teaching. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 216-219.

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ต.ค. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 506449เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 06:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2012 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วันนี้มีโอกาสได้เข้าร่วมฟังเสวนาการศึกษา
หัวข้อ “การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กสู่ศตวรรษที่ 21”

โดย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม

รองอธิการบดีฝายวิชาการและวิจัย สถาบันอาศรมศิลป์

ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่

ผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน (สกว.)

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ผู้ดาเนินการเสวนาโดย

รองศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ

คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ณ ห้องศูนย์ดนตรีและการแสดงอโศกมนตรี 1 (หอประชุมใหญ่) ชั้น 4 อาคารนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรครับ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท