ยาละลายลิ่มเลือด (Streptokinase)


"พี่ มันลงมาแล้ว คนไข้ไม่เจ็บอกแล้ว"

      โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลี้ยงหัวใจตีบตัน ปัจจุบันมีการรักษาที่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการแล้วว่า ต้องฉีดสีสวนหัวใจ/ใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือด แต่การรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวทำได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น ในแต่ละภูมิภาคอาจมีเฉพาะในโรงเรียนแพทย์/โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ เท่านั้น ซึ่งเราเรียกกันว่า cath lab (ห้องสวนหัวใจ)

       กรณีมีข้อจำกัดของการฉีดสีสวนหัวใจ/ใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือด ต้องเลือกวิธีการให้ "ยาละลายลิ่มเลือด" ซึ่งผลการรักษาอาจด้อยกว่าการฉีดสี แต่เรียกได้ว่าเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง สำหรับคืนนี้ก็เช่นเดียวกัน เรารับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไว้รายหนึ่ง ซึ่งท่านถูกส่งตัวต่อมาจากโรงพยาบาลอำเภอ แต่ด้วยข้อจำกัดของเปิดห้อง cath lab ทำให้ผู้ป่วยรายนี้ต้องได้รับ "ยาละลายลิ่มเลือด" จากประสบการณ์ทำงานมานานพอสมควร นานมาแล้วที่ไม่ได้ให้ยาตัวนี้ เพราะเรามีห้อง cath lab ที่เปิดได้ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง 

       ยาละลายลิ่มเลือดเป็นเหมือนดาบสองคม คมด้านหนึ่งสามารถละลายลิ่มเลือดที่อุดตันที่หลอดเลือดหัวใจได้อย่างดี แต่อีกคมหนึ่งจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ทุกที่ของร่างกาย เราต้องให้ข้อมูลญาติและผู้ป่วยอย่างรอบด้านทั้งด้านดี และด้านที่ไม่ดี ต้องให้เขารับรู้ความเสี่ยงด้วย อย่างที่บอกว่าน้องพยาบาลอย่างน้อยทำงานมาสัก 3-4 ปีหลังเรียนจบพยาบาลอาจไม่เคยเจอยาตัวนี้ ด้วยการสั่งสอนที่ผ่านมา ทำให้น้องกลัวฤทธิ์ของยาตัวนี้เป็นอย่างมาก ต้องมีการเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ 

      นอกจากด้านจิตใจที่เราต้องเน้นการให้ข้อมูลแล้ว ด้านร่างกายที่เราต้องเตรียมพร้อม ต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องมีทั้งการแทงหลอดเลือดแดง เพื่อใส่เข็มเล็กๆ ติดตามความดันเลือด และไว้ดูดเลือดไปตรวจยามฉุกเฉิน ต้องคาเข็มในหลอดเลือดดำอย่างน้อย 2 ตำแหน่ง บังเอิญผู้ป่วยรายนี้ความดันเลือดเฉียด 200 ตลอด ต้องคาเข็มในหลอดเลือดดำเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง เพื่อให้ยาลดความดันเลือด โอ!!! จินตนาการแล้วตอนนี้สายค่อยๆ เพิ่มขึ้น นับว่าระโยงระยางเต็มที ไหนจะสายติดตามการเต้นของหัวใจ สายของเครื่องกระตุกหัวใจ ผู้ป่วยเริ่มมีใบหน้าถอดสีมากขึ้น เพราะสิ่งที่พยาบาลและหมอช่วยกันบอกเมื่อกี้จินตนาการไม่เสร็จเลย มีของจริงให้ดูมากขึ้น ค่อยๆ มากขึ้น

     น้องพยาบาลต้องทิ้งผู้ป่วยอีกรายในความดูแลให้กับพยาบาลท่านอื่น 

     "น้องขอเข็นอุปกรณ์ต่างๆ ไปอยู่ที่เตียงแล้วนะ" 

    เป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนรู้ว่า น้องกังวลมากพอสมควร และต้องสังเกตการณ์ อาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ผู้ป่วยรู้ว่า สิ่งที่บอกว่า 

     "ตอนให้ยาไม่ต้องกลัวนะคะ มีพยาบาลอยู่ด้วยตลอดเวลา"

    เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่รอบกายของผู้ป่วยตอนนี้มีทั้งเครื่องตรวจหัวใจตลอดเวลา เครื่องตรวจหัวใจแบบครั้งคราว และเครื่องกระตุกหัวใจที่พร้อมใช้งาน เพราะระหว่างการให้ยาผู้ป่วยมีโอกาสเกิดทั้งด้านดี และไม่ดี นั่นคือ ละลายลิ่มเลือดได้สำเร็จ และหัวใจเต้นผิดจังหวะจากตัวโรคเองด้วย 

     เอาล่ะถึงเวลาสำคัญแล้ว ทุกอย่างพร้อม 

    "หมอคะ  จะเริ่มให้ยาแล้วนะคะ"  "ลุงคะ เราเริ่มให้ยาแล้วนะคะ ลุงขอพรจากพระผู้เป็นเจ้านะคะ ให้ทุกอย่างสำเร็จดังหวัง" 

  ทุกคนหัวใจระทึก ทั้งที่ลุ้นอยู่ข้างเตียง และที่ลุ้นอยู่ไกลๆ เพราะต้องทำภาระกิจอื่น เสมือนเรากำลังต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น ต่างกับการสวนหัวใจที่เรามองเห็นศัตรู รู้ว่าต้องยิงตรงที่ใด เช่นเดียวกับตอนนี้ เมื่อเวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง ยาที่ให้หมดทันทีด้วยเครื่องที่เรากำหนดการไหลของยาไว้  เราตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 เส้น โอ!!! เส้นที่แสดงถึงการขาดเลือดของหัวใจลดลงมาแล้ว น้องพยาบาลถือกระดาษที่แสดงผลการผลมาอย่างยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ สุขสบายใจ 

     "พี่ มันลงมาแล้ว คนไข้ไม่เจ็บอกแล้ว"  สุดยอดจริงๆ ในทีม 10 คนได้ยินกันทั่ว ทุกคนหายใจโล่งคอกันเลยทีเดียว เป็นประสบการณ์ที่ดีจริง 

    ถัดมาอีก 30 นาที ตรวจดังกล่าวซ้ำอีกครั้ง "เยี่ยม" คุณลุงโชคดีจริง เดินไปหาคุณลุงว่าจะบอกข่าวดี ได้ยินเสียง คร้อกฟี้ เสียแล้ว บอกว่าให้รู้ว่า "ฉันสบายแล้วล่ะ อย่ารบกวนนะจ๊ะ"

   ท้ายที่สุดนี้ ขอให้ทุกคนโชคดีกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะได้รับการรักษาด้วยวิธีใด เพราะการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลี้ยงหัวใจตีบตัน ต้องพกดวงมาโรงพยาบาลด้วยไม่มาก็น้อย อย่างน้อย ICU ห้องเรียนในฝันที่นี่ก็จะทำให้ท่านอย่างดีที่สุด

หมายเลขบันทึก: 506448เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 05:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ความรู้ดีมากครับ

ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท