เมื่อตอนที่แล้วผมได้นำเสนอเกี่ยวกับ ปริมาณของพื้นที่การปลูก และปริมาณของผลผลิตพริก ที่พี่น้องเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ ปลูกและขายในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนของทุกปีและจากที่ผมได้มีโอกาสร่วมศึกษาผลผลิตปีการเพาะปลูก 2548/49 ก็พบว่า ผลผลิตพริกที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณมากว่า 31,906 ตันหรือ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 750 ล้านบาท สำหรับพริกสด
(พริกสดที่บรรจุถุงพลาสติก 10 กก.)
สำหรับวันนี้ผมพึ่งนึกได้ครับว่าเมื่อคราวที่แล้ว ลืมเล่าให้พี่น้องฟังครับว่าพริกที่พี่น้องชาวศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ปลูกกันนั้นส่วนใหญ่เป็นพันธ์อะไรบ้าง เผื่อจะได้แนวทางการผลิตที่เป็นประโยชน์สำหรับชุมชนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้ครับ
1. พริกที่ขายผลสด ซึ่งโดยปกติพริกที่ขายผลสดนั้นก็สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.1 พริกเขียวผลสด คือพริกที่เกษตรกรปลูกและเก็บขายเมื่อแก่เต็มที่ แต่ผลยังไม่เปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีแดง หรืออาจจะมีบ้างแต่ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่พันธุ์ จินดา และพันธุ์หัวเรือ หากเมื่อเทียบสัดส่วนแล้วพันธุ์จินดาจะมีความนิยมมากกว่า ซึ่งเมื่อเวลาขายนิยมนำมาบรรจุกล่องกระดาษกล่องละ 10 กิโลกรัม แล้วส่งไปขายยังภาคใต้และมาเลเซีย เป็นหลัก
(การทำความสะอาดพริกเขียวก่อนบรรจุกล่อง)
1.2 พริกแดงสด คือผลผลิตพริกที่พี่น้องเกษตรกรเก็บขายเมื่อผลสุกแก่แล้ว หรือผล เปลี่ยนเป็นสีแดงแล้วประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ พันธุ์ลูกผสมซุปเปอร์ฮอท หัวเรือ พันธุ์ช่อ และแดงม่วง เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการขายก็มีการคัดแยก ทำความ สะอาด แล้วบรรจุถุงพลาสติกถุงละ 10 กิโลกรัม และจะส่งไปขายยังจังหวัด ขอนแก่น โคราช ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง รวมทั้งจังหวัดนครปฐม และนอกจากนั้น จะมีอีกส่วนหนึ่งก็จะถูกส่งเข้าโรงงานแปรรูปเช่น โรงงานผลิตน้ำพริก ซอสพริก โรงงานผลิต มามา ซึ่งในการเข้าโรงงานนั้นจะมีการคัดให้ได้มาตรฐานของโรงงานกำหนด และ จากที่มีโอกาสได้ไปพูดคุยก็พบว่าพันธุ์หัวเรือเป็นพันธุ์เดียวเท่านั้นที่ส่งไปขายใน โรงงานแปรรูป
(การคัดและทำความสะอาดพริกแดงสดเพื่อส่งโรงงาน)
2. พริกที่ขายผลแห้ง คือพริกที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวเมื่อผลผลิตสุกแก่เต็มที่ (สีแดงสด) หลังจากนั้นจึงนำมาตากให้แห้ง นำมาบรรจุถุงพลาสติกถุงละ 10 กิโลกรัม ส่วนใหญ่พ่อค้าส่งไปขายยังตลาดกลางทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เช่น สหกรณ์อำเภอจัตุรัส จังหวัด ชัยภูมิ พันธุ์ที่นิยมทำพริกแห้งได้แก่ พันธุ์จินดา พันธุ์ยอดสน และพันธุ์อีย่นหรือหัวเรือย่น (ส่วนมากผลิตที่อำเภอกันทรารมย์) โดยปกติแล้วพริกสด 3.5 – 4 กก.จะผลิตพริกแห้งได้ 1 กก. เมื่อปีที่แล้วมีปริมาณผลผลิตกว่า 5,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท
(การตากพริกแห้ง)
(พริกแห้งรอการจำหน่าย ถุงละ 10 กก.)
จากข้อมูลดังกล่าวผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้อง KM ไม่มากก็น้อย เพราะจากที่ผมและทีมงานได้มีโอกาสได้ลงไปสัมผัส และร่วมคิด ร่วมทำ กับพี่น้องทั้ง 2 จังหวัด กว่าหนึ่งปีเต็ม ซึ่งได้เห็นรูปแบบและกระบวนการผลิตตลอดเส้นทางการจำหน่าย ผมเห็นว่าน่าจะเป็นอีกกิจกรรม หรืออาชีพหนึ่งที่สามารถนำเข้ามาร่วมในกิจกรรมการผลิตแบบผสมผสาน หรือเกษตรแบบประณีต เพื่อสร้างอาชีพการเกษตรให้มีความมั่นคง และยั่งยืนสำหรับพี่น้องเกษตรกรต่อไป เพราะจากสภาพการผลิตของพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่แล้วก็พบว่าไม่ใช่ปลูกพริกเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่าเป็นการปลูกพริกหลังฤดูกาลปักดำ เพื่อรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว และปลูกครอบครัวละประมาณ 2 งาน ถึง 3 ไร่ สามารถใช้แรงงานที่มีอยู่ในครัวเรือนจัดการผลผลิตได้ ซึ่งนับเป็นการบริหารจัดการแรงงานได้อย่างคุ้มค่าทีเดียว
ขอบคุณครับ
อุทัย อันพิมพ์
17 กันยายน 2549
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นายอุทัย อันพิมพ์ ใน เกษตรประณีต
คำสำคัญ (Tags)#ปริญญาโท#หลักสูตร#ปริญญาเอก#พัฒนบูรณาการศาสตร์#มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
หมายเลขบันทึก: 50613, เขียน: 18 Sep 2006 @ 10:07 (), แก้ไข: 23 Jun 2012 @ 02:15 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 41, อ่าน: คลิก
จากปีที่แล้วที่ราคาพริกตกต่ำมีเกษตรกรหลายรายที่นำพริกไปตากแห้งเพื่อรอขาย แต่สุดท้ายราคาก็ยังไม่สูงขึ้น น่าจะมีวิธีการจัดการให้กับแปรรูปพริกให้แก่เกษตรกร เช่น การทำพริกผงจำหน่าย โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตที่มีคุณภาพ และลงทุนต่ำให้แก่เกษตรกร น่าจะส่งผลต่อรายได้มากกว่าการขายพริกสดค่ะ