ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 31. เทคนิคดึงความสนใจ นศ. (11) ข้อโต้แย้งทางวิชาการ


เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้คิดแบบวิเคราะห์อย่างลึก คือให้วิเคราะห์ทั้งสองด้านของข้อโต้แย้ง เพื่อฝึกฝนให้ไม่คิดแบบ ใช่-ไม่ใช่ คือเห็นความซับซ้อนภายในประเด็นหรือเรื่องนั้นๆ นอกจากนั้นการได้ฝึกฟังความเห็นของเพื่อน และแสดงความเห็นของตนเอง เป็นการฝึกทักษะการสื่อสาร

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 31. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (11) ข้อโต้แย้งทางวิชาการ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๓๐ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 11 : Academic Controversy  

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค

 

SET 11  ข้อโต้แย้งทางวิชาการ      

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   การอ่าน การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

 

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้คิดแบบวิเคราะห์อย่างลึก    คือให้วิเคราะห์ทั้งสองด้านของข้อโต้แย้ง    เพื่อฝึกฝนให้ไม่คิดแบบ ใช่-ไม่ใช่    คือเห็นความซับซ้อนภายในประเด็นหรือเรื่องนั้นๆ    นอกจากนั้นการได้ฝึกฟังความเห็นของเพื่อน และแสดงความเห็นของตนเอง เป็นการฝึกทักษะการสื่อสาร

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.           ครูหาประเด็นตามเนื้อหาในรายวิชา ที่เป็นข้อโต้แย้งหรือหาข้อยุติที่ชัดเจนไม่ได้   รวมทั้งจะช่วยสร้างมุมมองที่แตกต่าง    เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับ นศ.    แต่ก็ไม่สร้างความขัดแย้งหรืออารมณ์รุนแรงเกินไปในกลุ่ม นศ.     

2.           เขียนเรื่องขึ้นเป็นกรณีศึกษา    พิมพ์สำเนาลงกระดาษต่างสี    พร้อมคำสั่งหรือแนวทางให้ นศ. ดำเนินการ    เพื่อแจกให้ นศ. ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ สี สมมติว่า สีเขียว(กำหนดให้สีเขียวมีจุดยืนหนึ่งตามในกรณีศึกษา)    กับ สีน้ำเงิน ซึ่งกำหนดให้มีจุดยืนตรงกันข้าม

3.           แบ่ง นศ. ออกเป็น ๒ สี เท่าๆ กัน    แจกเอกสารกรณีศึกษา และบอกให้ นศ. แต่ละคนอ่านเรื่อง และกำหนดความเห็นของตนเองไว้

4.           ให้ นศ. จัดกลุ่ม กลุ่มละ ๔ คน   แต่ละกลุ่มมีสีเขียว ๒ คน   สีน้ำเงิน ๒ คน   

5.           ให้ นศ. ในแต่ละกลุ่มจับคู่สีเดียวกัน  ระดมความคิดกันเพื่อหาข้อสนับสนุนจุดยืนตามที่ได้รับมอบตามสี   ใช้เวลา ๒ - ๓ นาที 

6.           ให้ นศ. แยกกลุ่ม เดินไปหาเพื่อนสีเดียวกันในห้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน    โดยมีเป้าหมายรวบรวมข้อคิดเห็นสำหรับสนับสนุนจุดยืนตามสีของตน

7.           นศ. กลับมารวมกลุ่ม ๔ คนอย่างเดิม   (ตามข้อ 4)   

8.           ให้คู่สีเขียวนำเสนอจุดยืนของตน   คู่สีน้ำเงินฟังโดยไม่พูดอะไร

9.           ให้คู่น้ำเงินซักถามเพื่อความกระจ่าง    แล้วให้คู่น้ำเงินนำเสนอ  คู่เขียวฟัง   หลังจากนั้นคู่เขียวซักถาม

10.      ให้เปลี่ยนข้างจุดยืน  โดยมีเวลาเตรียมคิดสักครู่   แล้วอภิปรายโต้แย้งกัน  

11.      หลังจากนั้น ขอให้ทีม ๔ คนอภิปรายหาข้อยุติหรือฉันทามติใน ๔ คน    

12.      จัดให้อภิปรายร่วมกันในชั้น   โดยให้ทีม ๔ คน ที่เลือกข้างความเห็นสีเขียวยกมือ   และให้ทีมที่เลือกสีน้ำเงินยกมือ    ให้ นศ. ที่เปลี่ยนความเห็นอธิบายว่าทำไมตนจึงเปลี่ยนใจ         

 

ตัวอย่าง

วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ กำหนดให้ นศ. ถกเถียงกันว่า “ใครเป็นเจ้าของอดีต”   โดยครูบรรยายสั้นๆ ว่าในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ถูกกดดันให้คืนสิ่งของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์   กลับไปให้แก่ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งของเหล่านั้น    ด้วยเหตุผลว่ามีการเอามาจากประเทศต้นกำเนิดอย่างไม่ถูกต้อง    ประเทศต้นกำเนิดอารยธรรมโบราณ เช่น กรีซ  จีน  อียิปต์  อิตาลี  จอร์แดน  อิหร่าน  เตอรกี  ปากีสถาน  อ้างว่าสิ่งของเหล่านี้เป็นสมบัติของชาติ   ที่ช่วยแสดงเอกลักษณ์ของชาติในโลกสมัยใหม่    แต่ภัณฑารักษ์ นักประวัติศาสตร์ และคนในประเทศตะวันตก อ้างว่าสิ่งของเหล่านั้นเป็นสมบัติของมนุษยชาติ    ที่ควรจะได้นำมาจัดแสดงเพื่อการเรียนรู้อารยธรรมมนุษย์ ที่ก้าวข้ามพรมแดนรัฐชาติ 

ครูจึงใช้เครื่องมือ “ข้อโต้แย้งทางวิชาการ” เพื่อให้ นศ. ได้ทำความเข้าใจรายละเอียด   และฝึกคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง

 

การปรับใช้กับการเรียน online

เทคนิคคล้าย Academic Controversy  ที่มีการพัฒนาสำหรับเรียน online ชื่อ “Progressive Project”   วิธีการคือ   ครูเสนอรายชื่อประเด็น ให้ นศ. เลือก ๑ ประเด็น   แล้วให้ นศ. จับคู่ ระหว่าง นศ. ก  กับ นศ. ข    เริ่มโดย นศ. อ่านเอกสาร   แล้ว นศ. ก เขียนเหตุผลสนับสนุน ๓ ข้อ ส่งให้ นศ. ข    แล้ว นศ. ข เขียนเหตุผลค้าน ๓ ข้อ   แล้วส่งครู    ครูส่งผลงานนี้ไปยัง นศ. อีกคู่หนึ่ง ให้ประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของเหตุผลสนับสนุนและเหตุผลค้าน   ส่งกลับให้ครู (Conrad RM, Donaldson JA. (2004). Engaging the online learner : Activities and resources for creative instruction. San Francisco : Jossey-Bass.)

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

แทนที่จะให้ นศ. กลุ่ม ๔ คน หาข้อฉันทามติด้านเขียวหรือด้านน้ำเงิน    เปลี่ยนเป็นให้หาทางสร้างฉันทามติใหม่ ที่เป็นการรอมชอมระหว่างสองขั้ว

 

คำแนะนำ

การให้ นศ. โต้แย้งจากมุมที่ต่างกันทั้งสองมุม ช่วยให้ นศ. ได้ฝึกติดจากต่างมุม   โดยไม่ถูกแรงกดดันจากความคิดแบ่งขั้วในสังคม

 

ข้อคิดเห็นของผม

น่าจะดัดแปลงวิธีการข้างต้น    ให้ นศ. ไปค้นหาข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับข้อโต้แย้งเรื่องนั้นเพิ่มเติมจากในเอกสารกรณีศึกษาของครู   ก็จะทำให้ นศ. ได้ฝึกค้นคว้า   และจะทำให้ได้ฝึกการวิเคราะห์ในมิติที่ซับซ้อนและลึกยิ่งขึ้น

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Jacobson D. (2002). Getting students in a technical class involved in the classroom. In Stanley DA (Ed.), Engaging large classes : Strategies and techniques for college faculty.  Bolton, MA : Anker, pp. 214-216.

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ต.ค. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 506016เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2012 07:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากเห็นการนำแนวความคิดนี้ไปใช้กับเรื่องความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยในปัจจุบัน เช่น 1.เรื่องประกันราคาข้าว 2.เรื่องการประมูล 3 G 3.เรื่องการบริหารจัดการน้ำ 4.เรื่องพลังงานของประเทศ (ปตท ปล้นประชาชน) 5.ความปองดอง 6.ความขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบต่อประเทศชาติ 7.ฯลฯ

โดยสามารถจัดให้มีเวทีในการนำเรื่องความคิดเห็นที่ขัดแย้ง มาดำเนินการตามแนวคิดที่กล่าวมา โดยทำในเวทีสถาบันการศึกษา หรือในรายการทีวี หรือในคณะกรรมาธิการในรัฐสภา หรือในเวที workshop ที่หน่วยงานภาครัฐใช้งบประมาณมากมายในการจัดประชุม เสวนา เป็นต้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท