ให้แม่ไปสบาย


“งั้นพอเถอะ ให้แม่ไปสบาย ไม่อยากให้เจ็บตัวมากกว่านี้แล้ว”

 

          เปิดประตูวอร์ด (ติ๊ด..ติ๊ด..ติ๊ด) ได้ยินเสียงบาดใจอีกแล้ว คนอื่นอาจเดายากว่าเสียงอะไร แต่เสียงนี้บาดใจทุกคน นั่นคือเสียงเครื่องกระตุกหัวใจ เป็นเสียงที่พยาบาล ไอซียู ได้ยินบ่อยๆ แต่อาจไม่บ่อยหรือคุ้นสำหรับญาติผู้ป่วยนัก

          วันนี้เช่นกัน ในม่านมีเสียง ติ๊ด..ติ๊ด..ติ๊ด นอกม่านมีเสียงสะอื้นมุมนั้น มุมนี้ ของญาติคุณยาย ท่านหนึ่ง เมื่อเปิดม่านเข้าไปดู สัมผัสได้ถึงกลิ่นไอบางอย่าง มีทั้งความเศร้า ความสงสาร และความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่รอช้าขอรายละเอียดจากผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นน้องพยาบาลที่ดูแล คุณหมอที่อยู่เวร และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ที่ขาดไม่ได้คือการตรวจร่างกาย คุณยายหน้าซีด ผมสยาย หายใจตัวโยน สายระโยงรยางค์เต็ม มียากระตุ้นความดันเลือด สายอื่นๆ เต็มตัว ประมวลผลทั้งหมดพอเดาได้สองอย่างว่าคุณยายท่านน่าจะเจอเจอเหตุการณ์กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือลิ่มเลือดดำอุดที่ปอดฉับพลัน การรักษาที่แน่ๆ ต้องทำซีทีสแกน ให้รู้และตัดประเด็น เพราะสองอย่างรักษาไม่เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ทั้งแพทย์และพยาบาลลงข้อสรุป

          เมื่อได้ข้อสรุปจึงจับมือญาติมานั่งคุยกัน อธิบายที่มาของหัวใจคุณยายที่หยุดเต้น และความเป็นไปในการรักษา ความเสี่ยงของการไปซีทีสแกนที่นอกไอซียู ญาติถามย้อนคำเดียวว่า

            “ทำแล้ว (ซีทีสแกน) จะมีอะไรดีขึ้นไหม”

          อึ้งไปพักหนึ่ง รู้สึกว่าน้ำลายในคอเหนียวมาก ตอบได้เพียงเบาๆ ว่า

            “ทำแล้วจะทราบว่า หัวใจหยุดเต้นจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือลิ่มเลือดดำอุดที่ปอดฉับพลัน แต่จะรักษาให้อาการคุณยายดีขึ้นหรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ ต้องขึ้นกับการตอบสนองของคุณยาย”

          อย่าว่าแต่พยาบาลหรือหมอจะอึ้งกับคำถามของญาติก่อนหน้านี้เลย ญาติเขาก็อึ้งกับคำตอบของเราเหมือนกัน ไม่มีคำพูด มีน้ำตาไหลอาบแก้ม เสียงสะอื้น ยาวๆ และเสียงญาติตอบเป็นเสียงกันว่า

            “งั้นพอเถอะ ให้แม่ไปสบาย ไม่อยากให้เจ็บตัวมากกว่านี้แล้ว”

          พยาบาลได้ยินเสียงนี้เหมือนเสียงสวรรค์ เพราะเป็นคำตอบที่ตรงกับความคาดหวังของพยาบาลเช่นเดียวกัน อย่างน้อยตอนเปิดม่านเข้าไปเยี่ยมคุณยาย กลิ่นไอเหล่านั้น บรรจงรวมกันว่า คุณยายไม่ไหวแล้ว รวบรวมพลังทางบวกและสร้างสรรค์แห่งตนที่มีอยู่เสี่ยงถามญาติอีกประโยคว่า

            “มีอะไรที่อยากให้พยาบาลช่วยอีกบ้าง หรืออยากทำอะไรเพื่อคุณแม่อีกบ้างไหม”

          ญาติตอบทันที เหมือนไม่ต้องคิด หรือผ่านการคิดมาก่อนหน้านี้แล้ว

            “ไม่มี”

          ช่างสั้นและกินใจหรือเกิน จึงถามคำถามที่เหมาะหรือความน่าจะเป็นสูงว่า 

          “จำได้ว่าคุณยายไปวัดทำบุญบ่อยใช่ไหม” “อ๋อ ใช่” งั้นให้คุณยายได้สงบต่อหน้าพระพุทธคุณดีกว่าไหม” ทุกคนหยักหน้าเห็นด้วย

          ในที่สุดทุกคนรวมถึงคุณยายที่นอนพนมมือ ในมือมีดอกเบญจมาศสีแดงสดใส ธูปเทียน  ได้ยินคุณตาบอกคุณยายว่า “ไปให้สงบนะ เหนื่อยมามากแล้ว ไม่ต้องห่วงอะไร ชาติหน้าเกิดมาได้อยู่ด้วยกันอีก” ท่านพูดซ้ำไปมา “พุธโท ๆ นะ” ช่างเป๊ะตามที่แนะนำ จริงๆ

          พระคุณเจ้ามาถึงเวลา ๐๘.๑๕ น. บุตรหลายล้อมรอบเตียง ปลายเตียงมีของถวายสังฆทานวางอยู่ครบชุด บรรยากาศในม่านช่างสงบเงียบ ได้ยินเฉพาะเสียงที่คุณยายหายใจ หายใจจนตัวโยนด้วยเครื่องช่วยหายใจ ไม่ให้ยากดประสาทหรือยานอนหลับให้คุณยายหายใจสบายกว่านี้ เพราะนั่นคือเท่ากับว่าคุณยายอาจไม่ได้ยินเสียงพระคุณเจ้าเลยก็ได้

          พระคุณเจ้าเริ่มกิจกรรม “เอาโยมตั้งจิต สมาธินะ”

          ลูกสาวคนโตเริ่มนำสวดมนต์ “อะระหังสัมมา........” ต่อด้วยเสียงพระคุณเจ้า

           หันไปดูที่หน้าจอแสดงการเต้นของหัวใจและความดันเลือด หัวใจค่อยๆ เต้นลดลงอย่างช้าๆ จาก ๑๔๐ ครั้งต่อนาที ลดลง ลดลง ความดันเลือดลดลงเร็วกว่า เมื่อพระคุณเจ้าสวดเสร็จ หัวใจหยุดเต้นทันที และไม่มีความดันเลือดเลย พระคุณเจ้าเสียงดังขึ้นมาบอกว่า “โยมรับพรจากพระก่อนนะ” สิ้นเสียงนั้น หัวใจกลับเต้นมาอีกครั้ง “ไปให้สงบนะโยมนะ” หัวใจค่อยหยุดเต้นไปอีกครั้ง ทุกอย่างจบลง มีแต่เสียงร้องไห้ สะอื้นของบุตรหลาน

          เหตุการณ์ยังไม่จบแค่นี้ แต่เสียงสะอื้นเหล่านั้นค่อยๆ เงียบลง กลายเป็นเสียงปรึกษาหารือเรื่องทำพิธีทางศาสนาต่อไป บุตรสาวคนโตช่วยพยาบาลแต่งตัวให้คุณยาย “ไม่ต้องแต่งหน้านะ ทาแป้งอย่างเดียว” คุณยายใส่เสื้อลูกไม้ และนุ่งผ้าถุงลายไทย สวยงาม “ตัวโปรด” บุตรสาวบอกอย่างนั้น บรรยากาศไม่ได้โศกเศร้าวังเวงอย่างที่คิดไว้

          ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พระคุณเจ้าคือคนที่ท่านรอนี่เอง ท่านกลับไปพร้อมกับพระคุณเจ้าแล้วล่ะ

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้

          1. ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พยาบาลต้องสอบถามข้อมูลจากญาติในด้านความเชื่อ และกิจวัตรประจำวันที่ชอบทำ

          2. พยาบาลต้องมีความสามารถในการรวบรวมข้อมูลทั้งด้านวิชาการและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย เพื่อนำมาซึ่งการตัดใจร่วมกับญาติในทางคลินิก

          3. พยาบาลต้องมีสติ และเป็นเพื่อนกับครอบครัวในระหว่างที่มีเหตุการณ์สูญเสีย เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้ผ่านเหตุการณ์ไปได้ และส่งเสริมการปรับตัวในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 506014เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2012 05:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 04:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านแล้วเข้าใจซึ้งถึงอารมณ์ของคนเป็นญาติขณะนั้น

ขนาดคนอ่านยังพลอยเศร้าไปด้วยเลยค่ะ

เคยอยู่ในบรรยากาศนี้มาแล้วครับ เข้าใจเลย

ขอแสดงความเสียใจกับท่านที่เคยเจอเหตุการณ์นี้นะคะ แต่อย่างน้อยเป็นเหตุการณ์เตือนสติให้เราอยู่กับปัจจุบัน ไม่ประมาท เมื่อเวลานั้นมาถึง ซึ่งต้องมาถึงสำหรับทุกคน เราจะได้จากไปอย่างสงบ ฝากไว้เพียงผลการกระทำเท่านั้นเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท