การจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศ ( Information Problem-Solving Approach : Big Six Skills )


กระบวนการแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศ หรือ Big Six Skills มีแนวคิดพื้นฐานมาจากการบูรณาการระหว่างวิชาทักษะสารสนเทศ และวิชาทักษะคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน

                การจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศ หรือ แบบ Big Six Skills พัฒนาโดย   ไมเคิล  ไอเซนเบอร์ก และโรเบิร์ต เบอโกวิทซ์   เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศ  ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการค้นหา รวบรวม สังเคราะห์ นำเสนอและประเมินผลสารสนเทศ  ต่างจากรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบอื่นๆ ที่ไม่ได้เน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการสารสนเทศ

                นอกจากนี้  ยังได้เสนอแนวคิดการใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาสรุปได้ว่า  เทคโนโลยี ช่วยกระตุ้นความสามารถในการทำงานของผู้เรียนตลอดจนการประหยัดเวลาใจการทำงาน ซึ่งหลายโรงเรียนได้นำกระบวนการแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศไปประยุกต์ใช้ในการจัดโปรแกรมหรือหลักสูตรทักษะเทคโนโลยีและสารสนเทศ

                กระบวนการแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศ หรือ Big Six Skills  มีแนวคิดพื้นฐานมาจากการบูรณาการระหว่างวิชาทักษะสารสนเทศ  และวิชาทักษะคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน  ทำให้นักเรียนได้ใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างมีความหมายและพัฒนาทักษะสารสนเทศ  ซึ่งได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับการสอนคอมพิวเตอร์ว่า  “การสอนคอมพิวเตอร์นั้นไม่สามารถสอนแยกออกเป็นรายวิชาได้เพราะการสอนแบบแยกเป็นรายวิชาต่างหาก  จะไม่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้ทักษะคอมพิวเตอร์ได้อย่างมีความหมาย”

                ดังนั้น  จึงได้นำรายวิชาทั้ง 2 มาบูรณาการเข้าด้วยกัน  โดยมีหลักการพื้นฐานว่าการสอนทักษะนั้นจะต้องเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่มีอยู่ในหลักสูตรเดิมโดยการมอบหมายงาน  และการจัดการเรียนรู้นั้นต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ  (วีรเดช   เชื้อนาม, 2542 อ้างอิงใน สุวิทย์  มูลคำและอรทัย  มูลคำ, 2546, หน้า 63-66) 

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศ  หรือแบบ Big Six Skills มีขั้นตอนต่างๆ

ดังต่อไปนี้

1.  ขั้นการนิยามภาระงาน  (Task Definition) เป็นการระบุปัญหาว่าคืออะไร สารสนเทศ     ที่จำเป็นที่จะนำมาใช้แก้ปัญหามีอะไรบ้าง  ผู้เรียนอาจจะใช้จดหมายอิเลคทรอนิกส์ (E-mail)        การสนทนากลุ่มในอินเตอร์เน็ต  การติดต่อสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจปัญหาให้ชัดเจนมาขึ้น     พร้อมทั้งสำรวจข้อมูลที่จำเป็นที่ใช้ในการแก้ปัญหาเพื่อเป็นพื้นฐานในการทำงานขั้นต่อไป

2.  ขั้นการกำหนดยุทธศาสตร์การค้นสารสนเทศ  (Information  Seek  Strategies) เป็นการเลือกและประเมินสารสนเทศ ดังต่อไปนี้

     -   แหล่งสารสนเทศทางอิเลคทรอนิกส์  เช่น อินเตอร์เน็ต  สารานุกรมที่เป็นซีดีรอม

เป็นต้น

     -   แหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่น  ห้องสมุด  ผู้เชี่ยวชาญเอกสาร  หนังสือ เป็นต้น

3.  ขั้นการสืบค้นและเข้าถึงสารสนเทศ  (Loc  ion  and Access) เป็นการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งสารสนเทศตามขั้นตอนที่ 2 ที่ได้กำหนดไว้แล้ว  ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งสารสนเทศต่างๆ เช่น  ระบบเครือข่ายของห้องสมุด  ดัชนีหนังสือ ซีดีรอม แหล่งสารสนเทศจากระบบแลน (Lan)  ระบบอินเตอร์เน็ต (Internet) และผู้เชี่ยวชาญ  เป็นต้น  ผู้เรียนจะต้องศึกษาวิธีการใช้แหล่งสารสนเทศนั้น เช่น รู้จักการใช้บัตรรายการเพื่อค้นหาหนังสือ  ศึกษาการเชื่อมต่อเพื่อเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต  การใช้สารานุกรมที่เป็นซีดีรอม

4.  ขั้นการใช้สารสนเทศ (Use  of  Information)  เป็นการเรียกใช้  เก็บรวบรวม บันทึกข้อมูลสารสนเทศจากแหล่งข้อมูลที่ผู้เรียนได้ศึกษาในแหล่งนั้นๆ ในขั้นนี้ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล  บันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น การ Download  ข้อมูล การบันทึกข้อความหรือรูปภาพ    การอ่าน  การวาดภาพหรือการถ่ายภาพเพื่อบันทึกสารสนเทศ เป็นต้น

5.  ขั้นการสังเคราะห์ข้อมูล (Synthesis) ขั้นนี้เป็นการรวบรวมจัดหมวดหมู่  เพื่อนำเสนอสารสนเทศที่ได้ค้นคว้ามาจำแนกพร้อมทั้งเตรียมการวางแผนเพื่อนำเสนอสารสนเทศที่ได้ค้นคว้า  สามารถนำเสนอได้หลายวิธี  เช่น การนำเสนอโดยการใช้โปรแกรมประมวลคำ โปรแกรมฐานข้อมูลและโปรแกรมตารางคำนวณ  การนำเสนอผลงานด้วยโปรแกรมพรีเซนเตชั่น การสร้างโฮมเพจหรือการนำเสนอด้วยการจัดนิทรรศการ  สาธิตการทำงาน เป็นต้น

6.  ขั้นการประเมินผล (Evaluation) ขั้นนี้เป็นการพิจารณาผลงานที่ได้ทำขึ้นและกระบวนการในการทำงาน  โดยพิจารณาว่า

     -   ผลงานของผู้เรียนสอดคล้องกับปัญหาหรือไม่

     -   ผู้เรียนมีความคิดเห็นอย่างไรต่อกระบวนการทำงาน

โดยผู้ประเมินอาจจะมีได้หลายคน  คือ  ในขั้นตอนของการตรวจสอบผลงานและภาระงานที่รับผิดชอบ  ผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินผล  ส่วนการประเมินกระบวนการทำงานให้ผู้เรียนประเมินตนเองว่ายังมีข้อบกพร่องหรือไม่อย่างไร  ควรปรับปรุงในส่วนใดบ้าง  และการประเมินชิ้นงานอาจจะใช้เพื่อนในห้องร่วมประเมินผลงานและให้คะแนน

 

หมายเลขบันทึก: 506007เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2012 00:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท