ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

ศิลปะการพูดในที่ประชุม


การพูดในที่ประชุม มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากในการอยู่ร่วมกันในสังคม ยิ่งท่านใดที่มีตำแหน่งผู้บริหาร เป็นผู้นำ ก็ยิ่งจะต้องเข้าร่วมประชุมมากกว่าลูกน้องหรือผู้ตาม มารยาทการประชุมรวมทั้งการพูดในที่ประชุมจึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน สำหรับมารยาทและการพูดในที่ประชุมที่ดีมีดังนี้

ศิลปะการพูดในที่ประชุม

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com

                การพูดในที่ประชุม มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากในการอยู่ร่วมกันในสังคม ยิ่งท่านใดที่มีตำแหน่งผู้บริหาร เป็นผู้นำ ก็ยิ่งจะต้องเข้าร่วมประชุมมากกว่าลูกน้องหรือผู้ตาม มารยาทการประชุมรวมทั้งการพูดในที่ประชุมจึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน สำหรับมารยาทและการพูดในที่ประชุมที่ดีมีดังนี้

                1.เราควรจะเข้าร่วมประชุมให้ตรงเวลา  อีกทั้งประธานการประชุมก็ควรเปิดการประชุมในตรงเวลาด้วย สำหรับสังคมไทยมีปัญหามาก เพราะหลายแห่งเปิดประชุมช้ากว่ากำหนดการที่ได้ตั้งเอาไว้ เนื่องจากคนไทยเป็นจำนวนมากไม่ค่อยรักษาเวลา อีกทั้งยังเข้าร่วมประชุมช้า จึงทำให้เลิกประชุมช้ากว่ากำหนดการที่วางเอาไว้  ทำให้การประชุมในครั้งนั้นมีปัญหามากคือ เปิดประชุมช้า ปิดประชุมช้า

                2.ก่อนแสดงความคิดเห็นแต่ละครั้ง ควรขออนุญาตประธานในที่ประชุม อาจยกมือก่อนแล้วจึงพูด แสดงความคิดเห็น อีกทั้งประธานในที่ประชุมควรบอกกฎกติกาก่อนเข้าร่วมประชุม เช่น ท่านสมาชิกท่านใด ต้องการแสดงความคิดเห็นกรุณายกมือก่อนนะครับ

                3.ใช้ภาษา คำพูด น้ำเสียงที่สุภาพ ให้เกียรติต่อที่ประชุม ไม่ควรพูดจาก้าวร้าว ไม่ควรพูดเล่นจนเกินไป แต่อาจพูดสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายได้บ้าง

                4.ควรพูดให้สั้น กระชับ  ไม่เยิ่นเย้อ หลายท่านเวลาแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม มักพูดจายาวจนเกินไป อีกทั้งยังพูดจาไม่รู้เรื่องจนผู้ฟังจับประเด็นไม่ได้ การพูดจายาวจนเกินไปอาจทำให้เสียเวลาและสมาชิกในที่ประชุมเกินการเบื่อหน่าย อีกทั้งการประชุมหลายแห่ง มักมีผู้ที่เสนอความคิดเห็นซ้ำๆ กัน บางคนยกมือพูดแสดงความคิดเห็นตั้ง 3-4 ครั้ง ดังนั้น ประธานในที่ประชุม ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกท่านอื่นที่ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นได้มีโอกาสได้พูดบ้าง

                5.ควรตั้งใจฟังการประชุม หลายๆคนมักเข้าใจผิดคิดว่า คนที่พูดในที่ประชุม เก่ง ไม่มีความจำเป็นจะต้องฟังการประชุมก็ได้ แต่ความจริงแล้ว คนที่แสดงความคิดเห็นหรือพูดจาในที่ประชุมเก่ง โดนใจผู้ฟัง มักเป็นนักฟังที่ดี เขาจะฟังการประชุม แล้วหัดจับประเด็นต่างๆ อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมมักไม่พูดจาหรือแสดงความคิดเห็นซ้ำกับคนที่ได้พูดไปแล้ว เพราะถ้าหากเขาไม่ฟังการประชุม เขาอาจจะต้องแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามเหมือนกับคนที่พูดไปแล้วก็จะทำให้ผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่ศรัทธา อีกทั้งอาจถูกดูถูกเอาได้ง่ายๆ

                6.ต้องทำการบ้านมาก่อนประชุม คนที่แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมได้เก่ง มักเป็นคนที่มีข้อมูลมากกว่าคนอื่น อีกทั้งยังทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เช่น การเอาข้อมูลการประชุมเก่าๆ มาดู , อีกทั้งการประชุมบางแห่งได้ส่งจดหมายและกำหนดการต่างๆไปให้อ่านก่อน เขาก็จะทำการบ้านในประเด็นต่างๆ วาระการประชุม

                7.เวลาลุกขึ้นออกไปทำธุระหรือกลับเข้ามานั่งประชุมต่อ ควรทำความเคารพประธานหรือที่ประชุม  อาจจะยืนโค้งสักเล็กน้อย

                สำหรับการพูดในที่ประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้พูดควรทำการศึกษารูปแบบของการประชุมแบบต่างๆด้วย เช่น การสัมมนา  การอภิปราย  การบรรยาย การสมัชชา  สุนทรพจน์  เป็นต้น

                อีกทั้งการพูดจาในที่ประชุมที่ดี เราควรต้องทราบบทบาทของเราก่อนว่าเรามีบทบาทหรือทำหน้าที่อะไร เช่น เป็นประธาน เป็นสมาชิก  เพราะหากท่านเป็นประธานการพูดจาในที่ประชุมของท่านจะต้องมีลักษณะ การพูดที่เป็นการกำหนดแนวทางการประชุม กล่าวเปิด กล่าวปิดประชุม สร้างบรรยากาศที่ดี กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น หรือ หากท่านเป็นสมาชิกหรือผู้เข้าร่วมประชุม ท่านจะต้องแสดงบทบาทให้สอดคล้องกับระเบียบวาระ อีกทั้งแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ที่ประชุม เป็นต้น

               

หมายเลขบันทึก: 504927เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท