บันทึกการสร้างเครือข่าย ลปรร.ครูสอนดี จ.กาญจนบุรี


คนของ อปท. สามารถทำงานเชื่อมกับ สพป. ใช้พื้นที่เป็นฐานร่วมกัน

      วันนี้ขอนำบันทึกบทเรียนของ คุณสถาปนา (ปลัด อบต.ตุ้ย)  ผู้จัดการเครือข่ายสร้างชุมชนการเรียนรู้ครู จ.กาญจนบุรี  มาให้ได้อ่านกันค่ะ  นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อนได้โดดเด่น  คนของ อปท. สามารถทำงานเชื่อมโยงเข้ากับ สพป.  ใช้พื้นที่เป็นฐานร่วมกัน

................................................................................................

        จากวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายครูสอนดี จังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ ๑๔- ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โดยผู้เข้าร่วมการเสวนาจำนวน ๕๓ คน ประกอบด้วย  ครูสอนดีและครูที่มีจิตอาสา และผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อสร้างทีมแกนนำในการขับเคลื่อนเครือข่ายครูสอนดี จังหวัดกาญจนบุรี

 ผลจากการประชุมทำให้เกิดการนำกระบวนการไปดำเนินการต่อของผู้เข้าร่วมฝึกอบรม ได้แก่

๑.     ครูนันทนา  ม่วงแก้ว หรือ ครูตู่  ได้จัด เวที ลปรร. จำนวน ๑๐ คน เรื่อง PBL ในโรงเรียนบ้านหนองโสน เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๕  มีครูและผู้บริหารในโรงเรียนให้ความสนใจและนำกิจกรรม จากขบวนการของ PBL ไปใช้กับนักเรียนต่อไป  ทำให้ครูมีความสุขที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง 

๒.     ครูอภินันท์  สีสันต์  หรือ ครูจะโอ๋  เป็น FAในการประชุมอาเซียน และ เป็น FAในวงเสวนาที่ขยายภายในโรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๕   โดยใช้หัวปลา เรื่อง แก้ปัญหาเพื่อพัฒนา ทมว.   มีครูเข้าร่วมวงจำนวน  ๑๕  คน  สามารถได้แนวคิด ข้อมูล ข้อสรุป เป็นไปตามหัวปลา ทำให้มีข้อสรุปในการบริหารจัดการโรงเรียนต่อไป และกำหนดขยายวงร่วมกับคณะครูต่อไป 

๓.     ครูกฎพร ไกรมงคลประชา  หรือครูอ้อ โรงเรียนอนุบาลวัดเลาขวัญ และนายอรรณพ ชุ่มเพ็งพันธ์ รอง ผอ.โรงเรียนเลาขวัญราษฎร์บำรุง ได้ตั้งวงเสวนา  ลปรร.  PBL   ณ  วัดเขาวัง  อ.เลาขวัญ โดยมีครูสอนดี และครูจิตอาสาในอำเภอเลาขวัญ ร่วมวงเสวนาจำนวน    ๑๓  คน และวงผู้บริหารโรงเรียนจำนวน ๕ คน  ในวันที่   ๒๑  กรกฎาคม  ๒๕๕๕ มีครูให้ความสนใจในการจัดกิจกรรมดังกล่าว

  ๔.     ครูขวัญยืน เรืองรัตนภูมิ โรงเรียนชุมชนบ้านหลุมรัง ได้ดำเนินการตั้งวงเสวนา ลปรร. ของครูสอนดีของอำเภอบ่อพลอย  สังกัด สพป.กจ.4 โดยจัดขึ้นในวันที่   ๒๔  กรกฎาคม  ๒๕๕๕  ณ โรงเรียนชุมชนบ้านหลุมรัง มีผู้เข้าร่วมวงจำนวน  ๑๔ คน และมีผู้บริหาร อดีตผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน ๑๐ ท่าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหลุมรัง เป็นประธานเปิด โดยโรงเรียนชุมชนบ้านหลุมรัง ร่วมสนับสนุน งบประมาณ ๓,๐๐๐ บาท 

 ๕.     ครูอรุณี  บุญโย  หรือ แม่ณี    ตั้งวงเสวนา  ลปรร.  ในโรงเรียนหมู่บ้านเด็กเพื่อพัฒนางานบริหารจัดการของโรงเรียน ทุกเดือน  และเป็นผู้ช่วยครู FA ในการสร้างบรรยากาศผ่อนคลายใช้วิธีนอนสมาธิ และการสัมผัสมหัศจรรย์แห่งร่างกาย

  ๖.     น.ส. ภัทรนนท์ เพิ่มพูล   ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขานางสางหัว (ครูวาส)  นำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ได้รับการอบรมไปใช้ในโรงเรียน  โดยตั้งหัวปลาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง ทำอย่างไรให้โรงเรียนดี    โรงเรียนที่ดีเป็นอย่างไร  พัฒนาอย่างไร ซึ่งนักเรียนได้แสดงความคิดเห็นที่จะร่วมกันพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น   และ  สามารถทำให้มีครูจิตรอาสานำขบวนการสอนแบบ  PBL   ไปใช้กับนักเรียน  นักเรียนสนุกกับการเรียนการสอน  เกี่ยวกับการเกษตรพอเพียง   และได้ขยายไปสู่การทำกิจกรรมกับชุมชนโดยตั้งหัวปลาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง เกษตรพอเพียง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่   ๒๕ กรกฎาคม  ๒๕๕๕   โดยมี  ครูวาส    คุณสุพจน์    จากมูลนิธิเด็ก และคุณชาตรี   ซึ่งเป็นครูจิตรอาสาจากสวนเกษตร สวนกล้วย อ.อู่ทอง  มาถอดบทเรียน เล่าเรื่องเกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเกษตรพอเพียงที่สามารถทำได้ในโรงเรียนและชุมชน  และนำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ นักเรียน คณะครู  และชุมชนบ้านเขานางสางหัวจำนวน  ๕๐  คน  ทุกคนให้ความสนใจ  และอยากให้ดำเนินการอีกทุกเดือน  ซึ่งงบประมาณสนับสนุนได้รับจากมูลนิธิเด็ก

 

 ๗. การจัดเวทีอบรมโครงการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี จังหวัดกาญจนบุรี ณ โรงเรียนเลาขวัญราษฎร์บำรุง วันที่ ๑๘-๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๕  ในเขตพื้นที่ สพป.กาญจนบุรีเขต ๔  ผู้เข้าร่วมจำนวน ๔๙ คน เป็นครูที่ได้รับรางวัลครูสอนดี ครูที่มีความสนใจและผู้บริหารโรงเรียนที่สนใจ  จากโรงเรียนต่างๆ   โดยเขตพื้นที่ สพป.กาญจนบุรี เขต ๔ สนับสนุนงบประมาณ ๓๗,๔00 บาท

 

๘. เกิดจัดเวทีถอดรหัสผลงานดีเด่น วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ สวนปีบ ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ในเขตพื้นที่ สพป .กาญจนบุรี เขต ๓  ผู้เข้าร่วมจำนวน ๓๕ คน ซึ่งเป็นครูที่ได้รับรางวัลครูสอนดี จากโรงเรียนต่างๆ   โดยมีนายอธิวัฒน์ พันธ์ประชา ผอ.เขตพื้นที่ เป็นประธานเปิดพร้อมทีมผู้บริหารโรงเรียนร่วมขับเคลื่อน มีผู้เข้าร่วม  ๓๗    คน โดยเขตพื้นที่ สพป.กาญจนบุรี เขต ๓ สนับสนุนงบประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท 

 

สรุปบทเรียนรู้ของทีมงานจัดเวที

๑.     ความสำคัญของการเตรียมคนเล่าเรื่องในเวที เพื่อขยายผลทั้ง ๕ ครั้ง คือ  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่วัดเลาขวัญ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่โรงเรียนชุมชนบ้านหลุมรัง  เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่โรงเรียนเลาขวัญราษฎร์บำรุง วันที่ ๑๘-๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่โรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๕และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕  พบว่า การเตรียมคนเล่าเรื่องสามารถทำได้น้อย เนื่องจากอุปสรรคในการติดต่อประสานงาน ที่ผู้เข้ารับการอบรมอ้างว่าไม่มีเวลา ไม่แน่ใจจะว่างหรือไม่พบว่าเรื่องเล่าที่เตรียมมาไม่มีพลังเพียงพอ ซึ่งอย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้จัดเวทีได้ทำการเตรียมเรื่องเล่าตัวอย่างมาเสริมในเวที เช่น เรื่องเล่าของครูจรัสสม ปานบุตร เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เรื่องเล่าของครูสายัณห์ โพธิ์ศรีทองในเวทีอบรมโครงการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี จังหวัดกาญจนบุรี ในเขตพื้นที่ สพป .กาญจนบุรี เขต ๔   เรื่องเล่าของนายบุญช่วย พันธุ์ชาติ หรือ ครูน้ำหวาน  เรื่องเล่า “วอลเลย์บอลบ้านนอก” ในเวทีถอดรหัสผลงานดีเด่น ในเขตพื้นที่ สพป.กาญจนบุรี เขต๓  ซึ่งก็สามารถช่วยให้เวทีได้เห็นแนวทางการเล่าเรื่องได้มากพอสมควร

๒.     การเตรียมประธานเปิดงาน จากที่ทั้ง ๒ เวที ได้แก่  เวทีอบรมโครงการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี จังหวัดกาญจนบุรี ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ ๔  และ เวทีถอดรหัสผลงานดีเด่น ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ ๓  ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ให้ความสำคัญ และเข้าร่วมเปิดงาน  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ทำการกล่าวเปิดงานซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมากส่งผลกระทบต่อกระบวนการที่เตรียมไว้ ทั้งนี้เนื่องมากจากผู้จัดงานมีความเกรงใจในประธาน และไม่ได้ประสานเรื่องเวลาและประเด็นที่จะให้ประธานได้กล่าว

 

๓.     การแก้ไขปัญหาในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เจอ  การประเมินสถานการณ์เวทีเรื่องที่จำเป็นในการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะต้องเข้าใจถึงความต้องการของผู้เข้าร่วมเวทีเป็นสำคัญว่าเขาคาดหวัง

ว่าจะได้อะไร โดยต้องเก็บเป้าหมายของผู้จัดไว้เป็นลำดับรอง ซึ่งในวงแรกๆ จะต้องเน้นให้ผู้เข้าร่วมวงเกิดความประทับใจ และรู้สึกดีกับกระบวนการที่เข้าร่วมและเกมส์ ต่าง ๆ หนังสั้น ทำให้การอบรมรู้สึกผ่อนคลายมีส่วนร่วมกันมากขึ้น มีผู้มีแสดงเจตนาอยู่อบรมจนหมดเวลา ทำให้มีกำลังใจในการขับเคลื่อน

 ๔.  การช่วยแนะแนวทาง (Coaching) ของผู้มีประสบการณ์ยังมีส่วนสำคัญต่อการสร้างให้เกิดการขยายวง โดยจากการที่ เวทีอบรมโครงการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี จังหวัดกาญจนบุรี ในเขตพื้นที่ สพป.กาญจนบุรี เขต ๔  มีผู้มาช่วยแนะแนวทางให้ คือ คุณวิมล โรมา และ คุณศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้การจัดวงแลกเปลี่ยนซ้อนอยู่ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จัดขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาด การทดลองแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงานในอนาคตของทีมงานที่เรียนรู้การจัดกระบวนการ ในขณะที่ไม่มีผู้มาช่วยแนะแนวทางให้ ในเวทีถอดรหัสผลงานดีเด่น ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ ๓  ทำให้การเรียนรู้ในส่วนนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้


ผลการดำเนินการที่เกิดขึ้น

๑.     เกิดการสนับสนุนการทำการการจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกำหนดเป็นนโยบายที่จะดำเนินการต่อเนื่องในจังหวัดกาญจนบุรี และการสนับสนุนงบประมาณในการจัดเวทีในเขตพื้นที่ สพป .กาญจนบุรี เขต๓ และ ๔ ได้แก่ เวทีถอดรหัสผลงานดีเด่น วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ สวนปีบ ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี  และ เวทีอบรมโครงการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี จังหวัดกาญจนบุรี ณ โรงเรียนเลาขวัญราษฎร์บำรุง วันที่ ๑๘-๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๕  ร่วมสนับสนุนงบประมาณจัดเวที

๒.     ในเขตพื้นที่ สพป .กาญจนบุรี เขต ๓เ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การทำงานร่วมกันของครูในระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครูจากองค์กรพัฒนาเอกชน  ครู ตชด. ครู กศน.

๓.     การเกิดเครือข่ายที่จะนำไปสู่การจัดตั้งเป็นสภาการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี  ต่อไป

 

 ปัญหาอุปสรรค

            ๑. ครูแกนนำไม่มีเวลาในการเตรียมตัวครูให้พูดเรื่องเล่าเร้าพลังได้ดีก่อนเข้าวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลจากผู้เข้าร่วมเวทีและทีมแกนนำไม่สามารถสร้างความเข้าใจเรื่องจัดการเรียนการสอนแบบ   PBL ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับครู ในบางครั้งครูก็เข้าใจยาก   ดังนั้นในการจัดวงครั้งต่อไปควรมีกิจกรรมที่เน้น  PBL ให้ผู้เข้าเสวนาได้เรียนรู้ก่อน หรือมากขึ้น

            ๒. ในการทำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ทีมสนับสนุนยังไม่มีความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบ  เช่น   ช่างภาพ  ถ่ายวีดีโอ บักทึกเทป  ทำให้การถอดบทเรียน การสรุปงานได้ค่อนข้างช้าและยุ่งยาก   ควรจัดทีมสนับสนุนให้ครบและทำการสื่อสารกันให้ชัดเจนระหว่างผู้ดำเนินการ และผู้ปฏิบัติ

            ๓. การประสานงานในทีมดำเนินงานไม่ชัดเจนในเรื่องบทบาทหน้าที่ในการทำงาน   บางครั้งไปช่วยทำงานคนอื่น  จึงบกพร่องต่อหน้าที่ของ ตนเอง   ควรมีการมอบหมายบทบาทหน้าที่ของบุคลากรอย่างชัดเจน ไม่ให้ซ้ำซ้อน

            ๔. การทำงานของครูบางท่าน ขยายวงในโรงเรียนไม่ได้ เนื่องจากมีวัยวุฒิห่างกันมากและครูมีกรอบของตนเอง   ขาดประสบการณ์ในการควบคุมหัวปลา  ควรมีการพัฒนาครู   FACILITATOR   อย่างสม่ำเสมอ 

 

ข้อเสนอแนะ

            ๑.  ควรมีการพัฒนาเทคนิค การเป็นครู  FACILITATOR   อย่างต่อเนื่อง

            ๒. ควรเพิ่มเวลาในการจัดวงเสวนาให้เพิ่มขึ้น การจัด ๑ วันครูส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการเสวนา ลปรร.

 

ผลลัพธ์

            ๑. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี   เขต  ๓ และ เขต ๔ เห็นความสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบ   PBL   จึงตั้งทีมทำงานด้านนี้ขึ้นมา

            ๒. ครูผู้สอนได้นำ  PBL ไปบูรณาการการเรียนการสอนในโรงเรียน  เช่น โรงเรียนบ้านเขานางสางหัว   ในวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี   และการฝึกการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนให้เป็นระบบ   โรงเรียนอนุบาลวัดเลาขวัญ ได้นำไปจัดวงเสวนาของนักเรียนในวิชานาฏศิลป์และดนตรี  โรงเรียนบ้านหนองโสน ได้ตั้งวงเสวนาของคณะครูและผู้บริหาร  โรงเรียนประชามงคล ได้นำไปตั้งวงเสวนากับนักเรียนในโรงเรียน โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูผู้สอนเด็กด้อยโอกาส เป็นประจำทุกเดือน โรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม คณะครูส่วนหนึ่งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและเตรียมการขยายผลทั้งโรงเรียน  เป็นต้น ทำให้การพัฒนานักเรียนให้พูดเก่ง    สามารถสื่อสารกันได้ดี และฝึกคิดวิเคราะห์ในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะชน ทั่วไป  ครูเห็นกระบวนการและเข้าใจ    PLC   เพิ่มมากขึ้น  จนสามารถจัดวงเสวนาต่อไปได้

          ๓. มีกระบวนการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี 

เขต  ๓  ผู้อำนวยการเขตฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง  แต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี  เขต ๔  คณะครูในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินงาน และเสนอโครงการต่อ สพป.กจ.๔ เอง

            ๔. หลังจากครูสอนดีได้รับรางวัลแล้วมีการก่อตั้งชมรมเครือข่ายครูสอนดีของจังหวัดกาญจนบุรีขึ้น โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี

หมายเลขบันทึก: 504920เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2012 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

ทำงาน...แบบการสร้างเครือข่าย ... ดีที่สุดเลยนะึคะ ... ขอบคุณ สิ่งดีดี ... ที่มีให้นะคะ

ที่โรงเรียนก็มี แต่สอนดีระดับ ปานกลาง เนื่องจากมีภาระงานมาก

แต่ที่เราชื่นชม ศรัทธา มาก ก็คือ เธอและ เขา ขยันสอน หนักเอาเบาสู้ ทำงานนอกเหนือจากที่สั่งได้

เอาใจใส่ในรายละเอียดของเด็ก รับผิดชอบ ตรงเวลา และ เสียสละ

ซึ่งที่กล่าวมา บางครั้ง "ครูสอนดี" ( อาจจะ )ไม่มี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท