"มนุษย์ที่สมบูรณ์" ต่างกับ "คนสมบูรณ์แบบ" อย่างไร?


คนสมบูรณ์แบบที่พัฒนาตนแล้วมักจะมีความเฉียบแหลมในการวิจารณ์และเป็นผู้นำในทางจริยธรรม

คำ "มนุษย์ที่สมบูรณ์" กับคำ "คนสมบูรณ์แบบ" บางคนก็ใช้ในความหมายต่างกัน บางคนก็ใช้ในความหมายเดียวกัน ซึ่งก็ไม่เป็นไร คนไทยทุกคนล้วนเป็นเจ้าของภาษาไทย   ข้อเขียนนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ๒ คำนี้ มีความหมายต่างกันอย่างไรในทางจิตวิทยา

มนุษย์ที่สมบูรณ์ตามแนวคิดจิตวิทยาตะวันตกคือ ผู้รู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ (self-actualization) ศาสตราจารย์ศรีเรือน แก้วกังวาล เขียนไว้ในหนังสือจิตวิทยาบุคลิกภาพ (๒๕๕๑) ว่า บุคคลที่รู้จักตนเองอย่างถ่องแท้มีคุณสมบัติบางประการ เช่น ยอมรับตนเอง บุคคลอื่น และกฏธรรมชาติตามที่เป็นจริง รู้จักปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงที่แวดล้อมตน แก้ปัญหาใดๆ โดยวางศูนย์กลางวิจารณญาณที่ตัวปัญหา ไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่สับสนระหว่างวิธีการทำงานกับผลลัพธ์ นั่นคือ ไม่เชื่อว่าวิธีการที่เลวจะนำไปสู่ผลที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ยึดติด มีอารมณ์ขันจากเรื่องที่คิดแล้วขำ ไม่ขบขันจากเรื่องโลนๆ หรือเรื่องล้อเลียนล่วงเกินผู้อื่น มีความชื่นชมในผู้คนและสิ่งใหม่ๆ ประพฤติตนสนิทชิดเชื้อกับมนุษยชาติ ไม่แยกตัวหรือโดดเดี่ยวตนเองออกจากสังคม เป็นตัวของตัวเองและรู้สึกเป็นอิสระ มีความสุขจากภายในตนได้โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาจากภายนอก ฯลฯ

ในพระพุทธศาสนามีการกล่าวถึงมนุษย์ที่สมบูรณ์อยู่เช่นกัน เช่นที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า พระอรหันต์ คือ มนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด   พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) อธิบายไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์เรื่องการจำแนกประเภทมนุษย์ว่า ศาสนาพุทธจำแนกมนุษย์เป็น ๒ จำพวก ได้แก่ “ปุถุชน” และ “อริยบุคคล” ปุถุชน คือ คนที่ยังหนา (คำ ปุถุ ในบาลีแปลว่า หนา) จึงหมายถึงคนที่ยังมีกิเลส (โลภะ โมหะ โทสะ) หนาอยู่   ปุถุชนคนใดที่ยังมีกิเลสหนามาก เรียก พาล (คำนี้ในบาลีแปลว่า อ่อน) หมายถึงคนที่ยังอ่อนในปัญญามาก ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี   ส่วนปุถุชนที่มีความประพฤติงดงาม มีเมตตากรุณา ดำรงตนอยู่ในศีลในธรรม เรียกว่า กัลยาณชน (คนงาม) หรือ สาธุชน (คนดี)   ส่วนอริยบุคคล (หรือพระอริยเจ้า) คือ ผู้ประเสริฐ ไกลจากกิเลส มี ๔ ระดับ เริ่มจากอริยบุคคลระดับต้นคือพระโสดาบัน และเมื่อสามารถดับกิเลสลงได้มากขึ้นอีกก็จะเป็นพระสกิทาคามี และเมื่อกิเลสเบาบางมากจนเกือบสิ้นเชิงก็จะเป็นพระอนาคามี จนถึงระดับสุดท้ายเมื่อสามารถดับกิเลสลงได้อย่างสิ้นเชิงก็จะเป็นพระอรหันต์

คนสมบูรณ์แบบ (perfectionist) ในจิตวิทยาหมายถึงบุคลิคภาพแบบหนึ่งของคน ในภาษาไทยมีคำที่ใช้เรียกคนประเภทนี้คำอื่นๆ เช่น คนเนี๊ยบ คนเจ้าระเบียบ คนสมบูรณ์แบบมักเชื่อว่าวิธีที่ถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น บางคนมักรู้สึกว่าตนมีจริยธรรมเหนือคนอื่น บางคนชอบผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมลงมือทำเสียที เพราะกลัวว่าจะทำผิดพลาด คนสมบูรณ์แบบมักชอบพูดคำว่า “ควร”  “ต้อง” และ "ทำไม?" (เพื่อตำหนิ ไม่ใช่ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ) อยู่เสมอ   คนสมบูรณ์แบบมักพยายามทำตนให้อยู่ในระเบียบวินัย ขณะเดียวกันก็ไวต่อความไม่อยู่ในระเบียบวินัย (ความไม่สมบูรณ์ ความบกพร่อง) ของคนอื่น และเป็นทุกข์ในใจกับพฤติกรรมเหล่านั้นได้เร็วและแรงกว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบอื่นๆ เช่น เห็นคนลัดคิวแล้วเกิดความรู้สึก (ความทุกข์) ภายในใจตนขึ้นมารุนแรง จนอดที่จะแสดงพฤติกรรมตั้งแต่บ่นเบาๆ จนถึงเข้าไปตำหนิคนลัดคิวดังๆ   เมื่อใดที่คนสมบูรณ์แบบพบว่าตนทำอะไรผิด จะรู้สึกแย่กับตนเองและตำหนิตนเองอยู่ในใจรุนแรงกว่าเวลาเห็นคนอื่นทำผิดเสียอีก (แต่จะเก็บความรู้สึกนี้ไว้เป็นความลับส่วนตัว ไม่บอกใคร)   

คนสมบูรณ์แบบที่พัฒนาตนแล้วมักจะมีความเฉียบแหลมในการวิจารณ์ด้วยสัมมาวาจา (พูดตรงๆ อย่างอ่อนโยน ไม่หยาบคาย ไม่ส่อเสียด) และเป็นผู้นำในทางจริยธรรม

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๖ ต.ค.๒๕๕๕ 

หมายเลขบันทึก: 504673เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2012 07:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2012 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

 

"มนุษย์ที่สมบูรณ์" ต่างกับ "คนสมบูรณ์แบบ"....ตางกันตรงนี้นี่เองนะคะ 


- พระอรหันต์ 

- คนเนี๊ยบ คนเจ้าระเบียบ คนสมบูรณ์แบบ


ขอบคุณ นะคะ


อาจารย์พุทธทาสภิกขุพูดถึงเรื่องนี้ไว้น่าศึกษาครับอาจารย์ ขอบคุณครับ...

ขอบคุณครับ อ.น ผมขอนำลิงก์ท่านพุทธทาสภิกขุพูดถึงเรื่องนี้ไปแชร์ในเฟสบุ๊ค .

สาธุครับอาจารย์Blank ขอบคุณครับ...

 

พงษ์พัฒน์ พระสว่าง

บนโลกนี้ไม่เคยมีอะไรที่สมบูรณ์แบบ

ถ้ามนุษย์สมบูรณ์จริงคงไม่มีอะไรให้สร้างสันต่อเติม

ตราบใดที่ยังมีสิ่งที่ให้ปรับตัวยังมี่สิ่งที่ให้แก่ไขนั้น

สิ่งนั้นก็ยังไม่สมบูรณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท