mooc: เรียนออนไลน์ได้จากไอวีลีก ก็ไม่ต้องมีมหาวิทยาลัยที่อื่นแล้วสิเธอ


เปิดให้เรียนกันแบบนี้ ไม่กลัวว่าต่อไปจะไม่ต้องมีมหาวิทยาลัยกันอีกแล้วเหรอพ่อคุณ?

ณ วันนี้หลายคนคงได้ยินคำว่า mooc (อ่านว่า มูก) ที่ย่อมาจาก massively open online course ซึ่งหมายถึงการเรียนออนไลน์จาก platform ที่ฟรี (open) และมีเพื่อนเรียนเยอะมาก (massively) จริงๆ แล้ว mooc ก็เหมือนวิชาทั่วๆ ไปที่มีสื่อการสอน มีแบบทดสอบ (quiz) และแบบฝึกหัด (assignment) มีกำหนดเวลาเริ่มและจบหลักสูตรแน่นอน แต่ที่ไม่เหมือนหลักสูตรทั่วไป คือมันมีการออกแบบให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารกันได้ง่าย เช่นมีกระดานสนทนาพ่วงอยู่กับหัวข้อที่เรียน ให้ผู้เรียนช่วยเหลือกันได้สะดวก (ไม่ใช่ลอกงานกันนะครับ) ถ้ายังไม่คุ้นก็ลองดูวิดีโอนี้นะครับ

แรกเริ่มเดิมที มหาวิทยาลัยดังๆ หลายแห่งขยับตัวกันทีละแห่ง ต่อมาพัฒนาเป็นความร่วมมือของหลายมหาวิทยาลัย โดยมีการจัดทำ platform ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เอาวิชาที่มีอยู่แล้วใส่เข้าไป เพื่อแชร์พื้นที่และยังช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลหลักสูตรต่างๆ ได้ง่าย

การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทั่วโลกได้เรียนฟรีแบบนี้ ถือเป็นเรื่องใหม่มาก ใหม่ถึงขนาดที่ว่ามีคำถามอีกมากมายที่ทั้งมหาวิทยาลัยเจ้าของเนื้อหาและเจ้าของธุรกิจ mooc ต่างๆ ยังไม่สามารถตอบ เพราะถลำเข้ามาเร็วเกิดกว่าจะคิดถึงปัญหาที่จะตามมา

ในส่วนของเหตุผลที่มหาวิทยาลัยดังๆ ยอมเปิดหลักสูตรให้ทั่วโลกได้เรียนฟรีนั้น ผมได้เขียนถึงไปแล้ว แต่ในฝั่งผู้ประกอบการ หรือเจ้าของกิจการ mooc นั้น ยังมีคำถามว่าโมเดลธุรกิจแบบนี้ จะมีกำไรได้อย่างไร? ตรงนี้คงต้องดูกันไปอีกสักพัก

อีกคำถามที่น่าสนใจคือ เปิดให้เรียนกันแบบนี้ ไม่กลัวว่าต่อไปจะไม่ต้องมีมหาวิทยาลัยกันอีกแล้วเหรอพ่อคุณ? จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องมาดูผลการสำรวจ mooc survivors หรือผู้รอดตายจาก mooc เสียก่อน

การสำรวจนี้เลือกนักเรียนประมาณ 6,000 คนที่บ้าเห่อเข้าไปลงทะเบียนเรียนใน edX (mooc ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ MIT, Harvard และ UC Berkeley) ในวิชา Circuits & Electronics ที่สามารถดันทุรังไปจนจบหลักสูตรหนึ่งวิชาได้ จากจำนวนทั้งสิ้น 155,000 คนที่ลงทะเบียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีแค่ 23,000 คนเท่านั้นที่ได้แต้มไป (แปลว่าได้ลงมือทำแบบทดสอบหรือแบบฝึกหัดอะไรบ้าง) และมีเพียง 9,300 คนที่ผ่านการสอบกลางภาค พอถึงก่อนสอบปลายภาคก็เหลือนักเรียนแค่ 8,200 คน ซึ่งจากจำนวนนี้มี 7,000 คนที่ผ่านหลักสูตร (ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะออกประกาศนียบัตรแบบไม่เป็นทางการให้)

ผลการสำรวจที่เจาะลึกเฉพาะกลุ่มที่รอดตายมาถึงช่วงท้ายๆ ของวิชาพบว่าไม่ใช่จำพวกนักเรียนทั่วไป (ที่มีอายุสิบแปดสิบเก้าจนถึงยี่สิบต้นๆ) ที่เราพบกันในมหาวิทยาลัยหรอกครับ ครึ่งหนึ่งมีอายุเกิน 26 ปี และเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีอายุอยู่ในวัยเรียนมหาวิทยาลัยตามระบบ ระดับการศึกษาของนักเรียนเหล่านี้ประมาณหนึ่งในสามนั้นจบปริญญาโท อีกหนึ่งในสามจบปริญญาตรีแล้ว อีกหนึ่งในสามยังไม่ได้ป.ตรี

ที่สำคัญคือสองในสามของนักเรียนกลุ่มนี้ ยอมรับว่าเคยเรียนวิชาที่คล้ายกับวิชา Circuits & Electronics มาแล้ว (เกือบทุกคนบอกว่าการออกแบบหลักสูตรของ edX ดีกว่าที่เคยเรียน)

กลับมาที่คำถามข้างต้นที่ค้างไว้ว่า platform แบบ mooc จะเข้ามาแทนที่มหาวิทยาลัยได้ไหม?

กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาวิชา Circuits & Electronics นี้ แม้จะเป็นวิชาที่ค่อนข้างยาก ต้องมีพื้นด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มาด้วยและเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับประชากรในกลุ่มอื่นได้ แต่ก็สรุปได้ว่านักเรียนธรรมดาๆ ถ้าคิดจะเรียน mooc ก็ต้องเตรียมตัวกันมากพอควรและต้องมีวินัยในตัวเองสูง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้พบได้ในผู้เรียนวัยผู้ใหญ่ (non-traditional หรือ adult learners) นั่นหมายความว่า mooc เหมาะกับคนใฝ่เรียนจริงๆ และมีสันดานเป็นคนอยากเรียนรู้ตลอดชีวิต

จากข้อมูลนี้บวกกับประสบการณ์ในอาชีพอาจารย์ ฟันธงไปเลยว่า mooc ไม่สามารถแทนที่มหาวิทยาลัยธรรมดาๆ ได้ เพราะการอบรมหล่อหลอมและบ่มเพาะความรู้และวัฒนธรรมการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ สี่หรือห้าปีในรั้วมหาวิทยาลัยถือเป็นช่วงเวลาสำคัญมากสำหรับการปรับทัศนวิสัยในสมองนะครับ ผลผลิตของแต่ละคณะ ในแต่ละมหาวิทยาลัย ถึงมีลักษณะอะไรบ้างอย่างร่วมกันไงครับ (ไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะภูมิหลังครอบครัวก็สำคัญ) เรื่องนี้ในตลาดงานบ้านเราก็รู้กัน

แต่นัยสำคัญของ mooc ต่อการศึกษานั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีนะครับ ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ “โอกาส” ที่เพิ่มขึ้นของคนที่อยากเรียนและพร้อมด้านจิตใจแต่ไม่เคยมีทรัพยากรเพียงพอโดยเฉพาะทุนทรัพย์ ลองเข้าไปดูใน edX หรือ coursera นะครับ เขามีหลักสูตรให้เลือกเรียนเพียบ!

นัยสำคัญอีกประการสำหรับผู้สอนอย่างผมเองคือ “โอกาส” ที่จะได้เห็นว่ามหาวิทยาลัยดังๆ เขาสอนกันยังไง เข้าไป แอบดูได้ฟรีๆ แอบทำแบบฝึกหัดด้วยก็ได้ และรวมถึงโอกาสที่จะได้เอาความรู้เหล่านี้มาถ่ายทอด มาแบ่งปันกับผู้เรียนในบ้านเรา

ใครสอนสาขาไหน ลองไปอัปเดตความรู้ตัวเองกันได้นะครับ อาจารย์อย่างเราก็อยู่ในกลุ่มผู้ที่มีแนวโน้มจะรอดจาก mooc ได้มากกว่านักศึกษาอยู่แล้ว (ฮา!) เผื่อจะมาเป็นเพื่อนร่วมชั้นกันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 503268เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2012 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

โลกยุค IT อะไรๆๆ ก็ดีไปหมด .... แต่ต้องเลือกใช้....พอสมควร นะคะ

ขอบคุณท่าน  ขอบคุณบทความดีดี มีคุณค่านี้นะคะ

รับความรู้ ... อู้ทีหลังครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ

ใช่แล้วครับ Dr. Ple, ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น หน้าที่พ่อแม่และครูก็เปลี่ยนไปนะครับ บ่มเพาะให้ผู้เรียนได้รู้วิธีเลือกข้อมูลและมีคุณธรรมสำคัญกว่าการ "ให้" ข้อมูลเฉยๆ ทั้งในยุคนี้และยุคหน้า ว่าไหมครับ :)

ขอบพระคุณอาจารย์ was ที่แวะมาทักทายครับ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท