ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 6. จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ


กิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูจูดี้และนักเรียนร่วมกันริเริ่มสร้างสรรค์ และให้ผลดีต่อการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง เรียกว่า “discussion-forum monitoring” โดยสร้าง online discussion ขึ้นมา ให้นักเรียนต้องเข้าไปร่วมอภิปราย

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 6. จากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๖ นี้ ได้จากบทที่ ๖ ชื่อ From Theory to Practice Teachers Talk About Student Engagement  

ในบทนี้มีกรณีตัวอย่างจากครูรวม ๗ คน หรือ ๗ แบบ    ผมจะนำมาลงบันทึกตอนละคน หรือตอนละแบบ    โดย ศ. เอลิซาเบธ แนะนำว่า ระหว่างอ่านเรื่องราวของครูแต่ละคน ให้ตั้งคำถามไปด้วยว่า กรณีตัวอย่างนั้นๆ บอกอะไรเกี่ยวกับทฤษฎีที่ได้เขียนไว้แล้วในบทก่อนๆ ดังนี้

  • ครูทำอย่างไร ให้ศิษย์เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนกำลังเรียน
  • ครูจัดห้องเรียนอย่างไรเพื่อสร้างความหวังว่า หากตนมานะพยายาม ตนจะประสบความสำเร็จ
  • ครูมียุทธศาสตร์และการกระทำอย่างไร เพื่อให้ศิษย์เรียนจากการลงมือทำ
  • การสร้างความเป็นชุมชนในห้องเรียนสำคัญต่อครูอย่างไร ครูจะบรรลุได้อย่างไร
  • ครูทำอย่างไรนักเรียนจึงจะได้รับการท้าทายพอดี ไม่ยากไม่ง่ายเกินไป
  • ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะได้เรียนแบบองค์รวง คือทั้ง cognitive, psychomotor และ affective domain 

 

ทำให้นักเรียนสนใจด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ : กรณีอาจารย์ จูดี้ เบเกอร์

อาจารย์ จูดี้ เบเกอร์ สอนสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ   เป็นคนขี้อายและเก็บตัว  ไม่ใช่คนคล่องแคล่วในการออกสังคม   แต่ก็สามารถริเริ่มหรือสร้างสรรค์การเรียนรู่ที่ทำให้เกิด student engagement ได้อย่างดี

ครูจูดี้ บอกว่าตนมีเคล็ดลับอยู่ที่  (๑) ลงมือทำด้วยตนเอง  (๒) ตระหนักว่าเงื่อนไขในสังคมเปลี่ยนไปแบบตรงกันข้าม   สมัยที่ตนเองเรียน เนื้อหาสาระความรู้ได้จากครู  หาจากแหล่งอื่นยาก   แต่เวลานี้ เนื้อหาสาระวิชาหาได้แค่ใช้นิ้วกดปุ่ม  นักเรียนไม่ต้องไปโรงเรียน หรือห้องสมุด   (๓) สิ่งที่โรงเรียนมีค่าต่อนักเรียนไม่ใช่ตัวความรู้อีกต่อไป แต่เป็นคุณค่าของการฝึกเลือกและตรวจสอบความน่าเชื่อถือของความรู้ แล้วนำไปฝึกฝนการประยุกต์ใช้ความรู้

 

ช่วยให้นักเรียนเป็นเจ้าของวิชาเรียน

ครูจูดี้อ้างถึง Set 49 : Student-Generated Rubrics ในหนังสือเล่มนี้  โดยให้ นศ. ของตนมีส่วนกำหนดหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ และการสอบ ขึ้นใช้ในชั้นเรียน   รวมทั้งร่วมกันกำหนดพฤติกรรมที่พึงประสงค์/ไม่พึงประสงค์ ในชั้นเรียน หากจำเป็น    แต่ไม่ใช่กำหนดหลักสูตรเองทั้งหมด   เพราะนักเรียนยังกำหนดเองไม่ได้    ครูจูดี้จะเอาแผนวัตถุประสงค์และกิจกรรมการเรียนรู้ให้ นศ. ออกความเห็น   และร่วมกันกำหนดวันสอบ 

นักเรียนจะได้รับ “เมนูกิจกรรมการเรียนรู้” ให้ช่วยกันเลือกและทำพันธสัญญาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การให้เกรดของวิชานั้น   กิจกรรมเหล่านี้ได้แก่ การเดินทางไปศึกษาภาคสนาม  การวิจัย  การเขียนเรียงความ  การเขียนบันทึกสะท้อนความคิด (reflective journal)  การสัมภาษณ์ผู้ประกอบวิชาชีพด้านนั้น  เป็นต้น

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ครูจูดี้และนักเรียนร่วมกันริเริ่มสร้างสรรค์   และให้ผลดีต่อการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง เรียกว่า “discussion-forum monitoring”   โดยสร้าง online discussion ขึ้นมา ให้นักเรียนต้องเข้าไปร่วมอภิปราย    

กิจกรรมดังกล่าวต้องการ discussion moderator ทำหน้าที่ดูแล  (๑) ว่าไม่มีการนำข้อความที่ไม่เหมาะสมออกเผยแพร่  (๒) การอภิปรายพุ่งเป้าอยู่ที่ประเด็น  (๓) เก็บข้อมูลว่าใครร่วมกิจกรรมบ้าง  และ (๔) ตั้งคำถามกระตุ้นการอภิปรายประเด็นที่ลึกยิ่งขึ้น    ซึ่งครูทำไม่ไหว เพราะใช้เวลามาก   จึงเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มอบหมายให้นักเรียนผลัดเวรกันทำหน้าที่คนละ ๑ สัปดาห์   และทำหน้าที่สังเคราะห์รายงานส่งครู 

กิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าวทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ลึกกว่าปกติทั่วไป    คือได้ทักษะในการอำนวยความสะดวกต่อการอภิปรายกลุ่มแบบ online   และได้ฝึกทักษะการคิดแบบที่เรียกว่า higher-order thinking skills   

ในการมอบหมายงานให้นักเรียนทำนี้ ครูกับ นศ. ทำข้อตกลงคล้ายๆ PA (Performance Agreement) ที่ใช้ในที่ทำงานในสมัยปัจจุบัน   คือถ้าสัญญาว่าจะทำงานยาก และทำสำเร็จ ก็จะได้เกรดสูง    นักเรียนบางคนตั้งเป้าสูงเกินกำลัง    เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งก็ตระหนักว่าคงจะทำไม่ได้ตามข้อตกลงเดิม   ครูจูดี้จะยอมเจรจาใหม่ได้ด้วย 

 

ทำความเข้าใจพื้นความรู้ของนักเรียน

เพื่อให้ความท้าทายในการเรียนรู้เหมาะสม ครูและนักเรียน/นศ. ต้องรู้ว่านักเรียน/นศ. แต่ละคนมีพื้นความรู้เดิมเป็นอย่างไร   ครูจูดี้ ใช้เครื่องมือ SET 16 : Team Concept Maps ในหนังสือเล่มนี้ เป็นกิจกรรมแรกในชั้นเรียน   โดยแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ให้ทำ mapping ความรู้ (เรียกว่า cognitive map) เรื่องใดเรื่องหนึ่ง   เช่นเรื่อง “สุขภาพของผู้หญิง”   ครูจะได้ตื่นตาตื่นใจกับพื้นความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างหลากหลาย ของ นร./นศ.   ในการแสดงออกว่าตนเข้าใจเรื่องสุขภาพของผู้หญิงอย่างไรบ้าง    แล้วให้ตัวแทนของกลุ่มออกมาอธิบายแผนผังของกลุ่มแก่เพื่อนร่วมห้องเรียน

แล้วครูจูดี้ บอกชั้นเรียนว่าตนได้เห็นอะไรจากกิจกรรม mapping ความรู้นี้   และวิชาที่กำลังเรียนจะเชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่ นศ. มีอยู่แล้วอย่างไร   ในตอนจบครูจูดี้อาจให้นักเรียนจัดกลุ่มร่วมกันเขียน mapping ความรู้ที่ได้เรียนรู้ในคาบเรียนนี้

 

สร้างความสนใจของนักเรียน ต่อสิ่งที่ครูสอน

ครูจูดี้เล่าเรื่องนักเรียนในวิชา Program Evaluation ที่มาเรียนอย่างไม่สนใจ เพราะอาจคิดว่ารู้แล้ว  คิดว่าเป็นเรื่องตัวเลข หรือเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตอนาคตของตน   ครูจูดี้ใช้ SET 2 : Artefacts เป็นเครื่องมือสร้าง student engagement   เพื่อช่วยให้ นศ. เข้าใจคุณค่าของวิชานี้    โดยแจกของ ๓ อย่าง ให้นักเรียนบอกว่าทั้ง ๓ สิ่งนั้นมีความเหมือนกันอย่างไร   แล้วชวนตีความความเหมือนในมิติต่างๆ กัน เช่น ด้านราคา คุณภาพ การใช้งาน   ซึ่งจะนำไปสู่การทำความเข้าใจเรื่องเกณฑ์ของการประเมิน   เป้าหมายของการเรียนคือ การฝึกคิดให้ลึกขึ้น สำหรับใช้กำหนดเกณฑ์ของการประเมิน   

 

ช่วยให้นักเรียนตระหนักว่า ตนเองมีส่วนเพิ่มเติมสร้างสรรค์ความรู้ส่วนรวมของชั้นเรียน

ครูจูดี้ต้องการยืนยันให้ นศ. แต่ละคนมั่นใจว่าตนเองมีพื้นหรือต้นทุนความรู้อยู่แล้วส่วนหนึ่ง    เช่นในชั้นเรียนเรื่อง “สุขภาพของผู้หญิง”  ครูจูดี้จะถามว่า ใครเคยมีลูกแล้วบ้าง    ทุกชั้นเรียนจะมี ๕ - ๖ คน  ครูจะบอกว่า “เธอคือ expert”   และจัดให้ทำหน้าที่ expert  ใน SET 5 : Stations   โดยให้ไปยืนทำหน้าที่ “ผู้มีประสบการณ์” แยกเป็นสถานีที่ ๑, ที่ ๒ …   ให้ นศ. จับกลุ่มแยกย้ายกันไปสัมภาษณ์เพื่อเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์โดยมีคำถามตัวอย่างให้   หลังจากนั้นให้แต่ละกลุ่มรายงานต่อชั้นเรียน   เป้าหมายของการเรียนรู้แบบนี้คือ ช่วยให้ นศ. ได้ตระหนักว่าคนเรา ที่เคยผ่านประสบการณ์เดียวกัน อาจมีคำตอบต่อคำถามเดียวกันแตกต่างกัน

โดยแนวทางทำนองนี้ ครูจูดี้เคยให้ นศ. ร่วมกันเขียนตำรา จากการค้น อินเทอร์เน็ต และจากการสัมภาษณ์ผู้มีประสบการณ์   แทนที่จะให้เรียนจากตำราที่มีหลายส่วนล้าสมัย   และพบว่าตำราของ นศ. มีคุณภาพสูงมาก

 

ช่วยให้ นศ. พัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) และความเข้าใจเชิงวัฒนธรรม

เนื่องจากครูจูดี้สอน นศ. สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ   การพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมีความสำคัญต่อวิชาชีพนี้    ครูจูดี้สอนให้ นศ. เห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยให้แต่ละคนเขียนรายการกิจกรรมที่ตนถนัด (ชอบทำ)  กับกิจกรรมที่ตนไม่ถนัด (ไม่อยากทำ)    แล้วให้เลือกจากรายการที่ไม่ถนัด ๑ อย่าง  แล้วให้ทำต่อหน้าชั้น  ให้เพื่อนๆ สังเกตความรู้สึกของเพื่อน    เพื่อให้ นศ. ได้เข้าใจว่า กิจกรรมง่ายๆ สำหรับตน อาจเป็นเรื่องฝืนใจหรือลำบากใจยิ่งสำหรับคนอื่นก็ได้      

นศ. สายวิทยาศาสตร์สุขภาพมักเป็นคนหนุ่มคนสาว และแสดงความรำคาญที่ผู้ป่วยสูงอายุกรอกแบบฟอร์มไม่ครบถ้วนหรือผิดๆ ถูกๆ    ครูจูดี้บอกให้ นศ. เอาแขนข้างถนัดแช่น้ำแข็ง ในขณะที่ใช้มือข้างไม่ถนัดกรอกแบบฟอร์ม    เพื่อจะได้เข้าใจว่าคนแก่หรือกำลังมีความเจ็บปวดมีความยากลำบากในการกรอกแบบฟอร์มอย่างไร   แล้วให้ นศ. เขียนรายงานความรู้สึกของตนในขณะนั้น และข้อเรียนรู้เรื่องความเห็นอกเห็นใจคนอื่น   การเรียนรู้บทเรียนนี้ทำได้ต่อทั้ง นศ. ปกติ และ นศ. ในหลักสูตร online  

 

ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

 ครูจูดี้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน ฮอร์โมน มาบรรยายให้ นศ. ฟังเรื่อง hormone therapy   เมื่อผู้เชี่ยวชาญพูดจบและออกจากห้องไป   ครูจูดี้ตั้งคำถามให้ นศ. แต่ละคนตอบว่าหากตนเป็นผู้ป่วย   จะใช้ฮอร์โมนหรือไม่  และให้บอกเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจเช่นนั้น    ตามปกติผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนจะพูดโน้มน้าวให้เหตุผลจน นศ. เชื่อในประโยชน์ของมัน  

หลังจากนั้นครูจูดี้ก็จะให้ข้อมูลและปัจจัยด้านลบในแต่ละข้อที่ นศ. ใช้ตัดสินใจใช้ฮอร์โมน   แล้วจึงให้ นศ. ตัดสินใจใหม่   และให้เหตุผลใหม่

นอกจากทำให้ นศ. ได้ความรู้ที่ครบถ้วนรอบด้านเกี่ยวกับการรักษาด้วยฮอร์โมนแล้ว    นศ. ยังได้เรียนทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking)  ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งสำหรับการดำรงชีวิตในโลกสมัยนี้   นั่นคือ ต้องไม่ด่วนเชื่อข้อมูลจากแหล่งเดียว    ไม่ว่าแหล่งนั้นจะน่าเชื่อถือเพียงใดก็ตาม

 

สอน metacognitive skills

metacognitive skills คือทักษะในการทำความเข้าใจกลไกการเรียนรู้ของตนและของผู้อื่น   ทักษะนี้เรียนรู้ได้โดยการทำ reflection หรือ AAR (After Action Review) กับตนเอง    โดยครูกำหนดให้ นศ. เขียน “บันทึกการเรียนรู้” (Learning Log)

ทั้งหมดนี้คือทีเด็ดวิธีสร้างความสนใจเรียนของศิษย์ โดยครูจูดี้ ที่เน้นให้ศิษย์เป็นผู้ลงมือทำ   ในตอนต่อไปจะเป็นทีเด็ดของครู นาตาเลีย

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ย. ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 503158เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2012 05:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ชอบประเด็นนี้ครับ
  • ช่วยให้ นศ. พัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) และความเข้าใจเชิงวัฒนธรรม
  • นอกจากนี้ยังมีเรื่อง
  • metacognitive skills

    metacognitive skills คือทักษะในการทำความเข้าใจกลไกการเรียนรู้ของตนและของผู้อื่น   ทักษะนี้เรียนรู้ได้โดยการทำ reflection หรือ AAR (After Action Review) กับตนเอง    โดยครูกำหนดให้ นศ. เขียน “บันทึกการเรียนรู้” (Learning Log)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท