วิษุวัต - อายัน


ปรากฏการณ์โคจรของโลก หมุนเวียนเปลี่ยนฤดูกาลให้สรรพสัตว์และพืช มีทั้งวิกฤติและโอกาส

Equinox & Solstice

               วันนี้เป็นวันที่ 22  กันยายน 2555  ซึ่งวันที่  22 หรือ 23  กันยายนเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในรอบปีของปรากฏการณ์ธรรมชาติของโลก   นั่นคือ เป็นวันที่แสงอาทิตย์ตั้งฉากที่เส้นศูนย์สูตรพอดี  มีชื่อเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า  Equinox  หรือ วิษุวัต  ในรอบปีมีเพียง  2  ครั้ง

       เพื่อความเข้าใจเรื่องนี้โดยครบถ้วน  จึงขอสรุปปรากฏการณ์ตกกระทบของลำแสงอาทิตย์ต่อพื้นโลกซึ่งมีผลต่อสภาวะอากาศบนโลกของเราไว้พอเข้าใจ 

                ในเบื้องต้นของปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่โลกของเราหมุนรอบแกน (สมมติ) ที่เอียงอยู่เป็นมุม  23 องศา  30 ลิปดา  กับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์  ทำให้มุมตกกระทบของลำแสงจากดวงอาทิตย์บนพื้นผิวโลกขยับเปลี่ยนมุมไปทีละเล็กทีละน้อยทุกขณะที่โลกโคจรไป  และพื้นที่ที่ได้รับลำแสงทำมุมตั้งฉากกับพื้นผิวโลกก็อยู่ภายใต้พื้นที่ระหว่าง 23 องศา  30 ลิปดาเหนือ  ถึง  23 องศา  30 ลิปดาใต้เท่านั้น  ส่วนพื้นที่อื่นที่อยู่บนเส้นรุ้งที่มากกว่านี้ไม่มีโอกาสได้รับแสงอาทิตย์ทำมุมตั้งฉากได้   ยิ่งอยู่บนเส้นรุ้งที่สูงมากขึ้นไปมุมตกระทบของแสงก็ยิ่งแคบลงเรื่อยๆ  และนี่คือเหตุสำคัญทำให้การกระจายอุณหภูมิของโลกร้อนมากที่ศูนย์สูตรและค่อยๆ เย็นลงๆ จนเป็นน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือและใต้นั่นเอง  อีกทั้งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฤดูกาลบนโลกของเราอีกด้วย

ภาพที่ 1  ตำแหน่งสำคัญของวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์

ที่มา : http://www.universetoday.com/56376/equinox/

 

 

   การตกกระทบของลำแสงอาทิตย์ในรอบปีมีจุดสำคัญ  4  ตำแหน่ง ดังภาพที่ 1   จาก  2  ลักษณะ  คือ  

1. Equinox  หรือ  “วิษุวัต” 

เป็นลักษณะที่แสงอาทิตย์ตั้งฉากที่เส้นศูนย์สูตร   เป็นปรากฏการณ์ที่โลกได้รับแสงอาทิตย์เท่ากันทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ และ มีกลางวันยาวเท่ากับกลางคืน 

ภาพที่  2  แสงอาทิตย์เข้าสู่โลกตำแหน่งที่เป็น Equinox   

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Earth-lighting-equinox_EN.png

 

ตำแหน่งที่เป็น Equinox  นี้จะมี  2  ครั้งในรอบปี  คือ

1.1.       Autumnal Equinox  หรือ ศารทวิษุวัต  เกิดขึ้นช่วงวันที่  22 หรือ 23  กันยายน วันนี้แสงอาทิตย์ตั้งฉากอยู่ที่เส้นศูนย์สูตร  ต่อจากวันนี้ไปแสงอาทิตย์จะไล่ไต่ตั้งฉากไปบนพื้นที่ของซีกโลกด้านใต้วันละเล็กวันละน้อย  หรือดวงอาทิตย์จะค่อยๆปัดไปทางทิศใต้ของเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้านั่นเอง  จนอีกประมาณ  3  เดือนข้างหน้าลำแสงก็ขยับไปตั้งฉากจุดสุดท้ายที่เส้นรุ้ง  23 องศา  30 ลิปดาใต้  แล้วย้อนกลับขึ้นมาใหม่

1.2.        Vernal Equinox  หรือ  วสันตวิษุวัต   เกิดขึ้นระหว่าง วันที่  21 หรือ 22  มีนาคม  วันนี้แสงอาทิตย์ตั้งฉากอยู่ที่เส้นศูนย์สูตร   ต่อจากวันนี้ไปแสงอาทิตย์จะไล่ไต่ตั้งฉากไปบนพื้นที่ของซีกโลกด้านเหนือวันละเล็กวันละน้อย  หรือดวงอาทิตย์จะค่อยๆปัดไปทางทิศเหนือของเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้านั่นเอง  จนอีกประมาณ  3  เดือนข้างหน้าลำแสงก็ขยับไปตั้งฉากจุดสุดท้ายที่เส้นรุ้ง  23 องศา  30 ลิปดาเหนือแล้วย้อนกลับลงมาใหม่ 

2.  Solstice  หรือ  “อายัน”   

     เป็นลักษณะที่แสงอาทิตย์ตั้งฉากที่รุ้ง 23 องศา  30 ลิปดา   เป็นปรากฏการณ์ที่โลกได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากันของซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้มากที่สุด  และ มีกลางวันกับกลางคืนยาวไม่เท่ากันมากที่สุดในรอบปีอีกด้วย     เกิดขึ้นปีละ  2  ครั้งเช่นกัน 

2.1.       Summer Solstice  หรือ  ครีษมายัน  ระหว่างวันที่ 20 หรือ 21 มิถุนายน  เป็นช่วงเวลาที่แสงอาทิตย์ตั้งฉากที่เส้นรุ้งที่  23 องศา  30 ลิปดา เหนือ  ซึ่งเป็นเส้นรุ้งสุดท้ายของซีกโลกภาคเหนือที่เห็นแสงอาทิตย์ตั้งฉาก  เพราะในวันถัดไปลำแสงอาทิตย์ก็จะตั้งฉากไล่กลับลงไปสู่ศูนย์สูตร  ช่วงเวลานี้ทำให้ซีกโลกด้านเหนือได้รับแสงอาทิตย์มากที่สุด  พร้อมกับมีทั้งกลางวันยาวมากกว่ากลางคืนอีกด้วย  ดังนั้นอุณภูมิของซีกโลกเหนือสูงมากกว่าจึงถือเป็นช่วงฤดูร้อนนั่นเอง (ด้วยคนส่วนใหญ่อยู่ซีกเหนือ) จึงเรียกเป็น  “Summer solstice”   ในทางกลับกันซีกโลกใต้ได้รับแสงน้อยที่สุดในรอบปีก็เป็นช่วงฤดูหนาวนั่นเอง     

2.2.       Winter Solstice  หรือ  เหมายัน  ระหว่างวันที่ 22 หรือ 23 ธันวาคม  เป็นช่วงเวลาที่แสงอาทิตย์ตั้งฉากที่เส้นรุ้งที่  23 องศา  30 ลิปดา ใต้  ซึ่งเป็นเส้นรุ้งสุดท้ายของซีกโลกภาคใต้ที่เห็นแสงอาทิตย์ตั้งฉาก  เพราะในวันถัดไปลำแสงอาทิตย์ก็จะตั้งฉากไล่กลับขึ้นไปสู่ศูนย์สูตร   ช่วงเวลานี้ทำให้ซีกโลกด้านเหนือได้รับแสงอาทิตย์น้อยที่สุด  พร้อมกับมีทั้งกลางวันสั้นกว่ากลางคืนอีกด้วย  ดังนั้นอุณภูมิของซีกโลกเหนือจึงต่ำมากกว่าจึงถือเป็นช่วงฤดูหนาวนั่นเอง (ด้วยคนส่วนใหญ่อยู่ซีกเหนือ) จึงเรียกเป็น  “Winter solstice”   อีกทั้งมีปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางขอบฟ้าด้านจะวันออกเฉียงใต้แล้วเดินทางอยู่ขอบฟ้าด้านใต้ตลอดวันและตกไปทางขอบฟ้าด้านตะวันตกเฉียงใต้ จึงเรียกกันว่า “ตะวันอ้อมข้าว”  อีกด้วย   แต่ในทางกลับกันซีกโลกใต้ได้รับแสงมากที่สุดในรอบปีก็เป็นช่วงฤดูร้อนนั่นเอง    

ภาพที่  3   แสงอาทิตย์เข้าสู่โลกตำแหน่งที่เป็น  Winter Solstice

ที่มา :  http://www.universetoday.com/92009/winter-solstice-the-shortest-day-of-the-year/

 

    ....  ปรากฏการณ์โคจรของโลก  หมุนเวียนเปลี่ยนฤดูกาลให้สรรพสัตว์และพืช  มีทั้งวิกฤติและโอกาส.... 

 

              ขณะที่แสงอาทิตย์เคลื่อนย้ายไปในแต่ละวันนั้น   พื้นที่ใดที่หนึ่งบนพื้นโลกสามารถหาค่ามุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงวันได้  โดยการใช้กราฟ  Analemma  ที่บอกตำแหน่งแสงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นผิวโลกที่เส้นรุ้งต่างๆ ของวันนั้นๆ  ร่วมกับตำแหน่งเส้นรุ้งที่ตั้งของสถานที่นั้น   ในปัจจุบันเห็นค่าได้สะดวกจากแผนที่ของกูเกิ้ลโดยการคลิ๊กเมาท์ขวาสถานที่ต้องการทราบตำแหน่ง  แล้วเลือกที่  “คืออะไร”  เท่านั้นก็จะได้ค่าเส้นรุ้งเส้นแวงของสถานที่นั้นๆ แล้ว   นำมาคำนวณหาง่ายๆ จากความรู้เรขาคณิตพื้นๆ  เรื่องคุณสมบัติของมุมภายนอกมุมภายในที่เกิดจากเส้นตรงตัดเส้นขนาน   

 

 

ภาพที่  4   กราฟ Anlemma

    ที่มา : http://www.motogezgin.com/forum/showthread.php?t=1271

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 503152เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2012 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2012 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลและภาพประกอบที่ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นค่ะ

ขอบคุณข้อมูลครับ ผมขออนุญาตเก็บไว้สอนเด็กนะครับ ชอบคำแปลที่เป็นสันสกฤต ครับ

เสั้นแวงเคั้าแม่นเสั้นยังไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท