ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 6. ลักษณะของห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง
หนังสือ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day บทที่ ๖ ชื่อ The Case for THE Flipped–Mastery Model เป็นการนำมิติของผลต่อนักเรียนหลากหลายด้านมาเสนอ เพื่อให้เห็นว่าห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง ได้เปลี่ยนสภาพของห้องเรียนไปโดยสิ้นเชิง รวมทั้งทำให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการศึกษาด้วย
สอนให้นักเรียนรับผิดชอบการเรียนของตนเอง
เมื่อใช้ห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไป ชีวิตครูเปลี่ยนไป และพฤติกรรมของเด็กก็เปลี่ยนไป
ในห้องเรียนแบบเดิม นักเรียนนั่งฟัง รับคำสั่ง และรับถ่ายทอด แล้วตอบข้อสอบเพื่อพิสูจน์ว่าตนได้เรียนรู้ สภาพเช่นนี้ได้ผลต่อเด็กส่วนน้อย เด็กอีกจำนวนหนึ่งหมดความสนใจ และหลุดไปจากกระบวนการเรียนรู้
แต่ในห้องเรียนแบบ กลับทางและเรียนให้รู้จริง นักเรียนรับผิดชอบต่อการเรียนของตนเอง การเรียนไม่ใช่สิ่งที่กระทำต่อนักเรียน แต่กลายเป็นสิ่งที่นักเรียนเป็นเจ้าของ เป็นผู้กระทำ และจะเป็นทักษะที่ติดตัวตลอดไป
เมื่อกลับทางห้องเรียนในช่วงแรก เด็กอาจไม่คุ้น และอาจต่อต้าน แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง เด็กจะเห็นคุณค่า และจะเปลี่ยนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนอย่างขมีขมัน
ทำให้ห้องเรียนเต็มไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย
เมื่อผู้เขียนทั้งสองเริ่มห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง ทั้งสองไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเมื่อดำเนินการ จึงพบว่าเป็นวิธีทำให้การเรียนเป็นกิจกรรมเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน ที่มีกิจกรรมเรียนรู้แตกต่างกันในห้องเรียนเดียวกันเวลาเดียวกัน และเด็กแต่ละคนเรียนด้วยอัตราเร็วที่แตกต่างกัน และครูก็ดูแลเด็กด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกันได้ โดยมีมาตรฐานขั้นต่ำไว้กำกับเด็กที่เรียนช้าและไม่ถนัดในวิชานั้น
นักเรียนที่มีความถนัดและตั้งใจเรียนต่อทางใดทางหนึ่งก็จะได้รับการ ส่งเสริมให้เอาดีด้านนั้นยิ่งๆ ขึ้น
การเรียนรู้เป็นศูนย์กลางของห้องเรียน
ในห้องเรียนแบบเก่า ครูเป็นจุดสนใจของห้องเรียน แต่ในห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริงจุดสนใจอยู่ที่สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ หรือยังไม่รู้ ในห้องเรียนแบบนี้ นักเรียนมาเข้าห้องเรียนพร้อมกับเป้าหมายของการเรียนรู้ ครูเป็นผู้จัดสิ่งของห้องเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเรียน รวมทั้งช่วยแนะนำให้นักเรียนวางแผนการเรียนรู้ของตน
ห้องเรียนเปลี่ยนจากที่รับถ่ายทอด (ความรู้) มาเป็นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อการเรียนรู้ และเพื่อแสดงว่าตนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์อย่างรู้จริง นักเรียนอยู่ในสภาพเป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงผู้รับถ่ายทอดสาระ
ผู้เขียนทั้งสองเปลี่ยนชื่อห้องเรียน (classroom) เป็น พื้นที่สำหรับการเรียนรู้ (learning space)
การเรียนรู้แบบกลับทางและเรียนให้รู้จริงให้บริการ feedback แก่เด็กในทันที และลดเอกสารที่ครูต้องทำ
การประเมินอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อ feedback แก่เด็กในทันทีที่เด็กทำกิจกรรมในห้องเรียน ช่วยให้เด็กได้รู้ความก้าวหน้าในการเรียนของตนทันที และครูก็ไม่ต้องตรวจการบ้านกองโต
นักเรียนจะเอาชิ้นผลงานมาคุยกับครู เกี่ยวกับวัตถุประสงค์และประเด็นหลักของการเรียน ครูจะตรวจสอบความเข้าใจ และความเข้าใจผิดของเด็กไปพร้อมๆ กัน ครูให้คะแนนได้ในชั่วโมงเรียน และสามารถปรึกษาหรือวางแผนการเรียนที่จำเป็นขั้นต่อไปเพื่อช่วยให้เข้าใจชัดขึ้น หรือเพื่อขจัดความเข้าใจผิด เด็กที่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว และแสดงความหัวไวในเรื่องนั้น ครูก็สามารถพูดคุยเพื่อร่วมกันวางแผนการเรียนขั้นต่อไป เพื่อให้ท้าทายยิ่งขึ้น เข้าใจได้ลึกและมีมุมมองที่กว้างและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น
มีคอมพิวเตอร์ทดสอบความเข้าใจบทเรียนให้นักเรียนสอบเอง แล้วได้รับคะแนนสอบในทันที นักเรียนกับครูสามารถทบทวนคำตอบร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจ ครูจะเห็นประเด็นที่นักเรียนมีความเข้าใจผิดซ้ำๆ กันหลายคน และนำมาปรับปรุงบทเรียนของตนได้ และนำมาใช้ออกแบบการเรียนซ่อมได้ จุดสำคัญของวิธีการเรียนแบบใหม่คือ นักเรียนจะมีความรู้เรื่องนั้นถูกต้องและเพียงพอสำหรับเป็นพื้นความรู้สู่บทเรียนต่อไป
การเรียนแบบรู้จริง ช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนเสริม
ในชั้นเรียนตามปกติ มีนักเรียนบางคนไม่ผ่านการทดสอบในรอบแรก ซึ่งหากเป็นชั้นเรียนตามปกติ การสอนก็ดำเนินต่อไป และนักเรียนที่เรียนไม่ทันก็จะค่อยๆ ล้าหลังยิ่งขึ้นๆ จนเบื่อเรียน
แต่ในห้องเรียนแบบรู้จริง นักเรียนจะเรียนเรื่องเดิมใหม่ จนกว่าจะรู้จริง และครูก็จะรู้ว่าจะต้องช่วยเหลือนักเรียนคนใด ในเรื่องใด คือครูเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายคน เมื่อนักเรียนที่เรียนอ่อนเหล่านี้ได้แก้ความเข้าใจผิดของตน ก็จะสามารถเรียนบทเรียนต่อไปได้คล่องแคล่วขึ้น
การเรียนแบบรู้จริงเปิดช่องให้นักเรียนเรียนรู้สาระด้วยหลากหลายวิธี
ผู้เขียนได้ลองใช้ทฤษฎี UDL (Universal Design for Learning)ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนด้วยวิธีที่ตนถนัดที่สุด เช่นบางคนชอบเรียนจากวิดีทัศน์ บางคนชอบเรียนจากตำราเรียน บางคนชอบค้นจากอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ครูก็ส่งเสริม ทำให้เด็กรู้สึกมีอิสระ และรู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องของตนเอง เป็นความรับผิดชอบของตนเอง
การเปิดอิสระให้เด็กได้เลือกวิธีเรียนนี้ ช่วยให้เด็กค้นพบวิธีเรียนที่ให้ผลดีที่สุดต่อตนเอง คือได้ฝึกทักษะการเรียนรู้นั่นเอง
เมื่อเปิดอิสระเช่นนี้ นักเรียนจะทดลองวิธีการต่างๆ หลากหลายแบบ บางคนชอบเรียนไปก่อนล่วงหน้า บางคนชอบทำแบบฝึกหัด บางคนชอบทำแลบ ก็ได้เรียนตามแบบที่ตนชอบ
การเรียนแบบรู้จริงเปิดช่องให้นักเรียนแสดงภูมิรู้ได้หลากหลายแบบ
การสอบแบบเดิมก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่วิธีการทดสอบภูมิรู้ที่เหมาะต่อนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นักเรียนบางคนอาจแสดงความรู้ความเข้าใจได้ดีโดยการตอบข้อสอบตามปกติ แต่บางคนอาจแสดงความเข้าใจได้ดีกว่า โดยการอภิปรายด้วยวาจากับครู หรือบางคนชอบการทดสอบโดยนำเสนอด้วย PowerPoint หรือบางคนอาจเขียนเรียงความอธิบายความเข้าใจ
ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดคือ มีนักเรียนขอทำวิดีโอเกมเพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจวิชาของตน และเมื่อครูอนุญาต นักเรียนก็ทำให้ครูแปลกใจในความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของนักเรียนคนนี้
การเรียนแบบรู้จริงเปลี่ยนบทบาทของครู
ครูได้ใช้เวลาให้เกิดคุณค่าต่อศิษย์มากที่สุด เพื่อช่วยให้เวลาในห้องเรียนเป็นเวลาที่ศิษย์เกิดการเรียนรู้แบบรู้จริง
การเรียนแบบรู้จริงช่วยให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการเรียน ไม่ใช่รับจ้างมาโรงเรียน
โดยทั่วไป นักเรียนมาโรงเรียนโดยหวังได้เกรด ผ่านการท่องจำเนื้อวิชา ไม่ใช่หวังได้เรียนรู้
นักเรียนในชั้นเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง จะเริ่มต้นด้วยความไม่พอใจวิธีเรียนแบบใหม่ที่ไม่ถ่ายทอดวิชาให้โดยตรง แต่ในที่สุดเด็กเหล่านี้จะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นเด็กที่มีทักษะแห่ง “นักเรียนรู้”
วิธีเรียนแบบรู้จริงจัดซ้ำง่าย ขยายขนาดชั้นเรียนง่าย และจัดให้เหมาะต่อเด็กเป็นรายคนได้ง่าย
ห้องเรียนแบบนี้เริ่มต้นที่โรงเรียนบ้านนอก ที่เป็นโรงเรียนเล็ก ไม่มีเครื่องมือครบครัน และเริ่มต้นที่ชั้นเรียนเคมี ซึ่งถือเป็นวิชาอันตราย ที่จะเกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ก็ทำได้สำเร็จในโรงเรียนบ้านนอก
วิธีเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริงช่วยเพิ่มเวลาพบหน้าระหว่างครูกับ ศิษย์
เมื่อเริ่มการเรียนวิธีนี้ ผู้ปกครองเด็กบางคนเป็นห่วงว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์จะลดลง ซึ่งในทางเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ครูกับนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของศิษย์มากขึ้น
ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนดีขึ้น และความเครียดลดลง เพราะเด็กเข้าถึงเนื้อหาได้เมื่อต้องการ ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน และ ๗ วันต่อสัปดาห์
การเรียนแบบรู้จริงช่วยให้นักเรียนทุกคนอยู่กับการเรียน
หลักการเรียนแบบ brain-based มีว่า “สมองที่พัฒนา คือสมองของคนที่กำลังทำงาน”
ในห้องเรียนแบบเดิม ผู้ที่ทำงานคือครู แต่ในห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง ผู้ทำงานคือนักเรียน
การเรียนแบบรู้จริงทำให้การลงมือทำเป็นการเรียนแบบที่เหมาะต่อเด็กแต่ละคน
ในการเรียนแบบเดิม การเรียนในห้องปฏิบัติการทำเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และทำพร้อมๆ กัน ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นชั้นเรียนที่มีประสิทธิภาพมาก แต่เมื่อมองจากมุมของการเรียนรู้ของเด็ก การเรียนรู้แบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง ช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบที่เหมาะต่อเด็กแต่ละคน
ในชั้นเรียนวิชาเคมีของผู้เขียนหนังสือ ครูใช้เวลาช่วงแรกอธิบายเรื่องข้อพึงระวังด้านความปลอดภัย แล้วปล่อยให้นักเรียนทดลองทางห้องปฏิบัติการด้วยตนเอง โดยครูคอยช่วยเหลือแนะนำเป็นรายคน
ชั้นเรียนแบบรู้จริงช่วยให้เด็กติดตามการสาธิตของครูอย่างใกล้ชิด
ผู้เขียนเล่าชั้นเรียนวิชาเคมี ที่มีการสาธิต “จุดไฟเผาครู” นักเรียนทุกคนได้ลองเป็นผู้ “จุดไฟเผาครู”
ชั้นเรียนแบบกลับทางห้องเรียนและเรียนให้รู้จริงเปิดโอกาสให้ครูช่วยเหลือ นักเรียน
ที่จริงการเรียนรู้แบบนี้คือการเรียนรู้ที่เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่ผู้เขียนทั้งสองคิดขึ้น เป็นการนำเอาทฤษฎีการเรียนรู้แบบ UDL, Mastery learning, Project-based learning, objective/standard-based grading, educational technology ผสมเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์
วิจารณ์ พานิช
๑๔ ก.ย. ๕๕
ขอบคุณค่ะอาจารย์ หนูกำลังทดลองจัดการเรียนรู้ให้นักศึกษาสาขาวิชาเอก สุขศึกษา วิชาการสื่อสารเพื่อสุขภาพ เนื้อหาสอนเกี่ยวกับ หลักการและทักษะการสื่อสาร โดยไม่รู้ว่า มันเกี่ยวข้องกับครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทางของอาจารย์ มาก่อน ดังนี้ 1.ให้นักศึกษา เลือกว่า จะเรียนเนื้อหารเกี่ยวกับอะไรบ้างในวิชานี้ และทำไมต้องเรียน จะเอาไปใช้ทำอะไร อย่างไรในอนาคต 2. นักศึกษากลุ่มนี้เลือก การเผยแพร่ความรู้ผ่านเสียงตามสาย หอกระจายข่าว การทำเอกสารแผ่นพับ และการจัดทำบอร์ดเผยแพร่ ความรู้ เนื้อหาท่ 1 จัดทำรายการออกอากาศเสียงตามสาย 2.1). ครูให้นักศึกษาไปหาบทความเพื่อจัดทำรายการออกอากาศเสียงตามสาย และให้อัดเสียงการอ่านบทความที่หามาส่ง และเปิดฟังการอัดเสียงจัดรายการของทุกคนในชั้นเรียน โดยมีนักศึกษาเขียนจุดอ่อน จุดแข็ง และให้ข้อเสนอแนะเพื่อนไปพร้อมกัน โดยให้บันทึกในกระดาษไว้ 2.2. ครูให้นักศึกษาทุกคน ไปค้นคว้าหลักการจัดรายการวิทยุ หลักการเขียนบทความนำเอกสารมาอ่านวิเคราะห์สรุปองค์ความรู้ในห้องเรียน 2.3.ให้นักศึกษาเขียนวิจารณ์ตนเอง เกี่ยวกับบทความและการจัดรายการเสียงตามสายของตนเอง 2.4. สอบกลางภาค ให้นักศึกษาเขียนแบบฟอร์มและเกณพ์การให้คะแนนบทความ และการจัดรายการเสียงตามสาย หลังสอบครูให้นักศึกษา สรุปว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรบ้าง รู้สึกอย่างไรต่อการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ พบว่านักศึกษาทุกคนสนใจ สนุกสนานในการเรียนอย่างมากค่ะ
ท้ายชั่วโมงก่อนขึ้นบทเรียนใหม่ ครูสอนวิธีการสังเคราะห์องค์ความรู้จากเอกสารต่างที่ทุกคนค้นคว้า เพื่อนำมาใช้ในการทำงาน เนื้อหาที่ 2 ทำเอกสารแผ่นพับ 1.ครูแบ่งกลุ่มนักศึกษาเป็น 4 กลุ่มๆละ 3-4 คน ให้นักศึกษาทุกกลุ่มจัดประชุมเพื่อวางแผนการทำงาน ว่าสนใจปัญหาสุขภาพ /หัวเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพตามความสมัครใจในหัวข้อใด 1.1 ให้นักศึกษาทุกคนในกลุ่มจัดทำเอกสารแผ่นพับ ตามความสามารถของตนเองมาส่ง 1.2 ให้นักศึกษาทุกคนไปค้นคว้าหลักการจัดทำเอกสารแผ่นพับมาส่ง 2.ชั่วโมงต่อมา นักศึกษานำแผ่นพับมานำเสนอกันในกลุ่ม ให้ช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ ผลงานซึ่งกันและกัน แล้วจัดทำเป็นเอกสารผลงานกลุ่มใหม่ ให้นักศึกษาทุกกลุ่มสรุปสาระสำคัญในการจัดทำเอกสารแผ่นพับ 3. ชั่วโมงต่อมา ให้ทุกกลุ่มนำเสนอ สรุปสาระสำคัญในการจัดทำเอกสารแผ่นพับหน้าชั้นเรียน เนื้อหาที่ 3 ทำบอร์ดเผยแพร่ผลงาน ใช้วิธีการเดียวกันกับการจัดการเรียนรู้การจัดทำเอกสารแผ่นพับ ขณะนี้ นักศึกษากำลังวางแผนจัดทำบอร์ดอยู่ จะนำเสนอผลงานต่อไปในสัปดาห์หน้าค่ะ รู้สึกครูและนักศึกษาสนุกสนานในการเรียนมาก ข้อสังเกต ครูแกล้งขอความคิดเห็นว่า ครูแบ่งกลุ่มให้แล้ว พวกราไปคุยกันเองในกลุ่ม ไม่ต้องเรียนในห้องดีไหม นักศึกษาทุกคนบอกว่า ไม่เอา มาพบกันในห้องเรียนนี่แหละ ให้ครูอยู่ด้วย จะได้ช่วยแนะนำให้ข้อคิดเห็น นี่เป็นการสะท้อนว่า บทบาทครูมิได้ลดลงอย่างที่คิด และพบว่า เวลาที่จัดการเรียนรู้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในสองชั่วโมงไม่มีใครขอพักเบรค แต่จะขออนุญาตไปทำธุระส่วนตัวเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ขอขอบคุณอาจารย์ที่เป็นผู้นำความคิดใหม่ มาให้เรียนรู้ ดิฉันมักคิดอะไรง่ายๆ ตามใจตนเอง โดยคิดว่าจะทำให้ผู้เรียนอยากรียนรู้ให้มากที่สุดอย่างไรเท่านั้น โดยจะถามหลักการ/เกณฑ์/กติการกันก่อนว่า วิชานี้จะเรียนอะไร ทำไมต้องเรียน จะเรียนอย่างไร ให้ทุกคนร่วมกันสร้างกติการ ครูจะบอกผู้เรียนทุกครั้งว่า ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ต่อส่วนรวม ที่สำคัญครูต้องรู้จักวิเคราะห์ผู้เรียน รู้จักความแตกต่างในศักยภาพของแต่ละคน และต้องวัดพัฒนาการเรียนรู้ของแต่ละคนให้ได้ ต้องยุติธรรม ด้วย จึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียนได้ ครูคือ ต้นแบบนั่นเองค่ะ