๑๓๖. เยาวภาพและภราดรภาพ



เธอเป็นดังผืนทะเลกว้าง
ฉันหรือก็เป็นหาดทรายและผืนดิน
ห่มฟ้าเหินลมไปกับปุยเมฆ
เที่ยวท่องทั่วมหรรณพสีทันดอน


 

ห้วงชีวิตผู้คน 
ดุจทะเลจรดเวิ้งฟ้าสุดสายตา
ผู้คนต่างแขวนชิงช้าชีวิต
ไว้กับจังหวะลีลาลมหายใจหลากหลาย  
ชิงช้าชีวิตโล้ขึ้นลง 
ไม่นานพลันก็กลับสู่ดังเดิม
เหมือนกันทุกคน

 


เธอและฉัน
ต่างเป็นสายชิงช้ากันและกัน
จะโล้ลีลาชีวิตโยนไกลไปถึงไหน
ก็คงความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุขกัน
ดังเดิมเสมอ

................................................................................................................................................................................


Theme  : Photo-Poetry ทะเลและความเติบโตงอกงามแบบพึ่งพากัน 
Photographer and Writer
  : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

Inspirationed | แรงบันดาลใจ  : ระหว่างเดินเยี่ยมชมการทำประมงน้ำตื้นของชุมชนบ้านทุ่งประดู่ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เด็กหญิงสองคนจากครอบครัวชาวประมงพากันเดินเล่นท่ามกลางแดดเปรี้ยงริมชายหาดข้างหมู่บ้านที่ไปดูงานอย่างไม่สนใจใคร เด็กๆดูเพลิดเพลินและพากันเดินซอกแซกค้นหาของเล่นตามกองขยะและตามดงผักบุ้งทะเลอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งโลกเหมือนกับมีเพียงคนสองคนเป็นเพื่อนกันและเต็มไปด้วยความสุขความท้าทาย เป็นภาวะที่ยังคงความบริสุทธิ์ สื่อสะท้อนให้เห็นได้ถึงสิ่งที่มีอยู่เป็นพื้นฐานและได้มาโดยธรรมชาติของปัจเจก อันได้แก่ ความสามารถร่วมทุกข์สุขกันของมนุษย์ ความเป็นพี่น้อง พลังการเรียนรู้ ความร่าเริง มีพลังชีวิต กระหายใคร่รู้โลกกว้าง ก่อนที่จะมีสิ่งต่างๆเข้าไปครอบงำและกดทับจนเหมือนกับสูญหายไปในภายหลัง พลังความเยาวภาพและความเป็นเพื่อนพี่น้องกันของมนุษย์ดังกล่าวนี้ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่ามากต่อการมุ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีเรียนรู้เพื่อกลับไปสู่ภาวะเดิมแท้นี้ของมนุษย์ นำมาสู่แนวคิดเพื่อบันทึกภาพและถ่ายทอดความคิดจากภาพชุดนี้

Camera and Technic : กล้อง Kodak Easy Share | เลนส์ Normal | แสงปรกติในธรรมชาติ ภาพเด็กเดินชายหาด เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. ท้องฟ้าไม่มีเมฆ ภาพชิงช้าเวลา ๑๒.๓๐ น. และมีเมฆครึ้ม

Date | Event Location : ทะเล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างรับเชิญเป็นวิทยากร ร่วมสังเกตการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้ชุมชนและสร้างประสบการณ์ เพื่อถอดบทเรียนพัฒนาองค์ความรู้ปฏิบัติและเสริมศักยภาพพนักงานเพื่อวางแผนกลยุทธภาคปฏิบัติใหม่ กลยุทธการทำงานมวลชนสัมพันธ์และงานชุมชนสัมพันธ์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ภาพชิงช้า ถ่ายที่ทะเลกุยบุรี ๒๙-๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ ภาพเด็กหญิงสองคนเดินบนหาดทราย ถ่ายที่บ้านทุ่งประดู่ ทับสะแก ๕-๗ กันยายน ๒๕๕๕ 
 

หมายเลขบันทึก: 502272เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2012 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

ขอบคุณหนูรีครับ ที่แวะมาเยือนและทักทายกันเป็นประเดิมเลย

ชอบภาพนี้คะ ด้วยแวบแรกที่เห็น ไม่มีเหตุผล แต่ได้อารมณ์ร่วม

ดูภาพนี้เหงาๆ นะคะ จะรบกวนอาจารย์อธิบายนัยยะได้ไหมคะ

เห็นอาจารย์อธิบายอีกภาพ พอเข้าใจถึง เยาวภาพและภราดรภาพ

...

โครงการของชุมชน GFGAP ปรารถนาไปคารวะและเสวนาที่บ้านสันป่าตอง ของอาจารย์สักครั้งนะคะ


 

เป็นบันทึกที่บรรยายได้ความรู้สึกสบายอารมณ์มากเลยครับ

อ่านแล้วชีวิตมีความุขดีครับ

ชอบครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ ป.ครับ

จำเพาะภาพชิงช้านี้เป็นภาพชายทะเลที่กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ครับ และตรงนี้ ชายหาดตรงที่ถ่ายภาพนี้นี่เป็นช่วงที่ไม่สวยเอาเสียเลย น้ำทะเลลงจนเห็นหาดทรายและดินโคลนไกลลิบ ชายหาดสกปรก เต็มไปด้วยขยะ พลาสติก ทรายก็ไม่สะอาด ไม่มีใครอยากเดินลงไป เรือหาปลาขนาดเล็กจอดติดโคลนกระจัดกระจาย ชาวบ้านที่ชายฝั่งบอกว่าประเดี๋ยวตอนกลางคืนน้ำก็จะขึ้น 

ผมไปกับคณะศึกษาดูงานของ กฟผ ไปดูงานที่เทศบาลกุยบุรี พอดูงานเสร็จทางเทศบาลก็พาแวะไปดูการจัดการชุมชนรอบๆแล้วก็พากันไปนั่งกินข้าวกลางวันตรงนี้ ผมเลยเดินหามุมถ่ายภาพเพื่อเก็บไว้เป็นหมายเหตุโดยไม่ต้องเป็นแต่ภาพคนและกิจกรรมทั่วๆไป ความที่อากาศก็ขมุกขมัวและสถานที่ก็ไม่งามเอาเสียเลย ก็เลยกว่าจะได้แต่ละภาพก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหาเอาด้วยการเล่นมุมภาพครับ เลยก็พอได้ ๒-๓ ภาพ มีอีกชุดหนึ่งก็พอดูให่เพิลนๆได้ครับ

ภาพนี้นี่ หากอธิบายในภาษาศิลปะที่คุณหมอเห็นก็ชอบในแว๊บแรกได้ว่า การทำงานร่วมกันของกรอบภาพกับการขัดกันของเส้นและน้ำหนัก ที่เชื่อมโยงกันเป็นกลุ่มอยู่ในตำแหน่งของจุดสนใจพอดีนั้น อยู่ในระดับที่แรงแต่ลงตัวหรือประมาณ ๘๐ : ๒๐ [การมองเห็นด้วยแบบแผนทางศิลปะ : สัดส่วนที่ทำให้งามและถ่ายทอดเรื่องราวอย่างมีความหมายในภาพทิวทัศน์] ซึ่งในทางศิลปะแล้วจะเป็นสัดส่วนที่ส่งเสริมความแตกต่างให้กันแต่จะดึงดูดสายตาผู้ชมให้รู้สึกว่าเป็นสัดส่วนที่กลมกลืนและไปด้วยกันได้ เสาชิงช้ามีน้ำหนักสีดำทึบเป็นมวลขนาดใหญ่ แล้วก็ลดขนาดเป็นเส้นเชือกเสาชิงช้าลงไปประมาณ ๒๐ เท่า ขณะเดียวกันก็ลดลงไปเป็นใบสน จนเหลือเป็น Texture ฝอยๆ ซึ่งเคล็ดลับของการสร้างอรรถรสของภาพด้วย Contrast แบบต่างๆบนสิ่งที่เป็นองค์ประกอบย่อยๆในภาพอย่างนี้ เป็นสูตรสำเร็จที่นำมาเล่นทีไรก็จะได้ผลต่อการสะดุดความสนใจและสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมในภาพทัศนศิลป์ได้เสมอครับ

ส่วนที่ดูเหงาๆนั้น ก็เป็นอารมณ์ภาพที่เกิดจากลักษณะเส้นที่เกิดในภาพ การจัดสัดส่วนของภาพ และสีบรรยากาศออกเทาๆครึ้มฟ้าครึ้มฝน เส้นแนวราบต่ำกว่าระดับสายตา แล้วก็มีเส้นแนวดิ่งแบบตั้งฉากอย่างนี้ ภาษาการจัดองค์ประกอบภาพก็จะคาดหวังผลที่จะเกิดขึ้นได้เหมือนกันว่าเป็นองค์ประกอบของเส้นที่ให้ความนิ่ง สีสันก็ไม่มี เลยก็ดูไม่ค่อยมีชีวิตชีวา

แต่ตอนที่ถ่ายภาพนี่สนุกครับ เพราะมันถ่ายยาก ไม่มีมุมเอาเสียเลย ตัวชิงช้านี้ก็อยู่ติดกับร้านอาหารและมีสิ่งกีดขวางเต็มไปหมด จะถ่ายให้เห็นเส้นขอบฟ้ากับทะเลในสภาพปรกตินี่ก็คงจะไม่ได้ครับ ก้มให้ติดพื้นก็ไม่ได้เพราะชิงช้าอยู่ต่ำเกินไป ผมต้องวางกล้องกดลงไปกับพื้นแล้วหงายขึ้น คะเนองศาของเลนส์โดยไม่ต้องมองช่องมองภาพ ความที่ถ่ายได้ยากจริงๆและได้มุมภาพที่จะไม่สามารถเห็นได้ด้วยมุมมองปรกติ เลยก็อยากนำมาแบ่งกันดูของคอศิลปะกับภาพถ่าย แล้วก็ทำให้ได้อรรถรสของการชมภาพมากขึ้น ด้วยการนำเสนอแบบ Photo-Poetry ล่ะสิครับ 

ที่บ้านผมนี่อยากต้อนรับโครงการของชุมชน GFGAPและทุกท่านสักวันหนึ่งบ้างนะครับ เดี๋ยวหาจังหวะดีๆก่อนนะครับ

สวัสดีครับคุณลูกสายลมครับ

ภาษาวรรณคดีนี่ ลูกสายลมหรือวายุบุตรนั้นหมายถึง 'หนุมาน' นะครับ หนุมานเป็นลูกนางสวาหะกับพระพาย แต่ภาษากวีนี่ 'ลูกสายลม' ก็หมายถึง 'จิตใจ' ซึ่งมองไม่เห็นและสอดแทรกอยู่ในทุกหนแห่ง และในทางพุทธธรรมนี่ 'หนุมาน' ก็คือ หะนุ+มานะ หรือภาวะตัวตนในด้านที่่ก่อเกิดด้วยจิตขาวหรือ 'กรรมขาว' ซึ่งตรงข้ามกับ 'นิลภักดิ์' (ดังเคยเห็นกันทั่วไปที่เขียนว่า 'นิลพักตร') หรือจิตใจที่ภักดีต่อ 'กรรมดำ' หรือ 'ฝ่ายธรรม' กับฝ่าย 'อธรรม' นั่นเอง ดังนั้น ในรามเกียรติ์นี่ หนุมานเลยมีกายเป็นสีขาว และนิลพักตร (ซึ่งควรจะเป็น 'นิลภักดิ์') เลยมีกายเป็นสีดำ แต่รวมๆแล้ว ก็หมายถึงระบบคิดที่ถือเอาจิตใจเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นโลกทัศน์ชุดหนึ่งของสังคมในโลกตะวันออก จัดว่าเป็นชุดความคิดที่ให้ความสำคัญกับการกล่อมเกลาชีวิตด้านใน ถือความสำคัญว่าใจเป็นประธานของการคิด พูด ปฏิบัติ 

สำหรับสังคมวัฒนธรรมตะวันออกนี่ การให้สิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจและเป็นแรงบันดาลใจให้กัน ก็ต้องถือว่าเป็นการบรรณาการกันด้วยสิ่งที่เลือกสรรออกมาด้วยการให้ความสำคัญต่อคุณค่ามิติจิตใจมากกว่าด้านวัตถุ เลยก็ดีใจนะครับที่คุณลูกสายลมมาเยือนและสัมผัสสิ่งเล็กๆน้อยๆนี้แล้วมีความสุขความรื่นรมย์ใจไปด้วยกัน มีความสุขครับผม

ชื่อลูกสายลมนะครับ ผมไม่เคยบอกใคร แต่คุณวิรัตน์ อธิบายได้ถูกต้องครับ แต่ยังไม่ครบทั้งหมด เหตุที่ชื่อนี้ เนื่องจากว่า ผมเกิดปีวอก ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีลิง และก็ประจวบกับผมเกิดธาตุลม เมื่อนำปีและธาตุมารวมกัน ก็คงจะเป็นลิงลม น่าจะดี แต่ก็เพราะรามายณะ หรือรามเกียรติ์ นี้ละครับที่ทำให้ต้องคิดมากขึ้น คิดไปถึงคำว่า หนุมานอยู่เหมือนกันแต่ฟังแล้วยังรู้สึกว่ายังไม่ใช่นะครับ เลยเอาชื่อที่คนอินเดียมักเรียกตามต้นกำเนิด ว่า วายุบุตร ฟังเเล้วก็ยัง เป็นเหมือนชื่อคนทั่วไปมาก เลยคิดว่าควรที่จะทำให้เป็นไทยให้มาก เลยมาลงตัวที่คำว่าลูกสายลมนะครับ

การเขียนบรรยายแบบนี้นะครับ ถือได้ว่าอ่านแล้วจับใจดีครับ แม้ว่าจะเป็นภาษาที่ง่าย ขอบคุณครับ

อ่านคำเห็นภาพ
ดูภาพ เห็นถ้อยคำ...

นุ่มนวล นุ่มลึก
...

ขอบพระคุณครับ

เป็นกวีศิลป์ที่งามมากเลยนะครับ@ขอ บ คุ ณ อ าจารย์ค ค รั บ @

งามทั้ ง ทั ศ นะ และ กวี ศิ ลป์ ขอ บ คุ ณ อาจารย์ ค รั บ

ลูกสายลมนี่คิดว่าเป็นชื่อนามปากกาเสียอีกนะครับ เป็นชื่อจริงหรือนี่ เท่ดีครับ เท่ดี

สวัสดีครับคุณแผ่นดิน
สั้น คม แต่ครอบคลุมและให้มโนทัศน์ในความเป็น Photo-Poetry
ได้ตรงเผงเลยละครับ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
เรื่องถ่ายภาพทิวทัศน์ กับภาพบรรยากาศในยามเช้าและเย็นนี่
ต้องยกให้คุณแสงแห่งความดีละครับ 
 

่สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์ที่เคารพ

แม้อาจารย์บอกว่าเป็นภาพถ่าย แต่ภาพเด็กหญิงทั้งสองเดินเล่นต้องเพ่งค่ะ งามเหมือนภาพวาด เหมือนอาจารย์ตวัดแปรงกำหนดองค์ประกอบเอง เสื้อสีแดงรู้สึกมีชีวิตชีวามาก

เก็บไว้เป็นความรู้ เรื่อง ๘๐ : ๒๐ แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ

ตอนที่ผมเห็นก็ต้องชะงักและยืนมองนิ่งเลยครับ คุณหมอดูเงาที่ทอดลงบนไหล่และผืนทรายสิครับ เป็นเงาของแดดเปรี้ยงตอนพระอาทิตย์แทบจะตรงศีรษะเลยละครับ แต่เจ้าหนูสองคนก็เดินสำรวจโลกรอบข้างกันอย่างกับเดินอยู่ใต้แสงจันทร์เลยเชียว

เรื่องการจัดองค์ประกอบทางศิลปะนี่ ก็เหมือนกับไวยากรณ์ในภาษาศิลปะครับ ผมจะพยายามแวะไปเขียนเรื่อยๆครับ คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจ รวมทั้งจะได้มีส่วนในการยกระดับการชมศิลปะ การพัฒนาบทบาททางศิลปะ และมีส่วนร่วมในการยกระดับรสนิยมทางศิลปะในชีวิตประจำวันให้แก่สังคม ในอีกมุมหนึ่งน่ะครับ

  • ภาพและคำงดงามเช่นเคยครับ โดยเฉพาะชิงช้า รู้สึกเหมือนตัวเรากำลังนั่งโล้ชิงช้าอยู่ครับ
  • ขอบคุณข้อคิดดีๆครับ และขอบคุณอาจารย์ที่แวะไปเยี่ยมเยือน พร้อมความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ ซึ่งมากมายเลยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ
ชิงช้านี่ มันเล่าถ่ายทอดอารมณ์และห้วงความรู้สึกนึกคิดแบบริมทะเล-ริมทะเล ได้ดีมากเลยนะครับ เลยเอามาแบ่งกันชมครับ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์คะ

ภาพชิงช้าชีวิตริมชายหาดงามมากค่ะ

หากวันฟ้าใส น้ำขึ้นความรู้สึกที่สัมผัสได้คงต่างไปจากที่เห็นในวันนี้นะคะ

งดงามทั้งภาพและคำค่ะ

สวัสดีครับ ดร.ปริมครับ

ขอบคุณครับ ที่อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ มีวัฒนธรรมและการละเล่นของท้องถิ่นอย่างหนึ่งในอดีต คือ การโล้ชิงช้าและเล่นเพลงพวงมาลัยของหนุ่มสาว และในเรื่องเล่าเหมือนกับเป็นตำนานชาวบ้านเกี่ยวกับความเป็นมาของชื่อชุมชนในท้องถิ่นที่ปรากฏในปัจจุบัน ก็มีเรื่องเล่าถึงการโล้ชิงช้าของนางเกสร กับเรื่องของนายพราน

                       

การโล้ชิงช้าเล่นเพลงพวงมาลัยนั้น คนหนุ่มคนสาวจะไปนั่งอยู่บนชิงช้าซึ่งทำด้วยไม้กระดานยาวๆ นั่งได้หลายคน กลุ่มผู้ชายก็ด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งก็เป็นกลุ่มผู้หญิง อีกกลุ่มก็ช่วยกันแกว่งไกว เมื่อชิงช้าแกว่งและโยนตัว ก็ร้องเพลงโต้ตอบกัน ในเนื้อหาของเพลงก็จะเป็นเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งสอดแทรกหมายเหตุทางสังคมและบันทึกเรื่องราวของสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่นไว้ด้วย นำรูปวาดและเรื่องราวต่างๆของชิงช้ากับวิถีชีวิตชุมชนในอีกแง่มุมหนึ่งมาแบ่งกันชมเพลินๆที่นี่ครับ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/481470

ชอบภาพถ่ายของอาจารย์มาก

ชอบแว่นของอาจารย์ด้วยค่ะ

 

 

 

สวัสดีครับอาจารย์หมอสุภาครับ

ขอบคุณอาจารย์มากเลยครับ เป็นชุดภาพถ่ายและกระบวนการคิด ทำงานพัฒนาการเห็นสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเราไปบนกิจกรรมปฏิบัติถ่ายภาพ ให้เป็นทั้งการบันทึกภาพและการบันทึกการเจริญสติภาวนาด้านในไปพร้อมกัน มันเลยเป็นทั้งการแบ่งปันและเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กันในการพัฒนาตาเนื้อและตาใน เพื่อใช้กำกับเลนส์และพัฒนาทักษะการเห็น มอง คิด และความแยบคายต่างๆของตัวสติปัญญาที่ใช้ชี้นำการปฏิบัติให้แก่ตนเอง ให้ได้ทั้งความดี ความจริง และความงาม จากสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวและบนเส้นทางชีวิตการงานของเรา เลยเป็นการหาความหมายดีๆไปบนกิจกรรมเล็กๆอย่างการถ่ายภาพ ให้เป็นเสมือนการได้พัฒนาตัวเราเองไปด้วยอยู่เสมอๆ เลยต้องหาวิธีนำเสนอให้ไปด้วยกันทั้งกระแสธารของการคิดกับการได้เอาภาพทิวทัศน์แปลกๆมาอวดกัน ก็ช่วยสร้างอรรถรสและให้ประสบการณ์แปลกใหม่ดีๆในอีกแนวหนึ่งให้กันได้เหมือนกันนะครับ

สวัสดีแวะมาเยี่ยมชม มอบภาพลายเส้นจาก http://www.nature-dhrama.com

ขอบพระคุณคุณครูประสิทธิ์ครับ  แวะเข้าไปเยี่ยมชมทีไร ก็ชอบภาพทิวทัศน์ลำธาร ป่าเขา ภาพนี้ทุกทีครับ เห็นความร่มรื่น ได้ความสุขทุกทีเมื่อได้ชมครับ

                        

 

 

 

งามเกินบรรยายค่ะ..คิดถึงเมื่อครั้งได้มีโอกาสสนทนาศิลป์ด้วยกันในหลายมิติ..

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
ผมก็นึกถึงเรื่องที่สนทนาทางศิลปะกับพี่ใหญ่ในแง่มุมต่างๆอยู่ครับ อย่างในหัวข้อนี้ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/403970 เรื่องแสงเงาและไรแดดซึ่งเป็นทรรศนะพื้นฐานอย่างหนึ่งในการเข้าถึงสุทรียภาพทางศิลปะและเห็นทรรศนะในการมองโลกสรรพสิ่งด้วยความมีสุนทรียภาพและได้มุมมองต่อชีวิต ผู้คน และต่อสังคม อย่างมีศิลปะ เป็นหัวข้อที่ผมกับพี่ใหญ่ได้ช่วยกันสนทนากันที่คงช่วยให้ผู้สนใจได้อ่านศึกษาและมีวิธีซาบซึ้งศิลปะในอีกแง่มุมหนึ่งได้บ้างเหมือนกันนะครับ เพราะคนเข้ามาอ่านกันเยอะเชียว กว่า ๖ พันคลิ๊กแน่ะครับ หากเป็นการทำสื่อและเผยแพร่สื่อสารเพื่อการเรียนรู้ ในเรื่องราวที่เราคัดสรรดีแล้วตามกำลังตนเอง เพื่อมีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะสังคมแล้วละก็ ก็ต้องนับว่าใช้ได้เลยละนะครับ ต้องขอบพระคุณพี่ใหญ่มากๆครับที่ได้ชวนเปิดการสนทนาครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท