การทำพินัยกรรมแบบธรรมดา


การทำพินัยกรรมแบบธรรมดา

พินัยกรรมแบบธรรมดา พินัยกรรมแบบนี้มีกฎหมายบัญญัติได้ในมาตรา ๑๖๕๖ จะต้องทำดังนี้

                        ๑. ต้องทำเป็นหนังสือ ผู้ทำพินัยกรรมจะเขียนหรือพิมพ์เองหรือจะให้ผู้อื่นเขียนหรือพิมพ์แทนก็ได้

                        ๒. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมนั้น

                        ๓. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อ (เซ็นชื่อ) ไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คน พร้อมกัน

                        ผู้ทำพินัยกรรมจะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ แต่จะใช้ตราประทับแทนการลงชื่อหรือลงแกงไดหรือลงเครื่องหมายอย่างอื่นแทนการลงชื่อไม่ได้ ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมพิมพ์นิ้วมือต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมไว้ด้วย ๒ คน ในขณะนั้น (มาตรา ๑๖๖๕)

                        ผู้ทำพินัยกรรมจะลงชื่อต่อหน้าพยานคนละคราวไม่ได้ เช่นลงชื่อต่อหน้าพยานคนหนึ่งแล้วไปเซ็นชื่ออีกครั้งต่อหน้าพยานอีกคนหนึ่งไม่ได้

                        กฎหมายระบุว่าพยานอย่างน้อย ๒ คน ฉะนั้น จะมีพยานมากกว่า ๒ คนก็ได้ ข้อสำคัญอย่าให้น้อยกว่า ๒ คน

                        ๔. พยานอย่างน้อย ๒ คนซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงชื่อต่อหน้านั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น พยานต้องลงชื่อในขณะทำพินัยกรรมจะลงชื่อในเวลาอื่นไม่ได้

                        ควรให้ผู้ทำพินัยกรรมลงชื่อก่อนแล้วพยานจึงลงชื่อ แต่พยานอาจลงชื่อก่อนก็ได้

                        ๕. การขูดลบ ตกเติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้ (มาตรา ๑๖๕๖ วรรคสอง)

            เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการแก้ไขพินัยกรรมแบบธรรมดาง่ายๆ เช่น พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ มาตรา ๑๖๕๖ วรรคสอง จึงบัญญัติไว้แต่ต่างจากมาตรา ๑๖๕๗ วรรคสอง ฉะนั้นถ้ามีการขูดลบ ตกเติมหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในพินัยกรรมแบบธรรมดาที่ทำไว้เดิมก็จะต้องปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมแบบนี้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องลงชื่อกำกับหรือพิมพ์นิ้วมือกำกับตรงข้อความที่ขูดลบ ขีดฆ่า ตกเติมหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยต้องมีพยาน ๒ คน ลงชื่อไว้ในขณะนั้น และต้องลงวันที่กำกับไว้ด้วย หรือหากผู้ทำพินัยกรรมพิมพ์นิ้วมือก็ต้องมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือนั้นด้วย ๒ คน พยานคราวนี้จะให้พยานคนเดิมหรือจะใช้พยานคนใหม่ก็ได้ ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ข้อความที่ตกเติมนั้นจะใช้ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์คนเดิมหรือคนใหม่ก็ได้ หากไม่ปฏิบัติตามเช่นที่กล่าวมาถือว่าข้อความที่ถูกขูดลบ ขีดฆ่า เพิ่มเติมนั้นไม่สมบูรณ์ ข้อความเดิมหากมีอยู่คงมีผลเป็นข้อความที่ใช้ได้เหมือนเดิม แต่หากข้อความที่ขีดฆ่าแก้ไขนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ เช่นแก้ไขอายุผู้ทำพินัยกรรมเพราะเขียนผิดพลาดไป เช่น ขณะทำพินัยกรรมอายุ ๕๘ ปี แต่เขียนผิดเป็น ๘๕ หรือเลขที่โฉนดที่ระบุในพินัยกรรมที่แท้จริงเลขที่ ๑๓๒ แต่เขียนผิดเป็น ๑๒๓ ดังนี้สามารถแก้ไขให้ถูกต้องตรงกับความจริงโดยไม่ต้องปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรม เพราะถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ข้อที่สำคัญเช่นเพิ่มเติมชื่อผู้รับพินัยกรรมรวมกับผู้รับพินัยกรรมเดิม หรือแก้ไขรายการทรัพย์สินที่ยกให้แก่ผู้รับพินัยกรรมเดิมก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมแบบธรรมดา ดังที่กล่าวแล้ว

            การขูดลบตกเติมพินัยกรรมโดยไม่ถูกต้องตามมาตรา ๑๖๕๖ นั้น ไม่สมบูรณ์เฉพาะที่ทำไม่ถูกต้อง ไม่ทำให้ส่วนที่สมบูรณ์เสียไปด้วย เพราะพินัยกรรมในส่วนอื่นที่มิได้มีการแก้ไขตกเติมดังกล่าวและได้ทำถูกต้องตามแบบในมาตรา ๑๖๕๖ แล้ว ย่อมสมบูรณ์ใช้ได้

            พินัยกรรมมีรอยขีดฆ่าแล้วมิได้เซ็นชื่อกำกับไว้ ถ้าปรากฏว่าข้อความที่ขีดฆ่านั้นเป็นข้อหยุมหยิมเล็กน้อย ไม่ใช่ข้อสำคัญ มิได้ทำให้เสียถ้อยกระทงความตรงไหนแต่อย่างใด เพียงเท่านี้หาทำให้พินัยกรรมทั้งฉบับนั้นเสียไปไม่ คงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับนั้นมีผลสมบูรณ์อยู่

            ถ้าหากการขูด การลบ การตกเติม การแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ทำให้ถูกต้องตามแบบดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕๖ วรรคสอง ผลแห่งการทำไม่ถูกแบบดังกล่าวย่อมมีผลให้ข้อความที่ตกเติมเท่านั้นไม่สมบูรณ์ ส่วนข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ ใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ

            ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์พินัยกรรมก็เป็นพยานในพินัยกรรมนั้นได้ และควรระบุไว้ว่าเป็นผู้เขียนและพยาน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาว่าผู้เขียนเป็นพยานด้วยหรือไม่ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๗๑ บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดนอกจากผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรม บุคคลนั้นต้องลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน (วรรคหนึ่ง)

            ถ้าบุคคลนั้น (หมายถึงผู้เขียน) เป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อของตนเช่นเดียวกับพยานอื่นๆ (วรรคสอง)

            อนึ่งในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมเซ็นชื่อไม่ใคร่เป็นก็มักจะเซ็นชื่อไม่เหมือนกับที่เคยเซ็น อาจจะเป็นการลำบากในการพิสูจน์ในเวลาเป็นความฟ้องร้องกันก็ควรพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ด้วย คือ ควรเซ็นชื่อและพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ทั้งสองอย่าง แต่ต้องมีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ 2 คนไว้ด้วย

            พินัยกรรมที่ทำไม่ถูกต้องครบถ้วนตามแบบที่กล่าวในข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ หรือข้อ ๔ กฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะ (มาตรา ๑๗๐๕) คือไม่มีผลเป็นพินัยกรรมทั้งฉบับ เช่นไม่มีวันที่ที่ทำพินัยกรรมก็เป็นโมฆะ ไม่ได้ลงชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คน ในขณะทำพินัยกรรมก็เป็นโมฆะ ไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็เป็นโมฆะ ไม่ได้ลงชื่อพยานครบจำนวนก็เป็นโมฆะ

            ตัวอย่างพินัยกรรมแบบธรรมดา

                                                               พินัยกรรมแบบธรรมดา

ทำที่...................................................

วันที่...............เดือน...............................พ.ศ. .............

            ข้าพเจ้า..........................................................อายุ............ปี  อยู่บ้านเลขที่ ..................หมู่ที่...........  ถนน...........................................ตำบล/แขวง...........................................อำเภอ/เขต.........……...................   จังหวัด..........................…….......ได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นไว้เพื่อแสดงเจตนาว่า เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมให้ทรัพย์สินของข้าพเจ้าทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะมีต่อไปในอนาคตตกได้แก่............................................................………………………………………………....แต่ผู้เดียว

 

                                                            ลงชื่อ................................................ผู้ทำพินัยกรรม

                                                            (ลายพิมพ์นิ้วมือของ...............................................)

 

            ข้าพเจ้าผู้มีนามข้างท้ายนี้ขอรับรองว่า.....................................................................ผู้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ได้ทำพินัยกรรมและพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าข้าพเจ้า  และได้สังเกตเห็นว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ทุกประการ  ข้าพเจ้าจึงได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ในพินัยกรรม

 

                                                                        ลงชื่อ.....................….....................พยาน

                                                                                (......................…..................)

                                                            ลงชื่อ............................................พยานและผู้เขียน                                                                            (............................................)

 

 

ข้อสังเกตในการทำพินัยกรรมแบบธรรมดา

๑. การทำพินัยกรรมแบบนี้  จะทำโดยใช้วิธีเขียนหรือพิมพ์ก็ได้  หากใช้วิธีเขียนก็ต้องเขียนทั้งฉบับ  หากใช้วิธีพิมพ์ก็ต้องพิมพ์ทั้งฉบับ

๒. ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์พินัยกรรม ใครจะเป็นผู้เขียน  หรือผู้พิมพ์ก็ได้  แต่ในการเขียนต้องใช้คนๆ เดียวเขียนพินัยกรรมทั้งฉบับ  และในการพิมพ์ก็ต้องใช้เครื่องพิมพ์เครื่องเดียวกันทั้งฉบับ  เพื่อมิให้เกิดปัญหาแก่ทายาทเมื่อเจ้ามรดกตายแล้ว

๓. ต้องลงวันเดือนปีขณะที่ทำพินัยกรรม  ถ้าไม่ลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมแล้วย่อมไม่ถือว่าเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย

๔. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน

๕. พยานทั้งสองคนตามข้อ ๔ ต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมต่อหน้าผู้ทำพินัยกรรมและต่อหน้าพยานด้วยกันในขณะนั้นด้วย

๖. พยานในพินัยกรรม จะต้องบรรลุนิติภาวะแล้วคืออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์หรือกรณีสมรสกันเมื่ออายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ กฎหมายก็ถือว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว  แม้อายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ และพยานดังกล่าวต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต  หรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  ทั้งต้องไม่เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้หรือตาบอดทั้งสองข้าง

๗. ผู้เขียนและพยานในพินัยกรรม รวมทั้งคู่สมรสของผู้เขียนและพยานในพินัยกรรม จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้


 
คำสำคัญ (Tags): #khonmuang
หมายเลขบันทึก: 502277เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2012 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2014 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผู้จะได้รับพินัยกรรมจะต้องลงชื่อรับในพินัยกรรมในวันทำพินัยกรรมด้วยหรือไม่

ผู้ทำพินัยกรรมจะไม่ให้มีผู้รับพินัยกรรมอยู่ในนั้น

ถ้าทำพินัยกรรมแล้วมีผู้รับพินัยกรรมอยู่ด้วย

ถือว่า พินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะ

ในการทำพินัยกรรม สามีภรรยากัน จะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม จะเป็นพยานทั้งคู่ได้ไหมครับ

พยานในพินัยกรรม 2 คนนั้น

สามารถเป็นสามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ได้หรือไม่ครับ

กรณีนี้ สามีภรรยาที่มาเซ็นเป็นพยาน

นับเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท