ตัณหา ๒ ประการ


ตัณหา หมายถึงความทะยานอยาก แบ่งเป็น ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหา

เราทั้งหลายคุ้นเคยกับสายปฏิจจสมุปบาทที่เริ่มจากอวิชชา ไปจบที่ทุกข์ ซึ่งตัณหาในปฏิจจสมุปบาทสายนี้ เป็นตัณหาประการหนึ่ง ที่เป็นมูลในวัฏฏะ เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน เรียกว่า วัฏฏมูลตัณหา ยังมีตัณหาอีกประการหนึ่ง เรียกว่า สมุทจารตัณหา คือตัณหาที่ฟุ้งขึ้น

ตัณหา ๒ ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสเมื่อพระอานนท์กราบทูลว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง (a) แต่กลับปรากฏกับท่านราวกับเป็นธรรมง่ายๆ

ได้ตรัสห้ามพระอานนท์ และตรัสต่อว่า เพราะไม่รู้แจ้งปฏิจจสมุปบาท หมู่สัตว์จึงเหมือนปมด้ายยุ่ง จากนั้นจึงได้ตรัสปฏิจจสมุปบาทสายที่เราคุ้นเคยกัน (คือสายที่เริ่มต้นด้วยอวิชชา และจบลงที่ทุกข์) แล้ว จึงได้ตรัสต่ออีกว่า



[๑๐๓] อานนท์ ด้วยเหตุนี้แล
เพราะอาศัยเวทนา ตัณหา จึงมี
เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนา(การแสวงหา)จึงมี
เพราะอาศัยปริเยสนา ลาภะ(การได้) จึงมี
เพราะอาศัยลาภะ วินิจฉยะ (การกำหนด) จึงมี
เพราะอาศัยวินิจฉยะ ฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ) จึงมี
เพราะอาศัยฉันทราคะ อัชโฌสานะ (ความหมกมุ่นฝังใจ) จึงมี
เพราะอาศัยอัชโฌสานะ ปริคคหะ (การยึดถือครอบครอง)จึงมี
เพราะอาศัยปริคคหะ มัจฉริยะ(ความตระหนี่) จึงมี
เพราะอาศัยมัจฉริยะ อารักขะ (ความหวงกั้น) จึงมี
เพราะอารักขะเป็นเหตุ บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศาสตรา

การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า "มึง มึง" การพูด

ส่อเสียด และการพูดเท็จจึงมี
ที.มหา.(แปล) ๑๐/๑๐๓/๖๑

เมื่อตรัสอธิบายแล้ว ได้ตรัสต่อว่า

"อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิดและปัจจัยแห่งปริเยสนาก็คือตัณหานั่นเอง

อานนท์ ธรรม ๒ อย่างนี้ทั้ง ๒ ส่วน (b) รวมลงเป็นอย่างเดียวกับเวทนาด้วยประการฉะนี้"
ที.มหา.๑๐/๑๑๒/๖๔

เมื่อพิจารณาถึงการเกิดตัณหาในขณะจิต ตามความเข้าใจของผู้เขียน ตัณหาสองประการนี้ ก็คือตัณหาตัวเดียวกัน ต่างกันก็เพียงที่ลำดับในการเกิด หากตัณหาใดเกิดเป็นครั้งแรกในขณะจิต เพราะกิเลส อันนำไปสู่ทุกข์ก็เรียกว่า วัฏฏมูลตัณหา ส่วนกิเลสนั้นเมื่อไม่ได้รับการขูดลอกออก ก็นอนเนื่องอยู่ในภายใน เมื่อมีอารมณ์ใดมากระทบ กิเลสที่นอนเนื่องก็ย้อม ซ่านไปในใจ แล้วปรุงไปต่างๆ กลายเป็นกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ทำให้ตัณหาที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นได้ในลักษณะเดิมได้อีก จึงเรียกตัณหาในลักษณะเดิมที่เกิดขึ้นในครั้งใหม่นี้ว่า ตัณหาที่ฟุ้งขึ้น หรือ สมุทจารตัณหา

ซึ่งตัณหาที่ฟุ้งขึ้นนี้ สามารถเกิดได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตราบเท่าที่เหตุให้เกิดตัณหานั้นคือความไม่รู้ หรือ รู้ไม่รอบ หรือ รู้ไม่ถูกต้อง ยังไม่ถูกแก้ไข

และโดยทั่วไป ตัณหาที่ฟุ้งขึ้นนี้ มักจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากธรรมชาติของตัณหาคือ เมื่อไม่ได้ก็ขวนขวายให้ได้ เมื่อได้ ก็พยายามรักษาไว้ และพยายามที่จะให้ได้มากขึ้น หรือ ปรุงให้เลิศขึ้นนั่นเอง

หากเราดับที่ตัวตัณหาที่ฟุ้งขึ้นได้เป็นคราวๆ ก็พบสันทิฏฐิกนิพพาน (นิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน) เป็นครั้งๆไป การดับในลักษณะนี้ ก็เพียงดับความต้องการไม่ให้ลุกลามไปจนก่อความเดือดร้อนแก่ตนและผู้อื่น หรือ ไม่เกิดวัฏฏมูลตัณหาตัวใหม่เท่านั้น แต่ตัณหาในลักษณะเดิมยังพร้อมจะเกิดใหม่ ให้ต้องขวนขวายดับได้ทุกเมื่อ

หากเราค่อยๆสืบค้น หาต้นเงื่อน จนดับเหตุให้เกิดตัณหาได้อย่างทั่วถึง ก็ดับกิเลสและตัณหานั้นได้อย่างถาวร

ตัณหาในลักษณะนั้นจึงจะไม่เกิดขึ้นอีก

.......................................................

หมายเหตุ
(a) ลึกซึ้ง หมายถึงลึกซึ้งโดยอาการ ๔ คือ (๑) อรรถ (ผล) (๒) ธรรม (เหตุ) (๓) เทศนา (วิธีการแสดง) (๔) ปฏิเวธ (การบรรลุ)

ที.ม.อ. ๙๕/๙๐

(b) ธรรม ๒ อย่างนี้ ทั้ง ๒ส่วน ในที่นี้หมายถึงตัณหา ๒ ประการได้แก่ (๑) วัฏฏมูลตัณหา ตัณหาที่เป็นมูลในวัฏฏะ หมายถึงตัณหาที่เป็นปัจจัยแก่อุปาทาน (๒) สมุทจารตัณหา ตัณหาที่ฟุ้งขึ้น หมายถึงตัณหาที่ท่านกล่าวว่า เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี เป็นต้น

ที.ม.อ. ๑๑๒/๑๒๒

หมายเลขบันทึก: 501637เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2012 05:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณมากค่ะ ความอยาก ความต้องการ ..... (เป็นตัณหา) .... ที่สำคัญอย่าให้คนอื่นเดือด ร้อน เป็บทุกข์ หรือ ทุกข์น้อยที่สุด นะคะ

ขอบคุณบทความดีดีมีคุณภาพนี้ค่ะ

ความอยากจะดับ ตัณหา เป็น ตัณหาหรือเปล่าคะ พี่ตุ๊กตา

สวัสดีค่ะท่านBlank ณัฐรดา สุขสุธรรมวงค์   หวังว่าท่านคงจะสุขสบายดีนะคะ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ทุกวันนี้คนเรามีความทุกข์ เพราะความอยาก

ขอบคุณ คุณ Blank Blank Blank และ Blank มากค่ะ

มาฝากความเห็นให้กัน

ได้เขียนบันทึกตอบน้องหมอภูสุภาไว้ที่นี่ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/501745

กำลังสงสัยอยู่พอดีครับ :):)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท