เลขานุการสภามหาวิทยาลัยควรรายงานขึ้นตรงต่อใคร


 

          ในนิตยสาร Boardroom ของ IOD ฉบับเดือน พ.ค. - มิ.ย. ๕๕ มีเรื่องที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยควรอ่านคือเรื่อง 3 ประเด็นเกี่ยวกับเลขานุการบริษัทที่กรรมการควรรู้    ซึ่งแม้จะเขียนเน้นไปทางเรื่องของบริษัทธุรกิจ    แต่ก็นำมาคิดต่อในกิจการของสภามหาวิทยาลัยได้

 

          ประเด็นเกี่ยวกับสภามหาวิทยาลัย ก็คือเรื่องสำนักงานสภามหาวิทยาลัย   ซึ่งเทียบได้กับสำนักงานกรรมการและผู้ถือหุ้น   คือเป็นหน่วยงานเลขานุการกิจของการกำกับดูแล  

 

          มีข้อถกเถียงกันในวงการอุดมศึกษาว่า หัวหน้าสำนักงานนี้ควรรายงานต่อใคร   หลายคนบอกว่าควรรายงานต่อนายกสภาฯ เพื่อให้ไม่โดนฝ่ายบริหารครอบงำสภาฯ    โปรดอ่านบทความที่กล่าวถึงนะครับ   จะเห็นว่าเขามีความเห็นว่า เลขานุการบริษัท (ซึ่งก็คือหัวหน้าสำนักงานกรรมการและผู้ถือหุ้น) ควรรายงานขึ้นตรงต่อกรรมการผู้จัดการ (ตามข้อ ๒)    ไม่ใช่ขึ้นต่อประธาน บอร์ด 

 

          ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอในบทความนี้   ว่าเมื่อนำมาคิดเรื่อง เลขานุการสภามหาวิทยาลัย และ ผอ. หรือหัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัย    ควรรายงานขึ้นตรงต่ออธิการบดี ซึ่งเป็น ซีอีโอ   เพราะเห็นว่า ซีอีโอ เป็นผู้บังคับบัญชาของบุคลากรทั้งหมดขององค์กร    นายกสภาฯ หรือประธาน บอร์ด ไม่ใช่ผู้มีอำนาจบังคับบัญชา และไม่นั่งทำงานในองค์กร

 

          แต่ก็ต้องมีวิธีที่ทำให้ประธาน บอร์ด หรือนายกสภาฯ สามารถสั่งการให้เลขานุการบริษัท หรือ เลขานุการสภามหาวิทยาลัย หรือ ผอ. สำนักงานสภาฯ ทำงานหรือไม่ทำงาน เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้   โดยสั่งการผ่านการประชุม บอร์ด หรือสภามหาวิทยาลัย

 

          นายกสภาฯ คนเดียว ไม่มีอำนาจใดๆ   ต้องใช้อำนาจของสภาฯ เป็นองค์คณะ จึงจะมีอำนาจ   และอำนาจที่เด็ดขาดที่สุดคือปลดอธิการบดี หากเห็นว่าอธิการบดีทำงานไม่ดี หรือไม่ทำตามนโยบายของสภาฯ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๔ ส.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 501483เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2012 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2012 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีข้อคิดเห็นที่แตกต่างค่ะ เป็นความคิดส่วนบุคคล อาจถูกหรือผิดก้อได้ ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อทั้งหมด ขอแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการค่ะ ดิฉันเห็นด้วยกับ "ข้อถกเถียงกันที่หลายคนบอกว่าควรรายงานต่อนายกสภาฯ เพื่อให้ไม่โดนฝ่ายบริหารครอบงำสภาฯ" แต่เลขานุการสภามหาวิทยาลัย ต้องถูกแต่งตั้งโดยฝ่ายนายกสภาฯ มิใช่จากฝ่ายบริหารฯ มิเช่นนั้น นายกสภาฯจะได้รับรายงานเฉพาะส่วนที่ดีๆของฝ่ายบริหารเท่านั้น ไม่มีรายงานเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงค่ะ เพราะอธิการบดีที่เป็นซีอีโอ ที่เป็นผู้บังคับบัญชามักเลือกคนที่ตนสั่งได้ มาคอยเขียนรายงานเพื่อภาพตนเองดีตลอดเวลา แต่องค์กรไม่เจริญก้าวหน้า ก้อไม่เป็นไรไปเรื่อยๆๆ มิฉะนั้นเลขานุการฯเองจะถูกแบน หรือถูกปลดออก จะเหลือคนดีดีที่ไหนทำงานคะ

เหตุผลที่เลือกเห็นด้วยตามข้อความแรกคือ วิธีที่ทำให้ประธาน บอร์ด หรือนายกสภาฯ สามารถสั่งการให้เลขานุการบริษัท หรือ เลขานุการสภามหาวิทยาลัย หรือ ผอ. สำนักงานสภาฯ ทำงานหรือไม่ทำงาน เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ โดยสั่งการผ่านการประชุม บอร์ด หรือสภามหาวิทยาลัย นั้น ต้องอาศัยทักษะส่วนบุคคล ซึ่งพัฒนายาก จึงเลือกเสนอวิธีการควบคุมความเสี่ยง โดยใช้การออกกฏระเบียบ เพื่อควบคุมบางสิ่งที่ไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อส่วนรวมทั้งหมดค่ะ เป็นการควบคุมความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท