จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

เรียนรู้เรื่องเขียนบทความวิจัย


เสร็จงานสำคัญมาได้สองคืนครับ พอจะเริ่มหยิบงานใหม่มานั่งเจียรนัยต่อ ปรากฏว่ารู้สึกล้าอย่างบอกไม่ถูก เลยนึกวิธีสร้างความกระชุ่มกระชวยได้ว่าเขียนบล็อกสิมันทำให้อารมณ์ทำงานวิชาการกลับมาได้ ที่สำคัญไม่ได้เขียนมานานแล้ว (หากไม่นับเรื่อง e-trust สารภาพเลยว่าเรื่องนั้นเขียนเพราะอยากได้รางวัล ฮิฮิ) 

แล้วเรื่องที่อยากเล่ามากสุดก็คงเป็นเรื่องที่เพิ่งผ่านพ้นมาครับ นั่นคือเรื่อง "การเขียนบทความวิจัย" เป็นเรื่องหนึ่งที่ก่อนหน้านี้เรียกได้ว่า ผมไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ตลอดการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีบทความวิจัยตีพิมพ์วารสารวิชาการเพียง 3 เรื่องเท่านั้นเอง ที่เหลือเป็นการนำเสนอในการสัมมนา การประชุมวิชาการ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันง่ายกว่าการส่งตีพิมพ์ในวารสาร และที่แย่กว่านั้นคือที่ผ่านมาผมเกือบจะไม่ได้รับคำชมจากการเขียนบทความวิจัยเลย ครั้งหนึ่งผู้ทรงคุณวุฒิแนะนำอย่างน่าชวนคิดเลยครับว่า "บทความนี้เขียนได้แย่มาก ดีนะที่ฉันอ่านรายงานวิจัยของคุณมากซึ่งทำได้ดีมาก ฉันเห็นเหงื่อทุกเม็ดจากรายงานวิจัยของคุณ ทำไมสิ่งดีๆ เหล่านั้นหายไปเมื่อคุณมาเขียนบทความวิจัย"  

ผมพยายามหาคำตอบว่า อะไรคือหัวใจหลักของการเขียนบทความวิจัย ทำอย่างไรให้เขียนบทความวิจัยมีคุณภาพขึ้น และผมเริ่มหาคำตอบด้วยการถามครับ และคนแรกที่ผมถามคือเพื่อนผมที่มีผลงานด้านการเขียนบทความวิจัยโดดเด่นมากๆ ประเภทว่าวารสารขอบทความเขาลงตีพิมพ์ คำแนะนำของเพื่อนผมคือ "บทความวิจัยไม่ใช่เอางานวิจัยทั้งเล่มมาเขียน แต่เอาบางส่วนมาเขียนนำเสนอ งานวิจัยเรื่องเดียวเขียนบทความได้หลายเรื่อง"

ผมก็เอาแนวคิดนี้มาฝึกครับ มั่นใจว่าคำแนะนำนี้ถูกต้องแน่ๆ แต่พอเขียนจริง มันยิ่งยากเข้าไปอีกครับ แรกๆ เขียนไม่ออกเลย เอามาส่วนหนึ่งมาเล่าเป็นบทความ เขียนยังไงหว่า สุดท้ายก็เพิ่มกระบวนการเรียนรู้อีกหนึ่งวิธีคือการอ่านบทความวิจัยจากวารสารมาตรฐานๆ เช่น วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (เป็นวารสารที่ผมชอบอ่าน เพราะโหลดอ่านสะดวก อันเนื่องจากใช้ระบบ ojs ที่ผมคุ้นเคย) อ่านแล้วก็ดูไม่ออกว่าเป็นไปตามคำแนะนำของเพื่อนผมอย่างไร ก็อ่านแล้วมันเหมือนกับว่าเขาเอางานวิจัยทั้งเรื่องมาเขียนนั่นแหละ

ตัดสินใจเขียนใหม่อีกครั้งครับ ถือว่าถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ เลยเขียนบทความส่งวารสาร งานนี้ลองส่งเล่มเล็กๆ ก็พอ ปรากฏพออ่านความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิก็สรุปได้ว่า การเรียนรู้ดังกล่าวยังไม่พอ ที่สำคัญผมยังหาปัญหาของผมไม่เจอว่า ผมทำอะไรผิดและควรปรับปรุงอย่างไร ผมเจอแค่ว่า เขียนอันนี้ยังไม่ดี ยังไม่ชัด ไม่เชื่อมโยง แต่ผมจะปรับอย่างไร? (ย้ำในสมองตลอด)

และแล้วผมก็เจอไฟท์บังคับที่ต้องเขียนบทความวิจัยอันเนื่องจากวิทยานิพนธ์ ผมเริ่มการอ่านบทความวิจัยใหม่อีกรอบ แล้วผมก็ร่ายยาวไป 20 กว่าหน้า ส่งอาจารย์ที่ปรึกษาๆ เรียกพบ พร้อมคำตอบว่า ยังไม่ได้เรื่อง ไม่ผ่าน แก้ใหม่ แล้วท่านก็ให้คำแนะนำว่า

"เอางานวิจัยทั้งหมดออกจากสมองก่อน แล้วเขียนเฉพาะเรื่องที่อยากจะบอก"

มันเป็นคำสำคัญสำหรับผมเลยครับ ผมเกิดความคิดต่อจากคำพูดอาจารย์ที่ปรึกษาว่า ถ้าเอางานวิจัยทั้งหมดมาเกี่ยวกันหมดในบทความ ความชัด ความคมมันหายไป แล้วผมก็ถึงบางอ้อกับบทความหลายๆ ชิ้นที่ผ่านมา คือ ที่เขียนไปมันขาดความคม เพราะเราพยายามบอกในสิ่งที่มากเกินความพอดี

ผมส่งงานแก้ไขไปให้อาจารย์อีกครั้ง อาจารย์ก็ตอบกลับว่า ดีขึ้น แต่ยังสลัดงานวิจัยส่วนอื่นๆ ออกยังไม่หมด พยายามอีกนิด ผมแก้ไขอีกครั้งก็ได้คำตอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาว่า เขียนได้ดีมากแล้ว (อัลฮัมดุลิลลาห์)

เมื่อผมกลับมาอ่านงานเปรียบเทียบชิ้นแรกกับชิ้นที่สอง ผมก็เจอว่าคุณภาพมันต่างกันเยอะจริงๆ และผมก็เขียนบทความวิจัยอีกเรื่อง งานนี้ผมก็ปรับเทคนิคการเขียนเพื่อจำกัดกรอบแนวคิดไม่ให้ลากเอาทุกเรื่องมาใส่ไว้ในบทความครับ ผมใช้เทคนิคดังนี้ครับ

1. เขียนผลการวิจัยก่อน เพราะอันนี้คือสิ่งที่เราอยากบอกคนอื่นอย่างแน่นอนสุด จัดการเขียนให้ออกมาเป็นประเด็นๆ ครับ อยากให้มันกระจาย

2. เอาประเด็นๆ จากผลมาเขียนวัตถุประสงค์การวิจัย ซึ่งทำอย่างนี้เราก็จะได้ว่าผลการวิจัยตอบวัตถุประสงค์การวิจัยได้ทุกข้อ ฮิฮิ

3. กลับไปทบทวนการเขียนผลวิจัยอีกรอบ แล้วสรุปรวบ พร้อมกับหาข้อมูลเพิ่มประกอบผลสรุปที่ได้ เอามาเขียนให้เหตุให้ผลกัน ก็จะได้การอภิปรายผล

4. ระหว่างทำอภิปรายผลทีละข้อ ก็เอาไปเขียนเป็นข้อเสนอแนะไปพร้อมๆ กันเลย

5. แล้วผมก็ย้อนกับไปเขียนความเป็นมาของปัญหา ซึ่งกระบวนการทบทวนเอกสารเพื่อเขียนอภิปรายผล จะช่วยให้เราเขียนความเป็นมาได้ง่ายขึ้นเหมือนกันครับ ที่สำคัญคือความเป็นมานี้เขียนจากผลการวิจัยและวัตถุประสงค์เลย อย่างไปโยงเกี่ยวข้องกับวิจัยชุดใหญ่ที่ทำไปแล้ว

6. เขียนขั้นตอนการวิจัย ซึ่งก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ขั้นตอนทั้งหมดของการวิจัย แต่นำเสนอไว้เฉพาะในส่วนการดำเนินการที่ทำให้เกิดผลการวิจัยที่เรานำเสนอในบทความวิจัยเท่านั้น

เท่านี้เราก็ได้ดราฟแรกของงานแล้วครับ แต่ขอบอกว่า ไม่มีทางที่เขียนเที่ยวเดียวแล้วจะดีเลย มันต้องอ่านแล้วปรับการใช้คำอีกรอบครับ 

หวังว่าบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านด้วยนะครับ

หมายเลขบันทึก: 501327เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2012 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2012 07:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนรู้เรื่องเขียนบทความวิจัย===>เป็นวิธีเรียนรู้ที่...เร็ว + ดี + ใช้หลักวิทยาศาสตร์....ป้องกันBias..ที่ดีนะคะ ได้ New Concept & Innovation & New knowledge ที่ดีดีด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท