ทำความรู้จัก กลุ่มอาการเอ็นข้อหย่อน


เด็กที่มีเอ็นข้อหย่อนจะพบปัญหาด้านร่างกายเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามย่อมส่งผลกระทบทางจิตใจ อารมณ์ และสังคมของเด็กด้วย การค้นพบปัญหาตั้งแต่ช่วงอายุ 2 ปีแรกจะทำให้สามารถช่วยเหลือและส่งเสริมความสามารถของเด็กได้ตามศักยภาพที่มีอยู่
"กลุ่มอาการเอ็นข้อหย่อน คืออะไร?"

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้คุ้นเคยหรือรู้จักเกี่ยวกับเด็กที่มีกลุ่มอาการเหล่านี้มากนัก...แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กกลุ่มอาการเอ็นข้อหย่อนนั้นสามารถพบได้มากขึ้น โดยเหตุผลหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญคือ ความเชี่ยวชาญและความรู้ความเข้าใจของแพทย์พัฒนาการเด็กที่สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่เริ่มแรก 

กลุ่มอาการเอ็นข้อหย่อน หมายถึง เด็กที่มีเอ็นที่ยืดหยุ่นมาก ทำให้ช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อ (Range of motion) สามารถทำมุมได้มากกว่าปกติที่สามารถทำได้ ทำให้เด็กต้องใช้กล้ามเนื้อมากกว่าธรรมดาในการทำกิจกรรมต่างๆ  ซึ่งหากเป็นในหลายข้อต่อหรือมีข้อหลวมมาก เด็กจะมีปัญหาพัฒนาการ เคลื่อนไหวช้า หยิบจับของไม่คล่อง จับดินสอไม่ถูกวิธี  ควบคุมการเขียนลำบาก  วาดรูปไม่เรียบร้อย เมื่อยมือขณะเขียนหนังสือได้ง่าย ซึ่งหากปัญหานี้ถูกมองข้ามไปจะส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านการเรียน เช่น เขียนงานล่าช้า ทำงานไม่ทันเพื่อน  อาจถูกตำหนิว่าลายมือไม่สวย หรือ นั่งไม่นิ่ง ชอบขยับแขนขา จนบางครั้งอาจเป็นสาเหตุให้เด็กเบื่อการเรียน 

เด็กที่มีเอ็นข้อหย่อนสามารถพบได้ตั้งแต่เล็ก โดยอาจพบว่าเด็กมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายล่าช้ากว่าปกติ ประมาณ 2-6 เดือน เช่น ในช่วงการคลานหรือยืนล่าช้ากว่าวัย หรือพบว่าเด็กชอบนั่งพับขา หรือแบบ W  เมื่อโตขึ้นเด็กมีโอกาสล้มบ่อย หกล้มง่าย บางครั้งเมื่อถึงเวลาเรียนวิชาพละศึกษาไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว หรือไม่สามารถแสดงความสามารถทางกีฬาในกลุ่มเพื่อนได้ก็จะถูกตำหนิ และรู้สึกอับอาย หรือถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมทีมตามมา

จะเห็นได้ว่า แม้ในเด็กที่มีเอ็นข้อหย่อนจะพบปัญหาด้านร่างกายเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามย่อมส่งผลกระทบทางจิตใจ อารมณ์ และสังคมของเด็กด้วย ดังนั้น  การค้นพบปัญหาตั้งแต่ช่วงอายุ 2 ปีแรกจะทำให้ครอบครัว ผู้ดูแล และคุณครูได้เข้าใจ และสามารถช่วยให้เด็กได้รับการรักษา ฝึกทักษะความสามารถ และเสริมสร้างทักษะที่เหมาะสมตามมา เพื่อให้เด็กได้พัฒนาตามศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่

กลุ่มอาการเอ็นข้อหย่อน หรือเรียกว่า Joint hypermobility หรือทางการแพทย์เรียกว่า Ehlers-Danlos syndrome (EDS)

 

 

 

      

หมายเลขบันทึก: 501324เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2012 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2014 01:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การค้นพบปัญหาตั้งแต่ช่วงอายุ 2 ปีแรกจะทำให้ครอบครัว ผู้ดูแล และคุณครูได้เข้าใจ และสามารถช่วยให้เด็กได้รับการรักษา ฝึกทักษะความสามารถ และเสริมสร้างทักษะที่เหมาะสมตามมา เพื่อให้เด็กได้พัฒนาตามศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่....บทความดีมีคุณภาพจริงๆค่ะ....

- รับขวัญ   เมื่อแรกคลอด

- ยอดอาหาร   ต้องนมแม่

- ดีแน่แท้   พัฒนาการสมวัย

ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท