ที่นอนธรรมดา..แต่ว่าโดนที่นอนลูกโป่งน้ำบ้านหนองใส


ที่นอนธรรมดา...แต่ว่าโดน

 ที่นอนธรรมดา..แต่ว่าโดนที่นอนลูกโป่งน้ำบ้านหนองใส

  ด้วยในปัจจุบันนี้วิชาการแพทย์ที่ทันสมัยสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับความเป็นจริงก็คือเมื่อสิ้นสุดขั้นตอนการรักษาผู้ป่วย ของโรงพยาบาลไม่ว่าจะรักษาหายอยู่ในระยะพักฟื้นหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ต้องกลับมาพักรัษาต่อที่บ้านมาอยู่ในความดูแลของบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเรียกได้ว่าเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ

       "งานบริการปฐมภูมิ เป็นศิลปะขั้นสูงของการเยียวยารักษาโรค ความเย็ยป่วย และความทุกข์เพราะต้องผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะบริการปฐมภูมิเน้นการมองแบบองค์รวม ไม่ใช่ การรักษาร่างกายแบบเครื่องยนต์กลไกและเป็นการดูแลสุขภาพในบริบทของครอบครัวและชุมชนจึงต้องผสมผสาน  ทั้งความเข้าใจมิติทางสังคม วัฒนธรรม มีความละเอียดอ่อนและมีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์  พลังและเสน่ห์ของการทำงานบริการสุขภาพชุมชนอยู่ที่การเข้าใจมิติทางสังคม วัฒนธรรมของความเจ็บป่วยและความละเอียดอ่อนต่อมิติความเป็นมนุษย์(โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์,2549)

      ผู้เขียนเองเป็นพยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือที่เรียกว่า  รพ.สต.(แต่เดิมเรียกสถานีอนามัย)จากสภาพปัญหาในชุมชน ที่มีผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่อยู่ในภาวะช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่ออยู่ที่บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ญาติผู้ดูแลยังขาดความรู้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการและผู้ป่วยเหล่านี้ ขณะที่บางบ้านผู้ดูแลเองต้องเป็นหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวด้วย ทำให้การเดินทางไปขอรับบริการด้านกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลอุดรธานี หรือแม้แต่การจัดหาวัสดุเครื่องมือในการทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างมาก

          ในปี 2553 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองใส จึงจัดโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ โดยเครือข่ายอาสาสมัครดูแลผู้พิการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ประกอบด้วย ญาติ/ผู้ดูแลผู้พิการทางการเคลื่อนไหว และอาสาสมัครดูแลผู้พิการ ซึ่งนอกจากการอบรมความรู้ที่จำเป็นในการดูแลผู้พิการทางกายระดับต่างๆ แล้ว กิจกรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การจัดทำอุปกรณ์เครื่องช่วยเหลือผู้พิการที่ประยุกต์ใช้วัสดุที่มีในชุมชนโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำมาอุปกรณ์ฯ เหล่านั้นมาทดลองใช้ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ เพื่อปรับปรุงพัฒนาให้มีความเหมาะสมและใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นำร่องที่หมู่บ้านหนองใส จนเกิดนวัตกรรม ที่นอนลูกโป่งน้ำป้องกัน/ลดการเกิดแผลกดทับ สำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวช่วยเหลือตนเองได้  

ถึงเป็นนวัตกรรมจากวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่การทำที่นอนน้ำแต่ละหลังก็ต้องใช้วัสดุ ทั้งผ้า ซิป ด้าย และลูกโป่งจำนวนมาก แม้จะมีแรงงานอสม.มาช่วยกันผลิตให้ฟรี แต่เฉพาะค่าลูกโป่งที่ใช้ราคาประมาณ 600 บาท บางครอบครัวจึงไม่สามารถรับภาระได้ ทีมงาน รพ.สต.บ้านหนองใสจึงดำเนินการในรูปของการบริจาค โดยเจ้าหน้าที่บริจาคผ้าสำหรับใช้ทำที่นอน เครือข่ายผู้พิการ/อาสาสมัคร บริจาคเงินเป็นกองทุนตั้งต้น 1,500 บาท เกิดเป็นเครือข่ายภูมิปัญญาพื้นบ้าน สานใจ สานสุข ที่ประกอบด้วย อสม. ผู้พิการทางกาย และญาติผู้ดูแลผู้พิการ โดยมีการติดตามช่วยเหลือกันในระหว่างเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

       ผู้ประดิษฐ์นวัตกรรม

นางวชิราภรณ์  สินเจริญเลิศ

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองใส

ตำบลหนองนาคำ  อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี

มือถือ 081-592-7602 ที่ทำงาน 042-921010

       ญาติผู้ป่วยต้องการนำไปให้ผู้ป่วยติดต่อได้โดยตรงที่  

    นางประจวบ ปฏิเวช (เครือข่ายจิตอาสา รพ.สต.บ้านหนองใส)

มือถือ 084-788-8509

หมายเลขบันทึก: 501325เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2012 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2013 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท