อังคาร กัลยาณพงศ์ : การแสดงภาวะพ้นประสบการณ์ตัวตนด้วยวิธีการศิลปะและกวี


อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้ถึงแก่มรณกรรมเมื่อ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี้ ได้ฝากผลงานอันยิ่งใหญ่ที่สร้างสรรค์มาตลอดชีวิตไว้ให้แก่ผู้คน ทั้งทางด้านกวีนิพนธ์และจิตรกรรม ผลงานหลายชิ้นได้รับการถ่ายทอดจากภาษาไทยสู่ภาษาต่างประเทศหลายภาษาของโลก ทั้งเผยแพร่สู่ผู้เสพและชื่นชอบงานศิลปะ และใช้เพื่อการศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทางสังคมวัฒนธรรม และเข้าถึงโลกทัศน์ชีวทัศน์ทางด้านต่างๆของสังคม ที่บันทึกถ่ายทอดและสื่อสะท้อนอยู่ในงานของท่าน  

ผมรู้จักงานของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ทางด้านความเป็นจิตรกรที่ทำงานทางจิตรกรรม ก่อนที่จะรู้จักงานกวีนิพนธ์ของท่านในภายหลัง และแม้ต่อมาจนปัจจุบันนี้ ก็นึกถึงงานที่แสดงความเป็นท่านโน้มไปหางานปาดเกรยองซึ่งเป็นงานจิตรกรรม มากกว่านึกถึงงานกวีนิพนธ์

ท่านเป็นนักศึกษาศิลปะรุ่นพี่ที่เพาะช่างและสาขาเดียวกันของผม ก่อนที่ท่านจะไปศึกษาต่อกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ศิลปากรระยะหนึ่ง และออกจากมหาวิทยาลัย ศึกษาศิลปะในวิถีของตนเอง ห่างจากผมจนนับรุ่นกันไม่ได้ แต่ผมเคารพนับถือผลงานและตัวตนของท่านเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของครูในความมีอุดมคติต่อการสร้างสรรค์งานเพื่อพัฒนาชีวิตจิตใจผู้คนและสังคม อยู่กับความสง่างามของชีวิต สร้างงานศิลปะและเป็นอิสรภาพจากสิ่งที่ไม่ใช่แก่นสารของชีวิต คนทั่วไปมักจะนึกถึงท่านในความเป็นกวีไทยแห่งยุคสมัยของเรา

งานกวีของท่านนั้น ไม่ค่อยเห็นมีใครเรียกว่าเป็นงานของนักกลอน ท่านผู้รู้หลายท่านมักกล่าวกันว่าเพราะงานของท่านอังคารนั้นไม่ได้เป็นการมุ่งเน้นการแต่งกลอนและไม่ได้มุ่งเพียงมิติการเล่นสัมผัสเพื่อแสดงฉันทลักษณ์ความงดงามของภาษาในทางกลอน แต่มุ่งใช้วิธีการทางกวีและพลังคิดด้วยภาษาเพื่อแสดงความอลังการของสิ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ในระดับประสบการณ์ของมนุษย์ ดังในปณิธานกวีของท่านที่บอกว่า ไม่ปรารถนาสิ่งอื่นใด แต่ต้องการอยู่กับโลก เพื่อสร้างงานกวีและศิลปะ ถ่ายทอดจักรวาลและทิพยสวรรค์ สู่การเข้าถึงความสุขความเกษมศานติ์ของผู้คนตราบชีวิตจะหาไม่ .....

                                                                .................................

                                                                        ฉันเอาฟ้าห่มให้            หายหนาว 
                                                                ดึกดื่นกินแสงดาว                  ต่างข้าว
                                                                น้ำค้างพร่างกลางหาว             หาดื่ม
                                                                ไหลหลั่งกวีไว้เช้า                  ชั่วฟ้าดินสมัยฯ

                                                                         พลีใจเป็นป่าช้า             อาถรรพณ์
                                                                 ขวัญลิ่วไปเมืองฝัน                ฟากฟ้า
                                                                 เสาะทิพย์ที่สวรรค์                 มาโลก
                                                                 โลมแผ่นทรายเส้นหญ้า          เพื่อหล้าเกษมศานต์ฯ

                                                                .................................

                                                                บางส่วนจากปณิธานกวี
                                                                ผลงานได้รับรางวัลกวีซีไรต์ปี ๒๕๒๙ ของอังคาร กัลยาณพงศ์

นอกจากงานกวีนิพนธ์แล้ว การสร้างงานจิตรกรรมของท่านก็มีความเป็นเลิศเช่นเดียวกัน ท่านทำงานจิตรกรรมโดยการปาดเกรยองและสีน้ำมัน ทางด้านกวีนิพนธ์นั้นได้รางวัลซีไรต์ในปี ๒๕๒๙ และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เมื่อปี ๒๕๓๒ ส่วนผลงานทางด้านจิตรกรรมก็ได้รับรางวัลระดับชาติ จึงเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงว่าเป็นจิตรกรกวีของแผ่นดิน ในยุครัตนโกสินทร์นี้

ครั้งที่ผมเข้ากรุงเทพฯและได้ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนนั้น ผมได้ชมผลงานของท่านอังคารที่หอศิลป์เจ้าฟ้า ถนนราชดำเนิน ตรงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าในปัจจุบัน เป็นงานสีน้ำมันคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังที่ท่านได้เป็นผู้ช่วยทำร่วมกับศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ [๑] เพื่อบุกเบิกการอนุรักษ์งานคลาสสิคด้านจิตรกรรมฝาผนังหลายแหล่งของประเทศ ทำให้งานศิลปะและบันทึกภูมิปัญญาของสังคมไทยแต่โบราณกาลเป็นจำนวนมากที่อยู่ตามฝาผนังและโบราณสถานต่างๆ ซึ่งจะทรุดโทรมและอาจสูญสลายได้ง่าย  มีวิธีทำซ้ำโดยเขียนคัดลอกถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นระบบบนแผ่นผ้า มาเก็บรวบรวมไว้ในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ของชาติ จัดว่าเป็นผลงานร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะของประเทศชาติ อีกทั้งมีส่วนในการทำให้การพัฒนางานเขียนภาพฝาผนังมาแต่โบราณของไทย มีบทบาทต่อการบำรุงรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม และมีความชัดเจนขึ้นที่จะก่อตั้งเป็นงานจิตรกรรมไทยและจิตรกรรมไทยประเพณี ซึ่งจัดว่าเป็นศิลปะสมัยใหม่อีกสาขาหนึ่งในสาขาวิจิตรศิลป์ ควบคู่ไปกับงานในสาขาจิตรกรรมสากลตามขนบของศิลปะตะวันตก

ในทรรศนะผมแล้ว การงานแห่งชีวิตทางด้านนี้ของท่าน ตรงที่เป็นผู้ช่วยให้กับศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ และคณะนั้น มีความสำคัญและมีคุณค่ายิ่งใหญ่หลายประการ กล่าวคือ สำหรับสังคมไทยนั้น ก็จัดว่าเป็นการพัฒนาระเบียบวิธีทางศิลปะ นำเอาวิธีการทางศิลปะของตะวันตกมาช่วยกอบกู้ศิลปะดั้งเดิมที่อยู่บนฝาผนังศาสนสถานและโบราณสถานในพื้นถิ่นไทยให้มีหนทางสืบทอดได้ดีกว่าเดิม

จัดว่าเป็นการสร้างความหมายและการเปิดพื้นที่ใหม่ๆให้กับศิลปะไทยที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคก่อนหน้านั้น จากพื้นที่บนฝาผนังศาสนสถาน ก็ได้ริเริ่มบุกเบิก เกิดพัฒนาการ ขยายพื้นที่จากผนังไปสู่การบันทึกและสร้างงานบนแผ่นผ้า เฟรมผ้าใบ และแผ่นภาพ ซึ่งส่งผลให้สามารถสร้างพื้นที่ความสร้างสรรค์ให้กับศิลปะไทยประเพณีที่ไม่ต้องจำกัดอยู่แต่บนฝาผนังและศาสนสถาน ก้าวข้ามความล้าหลังและความล่มสลายสู่ความเฟื่องฟูขึ้นในยุคศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างสง่างามในเวลาต่อมากระทั่งปัจจุบัน

แง่มุมดังกล่าวนี้ สำหรับโลกทางศิลปะแล้ว ก็นับว่าเป็นการทำให้แบบอย่างทางศิลปะเพื่อเข้าถึงจิตวิญญาณของสังคมไทย ได้มีการเผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลก ทำให้โลกแห่งศิลปะได้เพิ่มพูนความมั่งคั่งด้วยผลงานความสร้างสรรค์ที่มาจากสังคมวัฒนธรรมต่างๆได้มากขึ้น จึงนับว่าเป็นภารกิจชีวิตที่มีความน่าสนใจสำหรับผมยิ่งกว่าทางด้านกวีหลายเท่ามากนัก

อีกส่วนหนึ่ง ก็ได้ชมภาพปาดเกรยอง ดอกพลับพลึง และนางกินรีในสวนสวรรค์ ซึ่งเพียงเมื่อแรกเห็น ก็สัมผัสได้ว่างานปาดเกรยองของท่านอังคารนั้น แผ่วเบาและไหลต่อเนื่องราวกับเป็นลมหายใจที่ไหลผ่านนิ้วมือลงไปอาบไล้ให้เป็นร่องรอยอยู่บนกระดาษ เมื่อได้ชมแล้วก็เหมือนกับได้ทั้งความซาบซึ้งทางศิลปะและความเป็นอารมณ์กวีบนงานจิตรกรรม เห็นความสดและการสื่อสะท้อนโลกทัศน์ที่ยิ่งใหญ่อลังการอยู่เสมอทั้งในงานกวีนิพนธ์และงานปาดเกรยอง

ในงานปาดเกรยองของท่านนั้น มีความเป็นปรัชญาและทำให้เราสามารถที่จะเข้าถึงสัจภาวะของสิ่งที่เป็นปฏิภาคและต่างสร้างความเป็นจริงให้กัน ทั้งปรากฏให้เห็นและไม่สามารถเห็นได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็จะสามารถเห็นอยู่ในงานกวีนิพนธ์ของท่านได้อีกด้วย

ผมขออธิบายและแสดงให้เห็นด้วยภาพปาดเกรยอง G2K และจะลองวิเคราะห์เพื่อชี้ชวนท่านผู้อ่านให้ได้รู้จักวิธีทำงานของท่านด้วยเกรยองไปในตัวในอีกบางแง่มุมที่น่าสนใจ อีกทั้งจะเป็นแง่มุมที่ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงกันของศาสตร์และศิลปะ อ่านงานศิลปะเพื่อเห็นภาพสะท้อนระบบวิธีคิดในพรมแดนความรู้อื่นๆ เพื่อสามารถประมาณความเป็นสิ่งเดียวกันของสัจภาวะที่อยู่เหนือความแยกส่วนและสามารถเข้าถึงความซาบซึ้งทางศิลปะพร้อมกับอ่านสังคมโดยรอบ ซึ่งจะทำให้ได้หล่อเลี้ยงชีวิตด้านในให้งอกงามไปกับความงามทางศิลปะแนวนี้และสามารถเห็นความสอดคล้องเชื่อมโยงของสังคมรอบด้านไปด้วยได้ [๒]

                                              การปาดเกรยองกับวิภาษณ์วิธีในวิธีศิลปะ :
                                              การเขียนส่วนที่ไม่ใช่ภาพเพื่อให้เห็นภาพ
                                              ซึ่งเป็นภาพจากความว่างเปล่าที่ทับซ้อนบนมิติเดียวกันกับการเห็น

ภาพตัวอย่าง G2K นี้เป็นภาพที่ปาดด้วยเกรยอง เกรยอง  (Crayon) สื่อและเทคนิคเดียวกับที่ปรากฏในงานจิตรกรรมปาดเกรยองของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ [๓] จากที่ผมเขียนเป็นตัวอย่างนี้ ท่านจะพบว่าภาพที่ท่านเห็นคือภาพตัวอักษร G2K ซึ่งก็จะสามารถอ้างอิงประสบการณ์เชิงสัมผัสนี้ ผ่านไปเข้าถึง GotoKnow ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่เคยมีอีกชุดหนึ่ง แต่อยู่เหนือปรากฏการณ์หรือสิ่งที่เห็นอยู่ในภาพนี้ได้ ทำให้สามารถเห็น GotoKnow แบบเต็มๆ มากกว่าจะเห็นเพียงแค่ตัวอักษรย่อ จี เลขสอง เค เท่านั้น

แต่เมื่อท่านพิจารณาดูให้ดี ก็จะเห็นว่าสิ่งที่เราเห็น อันได้แก่ G2K นั้น ในความเป็นจริงแล้ว ตัว G2K ที่เห็นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกเขียนด้วยเกรยอง แต่สิ่งที่เขียนด้วยเกรยองดังในภาพนี้ กลับเป็นด้านที่ไม่ใช่ตัวอักษร G2K  โดยเราต้องปาดเกรยองลงไปบนด้านนอกของส่วนที่ไม่ใช่ตัว G2K  และเว้นว่างตรงส่วนที่เป็นตัวอักษร G2K ไว้ ดังนั้น ส่วนที่เห็นเป็น G2K ทั้งหมดในภาพนี้ แท้จริงแล้วจึงเป็นภาพที่เกิดจากการเขียนส่วนที่ไม่ใช่ภาพ ส่วนที่ปรากฏให้เห็นเป็นภาพ ก็กลับเป็นส่วนที่ถูกเว้นว่าง ไม่ได้เกิดจากการเขียน ส่วนที่เป็นภาพเขียนกลายเป็นส่วนที่เป็นพื้น และส่วนที่เป็นรูปทรงก็กลับเป็นส่วนที่เว้นว่าง หรือการกระทำให้บังเกิดผลบางอย่างขึ้นโดยไม่กระทำ

ยิ่งไปกว่านั้น ตามประสบการณ์ที่เคยชินโดยทั่วไปของเราแล้ว เราก็จะสามารถเห็นเส้นสายที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวอักษรอย่างชัดเจนอีกด้วย ในขณะที่หากท่านพิจารณาดูให้ดีแล้ว ก็จะพบความเป็นจริงอีกเช่นกันว่าในภาพนี้ไม่มีการเขียนเส้นเลย มีแต่น้ำหนักขาวดำและแสงกับเงา แต่เรากลับสามารถเห็น ‘เส้น’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในระดับปรากฏการณ์ ขณะเดียวกัน ก็ไม่เห็นน้ำหนักขาวดำ แสงเงา พื้นที่กับความว่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระดับปรากฏการณ์ เพราะเราสามารถสร้างและเข้าถึง 'ภาวะความเป็นเส้น' ผ่านสิ่งที่ไม่ใช่เส้น โดยที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีอยู่ให้สัมผัสได้ในระดับสิ่งที่ปรากฏซึ่งใช้สร้างเงื่อนไขการเข้าถึงภาวะความเป็นจริงดังกล่าว 

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้  หากดูและพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว เราก็จะเข้าถึงความจริงในอีกมิติหนึ่งที่อยู่เหนือประสบการณ์เชิงสัมผัส ในขณะสิ่งที่ปรากฏให้สัมผัส กลับสามารถไร้ตัวตน กลายเป็นความว่างเปล่า มองไม่เห็น วิธีดังกล่าวนี้ จะพบได้ในงานปาดเกรยองและวิธีการในกวีนิพนธ์ของท่านอังคาร

ท่านสามารถใช้กรอบแนวคิดนี้กลับไปชมภาพและอ่านบทกวีต่างๆของท่าน แล้วจะสามารถเห็นสัจภาวะต่างๆที่ผู้คนยกย่องให้ท่านเป็นปณิธาณกวี และที่ท่านเองบอกว่าจะเขียนกวีเพื่อแสดงทิพยสวรรค์และจักรวาลมาสู่ความสามารถเข้าถึงของผู้คนไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่นั่นเอง  

ในทรรศนะผมแล้ว เห็นว่างานกวีนิพนธ์และงานเขียนสีน้ำมันกับปาดเกรยองของท่านนั้น มีความร่วมกันต่อการนำเสนอในสิ่งที่ปรัชญาจิตนิยมวิทยาศาสตร์ของคานต์ [๔] และเฮเกล [๕] เรียกว่าภาวะความจริงแท้ที่อยู่เหนือปรากฏการณ์และประสบการณ์เชิงสัมผัสของมนุษย์ ซึ่งเป็นจินตปัญญาและภาวนมัยปัญญาที่เข้าถึงได้ยาก แต่จะเป็นปัญญาในระดับที่สามารถทำให้มนุษย์และสังคมมีกำลังความเป็นอิสรภาพจากประสบการณ์เชิงสัมผัส กล่อมเกลาชีวิตจิตใจ และยกระดับจิตใจให้พัฒนาไปได้อยู่ตลอดเวลา การทำงานศิลปะที่มุ่งบูรณาการต่อมิติดังกล่าวนี้ของมนุษย์จึงเป็นแนวที่น่าสนใจแนวทางหนึ่ง และสามารถเห็นได้ในงานของจิตรกรกวีไทยดังเช่นอังคาร กัลยาณพงศ์ด้วยเช่นกัน

การทำงานในแนวดังกล่าวนี้ จะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการเรียนรู้ สร้างความเป็นจริง และเข้าถึงความเป็นจริง ที่พ้นความยึดมั่นถือมั่นต่อตัวตนทางความคิดความเชื่อและต่อประสบการณ์ของมนุษย์ (Transcendental Learning) ซึ่งอาจจะผิวเผินและบิดเบือนได้ง่าย การยกระดับจิตใจและจิตวิญญาณให้มีความเป็นอิสรภาพจากปัจจัยเงื่อนไขทางวัตถุ เข้าถึงความรื่นรมย์และความงอกงามของชีวิตที่อิ่มเอมเกษมศานติ์ มีความมั่นคงยั่งยืน มุ่งความสูงส่งของชีวิตด้านในมากกว่าการมุ่งเอาชนะธรรมชาติและควบคุมโลกภายนอกของมนุษย์ และให้คุณค่าที่แท้ได้มากกว่า เป็นพลังของปัจเจกเพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะของสังคมดังที่พึงประสงค์ได้มากกว่า.

...............................................................................................................................................................................

[๑] ศาสตารจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิษย์เอกคนหนึ่งของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะของประเทศไทยหลายด้าน ที่สำคัญคือการทำการฟื้นฟูอนุรักษ์หอไตรวัดระฆังโฆษิตาราม ซึ่งทำให้ท่านได้รับเชิดชูเกียรติรางวัลรามอนแมกไซไซ. ชมหอไตรวัดระฆังจากเว็บเพจของชมรมอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมไทย ใน วิชาการดอทคอม : http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2867.0

[๒] แง่มุมในการพิจารณาและทรรศนะต่างๆดังปรากฏในข้อเขียนนี้ ไม่ใช่ทรรศนะและแนวคิดของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ แต่เป็นวิธีวิเคราะห์และการแสดงทรรศนะออกมาจากหลักเกณฑ์ของผู้เขียน โดยใช้ผลงานและข้อมูลบุคคลของผู้สร้างงาน เป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาและวิเคราะห์ เพื่อทำให้เกิดการขยายกรอบคิดและเพิ่มพูนแง่มุมการเข้าสู่การศึกษาอันหลากหลาย ด้วยความเชื่อมโยงกันของความรู้และทรรศนะวิพากษ์ทางศิลปะและอื่นๆ กับการเกิดการเรียนรู้ทางสังคมในวงกว้าง ได้มากยิ่งๆขึ้น

 [๓] เกรยอง (Crayon) เป็นแท่งถ่านสำหรับเขียนภาพ บางครั้งก็อาจะเห็นคนเรียกกันว่าแท่งถ่านพาสเทล  (Pastel) หรือเป็นสีที่ทำเป็นแท่งแบบสีเทียนชนิดหนึ่ง เราสามารถทำถ่านเกรยองสำหรับเขียนภาพเองได้โดยเผาถ่านจากไม้ที่ให้เนื้อถ่านเนียนและอ่อนนุ่ม เช่น ถ่านจากต้นพริก ต้นตะขบ การปาดเกรยองเป็นเทคนิคเขียนภาพที่ยาก ภาพเขียนด้วยเกรยองที่ดีต้องเขียนสดโดยไม่มีการร่างภาพ ไม่มีการลบแก้ไข และมีการซ้ำน้อยที่สุดกระทั่งปาดทีเดียวอยู่โดยไม่มีการซ้ำเลย จึงต้องใช้ความแม่นยำ นิ่ง น้ำหนักมือต้องสม่ำเสมอ ต้องทำงานในหัวให้ชัดและการตัดสินใจต้องแน่นอนจึงจะสามารถปาดทีเดียวแล้วผ่าน พื้นต้องเรียบ สะอาด หากมีรอยยับหรือฝุ่นเพียงเล็กน้อยก็จะเห็นเป็นรอยช้ำ กระดาษที่จะนำมาใช้เขียนด้วยเทคนิคปาดเกรยอง จึงมักนิยมใช้กระดาษที่มีความเหนียวและนุ่ม เช่น กระดาษปรู๊ฟหรือกระดาษแผ่นเรียบอย่างดี งานที่ใช้เทคนิคปาดเกรยองโดยมากมักเป็นงานแนว Monochrome ที่ต้องการได้อารมณ์จากความสามารถเน้นน้ำหนักให้เข้มจากเทาอ่อนไปจนถึงดำสนิท เช่น การวาดคนเหมือน กลุ่มคน ทิวทัศน์แสดงความงามของสถาปัตยกรรม แต่งานในแนวของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์นี้ ได้นำเทคนิคปาดเกรยองมาพัฒนาเป็นแนวทางเฉพาะตนและใช้เพื่อให้เกิดผลอีกทางหนึ่ง โดยใช้ถ่ายทอดความแผ่วเบา ความพลิ้ว อ่อนหวาน และทำให้เกิดเส้นที่ได้อารมณ์แบบงานจิตรกรรมไทย ด้วยการสร้างการตัดกันของน้ำหนัก ในวงการศิลปะของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนนั้น ผู้ที่สามารถทำงานจิตรกรรมด้วยเกรยองจนเป็นที่ยอมรับกันได้ว่าเป็นงานศิลปะวิจิตรศิลป์ นับแต่ในอดีตกระทั่งปัจจุบันนั้น มีเพียงคนเดียวคือท่านอังคาร กัลยาณพงศ์นี้เท่านั้น

[๔] อิมมานูเอล คานต์  (Immanuel Kant) นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน มีชีวิตอยู่ระหว่าง คศ. ๑๗๒๔-๑๘๐๔ ร่วมสมัยกับสังคมไทยในยุคอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสิทร์ตอนต้น ญาณวิทยาของคานต์เป็นทรรศนะพื้นฐานในการพัฒนาปรัชญาวิทยาศาสตร์ของเฮเกลและอีกหลายคนในยุคหลัง ให้ความเชื่อต่อภาวะการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ของจิต ว่าสามารถเข้าถึงภาวะความจริงได้เหนือกว่าการแสวงหาความจริงและการสร้างความรู้ในยุคเหตุผลนิยม ซึ่งเป็นกระแสหลักของวิธีการทางความรู้ในยุคของเขา เนื่องจากเชื่อว่าประสบการณ์ของมนุษย์นั้นมีข้อจำกัดและยังอยู่ในระดับที่เชื่อถือไม่ได้ และวิธีการสร้างความรู้ในยุคเหตุผลนิยมนั้น ก็วางระบบเหตุผลไว้บนรากฐานความมีประสบการณ์ของมนุษย์ ดังนั้น จึงเป็นวิธีวิทยาที่ยังมีข้อจำกัดต่อการสร้างปัญญาและความรู้อยู่มากตามไปด้วย เขาจึงนำเสนอแนวคิดภาวะอันสมบูรณ์ของจิตร ฐานความเชื่อต่อการมีอยู่ของจิตรจักรวาล และภาวะความจริงอันบริสุทธิ์ ซึ่งจัดว่าเป็นโลกทรรศน์ทางวิทยาศาสตร์ชุดหนึ่ง ที่แม้จะมีข้อจำกัดต่อกระบวนการทางความรู้ของมนุษย์มากเช่นกัน แต่ก็มีบทบาทเป็นกระบวนทัศน์กระแสหลักของพัฒนาการทางด้านต่างๆมาจนถึงยุคปัจจุบัน ตัวอย่างอิทธิพลของทรรศนะดังกล่าวก็เช่น ความเชื่อที่ว่าความรู้ที่ถูกต้องนั้นมีความบริสุทธิ์ ต้องปราศจากอคติจากปัจจัยมนุษย์ ปราศจากการให้ความหมายของมนุษย์ นักวิจัยและผู้สร้างความรู้ต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง ต้องกันตนเองให้เป็นผู้สังเกตการณ์แบบอยู่นอกปรากฏการณ์ ซึ่งก็ถือเป็นประเด็นในการถกเถียงและก่อเกิดการพัฒนาญาณวิทยาให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งๆขึ้นทั้งสองแนวทาง ทั้งด้านที่สนับสนุนและด้านที่เห็นต่างไปจากทรรศนะดังกล่าว ทั้งในวงวิชาการของไทยและต่างประเทศ. อ่านและศึกษาเพิ่มเติม : อิมมานูเอล คานต์ Immanuel Kant ใน http://en.wikipedia.org/wiki/Immanuel_Kant

[๕] เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) (คศ.๑๗๗๐-๑๘๓๑) ผู้เขียนจัดว่าเป็นนักปรัชญาแนวจิตนิยมประวัติศาสตร์คนหนึ่ง ร่วมสมัยกับยุคคาบเกี่ยวและหลังจากคานต์ เป็นผู้ยอมรับแนวคิดของคานต์และได้พัฒนาญาณวิทยาแบบวิภาษณ์วิธี  (Dialectic) โดยมีหลักพื้นฐานที่ว่าด้วยการต้องมีการต่อสู้กันของภาวะสองด้านแบบวิภาษณ์วิธี ประกอบด้วยบทสรุปด้านยอมรับสนับสนุน กับด้านปฏิเสธ เพื่อเกิดพัฒนาการของการเข้าสู่ความจริงแท้และความสมบูรณ์แห่งจิตอย่างสูงสุด วิธีการซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีและจัดว่าทรงพลังในการเข้าถึงแก่นปัญญาและแก่นทฤษฎีอันลึกซึ้งที่สุดได้ในแนวของเฮเกลและแนววิภาษณ์วิธีก็คือการนำเสนอ Argument ถกแถลง แจกแจงและแสดงการตรวจสอบบทสรุปชุดเดิมด้วยทรรศนะวิพากษ์อย่างลุ่มลึกรอบด้าน แล้วจึงแสดงให้เห็นถึงความจริงอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างออกไป วิธีคิดและแนวทฤษฎีที่วางอยู่บนทรรศนะพื้นฐานชุดนี้จะอยู่ในกลุ่ม Critical Theory อีกทั้งเป็นรากหนึ่งของงานในแนว Discourse Analysis, Change Theory และสามารถดัดแปลงเป็นวิธีการเชิงสังคมในรูปแบบการ Debate, การ Discussion และการโต้วาที ข้อจำกัดของวิธีคิดแบบวิภาษณ์วิธีก็คือเป็นวิธีคิดที่ต้องเริ่มต้นจากการคิดเป็นขั้วหรือเป็นชุด ต้องเดินหน้าไปอยู่เสมอ ไม่รู้จักการถอยหลัง ไม่พอที่จะทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงแบบเป็นวงจร ไม่ละเอียดอ่อนต่อการลงลึกสู่มิติเชิงคุณค่าซึ่งเหมือนกับการหยุดอยู่กับที่ของสังคม ในแนวของเฮเกลจะเน้นความเป็นวิทยาศาสตร์ในแนวจิตนิยมประวัติศาสตร์ ส่วนในแนวของคาร์ลมาร์กซ์จะเน้นวัตถุนิยมประวัติศาสตร์. อ่านและศึกษาเพิ่มเติม : เฮเกล Georg Wilhelm Friedrich Hegel ใน http://en.wikipedia.org/wiki/Georg_Wilhelm_Friedrich_Hegel 

หมายเลขบันทึก: 500928เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2012 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2012 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ขอบคุณอาจารย์ดร.ชยพร และอ.นุครับ
ที่แวะมาเยือน มีความสุขมากๆครับผม 

ขอบคุณยายธีครับ มีความสุขและมีความบันดาลใจเสมอๆครับ

..คน"ตาย"..แต่..ศิลปะ..ยืนยง..นะเจ้าคะ..(..จำได้ว่า..คน..ศิลปกร..เขาเกริ่นกัน..สมัย..ท่านอังคาร..ยังหนุ่มๆอยู่..และยายธี..ยังรุ่นกระเตาะอยู่.เดินเตอะแตะในรั้วศิลปะนั้น...อิอิ...ด้วยคาระวะเจ้าค่ะ....ยายธี)...

ด้วยจิตคารวะเช่นกันครับผมยายธีครับ

ภาวะความจริงแท้ที่อยู่เหนือปรากฏการณ์


เคยอ่านและเชื่อตามท่านอื่นที่ยกย่องครูอังคารว่า เขียนบทกวี เหนือจริง ได้อย่างน่าอัศจรรย์

อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์แล้วคิดคล้อยตามว่า คือ ภาวะความจริงแท้ที่อยู่เหนือปรากฏการณ์ 

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์หมอภูสุภาครับ 

เป็นการชวนรู้จักเพื่อร่วมรำลึกและคารวะชีวิตของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ผ่านงาน ชมภาพเขียน ดูงานศิลปะและซาบซึ้งกวีนิพนธ์ในอีกแง่หนึ่ง ที่คงจะช่วยเสริมความรื่นรมย์เบิกบานใจและได้เห็นแง่มุมอื่นๆเพิ่มมากยิ่งๆขึ้นอีกนะครับ

ท่านจากไปอย่างมีคุณค่า ทิ้งตำนานชีวิต ที่เป็นตัวตนของท่านครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ JJ ครับ
ดีใจหลายครับที่อาจารย์แวะมาเยือน ขอคารวะครับผม 

ขอบคุณอาจารย์ ดร.ขจิตและ ดร.สมศรีครับ
ที่แวะเข้ามาเยือน มีความสุขจากการชมภาพและได้พลังความคิดดีๆจากเรื่องราวในอีกแง่มุมหนึ่งของศิลปะนะครับ 

ข้อมูลอัดแน่นเหมือนตัวพี่ม่อยเลยค่ะ

อ้าว เจ้าเปลหรือนี่ ไปยังไงมายังไงล่ะเนี่ย ดีใจ ดีใจ
เปลสบายดีนะ 

ขอขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนครับ
เอื้องแซะ, อ.นุ, ดร.ปริม, อาจารย์ ดร.ชยพร ครับ   

แวะเข้าไปในบล๊อกโอเคเนชั่น ไปเจอภาพเขียนท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ที่เขียนด้วยเกรยอง เป็นภาพคนเหมือนที่เหมือนและในทางเทคนิคเกรยองก็สวยมาก เขียนโดยคุณนิลสมัย เลยขอนำมาฝากครับ 

                       

คุณนิลสมัยผู้เขียนภาพนี้นี่ เป็นสมาชิกของชมรมจิตรกรสีน้ำในเว๊บบล็อกโอเคเนชั่น ผมเคยเห็นแต่เธอเขียนสีน้ำ ไม่เคยเห็นเขียนเกรยองเลย สวยมากทีเดียวครับ เข้าไปเยี่ยมชมได้ตามที่อยู่นี้ครับ http://www.oknation.net/blog/nilsamai

ขอขอบคุณ ดร.สมศรี อาจารย์หมอ JJ แม่ถั่วดำ และอาจารย์หมอภูสุภา ที่แวะมาเยือนครับ ดีใจที่คนทำงานทางสุขภาพ นักวิจัย และสาขาอื่นๆ ได้แวะเข้ามาอ่านเรื่องในทำนองนี้ด้วยกันครับ มีความสุขและได้อยู่กับสุนทรียภาพแห่งชีวิตเสมอๆมากๆครับ

ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น เป็นสัจธรรมจริง ๆ นะครับ

เป็นคำกล่าวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่กล่าวเป็นอนุสติให้นักเรียนศิลปะได้บากบั่นทุ่มเทแก่การทำงานศิลปะด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ อุทิศชีวิตให้กับงาน เพราะศิลปะจะอยู่ยืนยาวกว่าชีวิตของคนทำงาน สามารถจรรโลงจิตใจผู้คนเพื่อมีความสุขและสร้างโลกให้งดงามต่อไปได้ เดือนนี้เป็นวาระครบรอบ ๑๒๐ ปีชาตกาลของท่าน ขอร่วมรำลึกถึงครูศิลปะและผู้มีคุณูปการต่อศิลปะสมัยใหม่ของไทยท่านหนึ่งของท่าน ร่วมกับคนศิลปะและลูกศิษย์ลูกหาของท่านชาวศิลปากรทุกคนด้วยครับ

อาจารย์คะ อาจารย์เขียนเกี่ยวกับท่านอังคารดีมากค่ะ เป็นความรู้ท่ีไม่เคยรู้มาก่อนเลยค่ะ แต่ในส่วนท่ีเกี่ยวกับบทกวี ขออนุญาตเสริมหน่อยนะคะ บทกวีท่ียกมาของท่านเป็นโคลงค่ะ ท่านเขียนโคลงตามแบบฉันทลักษณ์ แต่คำของท่านจะอลังการมาก โคลงเรียงแบบนี้นะคะ

                                ฉันเอาฟ้าห่มให้        หายหนาว

                            ดึกดื่นกินแสงดาว          ต่างข้าว

                            น้าค้างพร่างกลางหาว     หาดื่ม

                            ไหลหลั่งกวีไว้เช้า          ชั่วฟ้าดินสมัยฯ

                                 พลีใจเป็นป่าช้า        อาถรรพณ์

                            ขวัญลิ่วไปเมืองฝัน         ฝากฟ้า

                            เสาะทิพย์ที่สวรรค์          มาโลก

                           โลมแผ่นทรายเส้นหญ้า     เพื่อหล้าเกษมศานต์ฯ

ต้องขออภัยอาจารย์ด้วย เกรงว่าเด็ก ๆท่ีอ่านจะเข้าใจว่า เป็นกลอนน่ะค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ชมัยภร บางคมบาง(แสงกระจ่าง)ครับ

กราบขอบพระคุณมากอย่างยิ่งในข้อทักท้วงเสริมให้ของอาจารย์ครับ ผมเลยถือโอกาสแก้ไขให้ถูกต้องเลยนะครับ แล้วก็กราบขอบพระคุณเสียงสะท้อนให้กำลังใจกลายๆของอาจารย์ด้วยครับ

ผมเป็นแฟนหนังสืออาจารย์ ทั้งติดตามผลงานหนังสือ การแสดงทรรศนะทางวิชาการ และเคารพชื่นชมบทบาทต่อสังคมวรรณกรรมกับหนังสือของอาจารย์ ที่มีคุณูปการมากมายต่อสังคมไทยมาแต่ไหนแต่ไรแล้วละครับ มากกว่าค่อนชีวิตของผม ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้อ่านตัวหนังสือของอาจารย์ที่เขียนจำเพาะให้กับผม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินจะคิดฝันมากครับ   

อีกทั้งเขียนให้ในบันทึกที่ผมเขียนออกมาด้วยความน้อมรำลึกเสมือนเขียนเป็นปฏิบัติบูชาแก่ผู้ซึ่งถือเป็นครูของคนศิลปะท่านหนึ่ง และอีกทางหนึ่ง ก็อยู่ในวาระที่คนทางศิลปะและสาธารณชนกำลังรำลึกถึงอาจารย์ศิลป์ พีระศรีอีกด้วย จึงนอกจากจะนับว่าเป็นกัลยาณมิตรทางปัญญาแก่ผมอย่างเอกอุแล้ว ก็เป็นการให้ความหมายแก่สิ่งซึ่งเหมือนกับเป็นสิ่งเล็กน้อยที่ผมทำเพื่อน้อมคารวะแก่ครูอาจารย์ ให้กลับบังเกิดเป็นความปลื้มใจและตื้นตันใจแก่ผมมากจริงๆครับ ช่างเป็นกำลังใจแก่ผมมาก และเหมือนกับช่วยให้ความมั่นใจต่อการทำหน้าที่ตรงแง่มุมนี้ให้กับสังคม(ขยายพรมแดนการอ่านและวิพากษ์ศิลปวัฒนธรรมในด้านที่สังคมควรหาทางทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและบางส่วนนั้นเป็นแง่ที่ผมควรจะหาทางทำ)ได้มากอย่างประหลาดครับ

ด้วยความเคารพครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท