ปัจจัยสี่บวกสองบวกหนึ่ง


ความต้องการพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิตคือการได้มีชีวิตอยู่ ผมนั่งนึกดูแล้วเชื่อว่าที่จริงแล้วความต้องการแท้ๆ ของสิ่งมีชีวิตมีอยู่เพียงสองอย่างเท่านั้นเอง คือการมีชีวิตอยู่และการได้สืบเผ่าพันธุ์ สิ่งต่างๆ ที่ดูมากกว่านี้อยู่บนพื้นฐานของความต้องการสองอย่างนี้ทั้งสิ้น

แล้วทำอย่างไรให้ได้มีชีวิตอยู่และได้สืบเผ่าพันธุ์? นี่ว่ากันในเชิงปริมาณ

แล้วทำอย่างไรให้ได้มีชีวิตอยู่และได้สืบเผ่าพันธุ์อย่างมีความสุข? คราวนี้เพิ่ม "ความสุข" ซึ่งเป็นประเด็นเชิงคุณภาพเข้ามา

คงจะมีแค่นี้สำหรับการจะเป็นสิ่งมีชีวิตสักตัวตนหนึ่ง

ผมนั่งนึกถึงปัจจัยสี่ที่คนทุกคนก็น่าจะได้เรียนมาตั้งแต่สมัยประถม คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ก็ดูเหมือนจะครอบคลุมสิ่งที่เราต้องการทั้งหมดแล้ว แต่พอนึกเข้าจริงๆ ผมกลับคิดว่าปัจจัยสี่อย่างนี้คือปัจจัยหลัก ซึ่งยังมีปัจจัยตามอีกสองอย่างคือ การสื่อสารและการคมนาคม

การสื่อสารและการคมนาคมไม่ได้เป็นปัจจัยหลัก แต่เป็นเครื่องมือให้เราได้ปัจจัยหลักทั้งสี่ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอาศัยมนุษย์ด้วยกันในการช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ เราต้องสื่อสารเพื่อช่วยเหลือกันและขนส่งปัจจัยต่างๆ ระหว่างกัน

เพื่อจะให้ได้มีชีวิตอยู่รอดอย่างมีความสุข เราต้องการปัจจัยทั้งหกแค่เพียงพอประมาณเท่านั้น ถ้ามากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็จะกระทบกับความสุขในการมีชีวิตอยู่ของเรา

เรื่องน้อยเกินไปนั้นไม่ต้องพูดถึง แต่เรื่องมากเกินไปนั้นหลายคนมองไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ ที่จริงแล้วทุกข์ไม่ได้ต่างกับมีน้อยเกินไปเลย

อาหารมากเกินไปทำให้เกิดโรค ที่อยู่อาศัยมากเกินไปก็ต้องดูแล เครื่องนุ่งห่มมากเกินไปก็สับสน และไม่มีใครอยากมีชีวิตอยู่กับยาที่มากเกินไปแน่ๆ

ส่วนปัจจัยเสริมก็เช่นเดียวกัน การสื่อสารมากเกินไปก็วุ่นวาย การคมนาคมที่มากไปก็เหน็ดเหนื่อย

นอกจากปัจจัยหลักและปัจจัยเสริมทั้งหมดนั้นแล้ว เรายังต้องการ "ปัจจัยเหนือปัจจัย" (meta factor) อีกตัวก็คือ "ความรู้" ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราได้ปัจจัยทั้งหกมาเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่

โบราณบอกไว้ว่า "มีความรู้เหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน" สำนวนนี้ถูกต้องอย่างยิ่ง เพียงแต่อาจต้องปรับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบัน (present value) เสียหน่อย เดี๋ยวเด็กๆ จะเถียงว่ามีความรู้ไปทำไม เพราะหาเงินได้แค่แสนเดียวเอง

พูดถึงเงิน แล้ว "เงิน" ล่ะคืออะไร ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับปัจจัยที่ผมเขียนมาตั้งแต่ต้นเลย

เงินนี่เป็นความฉลาดของมนุษย์ที่สร้างสิ่งสมมติเป็น "ปัจจัยแทน" ใช้คำฝรั่งคือ abstraction ของปัจจัยต่างๆ ขึ้นมา

เงินเป็นสิ่งที่สะดวกมาก ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกัน แทนที่เราจะต้องหิ้วสิ่งที่เราผลิตได้เกินความต้องการไปแลกกับสิ่งที่เราผลิตไม่ได้ เรามีสิ่งสมมติที่พกพาง่ายไปแลกเปลี่ยนกันแทน ยิ่งเดี๋ยวนี้ยิ่งไม่ต้องถือเลยด้วยซ้ำ ทุกอย่างผ่านการแลกเปลี่ยนออนไลน์ได้แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเงินเป็นสิ่งสมมติไมมีตัวตนจริงๆ

เงินก็เป็นแค่นี้เอง เป็นแค่ตัวแทนของปัจจัยที่เรา "ผลิตได้เกินความต้องการ" ไปแลกกับปัจจัยที่เรา "ผลิตไม่ได้" นั่นก็คือทำให้เราเสมือนว่าสามารถผลิตปัจจัยที่จำเป็นทั้งหมดได้ทุกอย่างนั่นเอง

แล้วเก็บเงินกันไปทำไม?

สิ่งมีชีวิตเกือบทุกประเภทจะสะสมปัจจัยไว้ใช้ในยามที่หาปัจจัยนั้นได้ลำบาก มดสะสมอาหาร ผึ้งสะสมน้ำหวานดอกไม้ กระรอกสะสมเมล็ดพืช มนุษย์สะสมข้าวไว้ในยุ้งฉาง การสะสมปัจจัยน่าจะมีอยู่ในสัญชาติญาณโดยปกติของสิ่งมีชีวิต

ก่อนหน้าที่เราจะมีเงินเป็นปัจจัยสมมติ มนุษย์เราสะสมปัจจัยต่างๆ เพียงพอดีตามกำลัง เพราะเรารู้ว่ามากไปก็เสียเปล่าไม่ได้ใช้ แต่พอเป็นเงินที่ดูเหมือนไม่มีสภาวะเสียสภาพได้หลายคนกลับพยายามสะสมจนไมไ่ด้มีเวลาใช้ หรือจนมันเสียสภาพในแบบเฉพาะตัวของเงินและกลายเป็นความทุกข์

ข้าวในยุ้งฉางเก็บไว้ก็ต้องคอยระวังหนูและแมลง มากเกินไปก็มีโอกาสเสียไม่ได้กิน เงินก็เช่นกัน คิดดูดีๆ ก็มีสภาพเหมือนกับข้าวในยุ้งฉางเช่นเดียวกัน ต้องคอยระมัดระวังวุ่นวาย นอกจากนี้จะต้องใช้เวลามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มันอีก เพราะเงินนี่มัน "เน่า" ได้เหมือนกัน

วิชาอย่างเศรษฐศาสตร์และการเงินสอนคนให้รู้ว่าเงินมันเน่าเสียได้ นั่นคือมูลค่าของเงินจะลดลงตามกาลเวลา ดังนั้นเราต้องนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทันกับอัตราการสูญค่าของมัน นั่นคือการดูแลเงิน และเงินยิ่งมากก็ยิ่งดูแลยากไม่ได้ต่างกับข้าวในยุ้งฉางเท่าไหร่นัก กลายเป็นว่าเงินและข้าวในยุ้งฉางไม่ได้ต่างกัน นั่นคือ ไม่มีไม่ได้ มีน้อยก็ไม่ดี มีมากก็ทุกข์โดยไม่จำเป็น มีแต่พอให้เราได้มีความสุขนั้นถึงจะดี

meditation (ตามคำแปลภาษาอังกฤษเดิมที่แปลว่าการครุ่นคิดตีความไม่ได้แปลว่าสมาธิ) เช้านี้ของผมได้เป็นสมการ 4+2+1 ดังนี้เองครับ

หมายเลขบันทึก: 500924เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2012 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2012 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็น "ทางสายกลาง" ที่น่าสนใจมากครับ

แต่พอเป็นเงินที่ดูเหมือนไม่มีสภาวะเสียสภาพได้หลายคนกลับพยายามสะสมจนไมไ่ด้มีเวลาใช้ .. ขอบคุณอาจารย์ที่นำผลึกจากการใคร่ครวญ มาแชร์สู่กันฟังคะ ฉุกคิดให้พิจารณาตาม สำหรับตัวเอง เงิน เป็นตัวแทน สัญญาว่าจะมีความสุขในอนาคต (แม้ปัจจุบันจะทุกข์ทน) ทั้งนี้อยู่บนสมมติฐานประมาทที่คนทั่วไปว่าไม่ประมาท ? ว่า เราจะมีอายุยืนยาว ต้องมีสมบัติหลังเกษียณ

..ยอดเยี่ยม..เจ้าค่ะ..ท่านอาจารย์...สี่บวกสองบวกหนึ่ง....(ฝากถามมาในหน้านี้...ตัวเลข..0 และ 1..ในความหมายของภาษา..คอมพิวเตอร์คืออะไร..เจ้าคะ...ยายธี

ตัวเลข 0 และ 1 ที่เห็นในระบบคอมพิวเตอร์คือตัวเลขฐานสองครับ คำอธิบายตามลิงก์นี้เลยครับ

อาจารย์คะ ปัจจัยที่สำคัญของหนูน้อยบนหน้าปกน่าจะ

อ่างอาบน้ำ น้ำตก(จากฝักบัว) ฟอง แล้วก็ ขอบคุณนะคร้าบ คุณพ่อ...

การมีชีวิตอยู่และการสืบเผ่าพันธุ์ ปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิตสองประการ ...ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปัจจัยเพื่อส่งเสริม ปัจจัยหลัก สองประการ ...เห็นจริง เราทำทุกอย่างเพื่อการมีชีวิตที่อยู่รอดบนโลกใบนี้ ถึงแม้ว่า บางอย่างอาจผิดกฏของ สังคม เพราะไม่มีทางเลือก ชอบบทความครับ....สวัสดีครับ

  • พี่อ่านบันทึกอาจารย์หลังอาหารเที่ยงทุกวันช่วยให้ข้างเรียงเม็ดดี
  • การสื่อสารมากเกินไปก็วุ่นวาย  และนำภัยเข้าตัวด้วยค่ะ
  • "ปรับอัตราแลกเปลี่ยนความรู้เป็นค่าปัจจุบัน"  พี่จะพยายามทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะลาโลกนี้ไป 

สวัสดีคะอาจารย์ ขออนุญาตแลกเปลี่ยน บ้างคะ

มีโอกาสได้ฟังธรรมะบบรยายของพระประสงค์ อยุ่ตอนหนึ่ง เรื่องเงิน

ท่านถามว่า เงิน ทำให้เรามีความสุขไช่หรือไม่

มีคนตอบใช่่ ท่านก็บอกว่าผิด มีคนตอบว่าไม่ใช่ ท่านก็บอกว่า ผิด

ความจริงแล้วในแง่มุม ของท่าน เงินไม่สามารถสร้างความสุข หรือความทุกข์ ให้กับท่านได้เลย เงินเป็นเพียง สิ่งๆ หนึ่งที่สามารถ

อำนวยความสะดวกให้เรา ยามที่เราต้องการสิ่งใด สิ่งหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านั้น ไม่ได้เป็เนคำตอบว่ามันจะให้มาซึ่งความสุข

เงินไม่ใช่ สิ่งที่ได้มาซึ่งความสุข หากเราฉลาด พอ เราต้องมีเงินเป็นเครื่องมือของเรา แต่ไม่ใช่ให้เราเป็นเครืองมือของเงิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท