สมพวง สีสิน : แบ่งปันกันด้วยวัฒนธรรมหนังสือ อ่าน เขียน และถอดบทเรียนสร้างพลังการจัดการชุมชนไทย



เมื่อวันที่ ๒๕-๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ผมได้ไปพาทีมของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองและเครือข่ายสุขภาพชุมชนในพื้นที่ เรียนรู้และปฏิบัติการเชิงพื้นที่ไปในตัวเกี่ยวกับวิธีถอดบทเรียน พัฒนารูปแบบ และเสริมศักยภาพการบริหารจัดการการพัฒนาสุขภาวะชุมชนอย่างมีส่วนร่วม  (Participatory Development and Management) เพื่อสร้างชุมชนสุขภาวะด้วยยุทธศาสตร์ ๓ ก

ระหว่างทำงานกับเครือข่ายคนของพื้นที่ ได้มีอาจารย์สมพวง สีสิน อดีตครูและได้ลาออกมาทำงานอิสระเป็นนักวิชาการและวิทยากรกระบวนการให้กับชุมชนในจังหวัดระนองและหลายพื้นที่ของภาคใต้ มาช่วยผมทำกระบวนการเวที และร่วมดำเนินการต่างๆ ทำให้สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเวทีและสามารถเข้าถึงมิติสังคมวัฒนธรรมของชาวบ้านได้อย่างลึกซึ้ง เป็นนักวิชาการท้องถิ่นที่เข้มแข็ง น่าประทับใจ และเป็นทุนทางปัญญาสำหรับการทำงานของเครือข่ายคนทำงานเชิงพื้นที่ที่สำคัญมากคนหนึ่ง

หลังจากกลับบ้านและผ่านไปได้หลายวัน เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมก็ได้รับซองจดหมายลงทะเบียน ระบุผู้ส่งจากระนองโดยอาจารย์สมพวง สีสิน เมื่อแกะออกดูก็พบหนังสือบทกลอน ร้อยพืชผัก รักษ์สุขภาพ ที่ประพันธ์และจัดพิมพ์ขึ้นเองโดยอาจารย์สมพวง สีสิน พร้อมกันนี้ ก็ได้ส่งบทกลอนที่อาจารย์ได้เขียนขึ้นและอ่านปิดเวทีเมื่อครั้งผมจัดกระบวนการถอดบทเรียนให้กับเครือข่ายสุขภาพชุมชนระนอง

สำหรับนักเลงกลอน นักเลงหนังสือ นักชอบอ่าน ชอบเขียน นักถอดบทเรียน และนักสื่อสารการเรียนรู้ชุมชน รวมทั้งคนรักกินผัก รักสุขภาพ รักวิถีแห่งธรรมชาติ และรักภูมิปัญญาสมุนไพรพื้นบ้านไทย เมื่อเห็นหนังสือ ร้อยพืชผัก รักษ์สุขภา ที่ถ่ายทอดไว้เป็นบทกลอนของอาจารย์สมพวง สีสิน เล่มนี้แล้วละก็คงต้องได้ตื่นตาตื่นใจมากเป็นอย่างยิ่ง หนังสือหนา ๑๒๐ หน้า ๑๐๕ ชนิดพืชผักและ ๑๐๕ บทกลอน

ให้ลูกหลานอ่านให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายฟัง ก็ได้ทั้งความแข็งแรงของสุขภาพทางปัญญาและการอ่าน ได้ซาบซึ้งอรรถรสบทกลอนและเสริมสร้างทักษะภาษาไทย การคิด เรียนรู้ สร้างปัญญาความรู้ทางสังคม สุขภาพ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยภาษา ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ได้สดับเรียนรู้จากการสื่อสารและสร้างการเรียนรู้ทางสุขภาพอย่างมีพลัง เป็นหนังสือ สื่อสุขภาพ และสื่อคารวะกันด้วยวัฒนธรรมหนังสือกับการอ่านเขียนที่ชอบมากครับ

 

ถอดบทเรียนยุทธศาสตร์ ๓ ก [๑]
เครือข่ายสุขภาพชุมชน ตำบลบางพระเหนือ 
อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอ

บันทึกและถ่ายทอดเป็นบทกลอน
โดย อาจารย์สมพวง สีสิน
นักวิชาการชุมชนและคนทำงานอิสระ  

...................


ดร.วิรัตน์ ชัดเจนจัดการ[๒] ถอด-
-บทเรียนคลอดคนทำคิดจิตอาสา
คำศรีจันทร์สรรศรีคำจำนรรจา
เสริมวิชาการจัดการผ่านชุมชน[๓]

ดร.สุปรีชา[๔]มาช่วยเสริม
ชวนกันเติมสาระต่างอย่างน่าสน
แก้วสวัสดิ์จัดสว่างทางเดินคน
เรียนรู้ตนสนใจเพื่อนขับเคลื่อนงาน

ดร.พัฒนศักดิ์[๕]รักทำร่วม
เชื่อมโยงรวมหลากแนวคิดจิตสร้างสาน
คำมณีจันทร์สว่างกลางรัตติกาล
ส่องดวงมานมวลชนด้วยตนเอง

พนิตนาฏ[๖]นำแนวทางก้าวย่างชัด
ประสานจัดเวทีถอดฯกระฉับกระเฉง
วิสุทธิธรรมทำดีไม่มีเกรง
คือตัวเร่งสุขภาวะประชาชี

อาจารย์จี๊ด วีณาพร[๗]จรมาช่วย
คนอำนวยมีการนำสำอางศรี
อาจารย์ส้ม ช่อเพ็ญ[๘]ช่วยทำดี
นวลขาวมีน้ำใจจ่อก่อสัมพันธ์

มงคล[๙]คนมงคลสนใจยิ่ง
ฟังทุกสิ่งบันทึกจำย้ำเลือกสรร
ด้วยปิยปัญญามาช่วยกัน
แล้วแบ่งปันแนวคิดดีที่มงคล

ขอขอบคุณทีมงานเจ็ดท่านถ้วน
มาชี้ชวนเห็นหลักทำไม่สับสน
สนทนาผ่าประเด็นเห็นทุกกล
สรุปผลเป็นกระบวนชวนกันทำ

เพื่อสานต่อก่อรูปแบบคือตัวอย่าง[๑๐] 
เพื่อจัดวางให้เลือกใช้ให้อิ่มหนำ
คนละอุ่น[๑๑]สุขภาพดีตัวชี้นำ
ขอกล่าวคำขอบคุณยิ่งอย่างจริงใจ

............

 

สมพวง สีสิน
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕

..................................................................................................................................................................................

หมายเหตุและเชิงอรรถขยายความตามลำดับหมายเลข  
(หมายเลขในวงเล็บและเชิงอรรถขยายความ ทำเพิ่มเติมขึ้นโดยผู้เขียนบันทึกนี้)
 : 

[๑] หมายถึงกระบวนการถอดบทเรียน พัฒนารูปแบบ และเสริมศักยภาพการบริหารจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างชุมชนสุขภาวะด้วยยุทธศาสตร์ ๓ ก ซึ่งเป็นมิติหนึ่งในโครงการวิจัยที่ดำเนินการขึ้นของศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ นครศรีธรรมราช ระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปี  
[๒] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ วิทยากรกระบวนการติดตามถอดบทเรียนเสริมศักยภาพเครือข่ายและพัฒนาทีมถอดบทเรียนของโครงการ
[๓] หมายถึงโครงการถอดบทเรียนพัฒนารูปแบบการทำงานเครือข่ายสุขภาพชุมชนด้วยยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ๓ ก ประกอบด้วย กำลังคนและแกนนำแบบจิตอาสาในชุมชน  ก กรรมการ  และ กองทุน  
[๔] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปรีชา แก้วสวัสดิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์และเวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  
[๕] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัฒนาศักดิ์ คำมณีจันทร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์และเวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
[๖] อาจารย์พนิตนาฏ วิสุทธิธรรม  หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนารูปแบบการจัดการสุขภาพชุมชนอย่างมีส่วนร่วมด้วยยุทธศาสตร์ ๓ ก ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช
[๗] อาจารย์วีณาพร สำอางศรี ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช
[๘] อาจารย์ช่อเพ็ญ นวลขาว ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช
[๙] อาจารย์มงคล ปิยปัญญา ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช  
[๑๐] หมายถึง โมเดลยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ๓ ก ประกอบด้วย กำลังคนและแกนนำแบบจิตอาสาในชุมชน   กรรมการ  และ กองทุน นำเสนอโดยนายแพทย์อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขและเป็นผู้นำเชิงนโยบายคนหนึ่งในการนำเอากลวิธีการสาธารณสุขมูลฐานมาเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบผสมผสานในประเทศไทยโดยมีงานสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นแกนเมื่อทศวรรษ ๒๕๓๐
[๑๑] หมายถึงบ้านละอุ่นและบางพระเหนือ ตำบลบางพระเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง

หมายเลขบันทึก: 499421เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

กราบนมัสการขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)
และขอขอบคุณคุณหยั่งราก ฝากใบด้วยครับ 

น่าสนใจมากเลย
เป็นสื่อที่เข้าถึงชาวบ้านได้อย่างดี

ปัจจุบันคนหันมาสนใจบริโภคพืชผักพื้นบ้านมากขึ้น
หน้าฝนนี้ทราบจากชาวบ้านบ้านอยู่บนเขา
ที่วังทองว่า ผักป่านานาชนิด เก็บมาวางขาย
ริมถนนหลวง ขายดิบขายดี(ผักป่า)
อย่างเห็ดโคน กิโลิกรัมละ ๕๐๐-๖๐๐ บาท

อาจารย์ถึงสุราษฎร์แล้วหรือคระบ

ในแง่ที่เป็นยุทธศาสตร์การเรียนรู้ คือเมื่อทำแล้วก็เกิดผลกระทบไปสู่หลายเรื่อง หลายมิติ โดยได้ทั้งเรื่องสุขภาพ การพัฒนาวัฒนธรรมการอ่าน การพัฒนาการเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน การพัฒนาการเรียนรู้อย่างรอบด้านเกี่ยวกับพืชผักและภูมิปัญญาสมุนไพร การพัฒนาบทบาทวิชาการเพื่อท้องถิ่น การพัฒนาสื่อและสิ่งวตีพิมพ์เพื่อเป็นตัวคูณการสร้างสุขภาวะชุมชน เหล่านี้แล้วละก็ นับว่าเป็นสื่อความริเริ่มและการให้ปัญญาแก่สังคมที่น่าชื่นชมมากครับ 

ยังครับยังคุณแสงแห่งความดี ยังไม่ได้เดินทางเลย จะมาสุราษฎร์ฯวันที่ ๒๒ สค.แน่ะครับ ตอนนี้ยังอยู่ที่เชียงใหม่อยู่ครับ

ไม่รู้ว่าอาจมรย์จะมีเวลาว่างบ้างม้Tยครับ อยากเห็นอยากเจออาจาีย์ @ฝากเบอร้ไว้ไก้มะ้ยครับ@

บ๊ะ สำนวนอย่างกะกองเชียร์รำวงเลยคุณแสงแห่งความดี ได้สิครับ เบอร์ผมนะ ๐๘๖-๖๗๐๒๙๗๒ หากอยู่ใกล้ๆในตัวเมืองค่อยไปเจอกันนะครับ ไปทั้งครอบครัวเลย ผมขอเลี้ยงข้าวเย็นสักมื้อหนึ่ง

แต่หากคุณแสงแห่งความดีอยู่นอกตัวเมืองแล้วละก็ อย่าลำบากเลยครับ เพราะปรกติลงไปทำงานอย่างนี้นี่ มักจะเป็นงานที่ลุยกันหามรุ่งหามค่ำ กำหนดกะเกณฑ์ตนเองไม่ได้ แล้วแต่ชาวบ้านและเครือข่ายทำงานในพื้นที่จะปรับกระบวนการทำงานและยืดหยุ่นตนเองไปอย่างไรน่ะครับ แต่ถ้าหากอยู่ใกล้ๆที่พักและพอจะเจอกันได้นี่ อยากรบกวนให้พาแวะไปเยี่ยมชมงานเขียนรูปเหมือน ของน้องคุณแสงแห่งความดีจัง

ขอขอบคุณทุกท่านที่มาเยือนครับ
อาจารย์หมอ ป. อ.นุ ผอ.ชยันต์ เพชรศรีจันทร์  และคุณแสงแห่งความดีครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์และอาจารย์โสภณ เปียสนิท
ที่แวะมาเยือนครับ 

หวังว่าอาจารย์จะเดินทางโดยปลอดภัย และสมความประสงค์นะคะ

รักษาสุขภาพนะคะอาจารย์

ขอบคุณคุณณัฐรดาครับ ไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสเจอกับคุณแสงแห่งความดีและถือโอกาสให้คุณแสงแห่งความดีพาไปดูงานกับนั่งคุยกับน้องชายของคุณแสงแห่งความดีซึ่งเป็นจิตรกรเขียนรูปในสตูดิโอส่วนตัวของเขาหรือเปล่านะครับ โดยเฉพาะการเขียนรูปคนเหมือน ผมเคยเห็นผลงานมาพอสมควรและมาทราบทีหลัง จากที่คุณแสงแห่งความดีเขียนถึงและนำผลงานมาให้ชม ว่าเป็นน้องชายของคุณแสงแห่งความดี แต่หากได้ไปชมแล้วละก็ จะถ่ายภาพรูปเขียนงามๆมาแบ่งกันชมนะครับ

ขอบคุณท่านผู้เฒ่าบังวอญาครับ
ที่แวะมาเยือน 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท