การกำทอนของ Palliative care


ในสังคมไทย "เสียงแห่ง Palliative care" น่าจะมีในบุคลากรการแพทย์ส่วนมาก เพียงแต่มี "คลื่นความถี่" แตกต่างไปแต่ละคน และต่างจากแนวคิด "Hospice"ของตะวันตก หากเราอยากให้เสียงนี้แรงขึ้น ตามหลักการกำทอน- Resonance ก็ต้อง "จูน" ความถี่คลื่นความให้ตรงกับที่เขามี

กลางดึกหนึ่ง ในปี 2530 
ณ บ้านพักแพทย์ รพ. แพร่
ข้าพเจ้าถูกปลุกให้ตื่นด้วยเสียงร้องไห้ของพ่อ
พร้อมกับ ข่าวการเสียชีวิตของคุณย่าทวด 
ข้าพเจ้าในวัยเจ็ดขวบ ไม่เข้าใจนักว่าทำไมพ่อต้องร้องไห้มากขนาดนั้น
แม้ข้าพเจ้าจะมีหน้าที่ป้อนข้าวให้คุณย่าทวดในช่วงท่านป่วย
ความรู้สึก ก็คือ คุณย่าทวดชรามากแล้ว เจ็บออดๆแอดๆ มาพักใหญ๋
การเสียชีวิตก็เป็นสิ่งคาดหมายได้
พ่อของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นศัลยแพทย์
ได้เห็นการเสียชีวิตอันไม่คาดหมายมามากมาย
ไม่เคยเห็นท่านนำความเศร้ากลับมาบ้านสักครั้ง
...
จนทราบจากพี่ๆ พยาบาลที่อยู่ในเหตุการณ์
บอกว่าขณะคุณทวดหัวใจหยุดเต้น  
พ่อของข้าพเจ้าจะปฎิบัติการฟื้นคืนชีวิต ด้วยการใช้ไฟฟ้าและยากระตุ้นหัวใจ
..แม้คุณย่าทวดเคยเปรยไว้ ว่าท่านต้องการไปอย่างสงบ
แล้วสิ่งที่ยังไม่มีคำอธิบายคือ
ล้อเข็นที่บรรจุอุปกรณ์ฟื้นคืนชีพ ที่ถูกเข็นมาอย่างเร่งรีบ
สะดุดบางสิ่ง ให้ล้มคว่ำกระจายไม่เป็นท่า
.. คุณย่าทวด จึงจากไป ท่ามกลางความรู้สึก "ทำไม่ถึงที่สุด" ของพ่อ

...

ผ่านมา ปี 2550
ก่อนข้าพเจ้าจะรับปริญญาไม่นาน
คุณปู่ ซึ่งป่วยจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ทรุดหนัก
พ่อข้าพเจ้าเป็นคนผ่าตัดให้เองกับมือ
..แต่ปีกว่า มะเร็งนั้นก็ย้อนกลับคืน และแพร่กระจาย
เย็นวันที่คุณปู่เสีย
พ่อบอกให้ข้าพเจ้าไป โรงพยาบาล
คุณปู่นอนอยู่ที่เตียง ไม่มีท่อช่วยหายใจ ไม่มีสายระโยงระยางใดๆ
พ่อกำลังพูดกับปู่อย่างอ่อนโยน ว่าไม่ต้องห่วงลูกๆ หลานๆ
และชวนคุณปู่สวดชินบัญชร
คุณปู่ค่อยๆ หลับตาแล้วจากไป
มีเพียงความเงียบสงบ..ไม่มีน้ำตา ไม่มีเสียงร่ำไห้



ณ ตอนนั้น คำว่า "Palliative care" ยังไม่แพร่หลาย
แม้ข้าพเจ้าเองก็ยังไม่รู้จัก
ไม่มี protocol  ไม่มีอบรมหลักการ
แต่ "การเรียนรู้ภายในตนเอง"
ทำให้พ่อของข้าพเจ้าปฎิบัติต่อ คุณปู่ ต่างจากคุณย่าทวด 

###

ข้าพเจ้าเคยสงสัยในขณะฝึกอบรมที่ UCSF ว่า
ทำไม่ Mentor จึงไม่เคยสอน model ทฤษฎี  
หรือ แบบฟอร์มตัวชี้วัดอะไรให้ เลียนแบบ..เอ้ย..ประยุกต์มาใช้บ้าง
การราวน์ตอนเช้า เจ้าของ case จะสะท้อนแบบเล่าเรื่อง
..เขาคิดว่าคนไข้ต้องการอะไร..ทำไมจึงคิดเช่นนัั้น
..เขาทำอะไร พูดอะไรกับคนไข้..ทำไมจึงทำ/พูดเช่นนั้น
..เขาวางแผนจะทำอะไรต่อไป..ทำไมจึงวางแผนเช่นนั้น
การอภิปรายมีแต่ why, how, what
.
ภายหลังจึงตีความว่า นั่นคือ
วิธีสอนให้เข้าใจ ความคิด การกระทำของตนเอง.."เรียนรู้ภายในตนเอง"
ก่อนที่จะให้การดูแลผู้อื่นอย่างเข้าใจ
" โปรดสวมหน้ากากอ๊อกซิเจนให้ตนเอง ก่อนสวมให้ผู้อื่น" 
.

บางที การเรียนการสอน Palliative care ในบริบทบ้านเรา
อาจไม่ต้องการความซับซ้อน ศัพท์แสงหรูหรา..จนกลายเป็นวิชาหองาช้างอีกแขนงหนึ่ง
บางที การดูแลแบบ Palliative care
อาจไม่ต้องแยกจากการดูแลผู้ป่วยแบบอื่นๆ..จนกลายเป็นบริการอีก package หนึ่ง

เพราะหากตีความ
Pallaitive care คือ การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขที่สุดในปัจจุบัน
End of life care คือ การเตรียมเผชิญความตายอย่างสงบ
เหล่านี้เป็น ภูมิปัญญา-wisdom ที่มีอยู่ในสังคมไทยที่เป็นสังคมพุทธ
ลองอ่านบทความ "สู่วัฒนธรรมการตายอย่างเกื้อกูลชีวิต"
ของท่านพระไพศาล วิสาโล เป็นตัวอย่างดูเถิดว่าลึกซึ้งเพียงไร

ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าในสังคมไทย

เสียงแห่ง Palliative/end of life care น่าจะมีอยู่แล้วในบุคคลส่วนมาก
เพียงแต่มี "คลื่นความถี่" แตกต่างไปแต่ละคน
และแตกต่างจาก ความคิดแนว "Hospice" ของตะวันตก
หากเราอยากให้เสียงนี้แรงขึ้น
โดยเป็นเสียงที่ออกมาจากภายในแต่ละบุคคลจริงๆ
ตามหลักการกำทอน- Resonance
ก็ต้อง "จูน" ความถี่ให้ตรงกับที่เขามี

###

แนวคิดรวบยอดของ Palliative care จึงควรเรียบง่าย 
ไม่ทำตัวเป็นคลื่นความถี่จากดาวอังคาร
.เพราะจิตที่สับสนจะปฎิเสธเสมอ 
เมื่อจิตปฎิเสธแต่แรก ก็ไม่นำไปสู่การปฎิบัติ
ไม่มีการปฎิบัติ ก็ไม่ได้ เรียนรู้ภายในตนเอง 
...

ทุกวันนี้ ด้วยความเคารพทฤษฎีต่างๆ ก็เก็บไว้ศึกษาเชิงลึก
แต่ชั่วโมง introduction to palliative care ของ นักศึกษาแพทย์
ข้าพเจ้ามีเพียงหกสไลด์ดังต่อไปนี้

1. เจดีย์ขาว เชียงใหม่ เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงคุณค่าภูมิปัญญา ที่ชาติตะวันตกอาจต้องมาเรียนจากเราด้วยซ้ำ
 

.
 2. แนวคิดรวบยอด Palliative care ที่ได้แรงบันดาลใจจากการเห็นเจดีย์ขาว เพราะการใช้โมเดล Bio-psycho-social-spiritual กลับเป็น "องค์รวมแบบแยกส่วน" จึงน่าจะมองใหม่เป็นส่วนประกอบของกันและกัน  spiritual เป็นเหตุ (ยอดของเจดีย์) โดยความรู้เกี่ยวกับ disease ก็ยังเป็นฐานสำคัญ




3

4.

5.


6. การเริ่มต้นคือ "Why" นั่นคือ จุดหมายจากความเชื่อ ความรู้สึกภายในตัวเขาเองก่อน ว่าทำ Palliative care แล้ว ดีอย่างไรต่อตัวเรา ต่อผู้อื่น
แล้วจึงหาวิธีปฎิบัติ "How" กับ วิธีประเมิน "What"..จะเห็นว่าสวนทางกับการเริ่มต้นด้วยแบบประเมิน ตัวชี้วัด (ซึ่งมักโดนต่อต้านจากผู้ปฎิบัติ)


 

หมายเลขบันทึก: 496335เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

อ่านมีความเห็นสอดคล้องกับที่ได้เคยดูแลคุณพ่อ-คุณแม่และสามี เมื่อช่วงสุดท้ายของชีวิต ที่ชวนทุกคนกำหนดสติรำลึกถึงพุทธคุณก่อนสิ้นลมปราณอย่างสงบ..พี่เองบอกหลานๆไว้เช่นกัน หากถึงวาวะนั้นของเรา..

  • หากทุกคนรู้จัก ให้ "ความสำคัญของเวลา  และ คุณค่าของชีวิต" แล้ว "Palliative care"จะเกิดได้ง่ายเพราะไม่มีอะไรติดค้างในใจของคนอยู่  เหตุที่ทุกคนพยายามยื้อชีวิตของคนเพราะรู้สึกผิด ที่ฉันยังไม่ได้ทำอะไรให้เธอเลย
  • ขอบตุณบทความดีๆ ที่กลั่นกรองจากความรู้สึกและประสบการณ์  ที่สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้โดยง่าย

เเวะมาร่วมทบทวนบทเรียน Palliative care เเละร่วมเรียนรู้ด้วยคนค่ะ อาจารย์หมอเเต้ ชอบบันทึกนี้จัง พี่กุ้งขออนุญาตเเชร์นะคะ

Palliative care ต้องใช้ใจในการดูแล ต้องขอบพระคุณคุณหมอมากๆค่ะ ที่ได้แชร์ประสบการณ์ ให้ได้รับรู้คุณค่าของสิ่งนี้

 

-ติดตามทุก ๆ บันทึกมาโดยตลอดเลยล่ะครับ...ด้วยพบ คุณค่าในเชิงลึก แล้วสะท้อนกระจายออกมาในเชิงกว้าง ได้จริงน่ะครับ...

-ที่ต่อยอดคือ...แล้วครูเกษตร...จะ resonance ได้อย่างไรครับ...

-แรง..ก็เหมือน case ทางฟิสิกส์ ลมโกรกผ่านเบา ๆ สะพานพลิกคว่ำเลย...

-เบา..คลื่นกระทบฝั่ง...

-ผมจะพยายาม study , preliminary research ทางสายครูเกษตรดูนะครับ...

-ขอศึกษาจากบันทึกต่อ ๆ ไป จากคุณหมออีกนะครับ...

ศรัทธา เชื่อมั่น...

ชยพร   แอคะรัจน์

...

ชีวิตคนย่อมต้องมีรายละเอียด
เราไม่อาจจะเบียดเบียนกันได้
ไม่ว่าจะอยู่ จะเป็น หรือจะตาย
ทุกชีวิตมีความหมายในตัวตน

ภาพงดงามตามที่เห็นเป็นทุกอย่าง
สู่ชีวิต สู่เส้นทาง ทุกแห่งหน
ทุกชีวิตมีคุณค่าความเป็นคน
รวยหรือจน ก็คือคน ที่ค้นใจ

...

-ขอบคุณในสาระความรู้ที่ได้รับจากท่าน....และแล้วทุกคนก็ต้องแยกทางเดินซึ่งกันและกัน...คงเหลือไว้แต่ภาพแห่งความรู้สึกดีๆที่ได้รับ.......ขอพึงพอใจกับชีวิตของตนเองคือ การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขที่สุดในปัจจุบัน...อย่าที่ท่านคุณหมอปัทมาว่าไว้...

อ่านบันทึกของอาจารย์แล้วได้เรียนรู้ด้วยตัวเองและเข้าใจเองหลายอย่าง อย่างที่ 1 ได้เห็นธรรมชาติของ palliative care ว่าจริงๆแล้วไม่ได้เป็นองค์ความรู้ใหม่ ทฤษฎีใหม่ อย่างที่เข้าใจ แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า เป็นจิตสำนึกที่อยู่ในตัวตนของทุกคน มีมากมีน้อยขึ้นอยู่กับภูมิหลังของคนที่ถูกปลูกฝังมา หรือมีประสบการณ์มา อย่างที่ 2 การฟังเสียงสะท้อน ความคิด ความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว เป็นหลักการสำคัญที่เราจะสามารถให้วาระสุดท้ายของชีวิตเขามีคุณค่า ...ตายอย่างมีศักดิ์ศรี...ไม่ได้หมายถึงการยื้อชีวิตให้เขาทรมานจากวิทยาการก้าวหน้าทางการแพทย์ แต่การ"เข้าใจ" และกำลังใจของผู้ป่วยและญาติมีความสำคัญยิ่งนัก ขอบคุณอาจารย์หมอที่นำเสนอบันทึกดีดีให้เกิดปัญญาค่ะ

ซาบซึ้งในใจและได้ความรู้มากครับ

พี่แก้ว..เคยเข้าอบรมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายครั้งเดียว

พี่แก้วเคยดูแลคนที่เรารัก คือ คุณตา และคุณพ่อของเรา ที่จากไปอย่างมีศักดิ์ศรีของคนหนึ่ง เสียชีวิตที่บ้านท่ามกลางลูกหลานอันเป็นที่รัก

เมื่อเรารู้ว่า คุณตาและพ่อป่วยเป็นโรคที่อยู่ในระยะสุดท้าย เราไม่จำเป็นให้นอนใน รพ พร้อมกับเครื่องพันธนาการใดๆ เพียงไม่ให้ท่านทุกข์ทรมานเท่านั้นก็เพียงพอ

เราใช้อารมณ์และความรู้สึกนั้น.. มาใช้กับคนไข้มะเร็งที่พี่แก้วดูแล

เราทำให้คนไข้และญาติเข้าใจ ..

เมื่อใดก็ตามที่แพทย์ลงความเห็นว่า.. โรคไม่ตอบสนองต่อการรักษา

พี่แก้วและทีมพยาบาล..จะเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยและญาติพร้อมที่จะยอมรับและตัดสินใจ ที่จะวางแผนการดูแลในระยะสุดท้ายให้ดีที่สุด

ในที่สุด..เกือบทุกคนล้วนตัดสินใจถูก..

เพียงเท่านี้ ...

ขอบคุณค่ะพี่ใหญ่ เพิ่งกลับจากประชุมแม่ข่าย Palliative care 
ในที่ประชุมได้ข้อสรุปคือ..
หากคนในสังคมเรา  มีความเข้าใจเรื่องความตาย อย่างที่พี่ใหญ่เข้าใจนี้ มากขึ้น
ก็จะช่วยผลักดันให้บุคลากรการแพทย์ มีความใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้นด้วยค่ะ 

สั้นๆ แต่ลึกซึ้งยิ่งนักค่ะ..

"หากทุกคนรู้จัก ให้ "ความสำคัญของเวลา  และ คุณค่าของชีวิต" แล้ว "Palliative care"จะเกิดได้ง่ายเพราะไม่มีอะไรติดค้างในใจของคนอยู่.."

วันนี้ได้ฟังบรรยายของท่านอาจารย์ศรีเวียง เกี่ยวกับผู้ป่วยที่ดูแลและหลักสูตรที่ท่านจัดที่ศรีนครินทร์ ก็ต้องบอกว่า ทั้งตัวท่าน พี่กุ้งนาง และทีม  เป็นแบบอย่างการสนับสนุน ขยายงาน ด้วยศรัทธา...ขอยืมคำพูดท่านอาจารย์สกลค่ะ ว่า นี่เป็น "แม่ของแม่ข่าย = ยายข่าย" เลยค่ะ :) 

ขอบคุณค่ะ Kunrapee 
งานเกี่ยวกับมนุษย์ รวมทั้ง Palliative care ต้องมี "ใจ" ทั้งสิ้น
ใจคืออะไร..ตีความว่า คือ ฉันทะนั่นเอง
แม้แต่ การดูแลโรคสลับซับซ้อน
แพทย์ที่เก่ง ทำได้อย่างมืออาชีพ-professionalism
ไม่ใช่แค่ทำเป็นอาชีพก็ต้องมี "ใจ" เช่นกัน

เรียนอาจารย์ชยพรที่นับถือ...

ชื่นชมในจิตวิญญาณความเป็นครูเกษตรของอาจารย์ที่เปิดใจรับฟังแนวคิดหลากหลายค่ะ
..

ขอบคุณซองคำถามของอาจารย์  ให้คิดลงลึกๆ อีกที
Resonance ภาคปฎิบัติควรทำอย่างไร ขออนุญาตแชร์ประสบการณ์ตนเองดังนี้ค่ะ
- กล่าวถึงคุณสมบัติที่ดีของเขาให้มากกว่าหรือเท่ากับจุดที่พร่อง
- อธิบายด้วย คำที่เขาใช้ เช่นถ้าเขาเรียก คนไข้ Palliative care ว่า "คนไข้ระยะท้าย" ก็เรียกตาม "คนไข้ระยะท้าย"  , ถ้าเขาเรียก "คนไข้ประคับประคอง" ก็เรียก "คนไข้ประคับประคอง"  
- เมื่อเขาเสนอไอเดียมา  เชิญชวนเขาขยายความ อะไรทำให้เขาจึงคิด/เช่นนั้น (why), เขามองภาพว่ามันควรออกมาอย่างไร (how) และจะประเมินผลได้อย่างไร (what) แล้วเขาจะยอมรับเองว่าไอเดียนั้นดีหรือไม่ดีโดยไม่ต้องให้คนอื่นตัดสิน

...

ประมาณนี้ค่ะ แล้วอาจารย์คิดว่าอย่างไรบ้างค่ะ

ชีวิตแต่ละคนมีรายละเอียด..

บทกลอนของอาจารย์ เข้าสู่กลางใจ "Humanized medicine" เลย
เป็นคนนอกวงการที่เข้าใจกว่าคนในวงการหลายคนเลยค่ะ 

ขอบคุณค่ะ ท่าน ผศ.เดชา
วันหนึ่งก็ต้องแยกทางกันเดิน..ชอบคำนี้จังค่ะ
การมองความตายเป็นเรื่องปกติ
นอกจาก พอใจในสิ่งที่ควรพอ เพราะไม่ใช่แก่นสาร ( มรดกที่ดิน บ้าน รถ)
เมื่อได้อ่านบทความนี้ของท่าน ดร.พระมหาหรรษา แล้ว

ยังสามารถใช้เป็นแรงผลักดัน ให้คิดค้นสิ่งที่ทำให้คนรุ่นหลังมีชีวิตดีขึ้น ได้ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณอาทิตยา

  • อ่านความเห็นแล้วเห็นด้วยกับท่านอาจารย์วัลลา ว่าคุณอาทิตยา ทำงานละเอียดและเป็นระบบดีจังค่ะ
  • "ตายอย่างมีศักดิ์ศรี...ไม่ได้หมายถึงการยื้อชีวิตให้เขาทรมานจากวิทยาการก้าวหน้าทางการแพทย์ แต่การ"เข้าใจ" และกำลังใจของผู้ป่วยและญาติมีความสำคัญยิ่งนัก"
  • ประทับใจบทสรุปนี้ค่ะ ไม่แน่ใจว่า สำหรับบางคน แนวคิดการตายอย่างมี "ศักดิ์ศรี" กลายเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความมีหน้าตาทางสังคม จึงต้องให้ญาติเสียชีวิตใน ICU ครบเครื่อง "สุดๆ" หรือเปล่า

ขอบคุณค่ะ หลังจากแวบไปอ่านบันทึกนี้

หัวใจตึกๆๆ สักพัก ก็สุขใจที่ได้มีส่วน "กระเพื่อม" วงกว้างในแผ่นดิน

  • ขอบคุณพี่แก้วที่เล่าเรื่องให้เห็นความเชื่อมโยงว่าเราสามารถนำอารมณ์ ความรู้สึกตอน "best practice" จากประสบการณ์ใกล้ตัว อย่างที่พี่แก้วดูแลคุณพ่อ คุณตา มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วย
  • สิ่งเหล่านี้อาศัย ความรักความเมตตา ที่เผื่อแผ่จากคนในครอบครัว สู่เพื่อนมนุษย์
  • ต้องขอแสดงความนับถือ "หัวใจทอง" แบบนี้ค่ะ
  • อ่านแล้วคิดถึงตอนท่านอาจารย์พุทธทาสท่านอาพาธ
  • แพทย์อยากรักษา
  • ท่านอยากอยู่ตามธรรมชาติ

  • ขอบคุณค่ะอาจารย์ขจิต อาจารย์ยัง popular เหมือนเคย :)
  • 8 ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบมรณภาพของท่าน ปีหน้าก็จะครบ 20 ปี
  • ในบทความ "สืบสานปณิธานของท่านพุทธทาสภิกขุมีประเด็นน่าคิด
    "กอบกู้พุทธศาสนาจากลัทธิปัจเจกนิยม" กล่าวถึงการตีความผิด "ปล่อยวาง" คือขอเพียงตัวเองสบายใจ แล้วดูดายสังคมส่วนรวม
    ซึ่งท่านพุทธทาสสอนว่า "สิ่งที่จะวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมก็คือ มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง และมีเมตตาต่อผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งพร้อมเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แทนที่จะนึกถึงแต่ความมั่งมีศรีสุขหรือความสุขเฉพาะตนเท่านั้น"ก
  • การตีความ Palliative care ผิดว่าเป็นการ "ปล่อยวาง" ไหนๆก็หมดหวังหายแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเยอะ  ทำนองเดียวกัน "สิ่งที่วัดความก้าวหน้าของ Palliative care คือ ผู้ให้บริการสุขภาพใช้ปัญญาและความเมตตาหาทางลดทุกข์ผู้อื่น แล้ว ละอัตตายึดเอาความเห็นตน  ผลประโยชน์lส่วนส่วนตนบ้าง"
ประนอม มงคลทิศานุทิศ

วันนี้ได้เปิดเจอเรื่องเล่าของคุณหมอป.ซึ่งเป็นลูกคุณหมอวุฒิ คุณหมอวรพิน โกมุทบุตร แพทย์ที่เคยรักษาคุณแม่จันทร์ดีที่จังหวัดแพร่ ดีใจเป็นที่สุด เคยติดตามว่าคุณหมอย้ายไปรพ.เชียงใหม่ ช่างเป็นบุญครอบครัวคุณหมอช่วยคนป่วยจิตใจงดงามช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คุณหมอวุฒิ คุณหมอวรพิน สบายดีนะคะ ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท