เปรียบเทียบกฎหมายขัดกันของไทยและญี่ปุ่น : พิจารณาเรื่องการทำพินัยกรรม


ทั้งกฎหมายขัดกันของญี่ปุ่นและกฎหมายขัดกันของไทย ต่างก็กล่าวถึงเรื่องการทำพินัยกรรมไว้โดยมีการกำหนดทั้งเรื่องแบบ ผลของการทำพินัยกรรม รวมไปถึงเรื่องการเพิกถอนพินัยกรรมเหมือนกัน

         กฎหมายขัดกันของญี่ปุ่น APPENDIX 3B Act Concerning the Application of Laws (Horei)   (Law No. 10 , June 21, 1898)       ได้กล่าวถึงเรื่องพินัยกรรมไว้ ในมาตรา 27 นั้น  ได้มีการแบ่งเรื่องการทำพินัยกรรมไว้เป็น 3 เรื่อง คือ  เรื่องแบบ ,ผล และเรื่องการเพิกถอน

         เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับกฎหมายขัดกันของไทย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 นั้น ในเรื่องของพินัยกรรม ตามกฎหมายขัดกันของไทย ในส่วนของแบบและผลของการทำพินัยกรรม และเรื่องการเพิกถอนพินัยกรรมจะอยู่ใน มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ซึ่งกฎหมายขัดกันของญี่ปุ่นและของไทยมีความเหมือนและความแตกต่างกันในการวางหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว คือ

          ในเรื่องแบบของการทำพินัยกรรมในกฎหมายขัดกันของญี่ปุ่นนั้น กำหนดให้แบบของพินัยกรรมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่พินัยกรรมมีผลใช้บังคับ แต่ในส่วนของกฎหมายขัดกันของไทยนั้น กำหนดให้แบบของพินัยกรรมนั้นขึ้นอยู่กับผู้ทำพินัยกรรม โดยผู้ทำพินัยกรรมอาจทำตามแบบที่กฎหมายสัญชาติกำหนดไว้ หรือทำตามแบบที่กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ก็ได้

           ในส่วนเรื่องผลของการทำพินัยกรรม กฎหมายขัดกันของญี่ปุ่นกำหนดให้ผลของการทำพินักรรมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้ทำพินัยกรรม เช่นเดียวกับในเรื่องแบบ แต่ในกฎหมายขัดกันของไทยนั้นกำหนดให้ผลของการทำพินัยกรรมเป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมนั้นถึงแก่ความตาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสองประเทศใช้หลักการในเรื่องผลของการทำพินัยกรรมนั้นแตกต่างกัน โดยที่กฎหมายขัดกันญี่ปุ่นใช้หลักสัญชาติ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายขัดกันของไทย ที่วางหลักการในส่วนเรื่องผลของการทำพินัยกรรมไว้ โดยใช้หลักภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรม

             เรื่องสุดท้ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำพินัยกรรม คือ เรื่องการเพิกถอนพินัยกรรม กฎหมายขัดกันของญี่ปุ่นกำหนดให้ผลของการเพิกถอนพินัยกรรมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่มีการเพิกถอนพินัยกรรม ซึ่งแตกต่างจากฎหมายไทยที่กำหนดให้การเพิกถอนพินัยกรรมเป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมในขณะที่มีการเพิกถอนพินัยกรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสองประเทศใช้หลักในเรื่องการเพิกถอนของการทำพินัยกรรมนั้นแตกต่างกัน โดยที่กฎหมายขัดกันญี่ปุ่นใช้หลักสัญชาติ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายขัดกันของไทย ที่วางหลักการในส่วนเรื่องการเพิกถอนการทำพินัยกรรมไว้ โดยใช้หลักภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรม แต่ทั้งสองประเทศก็ใช้หลักการโดยถือเอาเวลาในขณะที่เพิกถอนพินัยกรรมเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเช่นเดียวกัน

              จากการพิจารณาในข้างต้น จะเห็นได้ว่าทั้งกฎหมายขัดกันของญี่ปุ่นและกฎหมายขัดกันของไทย ต่างก็กล่าวถึงเรื่องการทำพินัยกรรมไว้โดยมีการกำหนดทั้งเรื่องแบบ ผลของการทำพินัยกรรม รวมไปถึงเรื่องการเพิกถอนพินัยกรรมเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในส่วนของหลักที่นำมาพิจารณา โดยที่การพิจารณาถึงผลของพินัยกรรมและเรื่องของการทำพินัยกรรมนั้น ประเทศญี่ปุ่นจะใช้หลักสัญชาติของผู้ทำพินัยกรรม แต่ประเทศไทยจะใช้หลักภูมิลำเนาของผู้ทำพินัยกรรมเป็นหลักในการพิจารณา

หมายเลขบันทึก: 49624เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2006 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท