ระบบเก็บกักน้ำเพื่อการกสิกรรมในโรงเรียน ถึงเวลาแสดงบทบาทในการเกื้อกูลชุมชน (ทุกปี)


แต่อะไรไม่ว่า?....... ความทรหดของแม่ กลับสร้างประโยชน์ให้คนอื่นที่ไม่ได้ลงแรง-ลงทุนทำและแบกรับความเสี่ยงใดๆจากกระบวนการทำนาเลยแม้แต่น้อย

เรื่องหนึ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในสาระการเรียนรู้ "กสิกรรมเกื้อกูล" 

อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวการศึกษา "เกื้อกูลศาสตร์"

คือ "การสร้างแหล่งน้ำสำรองในระบบการกสิกรรม"

ซึ่งมีความสำคัญมาก

(ในระบบเกษตรทฤษฎีใหม่ขององค์ในหลวงกำหนดสัดส่วนไว้ถึง ๓๐ %)

แต่พี่น้องกสิกรในชุมชนก็ยังไม่ใคร่จะเห็นความสำคัญ

เพราะมักจะรู้สึกเสียดายพื้นที่ที่จะกลายเป็นสระน้ำเหมือนๆกันทุกคน

ทั้งๆที่โรงเรียนพยายามที่จะถือเป็นธุระในการช่วยประสานงานกับสถานีพัฒนาที่ดินศรีสะเกษ

เพื่อที่จะขอรับการสนับสนุนบ่อเก็บกักน้ำขนาด ๑,๒๘๐ ลบ.ม.

ที่กสิกรจะเพียงช่วยชำระค่าเคลื่อนย้ายเครื่องจักร ๒,๕๐๐ บาท

ก็จะได้รับการขุดบ่อขนาดดังกล่าวในพื้นที่ของตัวเอง (เหมือนได้ฟรี)

ซึ่งพี่น้องส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องเงิน ๒,๕๐๐ บาท

แต่ติดปัญหาความรู้สึก "เสียดาย"ดังกล่าวเท่านั้น

.....................

เป็นปกติของทุกปี ที่ห้วงเวลาประมาณเดือนกรกฎา-สิงหา

พี่น้องชาวนาแถบนี้ก็มักต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งตลอด

ทำให้พี่น้องที่มีที่นาอยู่รอบๆโรงเรียน

ต้องมาขอใช้น้ำที่โรงเรียนเก็บสำรองไว้เป็นประจำ

ส่วนพี่น้องที่อยู่ห่างออกไป และไม่มีแหล่งน้ำสำรองเป็นของตนเอง

ก็จำเป็นต้องปล่อยให้ต้นข้าวเผชิญชะตากรรมความแห้งแล้งเอาเอง

ซึ่งหากไม่ใช่ "แม่โพสพ" ผู้อารีย์และแกร่งทรหดแล้ว

รับรองพี่น้องชาวนาเราส่วนหนึ่ง "อดตาย" แน่

เพราะการเผชิญความแห้งแล้งของต้นข้าวนั้น

"ทรหด" ยิ่งกว่าต้นไม้หรือสิ่งมีชีวิตอื่นใด

นานเป็นเดือนๆ ที่ไม่เคยพานพบประสบหน้าเม็ดฝน

นานเป็นสัปดาห์ๆที่ไม่มีความชุ่มชื้นให้ปะทังชีวิต

แสงแดดแผดกล้าเผาตั้งแต่เช้ายันค่ำ

แต่แม่ก็ยังสามารถเก็บออมชีวิตไว้ เพื่อรอเม็ดฝนที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ได้

อาจเป็นความโชคดีอยู่บ้างที่ข้าวของพี่น้องชาวนารอบๆโรงเรียน

ได้รับ "การเกื้อกูล" จากระบบน้ำสำรองที่โรงเรียนเก็บกักไว้

สงสารก็แต่ที่ห่างออกไป

ไม่รู้จะต้องทนไปอีกนานซักกี่วัน

แต่อะไรไม่ว่า?.......

ความทรหดของแม่ กลับสร้างประโยชน์ให้คนอื่นที่ไม่ได้ลงแรง-ลงทุนทำและแบกรับความเสี่ยงใดๆจากกระบวนการทำนาเลยแม้แต่น้อย

อ้าว...!.... แล้วนี่เรา "เกื้อกูลใคร" กันแน่?

............................

หมายเลขบันทึก: 495550เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 04:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

บ้าน ชุมชน วัด ==> ต่างเกื้อหนุนกันและกันนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

 สวัสดีค่ะอาจารย์...

...โครงการขุดบ่อกักเก็บน้ำยังมีอยู่หรือคะ(นึกว่าหมดโครงการแล้ว) การติดต่อขอโครงการลงพื้นที่ต้องรวมกลุ่มกันหรืออย่างไรคะ ท่านอาจารณ์มีรายละเอียดแนะนำ จักขอบพระคุณยิ่งค่ะ.

...การเสียดายพื้นที่แต่ต้องทนหลังขดหลังแข็ง(ดำนาแห้ง) เสียค่าน้ำมันสูบน้ำ(เผลอๆมากกว่า2,500บาท)หรือรอฟ้าฝนเป็นปัญหาใหญ่ของคนในพื้นที่นาดอนค่ะท่านอาจารย์เพราะความคิดเดิมๆที่ฝังรากลึกมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ.

...หากเกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนมุมคิด "เสียเพื่อได้" มีน้ำกักเก็บไว้พื้นที่เพียงแค่พื้นที่หนึ่งไร่ก็สามารถทำนาได้ปีละ2-3ครั้งเหลือกินเหลือขาย(บ่อน้ำเลี้ยงปลา คันบ่อปลูกผักเท่านี้การร่ำรวย"ความสุข"ก็หาได้ไม่ยากค่ะ).

...ในกระบวนการเปลี่ยนความคิดภาคเกษตรกร ด้านการศึกษา(สถานศึกษา)กับภาคปฏิบัติถือเป็นบทบาทหน้าที่อันสำคัญค่ะที่"เรียนเพื่อรู้นำองค์ความรู้มาปฏิบัติใช้ให้เกิดเป็นแบบอย่างมากกว่าการเรียนเพื่อรู้เพียงมาบอกกล่าวให้เกษตรกรเป็นผู้ลงมือทำ(เช่นเดิม).

...ขอบพระคุณค่ะ...

Blank ถูกต้องเป็นที่สุด ขอบคุณครับ

เรียน อ.น้อย Blank ครับ

  • ต้องขอโทษเป็นอย่างสูง ที่เข้ามาตอบ อ.น้อยช้าไปมาก มีภารกิจภายนอก เลยไม่ได้เข้าเน็ตซะนาน
  • โครงการยังมีอยู่ครับ เข้าใจว่าไปเรื่อยๆ แต่ต้องรอคิวตามงบประมาณ อาจต้องขอแล้วติดตามไถ่ถามเป็นระยะๆ ติดต่อที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดโดยตรงน่าจะดีที่สุดครับ
  • ไม่จำเป็นต้องมีกลุ่มก็ได้ แต่การขอแบบมีกลุ่ม-สังกัดกลุ่มทางการเกษตรก็จะมีพลังกว่า
  • เห็นด้วยกับ อ.น้อยทั้งหมดครับ เสียดายแทนพี่น้องเราจริงๆในเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่ศรีสะเกษ น้ำใต้ดินมีเยอะ แต่พี่น้องไม่ใคร่ใส่ใจเท่าที่ควร
  • มีแบบอย่างให้เห็นหลายคนครับที่มีวิถีชีวิตลงตัวแบบที่ อ.น้อยว่า และโรงเรียนก็ได้เชิญมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กด้วย ประเดื๋ยวจะนำมาเขียนในโอกาสต่อๆไปครับ

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะคุณครูวุฒิ ขอให้มีสุขภาพที่แข็งแรงนะคะ

ครูช่วยแนะนำหนอ่ยค่ะ คืออยากขุดสระเก็บน้ำแต่เห็นหลายสระแถวหมู่บ้านไม่มีน้ำเลย

 

คุณแดง อุบล ครับ...

ทำอย่างไรก็ได้ครับ ที่สามารถทำให้พื้นบ่อเป็นขี้โคลนหรือดินเลนให้ได้ เช่น

๑. เอาควาย(ถ้ามี)ลงไปเลี้ยง(ด้วยฟาง)ให้กิน-นอนปลัก-ถ่ายมูลทิ้งลงในบ่อนนั้นๆสักประมาณสัปดาห์สองสัปดาห์เป็นใช้ได้ครับ ทั้งเศษฟาง มูล-ฉี่ของควาย และดินเลนอันเกิดจากการนอนปลักจะกลายเป็นกาวอุดรูในดินให้เก็บกักน้ำได้ครับ

๒. ถ้าไม่มีควาย ให้ใช้วิธีหาเศษใบไม้เศษฟางหรือวัสดุอื่นๆที่ย่อยสลายได้ ทิ้งลงในบ่อให้มากๆ ในหน้าฝนเมื่อบ่อมีน้ำเศษฟาง-เศษใบไม้ก็จะค่อยๆย่อยสลายกลายเป็นดินเลนอุดรูเช่นเดียวกับข้อ ๑. เองครับ

๓. ฯลฯ (ยังมีอีกหลายวิธีครับ)

หมายเหตุ บ่อที่โรงเรียนเดิมก็ไม่มีตาน้ำและแห้งในฤดูแล้งเช่นเดียวกันครับ

อ้อ... อีกอย่าง.... ต้องขุดบ่อในพื้นที่ที่รองรับการไหลของน้ำที่มาจากพื้นที่ส่วนใหญ่ เพื่อให้น้ำส่วนเกินหรือยังไม่จำเป็นต้องใช้ไหลมาเก็บกักไว้ก่อนครับ...โอเค..นะครับ (ขออภัยตอบช้าไป ๓ เดือนครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท